แผนแม่บทสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา ช่วง 20 ปีข้างหน้า
วันที่ 2 กรกฎาคม 2556 คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบตามมติคณะกรรมการกลั่นกรองเรื่องเสนอคณะรัฐมนตรี คณะที่ 3 (ฝ่ายเศรษฐกิจ) ในคราวประชุมครั้งที่ 12/2556 เมื่อวันศุกร์ที่ 31 พฤษภาคม 2556 ตามที่รองนายกรัฐมนตรี (นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง) ประธานกรรมการ เสนอ ที่มีมติรับทราบแผนแม่บทสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอ เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องใช้เป็นกรอบแนวทางในการพัฒนาสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล เพื่อแก้ไขปัญหาจราจรและเพื่อให้การเดินทางระหว่างพื้นที่สองฝั่งของแม่น้ำเจ้าพระยามีความสะดวกมากขึ้น โดยให้หน่วยงานรับผิดชอบโครงการรับความเห็นของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงมหาดไทย สำนักงบประมาณ และสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ไปประกอบการดำเนินงานอย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะประเด็นเรื่องผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม การรับฟังความคิดเห็นของประชาชน รวมทั้งการเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการดำเนินโครงการด้วย
สาระสำคัญของเรื่อง
แผนแม่บทสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาในช่วง 20 ปีข้างหน้า โครงการส่วนใหญ่จะถูกบรรจุอยู่ในแผนการดำเนินงานในระยะ 10 ปี เนื่องจากมีความจำเป็นที่จะต้องก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาแห่งใหม่เพิ่มเติม เพื่อรองรับความต้องการในการเดินทางข้าม 2 ฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ในปี พ.ศ. 2564 ที่คาดการณ์ว่าจะมีความต้องการเดินทางข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาโดยรถยนต์เพิ่มขึ้นจากปัจจุบันอีก 4.5 แสน คน-เที่ยว/วัน ดังนี้
1. แผนดำเนินงานระยะ 10 ปีแรก (ปัจจุบัน-พ.ศ. 2564) จำนวน 9 โครงการ ได้แก่
1) โครงการสะพานเกียกกาย เป็นโครงการที่ควรดำเนินงานโดยเร่งด่วน เนื่องจากมีความพร้อมของโครงการมากที่สุดและรองรับอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ ซึ่งสามารถดำเนินการและเปิดให้บริการได้ภายในปี พ.ศ. 2559 กทม. เป็นหน่วยงานรับผิดชอบ
2) โครงการสะพานพระราม 2 กทม. เป็นหน่วยงานรับผิดชอบ
3) โครงการสะพานสมุทรปราการ กรมทางหลวงชนบท (ทช.) เป็นหน่วยงานรับผิดชอบ
4) โครงการสะพานปทุมธานี 3 กรมทางหลวง (ทล.) เป็นหน่วยงานรับผิดชอบ
5) โครงการสะพานลาดหญ้า-มหาพฤฒาราม กทม. เป็นหน่วยงานรับผิดชอบ 5) โครงการสะพานสามโคก ทล. เป็นหน่วยงานรับผิดชอบ
6) โครงการสะพานท่าน้ำนนท์ ทช. เป็นหน่วยงานรับผิดชอบ
7) โครงการสะพานถนนจันทน์-เจริญนคร กทม. เป็นหน่วยงานรับผิดชอบ
8) โครงการสะพานราชวงศ์-ท่าดินแดง กทม. เป็นหน่วยงานรับผิดชอบ
2. แผนดำเนินงานระยะ 10 ปี หลัง (พ.ศ. 2565-2574) ได้แก่ โครงการสะพานสนามบินน้ำ ทช. เป็นหน่วยงานรับผิดชอบ