กขช.เห็นชอบราคารับจำนำข้าวเปลือก 55/56 เป็นตันละ 15,000 บาท
รองนายกรัฐมนตรี กิตติรัตน์ฯ เผย ที่ประชุม กขช.เห็นชอบราคารับจำนำข้าวเปลือก ปีการผลิต 2555/56 ราคาตันละ 15,000 บาท วงเงินรับจำนำ 500,000 บาท/ราย จนถึงสิ้นสุดโครงการ 15 ก.ย.56 โดยภาคใต้รับจำนำถึง 30 พ.ย. 56
วันนี้ (1ก.ค.56) เวลา 11.00 น. ณ ห้องประชุม 301 ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้มอบหมายให้ นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ ครั้งที่ 6/2556 ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยมี นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ นายวราเทพ รัตนากร รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ นายยรรยง พวงราช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เข้าร่วมด้วย
ภายหลังเสร็จสิ้นการประชุมฯ นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้เปิดเผยว่า ที่ประชุมฯ ได้มีการพิจารณาโครงการรับจำนำข้าวเปลือก ปีการผลิต 2555/56 (ช่วงวันที่ 30 มิถุนายน – 15 กันยายน 2556) ทั้งนี้ ตามที่ กขช. มีมติเมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2556 ให้ปรับลดราคารับจำนำข้าวเปลือกเจ้า 100% เป็น 12,000 บาท/ตัน และข้าวเปลือกชนิดอื่น ๆ ปรับลดลงร้อยละ 20 นั้น เนื่องจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้รายงานผลการขึ้นทะเบียนเกษตรกรถึง 30 มิถุนายน 2556 พบว่ามีจำนวนเกษตรกรขึ้นทะเบียน 200,000 กว่าราย ปริมาณข้าว 2.9 ล้านตัน ซึ่งยังอยู่ในกรอบที่ กขช. ให้ความเห็นชอบไว้ ที่ประชุมฯ จึงมีมติให้คงราคารับจำนำข้าวเปลือกเจ้า 100% ความชื้น 15% ที่ 15,000 บาท/ตัน และข้าวชนิดอื่น ๆ กลับมาที่ราคาเดิมเช่นกัน โดยจะรับจำนำเฉพาะปริมาณที่ไม่เกินที่ได้ระบุไว้ในใบรับรองเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนแล้วเท่านั้น และวงเงินไม่เกิน 500,000 บาทต่อครัวเรือนตามมติ กขช. (18 มิ.ย.56) จนถึงสิ้นสุดโครงการ 15 กันยายน 2556 โดยพื้นที่ภาคใต้รับจำนำจนถึง 30 พฤศจิกายน 2556
พร้อมกันนี้ที่ประชุมฯ ได้มีการพิจารณาแผนการระบายข้าวในสต็อกของรัฐบาลในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2556 โดยเห็นชอบให้เพิ่มช่องทางและเพิ่มประสิทธิภาพการระบายข้าวในสต็อกของรัฐบาลในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2556 ดังนี้ เห็นชอบให้ขายเป็นการทั่วไปให้กับผู้ประกอบการในประเทศเพื่อการส่งออกต่างประเทศและ/หรือจำหน่ายภายในประเทศ ทั้งข้าวหอม ข้าวเหนียวและข้าวขาว รวมทั้งขายข้าวเปลือก ในกรณีที่ผู้ซื้อมีคำสั่งซื้อข้าวนึ่งจากต่างประเทศและมีโรงสีที่ดำเนินการเป็นการเฉพาะ นอกจากนี้ยังได้เร่งรัดให้ขยายช่องทางเดิมในการเจรจาขายแบบรัฐต่อรัฐ (G to G) โดยเพิ่มประเทศเป้าหมายและปริมาณขาย ได้แก่ ประเทศในอาเซียน จีน และแอฟริกา เป็นต้น ตลอดจนเร่งรัดการระบายผ่านตลาดซื้อขายสินค้าเกษตรล่วงหน้าแห่งประเทศไทย (AFET) อย่างต่อเนื่องเพื่อให้ผู้ซื้อข้าวในประเทศและต่างประเทศมีโอกาสในการเข้าร่วมประมูลอย่างโปร่งใส สำหรับการขายให้องค์กรหรือหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศเพื่อสาธารณประโยชน์ และการบริจาคประเทศต่าง ๆ ซึ่งเป็นช่องทางเดิมก็ยังให้ดำเนินการต่อไป โดยที่ประชุม กขช. ได้มอบหมายให้กระทรวงพาณิชย์ร่วมมือกับภาคเอกชน ทั้งผู้ประกอบการภายในประเทศและผู้ส่งออก เร่งดำเนินการดังกล่าวให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล
นอกจากนี้ ที่ประชุมฯ เห็นชอบในหลักการแนวทางการเพิ่มประสิทธิภาพการเพาะปลูกข้าว เพื่อลดต้นทุนการผลิตและเพิ่มรายได้ (Zoning) ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เสนอ ซึ่งได้กำหนดเขตความเหมาะสมสำหรับปลูกข้าว โดยผลผลิตเฉลี่ยในเขตชลประทาน 700 กิโลกรัมต่อไร่ขึ้นไป และนอกเขตชลประทานแต่อยู่ในเขต Zoning ได้ 500 กิโลกรัมต่อไร่ รวมทั้งสิ้น 43.9 ล้านไร่ ซึ่งกระทรวงเกษตรฯ จะมีการพัฒนาคุณภาพข้าวให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด จัดระบบการปลูกข้าวในเขตพื้นที่ชลประทาน ซึ่งจะมีการสนับสนุนเมล็ดพันธุ์ และปัจจัยอื่น ๆ ที่มีความจำเป็นเพื่อเป็นมาตรการจูงใจ โดยจะดำเนินการปรับระบบการปลูกข้าวปีละไม่ต่ำกว่า 500,000 ไร่ และจะหมุนเวียนพื้นที่จัดระบบการปลูกข้าวดังกล่าวในเขตชลประทานแต่ละปี สำหรับการดำเนินการดังกล่าวจะเป็นการบูรณาการระหว่างกระทรวงเกษตรฯ กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงพลังงาน กระทรวงมหาดไทย และผู้ประกอบการ เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนในทุกด้าน และต้องมีมาตรการจูงใจ เพื่อให้เกษตรกรได้พิจารณาเลือกในการตัดสินใจในการปรับเปลี่ยน และเพิ่มรายได้ของเกษตรกรตามความต้องการของตนเอง
อีกทั้ง ที่ประชุมฯ ได้พิจารณาข้อกังวลของสาธารณชนในเรื่องทุจริต เช่น การสวมสิทธิเกษตรกร การนำข้าวต่างประเทศสวมสิทธิ และเพื่อให้โครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาลดำเนินการต่อไปด้วยความรอบคอบ สุจริต และโปร่งใส จึงมอบหมายให้คณะอนุกรรมการระดับจังหวัดนำปัญหาที่เกิดขึ้นไปปรับปรุงหลักเกณฑ์เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพโครงการฯ ขณะที่ตำรวจ ทหาร ตำรวจชายแดน ตรวจตราบริเวณชายแดนอย่างเข้มงวดเพื่อป้องกันการลักลอบนำเข้าข้าวต่างประเทศมาสวมสิทธิและให้กระทรวงเกษตรเข้มงวดในการขึ้นทะเบียนเกษตรกรให้ถูกต้อง รวมทั้งมอบหมายให้กระทรวงพาณิชย์ อคส. และ อ.ต.ก. กำกับดูแล ณ จุดรับจำนำและคลังสินค้า ติดกล้อง CCTV ให้สาธารณชนร่วมตรวจสอบได้ เชื่อมโยงระบบการขึ้นทะเบียนเกษตรกร การออกใบประทวน การจ่ายเงินให้เกษตรกร และการส่งข้าวจากโรงสีเข้าคลังกลาง เพื่อให้สามารถตรวจสอบข้อมูลย้อนกลับได้ระหว่างหน่วยงาน และรายงานการดำเนินงานที่ประชุมในครั้งต่อไป