ชีวิตที่ปลิดปลิว"ซูฮัยนี ลงซา" กับชะตากรรมของลูกๆ 5 คน
"แม่ผมทำผิดอะไร ทำไมต้องมายิงแม่ผมด้วย" เป็นเสียงครวญซ้ำๆ ของ อาซัม หวันสู บุตรชายคนโตอายุ 18 ปีของ ซูฮัยนี ลงซา หญิงวัย 35 ปี ที่ถูกยิงเสียชีวิตไม่ใกล้ไม่ไกลกับตลาดนัด ต.บุดี อ.เมืองยะลา เมื่อเย็นวันพฤหัสบดีที่ 27 มิ.ย.ที่ผ่านมา
การตายของ ซูฮัยนี แม้จะไม่เป็นข่าวครึกโครมเหมือนเหตุระเบิดและเหตุรุนแรงขนาดใหญ่อื่นๆ ที่เกิดซ้ำแล้วซ้ำเล่าในพื้นที่ แต่ก็มีคนจำนวนไม่น้อยให้ความสนใจ เพราะ ซูฮัยนี เป็นเจ้าหน้าที่ศูนย์เยียวยาของเทศบาลตำบลกายูบอเกาะ อ.รามัน จ.ยะลา และเธอถูกคนร้ายยิงเสียชีวิตต่อหน้าต่อตาลูกน้อย 2 คน คือ ด.ช.อาลัน หวันสู อายุ 7 ชวบ กับ ด.ช.อาซอฟรอน ลาดิสง อายุ 4 ขวบ ซึ่งเธอเพิ่งไปรับมาจากโรงเรียน
โดยหนูน้อยวัย 4 ขวบได้รับบาดเจ็บจากกระสุนปืนด้วย...
อาซัม เล่าว่า ช่วงที่ทราบข่าวว่าแม่และน้องถูกยิง เขาอยู่ที่ จ.สตูล จึงรีบเดินทางกลับทันทีเพื่อให้ทันดูร่างไร้วิญญาณของผู้เป็นแม่เป็นครั้งสุดท้าย ก่อนจะมีพิธีฝังศพในค่ำคืนนั้น
บ้านของ ซูฮัยนี ตั้งอยู่เลขที่ 68/2 หมู่ 4 ต.กอตอตือระ อ.รามัน เป็นบ้านไม้ชั้นเดียว หลังจากวันเกิดเหตุยังมีญาติพี่น้องและเพื่อนร่วมงานไปร่วมไว้อาลัยเธอ และเยี่ยมเด็กๆ ไม่ขาดสาย ซูฮัยนีเป็นที่รู้จักในวงกว้างในฐานะหญิงแกร่งของ อ.รามัน ตามข่าวระบุว่าเธอเป็นแม่ลูก 4 แต่จริงๆ แล้วเธอมีลูกต้องดูแลถึง 5 คน แต่ก็ยังเจียดเวลาทำงานเพื่อสังคม
อาซัม เล่าว่า มีพี่น้อง 5 คนเป็นชายทั้งหมด เขาเป็นพี่คนโต ทำงานอยู่ที่ จ.สตูล นานๆ จึงจะกลับบ้านสักครั้ง ส่วนใหญ่เป็นโอกาสสำคัญ เช่น วันฮารีรายอ น้องคนรองชื่อ อาริส อายุ 15 ปี คนที่ 3 ชื่อ อานัส อายุ 14 ปี คนที่ 4 ชื่อ อาลัน อายุ 7 ปี และคนที่ 5 ชื่อ อาซอฟรอน อายุ 4 ขวบ ส่วนพ่อ นายบีสน หวันสู เสียชีวิตจากสถานการณ์ความไม่สงบนานหลายปีแล้ว ตั้งแต่อาลันอายุได้ 8 เดือน
"ผมจำได้ว่าเป็นปี 2549" อาซัมเล่าย้อนถึงวันที่พ่อถูกยิง "วันนั้นเป็นวันรายอ ตอนเช้าพ่อได้ไปละหมาดที่มัสยิดประจำหมู่บ้าน แล้วถูกคนร้ายยิงเสียชีวิตในมัสยิด ไม่นึกเลยว่าเวลาผ่านมาเกือบ 7 ปีจะต้องมาสูญเสียแม่ไปอีกคน ผมไม่รู้ว่าทั้งพ่อและแม่ทำผิดอะไรจึงทำให้คนที่คิดไม่ดีต้องมาทำกันถึงขนาดนี้"
กับเหตุการณ์ร้ายล่าสุด อาซัม ยังมองในแง่ดีว่าอย่างน้อยน้องคนเล็กก็ปลอดภัยทั้งๆ ที่โดนกระสุนปืน
"ผมเห็นน้องคนเล็กคุยกับอาลันว่าแม่เสียชีวิตแล้ว แต่แกยังไม่รู้เรื่องอะไรมากนักจึงไม่ได้ร้องไห้ แต่ลึกๆ แล้วก็อดสงสารน้องไม่ได้" อาซัมบอก
ขณะที่ อาลัน วัย 7 ขวบที่อยู่ในที่เกิดเหตุด้วย ตอนนี้สภาพจิตใจของเขายังย่ำแย่ ไม่พูดไม่จากับใคร ปกติเขาจะเป็นคนเรียบร้อยและพูดน้อยอยู่แล้ว เมื่อต้องเผชิญกับเหตุการณ์มารดาถูกยิงเสียชีวิตต่อหน้า ยิ่งทำให้เขาแทบไม่ปริปากพูดกับใครเลย ส่วน อาริส และ อานัส สองพี่น้องที่โตกว่าก็อยู่ในอาการเงียบงัน
อาซัม ยังบอกอีกว่า หากแม่เสียชีวิตจากการเจ็บไข้ได้ป่วย เขาจะยังรู้สึกดีกว่านี้ แต่นี่ต้องมารับรู้ว่าสูญเสียแม่ไปเพราะถูกยิง คิดว่าอย่างนี้ไม่มีใครทำใจยอมรับได้ บอกตรงๆ ว่ารู้สึกโกรธคนที่มาทำร้ายครอบครัว เพราะไม่รู้ว่าทำร้ายกันทำไม ทำแล้วได้อะไร
"ทางตำรวจยังไม่ได้สรุปว่าถูกยิงจากสถานการณ์ความไม่สงบหรือเหตุส่วนตัว แต่เท่าที่ผมรู้แม่ชอบทำงานเพื่อสังคม ช่วยเหลือเพื่อนบ้านตลอดเวลา ฉะนั้นผมเชื่อว่าต้องมาจากเหตุความไม่สงบ"
อาซัม ยอมรับว่าในฐานะลูกคนโตรู้สึกเครียดไม่น้อยเมื่อแม่ผู้เป็นเสาหลักของครอบครัวต้องจากไป...
"ผมไม่คาดหวังหรอกว่าตำรวจจะจับคนร้ายได้ แต่ที่เป็นห่วงหลังจากนี้คือน้องๆ โดยเฉพาะเรื่องเรียนหนังสือ ผมอยากให้พวกเขาได้เรียนกันทุกคน แต่ผมก็ไม่แน่ใจว่ากำลังของผมคนเดียวจะไหวหรือเปล่า ซึ่งหากได้ทุนการศึกษามาช่วยจุนเจือก็น่าจะดี"
"ตอนไม่มีพ่อ ยังรู้สึกดีบ้างที่มีแม่คอยให้กำลังใจ แต่วันนี้ไม่มีแม่แล้ว ผมต้องเข้มแข็งและทำหน้าที่ของพี่ให้ดีที่สุด เพราะยังมีน้องๆ อีก 4 คนที่ต้องดูแล รวมไปถึงยายที่ตอนนี้ก็อายุมากแล้ว" อาซัมกล่าว
ยูวารี ลงซา วัย 62 ปี มารดาของซูฮัยนี และยายของอาซัมที่เขาพูดถึง เล่าเสริมว่า เมื่อปี 2549 ลูกเขยถูกยิงเสียชีวิตในวันรายอขณะจะประกอบพิธีละหมาดในมัสยิดประจำหมู่บ้าน หลังจากนั้นลูกสาวก็ได้เข้าโครงการจ้างงานเร่งด่วน 4,500 บาทต่อเดือน โดยเป็นเจ้าหน้าที่ศูนย์เยียวยาประจำเทศบาลตำบลกายูบอเกาะ อ.รามัน หน้าที่ของเธอคือจะคอยประสานงานระหว่างหน่วยงานรัฐกับภาคประชาสังคมในพื้นที่โดยไม่เกี่ยงว่าเป็นใคร ชาวบ้านไม่เข้าใจอะไรเธอก็ช่วยเหลือทุกอย่าง
กิจวัตรประจำวันของซูฮัยนี คือตื่นนอนตั้งแต่เช้ามืดเพื่อไปกรีดยาง จากนั้นจึงขี่รถไปส่งลูกชาย 2 คนไปเรียนหนังสือในตัวเมืองยะลา เสร็จแล้วก็กลับมาช่วยงานที่บ้าน ยกเว้นวันไหนที่ติดประชุมในเมือง ก็จะอยู่รอรับลูกตอนเย็นเพื่อกลับบ้านพร้อมกัน
"จริงๆ เส้นทางกลับบ้านมีหลายเส้นทาง แต่ที่เขาเลือกเส้นทางสายโกตาบารู-ไม้แก่น จนถูกยิง เพราะเป็นเส้นทางที่ใกล้ที่สุด ประหยัดเวลาและย่นระยะทางได้หลายกิโลฯ"
ยูวารี เปรยถึงชีวิตของนางเองอย่างสะท้อนใจ เพราะห้วงระยะเวลาเพียงไม่กี่ปีต้องเสียทั้งลูกเขยและลูกสาว
"เมาะ (ยาย) อายุมากแล้ว ทำงานไม่ค่อยไหว รายได้ก็มาจากกรีดยางไปวันๆ ที่ผ่านมาก็ได้แรงลูกสาวนี่แหละที่คอยทำโน่นทำนี่ให้ตลอด หลังจากนี้ไม่มีเขาแล้ว ก็คงต้องพึ่งพาหลานๆ"
"7 ปีก่อนลูกเขยโดนยิง มาวันนี้ลูกสาวอีก ทุกคืนยังร้องไห้เพราะยากจะทำใจยอมรับ" เสียงของหญิงชราขาดหายเพราะต้องพยายามกลั้นน้ำตาที่เอ่อคลอไม่ให้ไหลออกมา
ด้านเพื่อนบ้านรายหนึ่งของซูฮัยนี เล่าว่า เพื่อนๆ เรียกชื่อซูฮัยนีสั้นๆ ว่า "นี" เธอเป็นหนึ่งในสมาชิกกลุ่มสตรีของ อ.รามัน เป็นคนมีจิตอาสา คอยช่วยเหลือเพื่อนบ้านตลอดเวลา เพราะสามารถสื่อสารภาษาไทยได้คล่องแคล่ว จึงติดต่อประสานงานกับหน่วยงานรัฐและภาคประชาสังคมในพื้นที่ได้เป็นอย่างดี ก่อนหน้านี้เคยร่วมงานกับกลุ่มสตรีเพื่อสันติภาพ (วีพีช) และตอนหลังยังเป็นหนึ่งในแกนนำ "วาตานีอาสา" ของพื้นที่ อ.รามัน กับเครือข่ายผู้หญิงยุติความรุนแรงแสวงสันติภาพสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วย
"ครั้งสุดท้ายจำได้ว่าเขาอาสาพาครอบครัวหนึ่งที่อยู่ในหมู่บ้านเดียวกัน ซึ่งผู้นำครอบครัวถูกยิงเสียชีวิตจากสถานการณ์ความไม่สงบแต่ไม่ได้รับการเยียวยา ไปยื่นเอกสารเดินเรื่องที่ ศอ.บต.(ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้) เพื่อขอความเป็นธรรม" เพื่อนบ้านเล่าถึงการทำงานของซูฮัยนี และว่า
"สงสารเด็กๆ ที่ต้องมากำพร้าทั้งพ่อและแม่ หลายๆ คนตั้งข้อสังเกตว่าการทำร้ายผู้หญิงคนหนึ่งที่ก่อนหน้านี้สามีก็โดนยิงเช่นกัน เป็นการสร้างกระแสช่วงก่อนจะถึงเดือนรอมฎอนหรือเปล่า แต่ท้ายที่สุดก็ไม่มีคำตอบ เพราะเป็นเรื่องยากที่จะคาดเดาได้ว่าใครเป็นคนทำ แต่ผลสุดท้ายคนที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดก็คือเด็กๆ และยายที่อายุมากแล้ว"
เป็นอีกครั้งที่ชายแดนใต้...ดินแดนที่ความรุนแรงไร้คำอธิบาย แต่ก่อความเสียหายมากมายจริงๆ...
-------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ :
1 และ 2 อาซัมกับยาย และภาพถ่ายของซูฮัยนี
3 ลูกๆ ของซูฮัยนี ยกเว้นอาซอฟรอนที่ยังอยู่โรงพยาบาล (ภาพทั้งหมดโดย แวลีเมาะ ปูซู)
4 อาซอฟรอนบาดเจ็บจากเหตุการณ์ที่แม่ถูกยิง
ขอบคุณ : เอกรักษ์ ศรีรุ่ง ผู้สื่อข่าวสถานีโทรทัศน์ช่อง 3 ประจำ จ.ยะลา เอื้อเฟื้อภาพหนูน้อยอาซอฟรอน