ธ.ก.ส.ทุ่ม 6 หมื่นล้าน ช่วยชาวนารอดพิษลดราคาจำนำข้าว
ธ.ก.ส.จัดงบ 6 หมื่นล้าน ช่วยชาวนา 2 แสนราย รับผลกระทบลดราคาจำนำข้าว สศก.ชี้โซนนิ่งเกษตรไทยไม่ช่วยตลาดโตอาเซียน เหตุขาดศึกษาความต้องการผู้บริโภค เน้นคุมผลผลิตอย่างเดียว
วันที่ 27 มิ.ย. 56 ที่สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) ดร.จารึก สิงหปรีชา ผอ.ศูนย์ติดตามและพยากรณ์เศรษฐกิจการเกษตร เปิดเผยถึงสถานการณ์การผลิตพืชเศรษฐกิจ ได้แก่ ข้าว มันสำปะหลัง ยางพารา อ้อย และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ในกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียน 10 ประเทศ พบว่า ข้าวไทยมีกำลังการผลิต 36.18 ล้านตันข้าวเปลือก และข้าวโพด 4.9 ล้านตัน อยู่ในอันดับ 3 ของกลุ่ม ขณะที่พืชไทยมีกำลังการผลิตสูงสุดของกลุ่มในการผลิตอ้อย มันสำปะหลัง และยางพารา อยู่ที่ 99.6, 27.5 และ 3.4 ล้านตัน
จากตัวเลขดังกล่าวทำให้สามารถคาดการณ์แนวโน้มเศรษฐกิจของประเทศปี 56 จะมีสัดส่วนเติบโตร้อยละ 3-4 และหากมองที่เศรษฐกิจเกษตรจะขยายตัวร้อยละ 3.5-4.5 แบ่งเป็น สาขาพืช คาดว่าจะขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 4-5 ในพืชสำคัญ เช่น ข้าว มันสำปะหลัง อ้อยโรงงาน ยางพารา และปาล์ม สาขาปศุสัตว์ จะขยายตัวร้อยละ 1.8-2.8 จากความต้องการเพิ่มขึ้นทั้งในและต่างประเทศ สาขาประมง จะขยายตัวร้อยละ (-0.2)-0.8 เรียกว่าอยู่ในภาวะทรงตัว สาขาบริการทางการเกษตร จะขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.5-3.5 เนื่องด้วยขาดแคลนแรงงานและมีการขยายพื้นที่ปลูกมากขึ้น ทำให้ต้องการใช้เครื่องจักรกลทางการเกษตรตามมา และสาขาป่าไม้ จะขยายตัวร้อยละ 0.5-1.5 ซึ่งเป็นผลมาจากนโยบายตัดโค่นสวนยางพาราเก่า 500,000 ไร่ ปี 55-56
ผอ.ศูนย์ติดตามฯ กล่าวต่อมาตรการรองรับการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) มี 2 มาตรการ คือ เชิงรับ โดยจะกำหนดรายละเอียดผู้นำเข้าชนิดสินค้า ช่วงเวลา การปราบปราม ผ่านการแสดงแหล่งกำเนิด ตรวจสอบคุณลักษณะสินค้า และเก็บค่าธรรมเนียมพิเศษ เพื่อลดการนำเข้าสินค้าที่มากเกินไป ส่วนเชิงรุก จะต้องเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตให้ได้ตามมาตรฐานสากล และส่งเสริมภาพลักษณ์ที่ดีของสินค้า ด้วยการสร้างตราสัญลักษณ์ และสร้างความแตกต่างของสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) ที่สำคัญเกษตรกรต้องสามารถลดต้นทุนการผลิต และต้องเพิ่มผลผลิต/ไร่ได้
“สิ่งที่ภาครัฐต้องเร่งดำเนินการเมื่อเข้าสู่เออีซี คือ การพัฒนาระบบขนส่งโลจิสติกส์ เพราะปัจจุบันเกษตรกรต้องสูญเสียเม็ดเงินไปกับระบบการขนส่งสินค้าดังกล่าวมาก โดยเฉพาะในพืชเศรษฐกิจสำคัญ”
ส่วนนโยบายโซนนิ่งเกษตรจะมีส่วนทำให้ตลาดไทยเติบโตในอาเซียนมากน้อยเพียงใด ขณะนี้เชื่อว่ากระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) กำลังเร่งหาพื้นที่เหมาะสมกับพืชแต่ละชนิด ซึ่งจะศึกษาจากปริมาณผลผลิตสูงสุด แต่ต้องเข้าใจว่าจุดหมายนโยบายนี้เพื่อหวังควบคุมผลผลิตเกษตรไม่ให้ล้นตลาด แต่หากต้องการดำเนินการกับพืชเศรษฐกิจส่งออกในตลาดกลุ่ม จำเป็นต้องศึกษาความต้องการของตลาดอาเซียนด้วย เพื่อจะสามารถกำหนดพื้นที่เพาะปลูกพืชแต่ละชนิดได้อย่างเกิดประโยชน์ อย่างไรก็ตามยอมรับว่าค่อนข้างยาก เพราะความต้องการของผู้บริโภคผันผวนตลอดเวลา
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับความเคลื่อนไหวการออกมาตรการช่วยเหลือชาวนาที่ได้รับผลกระทบจากการปรับเงื่อนไขจำนำได้ไม่เกินครัวเรือนละ 500,000 บาท และลดราคาจำนำข้าวเหลือ 12,000 บาท/ตันนั้น
ล่าสุด นายทนุศักดิ์ เล็กอุทัย รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ในฐานะประธานกรรมการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ระบุว่า บอร์ด ธ.ก.ส.มีมติเห็นชอบให้ดำเนินมาตรการดูแลเกษตรกร ซึ่งได้รับผลกระทบจากการปรับเงื่อนไขโครงการรับจำนำข้าวเปลือกปีการผลิต 2555/56 จำนวน 200,000 ราย รวมวงเงิน 60,000 ล้านบาท แบ่งเป็น 1. มาตรการลดภาระดอกเบี้ยเงินกู้เดิมที่มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการผลิตข้าวที่เกษตรกรนำมาจำนำลงร้อยละ 3 โดยประมาณการวงเงินกู้เดิมที่เกษตรกรจะได้รับประโยชน์จำนวน 36,969 ล้านบาท ซึ่งจะช่วยลดภาระดอกเบี้ยให้เกษตรกรได้ 1,109 ล้านบาท
2. มาตรการสนับสนุนสินเชื่อเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการผลิตข้าว ปีการผลิต 2556/57 โดยการลดดอกเบี้ยเงินกู้จากอัตราปกติที่เกษตรกรเคยเสียลงอีกร้อยละ 3 ทั้งนี้ต้องเป็นสัญญากู้เงินที่เบิกรับเงินกู้ตั้งแต่ 20 มิ.ย. 56 - 31 มี.ค.57 วงเงินสินเชื่อ 15,000 ล้านบาท โดยคาดว่าจะลดภาระดอกเบี้ยให้เกษตรกรได้450 ล้านบาท 3. มาตรการสนับสนุนสินเชื่ออัตราดอกเบี้ยพิเศษ MLR-1 ให้แก่สถาบันเกษตรกร เพื่อนำไปรวบรวมข้าวเปลือกจากสมาชิก วงเงินสินเชื่อ 4,000 ล้านบาท โดยจะช่วยลดภาระดอกเบี้ยได้ 40 ล้านบาท
4.งดคิดดอกเบี้ยจากการใช้บัตรสินเชื่อเกษตรกร ตั้งแต่วันที่ใช้บัตรจนถึงวันครบกำหนดชำระ วงเงินบัตรสินเชื่อ 4,000 ล้านบาท โดยช่วยลดภาระดอกเบี้ยได้ 280 ล้านบาท และ 5.มาตรการให้สิทธิเข้าร่วมโครงการประกันภัยนาข้าวตามนโยบายรัฐบาล โดย ธ.ก.ส.สมทบค่าเบี้ยประกันในส่วนที่เกษตรกรลูกค้าต้องจ่ายค่าเบี้ยประกันภัยครึ่งหนึ่ง คาดว่ามีพื้นที่เพาะปลูกที่เข้าร่วมโครงการ 6.16 ล้านไร่ ค่าเบี้ยประกันภัย 92 ล้านบาท
“มาตรการดังกล่าวจะช่วยลดภาระต้นทุนเรื่องดอกเบี้ยให้แก่เกษตรกรราว 2,063 ล้านบาท อย่างไรก็ดีธ.ก.ส.จะขอให้กระทรวงการคลัง เป็นผู้จ่ายชดเชยดอกเบี้ยเงินกู้และค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นแทนเกษตรกร เพื่อไม่ให้เป็นภาระต่อธ.ก.ส.” รมช.คลัง ทิ้งท้าย .
ที่มาภาพ: http://www.kasetsbuy.com/Blank11.html