ย้อนรอยตำนาน "ผ้าเหลือง" ฉาว!! วิกฤตศรัทธา "พระสงฆ์ไทย" ที่ยากจะลืมเลือน?
"...ยิ่งความเจริญทางโลกเพิ่มมากขึ้นเท่าไหร่ ข่าวคราวในทางไม่สู้ดีเกี่ยวกับ พระสงฆ์ หรือ บรรพชิต ผู้ครองอาภรณ์แห่งธรรม ก็ยิ่งปรากฎตามหน้าสื่อมากขึ้นเรื่อยๆ ไม่ว่าจะเป็นข่าวเล็กข่าวใหญ่ แต่ทุกครั้งย่อมนำมาซึ่งความเสื่อมศรัทธาของประชาชนทั่วไป.."
ประเทศไทยเป็นเมืองพุทธ ที่ตามหลักพระพุทธศาสนา พระรัตนตรัย อันประกอบไปด้วย พระพุทธ พระธรรม และ พระสงฆ์ ถือเป็นแก้วสามประการประกอบกันและทำหน้าที่ธำรงคุณงามความดี ผิดชอบชั่วดีแก่มนุษย์มาหลายพันปี
พระพุทธ และ พระธรรม เป็นของสูง เป็นแก่นแท้และหลักการนำสู่การคิดปฏิบัติ โดย พระสงฆ์ มีบทบาทสำคัญในการสืบทอดพระพุทธศาสนา และถือเป็นผู้น่าเลื่อมใส สามารถตัดกิเลสเครื่องเศร้าหมองทั้งปวงได้ เป็นที่สมควรแก่การกราบไหว้บูชา
แต่ถ้า พระสงฆ์ ไม่ควรเป็นที่กราบไหว้บูชา จะเกิดอะไรขึ้น?
ยิ่งความเจริญทางโลกเพิ่มมากขึ้นเท่าไหร่ ข่าวคราวในทางไม่สู้ดีเกี่ยวกับ พระสงฆ์ หรือ บรรพชิต ผู้ครองอาภรณ์แห่งธรรม ก็ยิ่งปรากฎตามหน้าสื่อมากขึ้นเรื่อยๆ ไม่ว่าจะเป็นข่าวเล็กข่าวใหญ่ แต่ทุกครั้งย่อมนำมาซึ่งความเสื่อมศรัทธาของประชาชนทั่วไป โดยเฉพาะกรณีที่เป็นข่าวคราวโด่งดังตั้งแต่อดีตจนปัจจุบัน มีปรากฎแล้วมากมาย จากวันนั้นจนวันนี้ ก็ไม่มีทีท่าจะจบจะสิ้น
สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ(พศ.) ในฐานะปกครองสงฆ์ ได้รวบรวมข้อมูลที่พระสงฆ์ถูกร้องเรียนมากที่สุดและส่วนใหญ่พบว่าเป็นเรื่องจริง และเป็นการผิดวินัย ที่ปรากฏให้เห็นอย่างเด่นชัด โดยเรื่องร้องเรียนที่พศ. พบมากที่สุดนั้น เป็นเรื่องการบิณฑบาตไม่เหมาะสม ซึ่งมีทั้งพระจริง และฆราวาส(พระปลอม)
นอกจากนี้ยังมี การฉันอาหารตอนเย็น เล่นพนัน การเปิดเพลงเสียงดัง ทะเลาะวิวาทกับฆราวาส รับเงิน ใช้ของแพง ซื้อลอตเตอรี่ การดูหนังโป๊ มีสีกาอยู่ในกุฏิซึ่งก็จะถือเป็นการปาราชิกร้ายแรง หรือแม้แต่พฤติกรรมไม่สำรวมในรูปแบบเพศที่สาม การไปเกี่ยวข้องกับการเมือง และการร่วมชุมนุมต่อต้านตามสถานที่ต่างๆ มีการแสดงท่าที่ไม่สำรวม ทั้งนี้พระไม่สามารถเล่นการเมือง หรือเข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งทางการเมืองได้ โดยมีคำสั่งของมหาเถรสมาคม พ.ศ.2538 ห้ามไว้อย่างชัดเจน
หากย้อนไปในอดีต กรณีอื้อฉาวเกี่ยวกับพระเกิดขึ้นมากมาย หลายกรณีก็เป็นเรื่องราวใหญ่โตตกเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ของสังคมไทยอย่างครึกโครมมาแล้ว อาทิ
@พระครูใบฎีกานิกร ธรรมวาที (นายนิกร ยศคำจู) วัดสันปง อำเภอพร้าว จังหวัดเชียงใหม่
เป็นเรื่องราวใหญ่โตเมื่อ พ.ศ.2533 พระนิกรซึ่งเป็นอดีตพระนักเทศน์เสียงทองแห่งยุค มีผู้คนแห่ไปฟังการเทศน์ไม่ขาดสาย จนถึงขั้นต้องเปิดสำนักปฏิบัติธรรมหลายสิบแห่งทั่วประเทศ พระนิกรได้สร้างความปวดร้าวให้แก่ชาวพุทธ เมื่อมีความสัมพันธ์กับ นางอรปวีณา บุตรขุนทอง จนมีลูกด้วยกัน พระนิกรพยายามตอบโต้ข่าวว่ามีผู้อิจฉาในชื่อเสียงของตน อีกทั้งบรรดาลูกศิษย์ก็พยายามหาหนทางตอบโต้ข้อกล่าวหาว่าเป็นการกลั่นแกล้งโดยไม่เชื่อว่า พระที่ยึดมั่นในศีลธรรมและเทศน์ได้ไพเราะจะทำตัวเช่นนั้น แม้มีหลักฐานมากมายจนถึงขั้นปาราชิก แต่พระนิกร ยังไม่ยอมถอดผ้าเหลืองและยังมีคนอีกมากมายหลงศรัทธาอย่างไม่ลืมหูลืมตา แม้จะเต็มไปด้วยหลักฐาน ตั้งแต่จดหมายรัก ภาพถ่าย จนถูกดำเนินคดีทั้งศาลยุติธรรมและศาลสงฆ์ ซึ่งในที่สุดศาลสงฆ์ มีมติระบุความผิดพระนิกรว่า เป็น "ปฐมปาราชิก" คือการเสพเมถุนกับอิสตรี ขาดจากความเป็นพระ แม้จะกลับมาบวชใหม่ก็ไม่สามารถดำรงความเป็นสมณเพศได้ เปรียบดังตาลยอดด้วนที่ไม่สามารถเจริญเติบโตและงอกเงยได้อีกต่อไป
จึงเป็นเหตุให้มีการแก้ พ.ร.บ.ปกครองสงฆ์ พ.ศ. 2535 (ฉบับที่ 2) ให้ตำรวจ/อัยการ จับพระสึกได้ เรื่องนี้มีคำพิพากษาศาลฎีกาลงวันที่ 15 เดือนมกราคม พ.ศ. 2541 ยืนยันในพฤติกรรมไว้ชัดเจน
โดยคดีอาญา นางอรปวีณา บุตรขุนทอง กับพวกเป็นฝ่ายโจทก์ มีนายนิกร ยศคำจู เป็นจำเลย ใจความว่า เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2533 เวลากลางวัน จำเลย ซึ่งขณะนั้นครองสมณเพศ ได้แจ้งข้อความอันเป็นเท็จต่อพ.ต.ท.พิทักษ์ สุวรรณ พนักงานสอบสวน สถานีตำรวจนครบาลดอนเมือง ว่า เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2533 เวลาประมาณ 22 นาฬิกา ขณะที่จำเลยจะเดินทางไปต่างประเทศ โจทก์และพวกยึดเอาหนังสือเดินทาง ตั๋วเครื่องบิน กระเป๋าเดินทาง และข่มขู่ให้ไปด้วย มิฉะนั้นจะทำร้าย แล้วพาจำเลยไปกักขังไว้ที่บ้านเลขที่ 1669/665 หมู่บ้านปิ่นเจริญ 2 พร้อมข่มขู่บังคับจะเอาเงินห้าล้านบาท ใช้อาวุธปืนบังคับให้จำเลยถอดจีวรออก แต่งกายแบบฆราวาส กระทำพิธีผูกข้อมือแต่งงานกับโจทก์ พร้อม ถ่ายภาพ และขู่ว่า หากไม่จ่ายเงิน จะนำภาพไปเปิดเผยทางสื่อมวลชน จำเลยกลัวจึงสั่งจ่ายเช็คธนาคากรุงเทพ จำกัด สาขาประตูช้างเผือก ลงวันที่ 18 มิถุนายน 2533 จำนวนห้าล้านบาท
การแจ้งความดังกล่าวทำให้ฝ่ายโจทก์ถูกพนักงานสอบสวนควบคุมตัว ได้รับความเสียหาย ทั้งที่ไม่ได้มีการกระทำความผิดในข้อหากรรโชกและทำให้เสื่อมเสียเสรีภาพเกิดขึ้นตามที่จำเลยกล่าวหา ศาลฎีการตรวจสำนวน ประชุมปรึกษาแล้ว มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า มีเหตุสมควรรอการลงโทษจำเลยหรือไม่ เห็นว่า ในขณะที่จำเลยกระทำความผิด จำเลยเป็นพระภิกษุ ตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดสันปง อำเภอพร้าว จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งมีชื่อเสียง เป็นที่เคารพนับถือของประชาชนทั่วไป และเป็นผู้ที่อบรมสั่งสอนประชาชนให้ประพฤติปฏิบัติตนอยู่ในศีลธรรมอันดี แต่จำเลยกลับมากระทำความผิดเสียเองเช่นนี้ เพื่อมิให้เป็นเยี่ยงอย่างต่อไป การกระทำของจำเลยจึงไม่มีเหตุสมควรที่จะรอการลงโทษ ที่ศาลอุทธรณ์ใช้ดุลพินิจในการลงโทษจำเลย โดยไม่รอการลงโทษนั้น เหมาะสมแก่พฤติการณ์แห่งรูปคดีแล้ว ไม่มีเหตุที่ศาลฎีกาจะเปลี่ยนแปลงแก้ไข ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น
@พระยันตระ อมโรภิกขุ (พระวินัย อมโร) หรือ นายวินัย ละอองสุวรรณ
พระยันตระ เป็นที่รู้จักดีเนื่องจากเคยเป็นพระสงฆ์นักปฏิบัติธรรมชื่อดังที่มีผู้เคารพศรัทธามากของเมืองไทยและต่างประเทศในช่วงหนึ่ง ก่อนจะถูกฟ้องคดีกล่าวหาว่าต้องปาราชิกาธิกรณ์และถูกมติมหาเถรสมาคมลงให้พ้นจากภาวะพระภิกษุ และหลบหนีออกนอกประเทศเมื่อ พ.ศ.2537 ไปอาศัยอยู่ในประเทศสหรัฐอเมริกาในสถานะผู้ลี้ภัยทางการเมืองจนถึงปัจจุบัน
นายวินัย ละอองสุวรรณ เป็นชาวนครศรีธรรมราช ก่อนอุปสมบทเป็นพระภิกษุ เขาได้ปฏิบัติตนเป็นนักพรตฤๅษีอยู่หลายปีจนเป็นที่รู้จักกว้างขวาง ต่อมาได้อุปสมบทเป็นพระสงฆ์ในธรรมยุติกนิกายเมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ.2517 ณ พัทธสีมาวัดรัตนาราม อำเภอปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช พระวินัย เมื่ออุปสมบทมักใช้คำแทนตัวว่า พระยันตระ ซึ่งแปลว่าผู้ไกลจากกิเลส ที่เคยใช้มาตั้งแต่ยังเป็นฤๅษียันตระ เมื่อบวชแล้วเป็นที่รู้จักดีทำให้มีผู้ศรัทธาบวชเพื่อเข้าเป็นลูกศิษย์มากมาย ทำให้เขามักแวดล้อมไปด้วยพระสงฆ์คอยอุปัฏฐากอยู่เสมอ ๆ นอกจากนี้ยังมีผู้ศรัทธาสร้างสำนักวัดถวายเขาหลายแห่ง โดยทุกวัดที่สร้างในสำนักเขาจะใช้คำว่า "สุญญตาราม" ประกอบด้วยเสมอ สำนักที่เป็นที่รู้จักดีคือ วัดป่าสุญญตาราม กาญจนบุรี และยังมีสำนักวัดป่าสุญญตารามของเขาในต่างประเทศอีกหลายแห่ง เช่นที่ วัดป่าสุญญตาราม เมืองบันดานูน รัฐนิวเซาท์เวลส์ ประเทศออสเตรเลีย เป็นต้น
ใน พ.ศ.2537 นายวินัยได้ถูกฟ้องร้องหลายข้อหาและถูกตั้งอธิกรณ์ว่าล่วงละเมิดเมถุนธรรมปาราชิกาบัติ กับนางจันทิมา หรือแม่ดญ.กระต่าย อันเป็นหนึ่งในจตุตถปาราชิกาบัติที่ทำให้ขาดจากความเป็นพระภิกษุตามพระวินัยบัญญัติ โดยมีการต่อสู้ด้วยพยานหลักฐานมากมายตามสื่อต่าง ๆ เป็นข่าวโด่งดังในสมัยนั้น จนในที่สุดได้ถูกมติมหาเถรสมาคมพิจารณาอธิกรณ์ปรับให้พ้นจากความเป็นพระภิกษุ เพราะพิจารณาได้ความว่าเขาต้องอาบัติหนักดังที่ถูกฟ้องร้อง แต่นายวินัยไม่ยอมรับมติสงฆ์ดังกล่าว ด้วยการปฏิญาณตนว่ายังเป็นพระภิกษุและเปลี่ยนสีจีวรเป็นสีเขียว ทำให้ถูกสื่อต่าง ๆ ขนานนามว่า จิ้งเขียว, สมียันดะ, ยันดะ เป็นต้น ก่อนที่นายวินัยจะลักลอบทำหนังสือเดินทางปลอมเพื่อหลบหนีออกจากประเทศไทยไปอยู่ในสหรัฐอเมริกาและได้รับสถานะผู้ลี้ภัยทางการเมือง ทำให้นายวินัยสามารถหลบหนีคดีความอยู่ในประเทศสหรัฐอเมริกาได้จนถึงปัจจุบัน
@ พระอิสรมุนี สำนักสงฆ์ป่าละอู จังหวัดเพชรบุรี
พระอิสระมุนี หรือ พระพีระพล เตชะปัญโญ เดิมชื่อ นายบรรหาร อดีตเจ้าอาวาสวัดธรรมวิหารี (วัดร่วมใจพัฒนา-วัดป่าละอู) อำเภอแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี เป็นพระสงฆ์สายวิปัสสนา ซึ่งเป็นที่นับถือเลื่อมใสจากอดีตนายกรัฐมนตรี พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ชินวัตร และ ภริยา พจมาน ชินวัตรเป็นอย่างมาก
พระอิสระมุนี เป็นอดีตพระเลขาของหลวงปู่ชา สุภัทโทแห่งวัดหนองป่าพง อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี ต่อมาเกิดขัดแย้งกับลูกศิษย์ของหลวงปู่ชา ถูกกล่าวหาว่าโกงเงินของวัดจนถูกจับสึก จึงเดินทางมาที่จังหวัดเพชรบุรี ปักกลดและตั้งสำนักสงฆ์ บริเวณป่าละอู ตำบลป่าแดง อำเภอแก่งกระจาน พัฒนาจนกลายเป็นวัดธรรมวิหารี มีเนื้อที่กว่า 200 ไร่ในปัจจุบัน
พระอิสระมุนีเป็นพระนักเทศน์ที่มีความสามารถ สั่งสอนธรรมะให้เห็นอย่างเป็นรูปธรรม ได้นิยามถึงตัวตนของตนเองไว้ว่า เราผู้มีชื่อว่า อิสระมุนี ไม่ใช่ฐานันดรบุคคล ไม่ใช่พระมหาเถระผู้มีวาสนายิ่งใหญ่มหึมา ที่ใคร ๆ จะต้องกราบไหว้ ไม่ใช่พระมหาผู้มีความรู้กว้างขวางจนไม่มีใครเทียมเท่า ไม่ใช่บัณฑิตศิษย์เก่าของมหาวิทยาลัยใด ไม่ใช่นักปราชญ์หรือนักวิชาการ หรือนักคิดที่ถูกคนเขาให้ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์กันเป็นกระบุง ๆ เพราะฉะนั้น เราจึงมีชื่อว่า อิสระมุนี ผู้ที่ต้องการรู้จักเราก็จงรู้ที่ออกมาจากใจของเราตามที่กล่าวมานี้เถิด
คำสั่งสอนของของพระอิสระมุนี เคยเป็นที่เลื่อมใสของ พ.ต.ท.ทักษิณ พ.ต.ท.ทักษิณมักนำคำสอนของพระอิสระมุนีมากล่าวอ้างอิงกับสื่อมวลชน เช่นเดียวกับคำสอนของพุทธทาสภิกขุ และเคยเดินทางมาสนทนาธรรมกับพระอิสระมุนี นอกจากนี้เมื่อ พ.ศ.2543 ยังให้นายพานทองแท้ ชินวัตร บุตรชาย เข้าอุปสมบทและศึกษาพระธรรมกับพระอิสระมุนีอยู่ระยะหนึ่ง
กระทั่ง พระอิสระมุนีตกเป็นข่าวว่าต้องปาราชิก หลังจากมีเพศสัมพันธ์กับสีกาคนสนิท ถูกเปิดเผยเมื่อวันที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2544 จากการสืบสวนของทีมงานรายการถอดรหัส ทางสถานีโทรทัศน์ไอทีวีในขณะนั้น ซึ่งเผยแพร่เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม มีหลักฐานเป็นจดหมายเขียนถึงสีกาสาว 10 หน้ากระดาษและเทปสนทนาทางโทรศัพท์ ซึ่งพระอิสระมุนีก็ได้สึกจากสมณเพศในทันที ข่าวพระอิสระมุนีนี้ทำให้ไอทีวีได้รับรางวัลสารคดีเชิงข่าวยอดเยี่ยม รางวัล "แสงชัย สุนทรวัฒน์" จากสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ประจำพ.ศ.2544
@ พระภาวนาพุทโธ(นายจำลอง คนซื่อ)
พ.ศ.2538 ไม่มีข่าวไหนที่สั่นคลอนความศรัทธาของพุทธศาสนิกชนเท่ากับ ข่าวคาวความอื้อฉาวของพระภาวนาพุทโธ ที่ขณะนั้นถือว่า กำลังเป็นดาวรุ่งพุ่งแรง แซงหน้าความมีชื่อเสียงของบรรดาพระวิปัสสนาจารย์ทำให้ศรัทธาของพุทธศาสนิกชนจากทั่วสารทิศ ต่างหลั่งไหล และมุ่งตรงไปสู่วัดสามพราน ทั้งลาภและสักการะจำนวนมหาศาล จึงเป็นผลพลอยได้เข้าสู่วัดอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
แต่นอกเหนือจากการอบรมสั่งสอนวิปัสสนากรรมมัฏฐานแล้ว พระภาวนาพุทโธ ยังได้รับอุปการะเด็กชาวเขาจากจ.แม่ฮ่องสอน และจากจ.เชียงใหม่ ให้ได้รับการศึกษาเลี้ยงดู โดยนำมาพักอาศัยภายในวัดสามพราน ซึ่งหากเป็นเด็กผู้หญิง ก็ให้อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของแม่ชีภายในวัด
พฤติกรรมของอดีตพระภาวนาพุทโธนั้น ถูกระบุในคำพิพากษาว่า เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2531-2538 ต่อเนื่องกัน แต่เรื่องมาปรากฏเป็นข่าวในพ.ศ.2538 เมื่อมีพระลูกวัดโพธิ์เรียง ซึ่งเป็นญาติของเด็กหญิงชาวเขา เหยื่อของพระภาวนาพุทโธคนหนึ่ง ทราบพฤติกรรมดังกล่าว จึงได้ทำเรื่องร้องเรียนต่อกรมการศาสนา และตำรวจกองปราบปราม ซึ่งเมื่อสื่อได้ข้อมูล-ข้อเท็จจริง ข่าวจึงถูกกระพือ ถัดจากนั้นมาอีก 9 ปีเต็ม ทั้งการดำเนินการในชั้นของพนักงานสอบสวน ชั้นอัยการ และชั้นศาล จนกระทั่งเมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2547 ศาลชั้นต้น จึงพิพากษา นายจำลอง คนซื่อ หรืออดีตพระภาวนาพุทโธ ในความผิดฐานข่มขืนกระทำชำเราหญิงอายุไม่เกิน 13 ปีและไม่เกิน 14 ปี ซึ่งมิใช่ภรรยาตน และฐานได้กระทำต่อศิษย์ที่อยู่ในความดูแล และพวกแม่ชีถูกฟ้องฐานเป็นผู้สนับสนุน เป็นธุระจัดหา และชักพาหญิงไปเพื่อสำเร็จความใคร่เพื่อการอนาจารเด็กหญิงชาวเขาถึง 6 คน โดยพิพากษาจำคุกเป็นเวลาถึง 160 ปี แต่ตามกฎหมายสามารถจำคุกจำเลยได้เพียง 50 ปีเท่านั้น โทษจึงคงเหลือจำคุก 50 ปี มีการสู้คดีกันต่อแต่ทั้งศาลอุทธรณ์และศษลฎีกาก็ยังคงพิพากษายืน
โดยคำพิพากษาศาลฎีกาบอกความถึงพฤติกรรม โดยศาลฎีกาเห็นว่า พยานโจทก์ที่เป็นผู้เสียหายเบิกความสอดคล้องกันทั้ง ๙ปากถึงพฤติการณ์จำเลยว่า ได้มีจำเลยที่เป็นแม่ชี พาผู้เสียหายรายละ๑คน เข้ามาที่กุฏิทางห้องน้ำ อ้างว่าต้องไปทำความสะอาดห้องบันทึกเทป จากนั้นได้ให้ผู้เสียหายไหว้พระพุทธรูป จำเลยที่จึงเดินมาจากชั้น๒ทางบันได้เหล็ก แล้วให้ผู้เสียหายมากราบที่ตัก แล้วใช้มือลูบผม แล้วให้ผู้เสียหายไปปูที่นอน หรือให้ช่วยบีบนวดที่ขา จากนั้นจำเลยที่๑จะเดินมาทางด้านหลังแล้วโอบกอด โดยให้แม่ชีช่วยจับแขนขา จำเลยจึงจูบที่นมแล้วใช้อวัยวะเพศสอดใส่กระทำชำเรา เมื่อสำเร็จความใคร่แล้วก็ให้ผู้เสียหายกินยาคุมกำเนิด แล้วพาไปล้างอวัยวะเพศที่ก๊อกน้ำในห้องน้ำ ก่อนให้แม่ชีพากลับห้องพัก สำหรับรายที่ครั้งแรกไม่ยินยอมก็จะถูกลงโทษด้วยการเดินจงกลมกลางแดดบนพื้นดินที่มีกรวดหินแหลมคม
ข้อพิเคราะห์ของศาลฎีกาตามพยานหลักฐาน ได้แสดงให้เห็นว่า พฤติกรรมของจำเลยและพวกเป็นเช่นใด นอกเหนือจากพฤติกรรมที่ทำให้ขาดจากความเป็นพระแล้ว จำเลยยังสู้อุตส่าห์ป้องกัน ด้วยการให้กินยาคุมกำเนิด ส่วนรายไหนไม่ยินยอม กลับลงโทษให้ไปเดินจงกรมกลางแดดบนพื้นดินที่มีกรวดหินแหลมคม ซึ่งพฤติกรรมการลงโทษเหยื่อที่ไม่ยินยอมด้วยการนำการเดินจงกรม อันเป็นหนึ่งในวิธีปฏิบัติของวิปัสสนามาเพื่อสนองตัณหาของตนเอง
แม้อดีตภาวนาพุทโธยังจะอ้างถึงความเป็นผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ ทั้งด้านวิปัสสนากรรมมัฏฐาน และความเอื้ออาทรที่มีต่อเด็กผู้ยากไร้ชาวเขา โดยต่อสู้ว่า ตนเป็นพระมีชื่อเสียงด้านบำเพ็ญภาวนา และนำเด็กชาวเขาที่นับถือศาสนาอื่นมาเป็นชาวพุทธ สร้างความไม่พอใจแก่ศาสนาอื่น จึงร่วมกันกลั่นแกล้งปั้นเรื่อง นอกจากนี้ห้องที่เกิดเหตุก็ไม่ตรงกับบันทึกแผนที่ของเด็ก และอวัยวะเพศของตนก็ผิดปกติไม่อาจร่วมเพศได้ ส่วนอวัยวะเพศผู้เสียหายก็ไม่มีร่องรอยถูกชำเรา แต่ศาลก็พิเคราะห์แล้วเห็นว่าจำเลยผิดวิสัยของผู้ปฏิบัติธรรมจริง
@เณรแอ(นายหาญ รักษาจิตร์)
เป็นเจ้าของต้นตำรับ กุมารทอง ของขลัง รวมทั้งมนต์ดำเสน่ห์ยาแฝดที่ชื่อดัง บรรพชาเป็นสามเณรอยู่ที่วัดหนองระกำ อ.หนองโดน จ.สระบุรี อยู่หลายปี แม้ว่าอายุจะถึงวัยที่ต้องอุปสมบทเป็นพระภิกษุ แต่เณรแอก็ไม่ยอมอุปสมบท แต่เลือกที่จะร่ำเรียนไสยศาสตร์มนต์ดำจากอาจารย์เขมร จนว่ากันว่ามีอาคมแก่กล้า ช่ำชองการทำเสน่ห์ยาแฝด การสะเดาะเคราะห์ และปลุกเสกของขลัง จนมีชื่อเสียงโด่งดังไปทั่ว แต่ละวันมีลูกศิษย์ลูกหาเดินทางไปให้ เณรแอ ทำพิธีทางไสยศาสตร์ให้จำนวนมาก
กระทั่งพ.ศ.2537 เณรแอ ใช้ใต้ถุนเมรุวัดหนองระกำทำพิธีปลุกเสกกุมารทอง ของขลังตามท้องเรื่องในวรรณคดีดัง ขุนช้างขุนแผน ที่เณรแอและผู้คลั่งไคล้ไสยศาสตร์ เชื่อกันว่า เป็นผีเด็ก ที่ใครมีไว้ในครอบครองแล้วจะทำให้เจริญรุ่งเรืองในหน้าที่การงาน การค้าการขายได้กำไรดี แต่พิธีกรรมปลุกเสก กุมารทอง ในครั้งนั้น ทำให้เณรแอต้องติดคุกอยู่ 1 ปีเต็ม เนื่องจากในพิธีปลุกเสก มีการบันทึกภาพวิดีโอขั้นตอนการปลุกเสกไว้อย่างละเอียดยิบ โดยเฉพาะขั้นตอนการย่างศพเด็ก และมีการนำวิดีโอเทปไปเผยแพร่ในสื่อมวลชนต่างๆ จนเป็นข่าวครึกโครม
หลังจากนั้นไม่นาน กรมการศาสนาได้แจ้งความต่อพนักงานสอบสวน สภ.หนองโดน ให้ดำเนินคดี เณรแอ ในข้อหาอุตริมนุษยธรรมที่ไม่มีตัวตน ซึ่งศาลจังหวัดสระบุรีได้พิพากษาให้จำคุกเป็นเวลา 1 ปี พฤติกรรมของเณรแอถึงกับมีผู้สร้างภาพยนตร์นำเรื่องราวไปถ่ายทำภาพยนตร์ให้ชื่อว่า "เณรแอจอมขมังเวทย์" ทำให้ชื่อเสียงของเณรแอเป็นที่จดจำของคนไทยทั้งประเทศจนถึงบัดนี้
หลังจากพ้นโทษ แม้ว่า เณรแอ จะไม่ได้ถือครองผ้าเหลือง แต่ก็ไม่ได้ห่างหายไปจากแวดวงไสยศาสตร์ เณรแอได้ใช้บ้านพักทรงไทย ปลูกสร้างอยู่ในเนื้อที่ 5 ไร่ ที่สระบุรี เป็นสถานที่ทำเสน่ห์ยาแฝดให้แก่ผู้ที่ศรัทธา จนกลายเป็นคนมีฐานะ มีทรัพย์สินอยู่ในความครอบครองหลายสิบล้านบาท
พ.ศ.2538 เณรแอ ได้แต่งงานกับ นางชไมพร รักษาจิตร์ โดยยังคงยึดอาชีพหมอเสน่ห์ ทำมาหาเลี้ยงครอบครัว แต่ก็ต้องเลิกรากันไป โดยนางชไมพรอ้างว่าทนพฤติการณ์ของเณรแอไม่ไหว กรณีบังคับให้หลอกลวงหญิงสาวที่มีปัญหาครอบครัวให้มาทำพิธีไสยศาสตร์ และได้ฟ้องหย่าต่อศาล ต่อมาพ.ศ.2548 นางชไมพรเข้าร้องเรียนต่อนางปวีณา หงสกุล ประธานมูลนิธิปวีณาหงสกุลเพื่อเด็กและสตรี กล่าวหาเณรแอ ว่าเป็นจอมลวงโลก มีพฤติการณ์ต้มตุ๋นหลอกลวงประชาชน อ้างพิธีทางไสยศาสตร์หลอกข่มขืนหญิงสาวที่หลงเชื่อ แถมยังแอบถ่ายวิดีโอไว้แบล็กเมล์เหยื่อ โดยนางปวีณาได้ประสานไปยัง พล.ต.ต.คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง ผบก.ปดส.ในขณะนั้น ให้สืบสวนสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐานดำเนินคดีเณรแอในข้อหาฉ้อโกงประชาชน จนทำให้เณรแอต้องระเห็จเข้าคุกอีกครั้ง
ทั้งนี้ระหว่างการเข้าตรวจค้นบ้านพักของเณรแอ เมื่อเช้ามืดวันที่ 10 กรกฎาคม 2548 ตำรวจพบ เณรแอนอนอยู่ในห้องพักกับหญิงสาววัย 19 ปี รายหนึ่ง โดยหญิงสาวรายนี้ยอมรับกับตำรวจว่า เดินทางมาพบเณรแอเพื่อให้ทำเสน่ห์ยาแฝดให้ แต่ไม่มีเงินจ่ายค่าพิธี จึงต้องยอมร่วมหลับนอนกับเณรแอแทน นอกจากนั้นยังพบเครื่องรางของขลังและอุปกรณ์การทำพิธีไสยศาสตร์อยู่เต็มบ้าน ทั้งพระพุทธรูป รูปปั้นกุมารทอง หัวกะโหลกลงอักขระหลายขนาด ตะกรุด ปลัดขิก ขวดน้ำมันพราย หุ่นขี้ผึ้งปั้นหญิง-ชายกอดกันและมัดติดกัน
อย่างไรก็ตาม ของกลางที่พบไม่ใช่เรื่องแปลกที่จะพบได้ในบ้านพักของจอมขมังเวทรายนี้ แต่ที่ทำให้ตำรวจแปลกใจคือ มี ยาทน ยาไวอากร้า และยากล่อมประสาท ซุกซ่อนอยู่ใต้ฐานพระภายในห้องทำพิธีอีกด้วย
ปัจจบัน เณรแอ ถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ จากคำพิพากษาศาลอาญารัชดาฯคดีฉ้อโกง เป็นเวลา 100 ปี แต่คำให้การของจำเลยมีประโยชน์ต่อการพิจารณาอยู่บ้าง จึงลดโทษให้เหลือจำคุก 75 ปี อย่างไรก็ตาม ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา91 (2) ให้ลงโทษจำคุกจำเลยไว้สูงสุดที่ 20 ปี จากการสืบสวนของตำรวจ ปดส.ในครั้งนั้น พบว่ามีหญิงสาวที่ตกเป็นเหยื่อของเณรแอ ทั้งสิ้น 33 คน ในจำนวนนั้นมีดารา นักแสดง และผู้ที่มีชื่อเสียงในสังคม หลายรายรวมอยู่ด้วย
@พระราชภาวนาวิสุทธิ์หรือพระไชยบูลย์ ธัมมชโย (นายไชยบูลย์ สิทธิผล)
เป็นข่าวครึกโครมเมื่อมีการตรวจสอบความโปร่งใสทางการเงินของพระในวัดพระธรรมกาย และสถาบันหรือโครงการต่างๆ ที่เกี่ยวกับวัดพระธรรมกายทั้งหมด โดยเฉพาะการสอบสวนถึงการที่อัยการถอนคดีความของเจ้าอาวาสวัดพระธรรมกายเพื่อตัดตอนการพิจารณาคดีของศาล ว่า มีเงื่อนงำอะไรอยู่เบื้องหลังหรือไม่ โดยมีข้อเท็จจริงในการถอนฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2549
ที่ห้องพิจารณาคดีที่ 704 ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก ศาลนายสุนพ กีรติกุลผู้พิพากษาอาวุโส เจ้าของสำนวน และองค์คณะออกนั่งบัลลังก์ พิจารณาคดีดำ หมายเลขที่ 11651/2542และคดีดำหมายเลข 14735/2542 ที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีอาญา 5 เป็นโจทก์ยื่นฟ้องพระราชภาวนาวิสุทธิ์หรือพระไชยบูลย์ ธัมมชโย หรือนายไชยบูลย์ สิทธิผล อายุ 62 ปี อดีตเจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย และนายถาวร พรหมถาวร อายุ 57 ปี ลูกศิษย์คนสนิท เป็นจำเลยที่ 1-2ในความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานและสนับสนุนเจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่ จัดการหรือรักษาทรัพย์ใดเบียดบังเอาทรัพย์นั้นเป็นของตนหรือผู้อื่นโดยสุจริต และเป็นเจ้าพนักงานและสนับสนุนเจ้าพนักงานปฏิบัติและละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยสุจริต และโดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้อื่น
โดยร่วมกันยักยอกทรัพย์และเงินบริจาคของวัดพระธรรมกาย จำนวน 6.8 ล้านบาท ไปซื้อที่ดินเขาพนมพา ต.หนองพระอ.วังทรายพูน จ.พิจิตร โดยโอนกรรมสิทธิ์ใส่ชื่อนายถาวร จำเลยที่ 2 และเงิน จำนวน 29,877,000บาทไปซื้อที่ดินเนื้อที่ 902 ไร่เศษ ต.หนองพระ อ.วังทรายพูน จ.พิจิตร และ ต.ท่าข้าม อ.ชนแดน จ.เพชรบูรณ์โอนกรรมสิทธิ์ให้จำเลยที่ 2 เช่นกัน
ทั้งนี้ เรืออากาศโทวิญญ วิญญกุล อัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 5 ยื่นคำร้องขอถอนฟ้องจำเลยทั้งสองต่อศาลเมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2549 สรุปว่า ตามที่โจทก์ยื่นฟ้องจำเลยทั้งสอง เมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2542 และวันที่ 16 ธันวาคม. 2542 ตามลำดับโดยกล่าวหาว่า จำเลยทั้งสองกับพวกที่ยังไม่ได้ตัวมาฟ้องร่วมกันกระทำผิด โจทก์ขอเรียนว่าการดำเนินคดีนี้ สืบเนื่องจากจำเลยที่ 1 กับพวกไม่ปฏิบัติตามพระลิขิตของสมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ที่มีว่า ความบิดเบือนพระพุทธธรรมคำสั่งสอนโดยกล่าวหาว่าพระไตรปิฎกบกพร่อง เป็นการทำให้พระสงฆ์ที่หลงเชื่อคำสอนบิดเบือนแตกแยกออกไปกลายเป็นสองฝ่าย มีความเข้าใจความเชื่อถือ พระพุทธศาสนาตรงกันข้าม เป็นการทำลายพระพุทธศาสนาทำให้พระสงฆ์แตกแยกเป็นอนันตริยกรรม มีโทษทั้งปัจจุบัน และอนาคตที่หนัก
ส่วนที่มิใช่เป็นการลงโทษแต่เป็นการทำที่ถูกต้องคือ ต้องมอบสมบัติทั้งหมดที่เกิดขึ้นในขณะเป็นพระให้แก่วัดทันที (5 เมษายน .2542) ในชั้นต้นหากมิใช่มีเจตนาถือเอาสมบัติของวัดเป็นของตนจริง ๆ แต่เมื่อถึงอย่างไรก็ไม่ยอมมอบคืนสมบัติทั้งหมดที่เกิดขึ้นในขณะที่เป็นพระคืนให้แก่วัดก็แสดงชัดแจ้งว่า ต้องอาบัติ ปาราชิก ต้องพ้นจากความเป็นสมณะโดยอัตโนมัติ ต้องถูกจัดการอย่างเด็ดขาดเช่นเดียวกับผู้ไม่ใช่พระ ปลอมเป็นพระด้วยการนำผ้ากาสาวพัสตร์ไปครองทำความเศร้าหมองเสื่อมเสียให้เกิดแก่สงฆ์ให้พระพุทธศาสนา
คำร้องถอนฟ้องระบุต่อไปว่า บัดนี้ ข้อเท็จจริงในการเผยแพร่คำสอนปรากฏจากอธิบดีกรมการศาสนาผู้อำนวยการสำนักพระพุทธศาสนาแห่งชาติ เลขาธิการมหาเถรสมาคม และเจ้าคณะภาค 1 ว่า ในปัจจุบันจำเลยที่ 1กับพวก ได้เผยแพร่พระพุทธศาสนาตรงตามพระไตรปิฎก และนโยบายของคณะสงฆ์ด้วยการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ทำให้เป็นที่ยอมรับทั่วไปทั้งในและต่างประเทศ อีกทั้งได้ให้ความร่วมมือช่วยเหลือกิจการของศาสนาทั้งของคณะสงฆ์ ภาครัฐ และเอกชนจำนวนมาก
สำหรับในด้านทรัพย์นั้น ปรากฏว่าจำเลยที่ 1กับพวกได้มอบทรัพย์สินทั้งหมด ซึ่งมีทั้งที่ดินและเงินจำนวน 959,300,000 บาท คืนให้แก่วัดพระธรรมกาย การกระทำดังกล่าวของจำเลยที่ 1 กับพวก จึงเป็นการปฏิบัติตามพระลิขิตของสมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปริณายก ครบถ้วนทุกประการแล้ว
ประกอบกับขณะนี้บ้านเมืองต้องร่วมกันสร้างความสามัคคีของคนในชาติทุกหมู่เหล่าเห็นว่า หากดำเนินคดีจำเลยทั้งสองต่อไป อาจก่อให้เกิดความแตกแยกในศาสนจักรโดยเฉพาะพระภิกษุ สามเณรและประชาชนทั้งในและต่างประเทศที่นับถือศาสนาพุทธ และไม่เป็นประโยชน์แก่สาธารณะ อัยการสูงสุดจึงมีคำสั่งให้ถอนคดีนี้ ดังนั้น โจทก์จึงขอถอนฟ้องจำเลยทั้งสองในคดีนี้ทุกข้อกล่าวหาขอศาลโปรดอนุญาต" คำร้องระบุ
ทั้งนี้ ศาลได้สอบถามว่าจำเลยทั้งสองจะคัดค้านหรือไม่ จำเลยทั้งสองแถลงว่า ไม่คัดค้านพิเคราะห์แล้วเห็นว่า โจทก์ยื่นคำร้องขอถอนฟ้องจำเลยทั้งสอง ก่อนศาลมีคำพิพากษา เมื่อจำเลยทั้งสองคนไม่คัดค้านที่โจทก์ถอนฟ้องจึงมีเหตุอันสมควรที่ศาลจะอนุญาตให้โจทก์ถอนฟ้องจำเลยทั้งสองได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม.35จึงอนุญาตให้ถอนฟ้องจำเลยทั้งสอง และจำหน่ายคดีของโจทก์ออกจากสารบบความของศาลอาญา
อย่างไรก็ดีสำหรับยักยอกทรัพย์วัดพระธรรมกายที่อัยการยื่นฟ้องต่อศาลอาญามีเพียง 2 คนเท่านั้นคงเหลือสำนวนคดียักยอกทรัพย์ที่รอการสั่งคดีในชั้นอัยการอีก 3 สำนวน ประกอบด้วย
1.คดีที่พระราชภาวนาวิสุทธิ์ นางกมลศิริ คลี่สุวรรณ และนายมัยฤทธิ์ ปิตะวนิค ลูกศิษย์คนสนิท เป็นผู้ต้องหาซึ่งถูกกล่าวหาว่าร่วมกันเบียดบังเงินวัด จำนวน 95 ล้านบาทเศษไป ซื้อที่ดิน
2.คดีที่พระราชภาวนาวิสุทธิ์นางสงบ ปัญญาตรง นายมัยฤทธิ์ ปิตะวนิค และนายชาญวิทย์ ชาวงษ์ ลูกศิษย์คนสนิท เป็นผู้ต้องหา เบียดบังเงินจำนวน 845 ล้านบาทเศษ
และ 3. คดีที่พระราชภาวนาวิสุทธิ์ ร่วมกับนายเทิดชาติ ศรีนพรัตน์ นายมัยฤทธิ์ปิตะวนิค และนางอมรรัตน์ สุวิพัฒน์ หรือสีกาตุ้ย ลูกศิษย์คนสนิท ผู้ต้องหาร่วมกันปลอมแปลงเอกสารและสนับสนุนเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ
@หลวงปู่เณรคำ
เช่นเดียวกับกรณีของหลวงปู่เณรคำ ซึ่งกำลังเป็นข่าวดังในขณะนี้ ในเรื่องพฤติกรรมไม่เหมาะสม การใช้ของแพงเกินสมณศักดิ์ และการมีภาพถ่ายคู่กับสีกาในลักษณะไม่เหมาะสมนั้น เป็นเรื่องที่จะต้องมีการตรวจสอบโดยขั้นตอน ซึ่งขณะนี้สำนักงานพระพุทธศาสนาฯ ก็ได้ตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อตรวจสอบเรื่องนี้แล้ว ขณะที่กรรมาธิการของสภาผู้แทนราษฎร ก็ไม่ได้นิ่งเฉย โดยนายสันตศักดิ์ จรูญงามพิเชษฐ์ ประธานกรรมาธิการศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรม เปิดเผยว่า มีการนำเรื่องหลวงปู่เณรคำเข้าพิจารณาแล้ว และขณะนี้อยู่ในขั้นตอนของการเชิญทุกฝ่ายเข้ามาชี้แจง
โดยพฤติกรรมที่ปรากฎ บวชตั้งแต่อายุ 12 แล้วปฏิบัติทางสมาธิภาวนาแบบอุกฤษฏ์คือยอมตายถ้าไม่บรรลุธรรม จนมีสมาธิจิตสูงถึงระดับฌาณ 8 มีฤทธิ์อภิญญา ขณะนี้ท่านอายุเพียง 30 ปีเศษเท่านั้น แต่ที่ท่านเรียกตัวเองว่า หลวงปู่ เพราะรวมกับอายุในชาติที่แล้ว ท่านระลึกชาติได้หลายแสนชาติ เห็นนรก เห็นเทวดาและองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าและพระอรหันต์ต่างๆ ช่วงที่ธุดงค์อยู่ตามป่าตามถ้ำ อ้างว่าได้สัมผัสกับผี เปรต พญานาค เทวดามากมาย
แต่ที่โด่งดังกลับเป็นปรากฏการณ์ที่สร้างความฮือฮาในโลกโซเชียลเน็ตเวิร์ก กับภาพถ่ายในอิริยาบถต่าง ๆ เช่น ชูสองนิ้วในศูนย์การค้า โดยภายในคลิปเป็นภาพคณะสงฆ์จำนวน 3 รูปนั่งอยู่บนเครื่องบินส่วนตัว (ว่ากันว่า ลูกศิษย์ถวายให้ใช้เดินทางไกล หรือกรณีเร่งด่วน) หูเสียบหูฟังไอโฟน สวมแว่นตาดำและกระเป๋าหลุยส์วิตตอง โดยเครื่องบินเครื่องดังกล่าวบินลงจอดที่สนามบินอุบลราชธานี ซึ่งทราบข้อมูลเบื้องต้นว่าพระบนเครื่องบิน มีชื่อว่า หลวงปู่เณรคำ ฉัตติโก วัดป่าขันติธรรม อ.กันทรารมย์ จ.ศรีสะเกษ ผู้เขียนหนังสือ ชาติหน้าไม่ขอเกิด และนิพพานมีจริง ซึ่งล่าสุดคลิปดังกล่าวได้ถูกลบออกจากยูทิวบ์ไปแล้ว เหลือก็แต่ภาพที่กำลังเป็นกระแสวิพากษ์วิจารณ์อยู่ตอนนี้เป็นภาพหน้าคล้ายที่นอนกับสีกา
ภาพเหล่านี้ ทำให้พุทธศาสนิกชนหลาย ๆ คนเคลือบแคลงใจ และตั้งคำถามว่า นี่หรือคือพระสงฆ์ที่อ้างตนว่ามีสมาธิจิตสูงถึงระดับฌาน 8 เนื่องจากพฤติกรรมที่แสดงออกมาค่อนข้างขัดแย้ง โดยเฉพาะการยึดติดในตัววัตถุ สิ่งของ ทั้ง ๆ ที่ตามหลักความเป็นจริงในทางพระพุทธศาสนาแล้ว ควรมุ่งสู่ความหลุดพ้น และปล่อยวางไม่ใช่หรือ
แม้บางคลิปถูกลบออกไปแล้ว แต่เรื่องหนึ่งที่หลายคนตั้งคำถามก็คือ หลักการตลาดเพื่อโปรโมตตัวเอง โดยตั้งชื่อให้ดูขลัง แสร้งทำตัวให้น่าเลื่อมใส อวดอ้าง อิทธิฤทธิ์ อภินิหารหรือไม่?
พระพุทธ และ พระธรรมนั้นไม่มีเสื่อม มีแต่บุคคลที่เสื่อม อ่านแล้วก็อย่าเพิ่งหมดศรัทธาในการทำคุณงามความดี...แม้เรื่องฉาวโฉ่จะมีมาเรื่อยๆ แต่พระสงฆ์ดีๆ ที่ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ ก็ยังมีอีกมาก อยู่ที่เราจะเลือกศรัทธากันอย่างมีสติหรือไม่...