แถลงการณ์ เครือข่ายองค์กรภาคประชาชนติดตามนโยบายการจัดการน้ำ 3.5 แสนล้าน
27 มิถุนายน 2556
ทบทวนนโยบายการบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้าน...ก่อนสร้างความหายนะกับบ้านเมือง
จากสถานการณ์การเกิดเหตุภัยพิบัติทางธรรมชาติ “มหาอุทกภัย” ครั้งประวัติศาสตร์ของประเทศไทย ในปี 2554 ส่งผลกระทบทำให้ประชาชน ได้รับความเดือดร้อน รัฐบาลได้วางแผนพัฒนาโครงการพื้นฐานและการพัฒนาแหล่งน้ำ ด้วยการออกพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อวางระบบบริหารจัดการน้ำและสร้างอนาคตประเทศ พ.ศ. 2555 เพื่อกู้เงิน 3.5 แสนล้านบาท เมื่อเดือนมกราคม 2555 โดยให้เหตุผลในการอ้างความเร่งด่วนจากวิกฤตน้ำท่วม
แต่หลังจากพระราชกำหนดกู้เงิน 3.5 แสนล้าน มีผลบังคับใช้มานานกว่า 1 ปี กลับพบว่า มีการเบิกจ่ายเงินกู้ก้อนนี้เพียงแค่ 5,900 ล้านบาทเท่านั้น ในขณะที่ตามเงื่อนไขของพระราชกำหนดดังกล่าวจะต้องเซ็นสัญญาเงินกู้ทั้งหมดให้แล้วเสร็จภายในสิ้นเดือนมิถุนายน 2556 คณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย (กบอ.) จึงได้คัดเลือกบริษัทต่างๆ ที่เสนอโครงการฯ เข้าประมูลงานให้เสร็จภายในเดือนมิถุนายน 2556 ก่อนที่ พ.ร.ก. ดังกล่าวจะหมดอายุลงจึงถูกจับตาและวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางจากนักวิชาการ ภาคเอกชน ภาคประชาชน และพรรคฝ่ายค้านว่า “ไม่จำเป็นเร่งด่วน” “ไม่โปร่งใส” “ไม่เหมาะสม” และ“ขาดการมีส่วนร่วม” และโครงการมาถึงปัจจุบัน ไม่น่าจะเร่งด่วนอีกต่อไป เห็นควรให้ใช้งบปกติ เพื่อที่สภาและประชาชนตรวจสอบได้
เพื่อติดตามตรวจสอบนโยบายรัฐในการพัฒนาโครงการพื้นฐานและการพัฒนาแหล่งน้ำ ที่ก่อผลกระทบต่อชุมชน ผลกระทบสิ่งแวดล้อม และความมั่นคงทางอาหาร โดยเฉพาะพื้นที่ชลประทานถ้ามีการผันน้ำ หรือเป็นพื้นที่รับน้ำในอนาคต อีกทั้งเพื่อให้ประชาชนมีส่วนร่วม ในการติดตามผลกระทบที่เกิดจากนโยบายรัฐ
เครือข่ายองค์กรภาคประชาชนติดตามนโยบายการจัดการน้ำ 3.5 แสนล้าน ที่ประกอบด้วยเครือข่ายภาคประชาชนที่ได้รับผลกระทบ องค์กรพัฒนาเอกชน นักวิชาการ และเครือข่ายขบวนองค์กรชุมชน เห็นถึงความสำคัญของปัญหาซึ่งเป็นวาระเร่งด่วนในการติดตามและตรวจสอบนโยบายรัฐกับการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานฯ ที่จะก่อให้เกิดผลกระทบกับชุมชนท้องถิ่น ความมั่นคงทางอาหาร และระบบนิเวศของประเทศไทยในอนาคต จึงมีข้อเสนอดังนี้
1) ให้รัฐบาล และ กบอ. ทบทวนยุทธศาสตร์นโยบายการบริหารจัดการน้ำ ให้สอดคล้องกับระบบภูมินิเวศทางสิ่งแวดล้อม และสังคม
2) รัฐบาลต้องปฏิบัติตามกฏหมาย ในการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม และการประเมินผลกระทบทางสังคม โดยคำนึงถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญ
3) ให้รัฐบาลระงับการเซ็นสัญญากับบริษัทที่ยื่นมาก่อนหน้านี้ ซึ่งไม่เป็นไปตามเจตนาของการแข่งขันการประมูล ที่ยังไม่มีราคากลางในระหว่างที่มีการคัดเลือกบริษัทเหล่านั้น
4) รัฐบาลต้องจัดให้มีส่วนร่วมของภาคประชาชนในการบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้าน โดยเปิดโอกาสให้ภาคประชาชนเข้ามีส่วนในการวางแผน ร่วมคิด ร่วมตัดสินใจ และร่วมรับผิดชอบร่วมกัน เป็นไปตามหลักกฎหมายและรัฐธรรมนูญกำหนด
ทั้งนี้เครือข่ายองค์กรภาคประชาชน จะรวมกันเพื่อติดตามการดำเนินการของรับบาลและคณะกรรมการบริหารจัดาการน้ำและอุทกภัย (กบอ.)ในการดำเนินการให้เป็นไปตามข้อเรียกร้องดังกล่าว เพื่อให้เป็นไปตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ
เครือข่ายองค์กรภาคประชาชนติดตามนโยบายการจัดการน้ำ 3.5 แสนล้าน ประกอบด้วย เครือข่ายภาคประชาชนที่ได้รับผลกระทบ องค์กรพัฒนาเอกชน สภาองค์กรชุมชน นักวิชาการ ดังนี้ (1) คณะทำงานประชาสังคม (2) คณะประสานงานองค์กรชุมชน (คปอ.) (3) คณะกรรมการดำเนินงานสภาองค์กรชุมชน (4) ศูนย์ศึกษาสันติภาพและความขัดแย้ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (5) มูลนิธิเพื่อการบริหารจัดการน้ำแบบบูรณาการ (ประเทศไทย) (6) สำนักงานปฏิรูป (สปร.) (7) มูลนิธิสืบนาคะเสถียร (8) เครือข่ายวาระเปลี่ยนตะวันออก (9) เครือข่ายภาคประชาชนติดตามเงินกู้ 2.2 ล้านล้าน (10) เครือข่ายประมงเรือเล็กภาคตะวันออก (11) ประชาชนที่ได้รับผลกระทบ (12) เครือข่ายองค์กรชุมชนจังหวัดระยอง (13) เครือข่ายอนุรักษ์วิถีเกษตรกรรม (14) เครือข่ายลุ่มน้ำภาคเหนือ