ก.เกษตรฯ เปิดต้นทุนผลิตข้าวหลังจำนำพุ่งสูง ดันโซนนิ่ง 5 แสนไร่ หวังแก้ปัญหา
ก.เกษตรฯ เดินหน้าโซนนิ่งข้าวตั้งเป้า 5 แสนไร่ ปี 56 ภายหลังสศก.เปิดตัวเลขต้นทุนผลิตข้าวจำนำปรับก้าวกระโดด ‘อธิบดีวิชาการ’ ยันสุ่มตรวจข้าวถุงแล้วไม่พบสารตกค้าง
วันที่ 26 มิ.ย. 56 ที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายยุคล ลิ้มแหลมทอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (รมว.กษ.) เปิดเผยถึงการประชุมการบูรณาการงานด้านแผนที่และการจัดทำโซนนิ่งการเกษตร เมื่อ 25 มิ.ย.56 โดยมีน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ที่ประชุมได้มอบหมายให้กษ. เร่งขับเคลื่อนโซนนิ่งเกษตรเน้นการผลิตข้าวก่อนในระยะแรก โดยจัดทำแผนที่และข้อมูลการผลิตของแปลงเกษตรกร เพื่อใช้ประโยชน์การบริหารจัดการอุปสงค์ อุปทาน และประสานกระทรวงอุตสาหกรรมและ กระทรวงพาณิชย์ เพื่อหวังเชื่อมโยงการแปรรูปและการตลาด
“นอกจากนี้ยังให้เร่งรัดทำความเข้าใจแก่เกษตรกรในเรื่องการความเหมาะสมของต้นทุน รายได้ และคุณภาพชีวิตที่ควรจะเป็น เพื่อนำไปสู่การปรับเปลี่ยนสร้างการเปลี่ยนแปลงการผลิตในพื้นที่ให้เหมาะสม รวมทั้งเพิ่มประสิทธิภาพตลาด สร้างแรงจูงใจคู่ขนานผ่านกลไกคอนแทคฟาร์มมิ่ง และขับเคลื่อนคลัสเตอร์สินค้าเกษตร โดยตั้งเป้าในปีนี้จะเร่งดำเนินการในพื้นที่ปลูกข้าว 500,000 ไร่” รมว.กษ. กล่าว และว่า ได้สั่งการให้ทุกส่วนราชการในสังกัดประสานอย่างเคร่งครัดไปยังส่วนภูมิภาคให้เร่งเข้าเยี่ยมเกษตรกร เพื่อทำความเข้าใจ จะได้ป้องกันมิให้สินค้าเกษตรล้นตลาด อันนำไปสู่การขาดทุนและเป็นหนี้ของเกษตรกร
นางพรรณพิมล ชัญญานุวัตร อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า การดำเนินงานด้านโซนนิ่งเกษตรเพื่อการผลิตข้าวนั้น จะจัดส่งอาสาสมัครเกษตร 75,000 คน และเกษตรกรตำบล 5,300 คน ให้รับการอบรมเกี่ยวกับมาตรการส่งเสริมการลดต้นทุนการผลิตข้าวในระดับจังหวัดและอำเภอเสร็จสิ้นภายใน 15 ก.ค. 56 เพื่อถ่ายทอดให้ชาวนาได้พัฒนาพื้นที่เหมาะสม
“โซนนิ่งข้าวไม่เหมาะสมนั้น จะต้องเปลี่ยนปลูกพืชชนิดอื่นแทน โดยขณะนี้ได้สั่งการนำร่องเร่งด่วนในจ.กำแพงเพชร บริเวณนาดอน 2.7 แสนไร่ เปลี่ยนเป็นไร่อ้อย ซึ่ง 3 ก.ค. 56 จะมีการลงพื้นที่พบปะกับเกษตรกรและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อหารือต่อไป” อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร ทิ้งท้าย
นายชัยฤทธิ์ ดำรงเกียรติ อธิบดีกรมการข้าว กล่าวถึงมาตรการลดต้นทุนการผลิตข้าวภายหลังนำร่องทดลองใน 26 หมู่บ้าน ของ 26 จังหวัดนั้น พบว่าเมื่อชาวนาตามขั้นตอน ‘3 ต้องทำ’ ได้แก่ 1.ต้องปลูกข้าวไม่เกิน 2 ครั้ง/ปี 2.ต้องใช้เมล็ดพันธุ์ข้าวคุณภาพดี จากกรมการข้าวที่รับรองไว้ 122 สายพันธุ์ จะสามารถให้ผลผลิตสูง ต้านทานโรคแมลง และ 3.ต้องทำบัญชีฟาร์ม จะได้ทราบถึงผลประกอบการกำไรขาดทุน ส่วน ‘3 ต้องลด’ ได้แก่ 1.ลดอัตราเมล็ดพันธุ์ข้าว ซึ่งปักดำ ควรอยู่ที่ 7 กก./ไร่ โยนกล้า 5 กก./ไร่ และนาหว่าน 15-20 กก./ไร่ 2.ลดการใช้ปุ๋ยไม่ถูกต้อง โดยควรใช้สูตร 16-16-16 ใส่ในช่วงข้าวตั้งท้องเท่านั้น และ 3.ลดใช้สารเคมี จะใช้ต่อเมื่อเกิดวิกฤตโรคระบาด โดยจะสามารถลดต้นทุนการผลิตได้ไร่ละ 2,000-3,000 บาท
อย่างไรก็ตาม นายอภิชาต จงสกุล เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยตัวเลขต้นทุนการผลิตข้าวทุกชนิดเฉลี่ย 4,000-5,000 บาท/ไร่ ขึ้นอยู่กับชนิดและปริมาณผลผลิต และหากวัดอัตราต้นทุนเฉพาะข้าวเจ้านาปีในโครงการประกันราคา ปี 53 ต้นทุนอยู่ที่ 7,534 บาท/ไร่ ขณะที่โครงการจำนำที่เริ่มปี 54 ต้นทุน 9,067 บาท/ไร่ ปี 55 ต้นทุน 9,307 บาท/ไร่ และปี 56 ต้นทุน 9,484 บาท/ไร่ จะเห็นว่ามีแนวโน้มการปรับตัวด้านราคาต้นทุนผลิตข้าวสูงต่อเนื่อง ด้วยปัจจัยการผลิตมีราคาสูง เช่น ค่าแรง 1,600 บาท/ไร่ ปรับเป็น 2,022 บาท/ไร่ ค่าวัสดุ 1,795 บาท/ไร่ ปรับเป็น 2,169 บาท/ไร่ ค่าปุ๋ย 906 บาท/ไร่ ปรับเป็น 1,046 บาท/ไร่ ค่ายาปราบศัตรูพืช 92 บาท/ไร่ ปรับเป็น 332 บาท/ไร่ หรือแม้กระทั่ง ค่าเช่าที่ดิน 581 บาท/ไร่ ปรับเป็น 850 บาท/ไร่ ส่วนค่าน้ำมันไม่มีการปรับราคาสูงมากนัก
ขณะที่นายดำรงค์ จิระสุทัศน์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวถึงข้อกังวลสารรมควันยากำจัดมอดจะตกค้างในข้าวสารถุงว่า การรมสารดังกล่าวในไทยมี 2 ชนิด คือ เมทิลโบรไมด์ (MB) และฟอสฟิน (PHOSFINE) ซึ่งเป็นสารที่ทุกประเทศทั่วโลกกำหนดให้ใช้ตามข้อกำหนดขององค์การค้าโลก (WTO) และองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ต่อมาได้มีการลงนามในพิธีมอนทรีออล เพื่อลด ละ เลิก เมทิลโบรไมด์ เนื่องจากก่อให้เกิดภาวะเรือนกระจก โดยจะอนุญาตให้ใช้เฉพาะกักกันพืชเพื่อการส่งออกเท่านั้น แต่ห้ามใช้รมสารกับสิ่งอื่น ซึ่งไทยดำเนินการตามพิธีสารนี้อย่างเคร่งครัด จนได้รับการยอมรับจากเยอรมัน และให้ไทยเป็นศูนย์กลางสนับสนุนนโยบายนี้ในการลดการใช้สารเมทิลโบรไมด์แก่ประเทศเพื่อนบ้าน
“ปริมาณการใช้เหมือนกันทั่วโลกตามคำแนะนำของคณะอนุกรรมการด้าน SPS โดยให้ใช้ฟอสฟิน 9-10 กรัม/ข้าวสาร 1 ตัน และเมทิลโบรไมด์ 50 กรัม/ข้าวสาร 1 ตัน” อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าว และว่า เมื่อไม่กี่วันได้สุ่มตรวจข้าวสารถุงที่จำหน่ายผ่านศูนย์การค้า ร้านค้าสะดวกซื้อ รวม 20 ยี่ห้อ ผลปรากฏว่าไม่มีสารรมควันยาตกค้างเลย
นายดำรงค์ ยังกล่าวถึงกระแสวิพากษ์วิจารณ์ว่าไทยนำเข้าสารรมควันยาในปริมาณเกินความจำเป็นนั้น ข้อเท็จจริง คือ ปริมาณนำเข้า ‘ฟอสฟิน’ ปี 53 จำนวน 383 ตัน รมข้าวสารได้ 42 ล้านตัน, ปี 54 จำนวน 416 ตัน รมข้าวสารได้ 45 ล้านตัน, ปี 55 จำนวน 344 ตัน รมข้าวสารได้ 37 ล้านตัน และปี 56 (ม.ค.-ปัจจุบัน) จำนวน 293 ตัน รมข้าวสารได้ 32 ล้านตัน ส่วน ‘เมทิลโบรไมด์’ ปี 53 จำนวน 567 ตัน รมข้าวสารได้ 11.3 ล้านตัน, ปี 54 จำนวน 377 ตัน รมข้าวสารได้ 7.5 ล้านตัน, ปี 55 จำนวน 321 ตัน รมข้าวสารได้ 6.4 ล้านตัน และปี 56 (ม.ค.-ปัจจุบัน) จำนวน 27 ตัน รมข้าวสารได้ 0.5 ล้านตัน .