ถอดบทเรียน จคม.มุสลิม : เจรจาหยุดยิงต้องใช้เวลา แนะบีอาร์เอ็นคุมกองกำลังให้ได้
หมู่บ้านจุฬาภรณ์พัฒนา 12 ที่ อ.สุคิริน จ.นราธิวาส ดินแดนในม่านหมอกแห่งหุบเขา น้อยคนนักที่จะทราบว่าสมาชิกในหมู่บ้านล้วนเป็นอดีตโจรคอมมิวนิสต์มาลายา (จคม.) กรม 10 ที่นับถือศาสนาอิสลาม
ข้อมูลจาก ศ.นครินทร์ เมฆไตรรัตน์ อดีตคณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ระบุว่า โจรจีนคอมมิวนิสต์มลายา หรือ จคม. เป็นชื่อเรียกกองกำลังติดอาวุธของพรรคคอมมิวนิสต์มลายา หรือ พคม. (The Communist Party of Malaya - CPM) ที่หลบหนีการปราบปรามของรัฐบาลมาเลเซีย (ในอดีต) เข้ามาตั้งฐานปฏิบัติการและเคลื่อนไหวตามแนวชายแดนไทย–มาเลเซีย
อุดมการณ์ของพวกเขาคือปลดแอกจากลัทธิอาณานิคมภายใต้การปกครองที่ไม่เป็นธรรมของอังกฤษ ซึ่งแผ่อิทธิพลอย่างกว้างขวางในคาบสมุทรมลายูทั้งช่วงก่อนและหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยวิธีการจับอาวุธขึ้นต่อสู้ เดิมเคยมีกองกำลังติดอาวุธถึง 12 กรม แต่ภายหลังถูกกวาดล้างจนต้องถอยร่นเข้ามายังฝั่งไทย และลดขนาดลงเหลือเพียง 3 กรม คือ กรม 8 กรม 10 และ กรม 12
สมาชิก จคม.ส่วนใหญ่เป็นชาวจีน แต่ก็มีจำนวนหนึ่งนับถือศาสนาอิสลาม...
การสู้รบของ จคม.ยุติได้ด้วยการเจรจา มีการลงนามในข้อตกลงยุติการต่อสู้เมื่อวันที่ 2 ธ.ค.2532 ที่ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา โดยครั้งนั้นฝ่ายไทยเป็นคนกลางและพยานในการทำความตกลงร่วมกัน ทำให้การต่อสู้ในเส้นทางของอุดมการณ์คอมมิวนิสต์สิ้นสุดลง รวมทั้ง จคม.มุสลิม กรม 10 ที่ได้ตัดสินใจวางอาวุธ แล้วเข้ามาเป็นผู้ร่วมพัฒนาชาติไทยเช่นกัน กระทั่งปัจจุบันพวกเขาได้รับสัญชาติไทยหมดแล้ว
ผู้ใหญ่บ้านจุฬาภรณ์พัฒนา 12 คือ ผู้ใหญ่ฯ ดรอแม บินซา เป็นอดีตสมาชิก จคม.คนสำคัญ เขาเปิดใจเล่าถึงกระบวนการเจรจาสันติภาพในยุคนั้นระหว่างพวกเขากับรัฐบาลมาเลเซีย และความพยายามทำข้อตกลงหยุดยิง โดยมีรัฐบาลไทยเป็น "คนกลาง"
ไม่น่าเชื่อว่าอีก 24 ปีต่อมา ไทยต้องเป็นฝ่ายเปิดโต๊ะพูดคุยเจรจากับแกนนำขบวนการบีอาร์เอ็นที่จับอาวุธขึ้นสู้รบต่อต้านรัฐบาลไทย โดยมีมาเลเซียเป็น "ผู้อำนวยความสะดวก"
บทเรียนบางแง่มุมจากการเจรจายุค จคม.นำมาถอดใช้กับการพูดคุยสันติภาพรอบใหม่ระหว่างรัฐบาลไทยกับบีอาร์เอ็นได้เหมือนกัน...โดยเฉพาะการเดินบนเส้นทางสายสันติภาพต้องใช้เวลาและอดทน...
O พื้นที่ อ.สุคิริน เป็นหนึ่งในพื้นที่เป้าหมายที่ฝ่ายความมั่นคงไทยเตรียมการยกเลิกบังคับใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ คิดว่ามีความเหมาะสมหรือไม่?
เรื่อง พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ (การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินโดยอาศัยอำนาจตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548) สำหรับ อ.สุคิริน แล้ว ไม่ได้จำเป็นอะไรนัก เพราะ อ.สุคิริน ไม่ค่อยเกิดเหตุรุนแรงอะไร ไม่จำเป็นต้องใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯก็ได้ สุคิรินมีเหตุการณ์น้อย เคยมีเหตุการณ์ใหญ่ครั้งหนึ่ง คือเหตุคาร์บอมบ์เมื่อหลายปีก่อน ขณะประชุมกำนันผู้ใหญ่บ้าน ณ ที่ว่าอำเภอ มีคนบาดเจ็บ 70 กว่าคน ผมก็เป็นหนึ่งในคนเจ็บ ส่วนเหตุการณ์อื่นๆ ก็ไม่มีอะไร ชาวบ้านสามารถอยู่กันได้อย่างปกติ
แต่ถึงจะไม่มีอะไรเราก็ไม่ประมาท เพราะอำเภอและจังหวัดอื่นๆ ยังเกิดเหตุการณ์อยู่ หมู่บ้านของผมมีการจัดเวรยามดูแลความปลอดภัยหมู่บ้าน พวกที่ก่อเหตุไม่เคยเข้ามาที่หมู่บ้าน เพราะเรามีมาตรการตรวจสอบคนแปลกหน้าที่เข้ามาในหมู่บ้านตลอด ถ้าเราอยู่กันเป็นหมู่บ้านแล้วไม่ดูแลกัน หากเกิดอะไรขึ้นมันก็จะลำบากพวกเราเองทั้งหมด
O มองสถานการณ์ความไม่สงบที่เกิดขึ้นในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ในห้วง 10 ปีหลังอย่างไร?
ส่วนตัวผมก็มองอย่างงงๆ ว่ามันเกิดขึ้นมาได้อย่างไร ไม่มีต้นไม่มีปลาย สมัยก่อนไม่มีเหตุการณ์รุนแรงเหมือนกับทุกวันนี้ สมัยก่อนก็จะมีกลุ่มที่ติดอาวุธในป่าอย่างกลุ่มพูโล ทุกวันนี้มันไม่เหมือนในอดีต ไม่รู้ว่าเป็นกลุ่มไหน
สมัยที่ผมยังเป็น จคม.อยู่ในป่า เวลาเราไปเจอกองกำลังพูโลก็ยิงต่อสู้กัน ซึ่งที่จริงเราไม่อยากจะปะทะหรือต่อสู้กัน แต่ส่วนใหญ่เวลาเจอกันเขาก็ยิงเรา ทำให้ทุกครั้งที่เจอกันก็ต้องยิงต่อสู้กัน ถ้าเราไม่ยิงเขา เขาก็ยิงเรา ไม่รู้เขามาดีหรือไม่ดีก็ต้องยิงต่อสู้กันไว้ก่อน ในอดีตพวกเราถูกเขายิงตายก็มี หลังจากนั้นถ้าเจอกันก็ต้องยิงต่อสู้กันทันที
O มีความเห็นอย่างไรกับการพูดคุยสันติภาพของรัฐบาลไทยกับแกนนำบีอาร์เอ็นกลุ่มนายฮัสซัน ตอยิบ?
ผมคิดว่าเป็นเรื่องดี แต่ต้องเข้าใจว่าการเจรจาหรือพูดคุยเพื่อยุติการต่อสู้และการสูญเสียนั้น ไม่ใช่ว่าคุยกันเพียงเดือนสองเดือนแล้วทุกอย่างจบ ยุติการต่อสู้กันได้ทันที จากประสบการณ์ที่ผ่านมาของ จคม. ก่อนจะวางอาวุธและลงมาเป็นผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย ต้องใช้เวลาในการพูดคุยนานกว่า 5 ปี คุยกันมาอย่างต่อเนื่องกว่าจะมีการลงนามในสัญญายุติการต่อสู้ พูดคุยกันหลายครั้งแบบวงเล็กๆ ย่อยๆ แต่เจรจาพูดคุยกันวงใหญ่เป็นทางการทุกฝ่าย มีผู้นำมาคุยกัน เกิดขึ้น 5 ครั้งในปี 2532 และทำให้เกิดการลงนามยุติการต่อสู้ในที่สุด
O ทำไมเมื่อเริ่มการพูดคุยแล้ว ยังเกิดเหตุรุนแรงขึ้นอีก?
เป็นเรื่องธรรมดาของการเริ่มต้นพูดคุย การพูดคุยที่เกิดขึ้นระหว่างบีอาร์เอ็นกับไทยในขณะนี้ก็เช่นกัน ถือว่าเพิ่งเริ่มต้น อย่างที่ผมบอกการพูดคุยเจรจามันต้องใช้เวลา ในสมัยก่อนการเจรจาของ จคม.ก็เหมือนกัน ไม่ใช่เริ่มคุยแล้วหยุดยิงทันที ตอนนั้นผมออกไปร่วมเจรจากับผู้ใหญ่ของ จคม.ในค่ายเสนาณรงค์ อ.หาดใหญ่ แต่พอกลับมาที่ฐานในป่า การยิงต่อสู้กันก็ยังเกิดขึ้นอยู่ ตรงนี้คนเจรจาก็เจรจากันไป คนต่อสู้ก็ยังคงต่อสู้กัน เพราะการเจรจายังไม่สิ้นสุด
O คิดอย่างไรที่หลายคนตั้งข้อสงสัยว่าบีอาร์เอ็นคุมกันได้จริงหรือเปล่า โดยเฉพาะกลุ่มนายฮัสซัน ควบคุมกองกำลังติดอาวุธได้จริงหรือไม่?
ผมเปรียบเทียบการต่อสู้ของบีอาร์เอ็นกับ จคม.ในอดีตแล้วมันไม่เหมือนกัน ทั้งการต่อสู้ การเคลื่อนไหว โครงสร้างขององค์กร แต่ถ้ามองในภาพรวม ต่อให้ไม่เหมือนกัน เมื่อหันหน้าเข้ามาสู่กระบวนการพูดคุยเจรจาแล้ว เขาก็ต้องมีความพยายามควบคุมคนของเขาให้ได้ เพื่อแสดงให้เห็นถึงความพยายามของฝ่ายเขาในการพูดคุย
O คิดว่าการพูดคุยระหว่างบีอาร์เอ็นกับรัฐบาลไทยจะประสบความสำเร็จหรือไม่?
ผมมองว่ามีโอกาสสำเร็จและหาข้อยุติได้ แต่ตรงนี้ต้องขึ้นอยู่กับทั้ง 2 ฝ่ายที่มาพูดคุยกันด้วยว่ามีความพยายามและจริงใจกับการพูดคุยเจรจามากแค่ไหน แต่ว่าการพูดคุยเจรจาเพื่อยุติความขัดแย้งมันต้องใช้เวลา ตรงนี้ทั้ง 2 ฝ่ายที่มาพูดคุยกันต้องมีความอดทน นี่คือสิ่งสำคัญที่สุดในการพูดคุย หากไม่มีความอดทน การพูดคุยเจรจาก็ไม่สำเร็จ
การเจรจาที่เกิดขึ้นนี้เพิ่งใช้เวลานานไม่นาน ผมตอบอนาคตไม่ได้หรอก แต่ผมมองว่าทุกฝ่ายต้องพยายาม เงื่อนไขต่างๆ ที่แต่ละฝ่ายหยิบยกขึ้นมาคุยกัน อันไหนที่พอจะยอมกันได้ก็ต้องยอมให้กัน ผ่อนปรนให้กันได้ก็จะดี ถอยกันคนละครึ่งก้าว ไม่ถึงครึ่งก้าวจะถอยแค่หนึ่งในสี่ก็ได้ เพื่อให้การพูดคุยเจรจาไปสู่ความสำเร็จ การเจรจาที่เกิดขึ้นในวันนี้ถือว่าเพิ่งเริ่ม ซึ่งในการเริ่มต้นมันก็เป็นแบบนี้ ต่างฝ่ายก็อยากจะให้อีกฝ่ายรับเงื่อนไขของตัวเอง
-------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ :
1 ผู้ใหญ่บ้าน ดรอแม บินซา
2-4 บรรยากาศสุขสงบที่หมู่บ้านจุฬาภรณ์พัฒนา 12 อ.สุคิริน
5-7 ภาพในอดีตเมื่อครั้งยังจับปืนสู้ ซึ่งถูกเก็บรักษาไว้ในพิพิธภัณฑ์หมู่บ้านจุฬาภรณ์พัฒนา 12 ในภาพทหารปลดแอกประชาชาติมาลายา กรม 10 ที่ยืนเรียงกันอยู่นั้น ผู้ใหญ่ฯ ดรอแม คือคนสวมเสื้อสีเขียว
หมายเหตุ : ภาพทั้งหมดโดย จรูญ ทองนวล ช่างภาพมือรางวัลจากศูนย์ภาพเนชั่น