ชาวนาขู่ฟ้องรบ.หั่นราคาจำนำข้าวต่ำกว่า 1.5 หมื่นบ./ตัน เหตุต้นทุนผลิตสูง
ชาวนาขู่ฟ้องรบ.ห้ามหั่นราคาจำนำข้าวเหลือ 12,000 บ./ตัน เหตุต้นทุนการผลิตสูง ซัด ‘บุญทรง’ ไม่รู้เรื่องข้าวจริง สมควรไล่ออก ทีดีอาร์ไอเสนอปรับปรุงข้อมูลข้าวใหม่ทั้งระบบ
วันที่ 23 มิ.ย. 56 สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ร่วมกับสถาบันอิศรา มูลนิธิพัฒนาสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย จัดราชดำเนินเสวนา ‘ลดราคาจำนำข้าว:ลดขาดทุน-ป้องกันทุจริตได้จริงหรือ’ ณ ห้องประชุมอิศรา อมันตกุล สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย
น.ส.วิบูลย์ลักษณ์ ร่วมรักษ์ อธิบดีกรมการค้าภายใน กล่าวถึงโครงการของรัฐบาลที่ดำเนินการเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรคงไม่สามารถคิดถึงเรื่องกำไรขาดทุนได้ เพราะล้วนมีจุดประสงค์เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรให้มีรายได้ที่ดีขึ้น
กรณีการปรับลดราคาจำนำข้าวจาก 15,000 บาท/ตัน เหลือ 12,000 บาท/ตัน ในฤดูนาปรัง ปี 2556 จนถึงสิ้นฤดูกาลนั้น อธิบดีกรมการค้าภายใน กล่าวว่า แน่นอนว่าจะสามารถลดงบประมาณภาครัฐได้อย่างน้อย 3,000 บาท/ตัน ส่วนจะสามารถป้องกันการทุจริตได้หรือไม่ ต้องบอกว่า ไม่ว่าโครงการใดของรัฐบาลล้วนเปิดช่องต่อการทุจริตได้ทั้งสิ้น ผิดกับต่างประเทศที่มีเรื่องดังกล่าวน้อย เพราะอาจด้วยมาตรการลงโทษทางกฎหมายเคร่งครัด และพื้นฐานจิตสำนึกในการเคารพกติกาของประชาชน อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาได้มีการตรวจจับทุจริตในโครงการรับจำนำข้าว ตั้งแต่กรณีการสวมสิทธิ์เกษตรกร ซึ่งมีการดำเนินคดีแล้ว
“ลดราคาจำนำข้าวจะทำให้การทุจริตลดลงได้ตามอัตราส่วนต่างราคาที่ปรับลง ถึงอย่างไรมาตรการปราบปรามของรัฐบาลยังคงเข้มงวดเหมือนเดิม”
ด้านนายรังสรรค์ กาสูลงค์ ผู้แทนชาวนาไทย กล่าวว่า ชาวนาจะเสียประโยชน์สูงสุดหากมีการปรับลดราคาจำนำข้าวเหลือ 12,000 บาท/ตัน แม้รัฐบาลจะบอกว่ารักเกษตรกรยอมให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ปล่อยสินเชื่อเงินกู้ แต่วิธีดังกล่าวไม่ช่วยเหลือเกษตรกรเลย แต่กลับเป็นการเพิ่มภาระหนี้สินครัวเรือนมากขึ้นอีก
“เคยทักท้วงว่า โครงการรับจำนำข้าวทุกเมล็ดจะเอื้อต่อการทุจริตได้ง่าย แต่รัฐบาลไม่ฟัง จนมาสำนึกได้ตอนจะเจ๊งแล้ว” นายรังสรรค์ กล่าว และว่า เกษตรกรไม่ได้เรียกร้องให้รัฐบาลจำนำข้าว 15,000 บาท/ตัน หากแต่เป็นนโยบายที่สัญญาไว้เอง ฉะนั้นจะปรับลดราคาลงไม่ได้ เพราะต้นทุนการผลิตได้พุ่งสูงขึ้นแล้ว ไม่ว่าจะเป็นค่าน้ำมัน ปุ๋ย หรือค่าแรง อย่างไรก็ตาม หากโครงการดังกล่าวล้มลงจริง ๆ เสนอให้โอนเงินอุดหนุนค่าต้นทุนการผลิตแก่เกษตรกรแทน มิเช่นนั้นจะฟ้องรัฐบาล
ทั้งนี้ นายรังสรรค์ ยังเรียกร้องให้นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ (รมว.พณ.) ออกจากการเป็นรัฐมนตรี เพราะไม่มีความรู้ด้านข้าวเลย โดยเฉพาะการออกมาระบุว่าเกษตรกรไม่สามารถขายข้าวได้เต็มราคา 14,800 บาท/ตัน เพราะเกี่ยวข้าวเร็วเกินไป หากแต่ความจริง การเกี่ยวข้าวนั้นโรงสีได้กำหนดความชื้นไว้ที่ 22-27% สูงกว่าที่กำหนดตัวเลข 15% เป็นการเก็บเกี่ยวด้วยมือตามแบบโบราณ ดังนั้นการที่นายบุญทรงออกมากล่าวหาถือว่า ย่ำยีเกษตรกร
ด้านรศ.ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวถึงการทุจริตในโครงการรับจำนำข้าวว่า เกิดจากการประมูลข้าวไม่โปร่งใส 2.5 ล้านตัน โดยมีการลักลอบนำข้าวจากกัมพูชาเข้ามาสวมสิทธิ์ ซึ่งพฤติกรรมเช่นนี้ข้าราชการไม่สามารถดำเนินการได้ นอกจากผู้นำระดับสูงเป็นผู้กระทำ จึงเป็นสาเหตุไม่สามารถปิดบัญชีข้าวนาปี 2555/56 และเปิดเผยข้อมูลต่าง ๆ กับสังคม จึงเรียกร้องให้ข้าราชการยืนหยัดในการเผยแพร่ข้อมูลที่ถูกต้อง โดยการปรับปรุงระบบข้อมูลใหม่เนื่องจากขณะนี้ยังขัดแย้งกันเองในหลาย ๆ ส่วน
นายเกียรติ สิทธีอมร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ความต้องการรับจำนำข้าวในราคาที่สูงกว่าตลาด เพื่อหวังยกระดับราคาตลาดโลกขยับขึ้นนั้นไม่มีทางเกิดขึ้น ซึ่งวันนี้ได้พิสูจน์ข้อเท็จจริงแล้ว แต่หากมีการปรับลดราคาจำนำข้าวลง เกษตรกรจะเกิดความเสียหายฝ่ายเดียว หากไม่มีมาตรการอื่นรองรับ ซึ่งขณะนี้รัฐบาลก็ยังไม่มีมาตรการใด ๆ ออกมา นอกจากระบุว่า ปรับลดราคาเพื่อหวังลดขาดทุนที่อาจกระทบต่อความน่าเชื่อถือของประเทศ แม้จะแก้ปัญหาการสวมสิทธิ์ได้บ้างก็ตาม
และการที่น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ยืนยันว่าโครงการรับจำนำข้าวโปร่งใสตรวจสอบได้นั้น ความจริงกลับตรวจสอบไม่ได้ เพราะไม่มีการเปิดเผยข้อมูลเลย ในฐานะผู้บริหารระดับสูงไม่ควรปล่อยให้เหตุการณ์เป็นเช่นนี้ จึงเรียกร้องเปิดเผยตัวเลขการระบายข้าวในสต๊อกต่อสังคมเพื่อการตรวจสอบการทำงานอย่างโปร่งใสต่อไป ส่วนการระบายข้าวในสต๊อกตามสัญญาซื้อขายแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) โดยเม.ย.ที่ผ่านมาระบายข้าวได้เพียง 1.99 ล้านตัน ถือว่าน้อยมาก ซึ่งเกิดจากสาเหตุเป็นสัญญาซื้อขายที่ไม่ผูกพันนั่นเอง .