'ชวลิต ชูขจร' สั่งปฏิบัติการฝนหลวงเติมน้ำเขื่อนภูมิพลรับภัยแล้ง
ปลัดเกษตรฯ รับมือฝนทิ้งช่วง เริ่มปฏิบัติการฝนหลวงเติมน้ำในเขื่อนภูมิพลจัดการน้ำเพียงพอพื้นที่เพาะปลูก หวั่นหากปริมาณน้ำน้อยกระทบฤดูแล้งหน้า
วันที่ 21 มิ.ย. 56 นายชวลิต ชูขจร ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (ปลัดกษ.) กล่าวภายหลังสังเกตการณ์สภาพน้ำเขื่อนภูมิพลและเยี่ยมชมการเตรียมพร้อมในการปฏิบัติการฝนหลวงที่สนามบินจ.ตากว่า ทันทีที่กรมชลประทานรายงานสถานการณ์น้ำในเขื่อนต่างๆ ณ ปัจจุบันว่าอยู่ในเกณฑ์น้อย ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อพื้นที่การทำเกษตรในหลายๆ จังหวัดได้ จึงได้สั่งการให้กรมฝนหลวงและการบินเกษตรเร่งปฏิบัติการเติมน้ำให้กับเขื่อนต่าง ๆ ให้เพียงพอต่อความต้องการของภาคเกษตรเป็นการเร่งด่วน
โดยเบื้องต้นกรมฝนหลวงฯได้มอบหมายให้หน่วยงานปฏิบัติการฝนหลวงภาคเหนือ ประจำจ.ตากปฏิบัติการเติมน้ำในเขื่อนภูมิพล ซึ่งขณะนี้ได้รับรายงานว่ามีปริมาณน้ำอยู่ประมาณ 40-50%เท่านั้น แม้จะพียงพอต่อการดูแลพื้นที่ชลประทาน แต่หากไม่เร่งเติมน้ำไว้เมื่อสิ้นฤดูฝน หวั่นเกรงว่าน้ำอาจจะเหลือน้อยจนไม่เพียงพอต่อพื้นที่ทำการเกษตรและบริโภคได้
ดังนั้น จึงจำเป็นต้องเร่งปฏิบัติการฝนหลวงเพื่อเติมน้ำให้ได้ปริมาณ80 % จึงจะสามารถสร้างความอุ่นใจว่ามีน้ำเพียงพอใช้ในช่วงฤดูแล้งถัดไป ขณะเดียวกันเพื่อไม่ประมาทก็ได้วางแผนในการบริหารจัดน้ำในระดับที่เหมาะสม เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อภาวะน้ำท่วมตามมาภายหลังอีกด้วย
“ปัจจุบันน้ำในเขื่อนภูมิพลและสิริกิติ์ ให้ความช่วยเหลือเกษตรกรครอบคลุมในพื้นที่ลุ่มแม่น้ำปิงและลุ่มแม่น้ำน่านทั้งหมด ตั้งแต่จ.ตาก อุตรดิตถ์ พิษณุโลก อุทัยธานี ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี นนทบุรี และกรุงเทพฯ มั่นใจจะเพียงพอกับการใช้ในการอุปโภคบริโภค สำหรับการทำการเกษตร ปริมาณน้ำในช่วงฤดูฝน” ปลัดกษ.กล่าว
ด้านนายวราวุธ ขันติยานันท์ ผู้อำนวยการกองปฏิบัติการฝนหลวง กรมฝนหลวงและการบินเกษตร กล่าวเพิ่มเติมว่า ขณะนี้กรมฝนหลวงฯได้ปรับยุทธศาสตร์ในแผนปฏิบัติการฝนหลวงให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัญหามากขึ้น ทั้งให้การช่วยเหลือพื้นที่การเกษตรช่วงฤดูฝน ป้องกันการเกิดภาวะฝนทิ้งช่วงและเพิ่มปริมาณน้ำในเขื่อนและอ่างเก็บน้ำ โดยการตั้งศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงประจำภาคทั้งหมด 5 ภาค ได้แก่ ภาคกลาง จ.นครสวรรค์ ภาคเหนือ จ.เชียงใหม่ ภาคตะวันออก จ.ระยอง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จงขอนแก่น และภาคใต้ จ.สุราษฎรธานี
ทั้งนี้ เพื่อช่วยเสริมสภาพคล่องในการปฏิบัติการทำฝนหลวงให้มีประสิทธิภาพและมีความต่อเนื่อง ซึ่งแต่ละศูนย์ประกอบด้วย หน่วยเคลื่อนที่เร็วเพื่อปฏิบัติการช่วยเหลือจังหวัดต่าง ๆ ที่อยู่ในเขตรับผิดชอบ
และหน่วยปฏิบัติการซึ่งมีเครื่องบินปฏิบัติงานประจำฐานที่ตั้ง โดยบูรณการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อประสานข้อมูลประเมินสถานการณ์ในการเข้าช่วยเหลือเกษตรกรได้ทันท่วงที ซึ่งขณะนี้แต่ละศูนย์อยู่ระหว่างการสร้างองค์ประกอบที่สมบูรณ์ของศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวง ได้แก่1.ที่ทำการศูนย์ฯ 2.พื้นที่เก็บสารทำฝนหลวง และ3.สถานีตรวจอากาศประจำภาค คาดว่าไม่เกิน 3 ปีศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงประจำภาคทั้งหมดจะเสร็จสมบูรณ์ .