ก.เกษตรฯ ชี้ข้าวเป็นพืชไร้ไขมัน รมยาทำลายมอดจึงไม่ก่อมะเร็ง
ก.เกษตรฯ แจงข้าวเป็นพืชไร้ไขมัน วิธีรมควันยากำจัดมอดจึงไม่ก่อสารมะเร็ง ยันระเบียบพาณิชย์ให้ทำทุก 3 เดือน ป้องกันมอดเกิดขึ้นอีก
วันที่ 21 มิ.ย. 56 ที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) นายนิวัฒน์ สุรีมีชัยกุล รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (รองปลัดกษ.) ชี้แจงภายหลังมีกระแสวิพากษ์วิจารณ์ข้าวสารถุงที่จำหน่ายในตลาดขณะนี้ผ่านการรมควันยาเพื่อกำจัดมอด แมลงนั้น ไม่ก่อให้เกิดโรคมะเร็ง พร้อมระบุถึงขั้นตอนการรมควันยาว่า ใช้สารเคมี 2 ชนิด คือ อะลูมิเนียมฟอสไฟต์ กับ แม็กนีเซียมฟอสไฟต์ มีลักษณะเป็นเม็ด โดยจะนำสารใส่กล่องวางกระจายในกองข้าวแล้วใช้ผ้าใบคลุม 5-7 วัน ให้สารระเหิดเกิดเป็นแก๊สทำลายมอด แต่อาจจะทำลายไข่มอดไม่ได้ และถ้าทิ้งข้าวไว้นาน ๆ อาจจะมีมอดเกิดขึ้นมาอีก ดังนั้นในระเบียบของกระทรวงพาณิชย์จึงกำหนดให้ทำการรมควันยาข้าวในสต๊อกทุก 3 เดือน และการรับจ้างรมยาอยู่ภายใต้สัญญาของกระทรวงพาณิชย์
“โอกาสจะเกิดสารก่อมะเร็งในข้าวนั้นยาก เพราะข้าวไม่มีไขมัน ไม่มีโปรตีน โดยปกติแล้วสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) มีการสุ่มตรวจข้าวอยู่เป็นระยะ ยืนยันไม่พบสารก่อมะเร็งในข้าว”
ส่วนกรมวิชาการเกษตรเป็นผู้ควบคุมและออกใบอนุญาตการครอบครองสารทั้ง 2 ชนิด ซึ่งจัดว่าเป็นสารกำจัดศัตรูพืช ดังนั้นทุกแห่งที่มีการรมยาข้าว ต้องอยู่ภายใต้การดูแลของกรมวิชาการเกษตร ผู้ที่จะรมยาข้าวได้ต้องผ่านการอบรมและรับรองจากกรมวิชาการเกษตรเท่านั้น
รองปลัดกษ. ยังกล่าวว่า องค์การอาหารและยา (อย.) จะเป็นหน่วยงานที่ตรวจรับรองข้าวส่งออกไปจำหน่ายในประเทศ ส่วนตลาดต่างประเทศนั้นเป็นหน้าที่ของกรมวิชาการเกษตร โดยมีการกำหนดค่าสารตกค้างไม่เกิน 0.1 มก./กก. และเมื่อแปรรูปแล้วต้องไม่เกิน 0.01 มก./กก. ซึ่งสารตกค้างจะไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า ส่วนกรณีที่ข้าวจับตัวกันเป็นก้อนเป็นคนละประเด็น คือข้าวมีความชื้นและเกิดเชื้อรา หรือที่เรียกว่าข้าวเน่า ไม่เกี่ยวกับการรมยาหรือสารตกค้าง และว่า “การมีข่าวออกไปเช่นนี้ย่อมกระทบต่อความเชื่อมั่นที่มีต่อการผลิตข้าวตั้งแต่ภาคเกษตรจนถึงผู้บริโภค” .