4 เดือน 3 ครั้งเจรจา(ไม่)ดับไฟใต้ ทหารรอวัดใจ "รอมฎอน"
ผ่านไปแล้ว 3 ครั้งสำหรับการพูดคุยสันติภาพระหว่างตัวแทนรัฐบาลไทยกับฝ่ายผู้เห็นต่างจากรัฐ นำโดยขบวนการบีอาร์เอ็นกลุ่มของนายฮัสซัน ตอยิบ แต่ดูเหมือนระยะเวลาเกือบ 4 เดือนหลังจากทั้งสองฝ่ายยอมจรดปากกาลงนามในข้อตกลงริเริ่มกระบวนการสันติภาพดับไฟใต้ ดูจะยังมองไม่เห็นปลายทางแห่งสันติสุข
เพราะสถานการณ์ความรุนแรงในพื้นที่ไม่ได้ลดระดับลงเลย หนำซ้ำในทางความรู้สึก ถามใครก็บอกตรงกันว่าแรงขึ้นด้วยซ้ำ
กลายเป็นข้อกังขาว่าหากฝ่ายบีอาร์เอ็นไม่ได้มีเจตจำนงลดการใช้ความรุนแรงเพื่อก้าวเดินสู่สันติภาพไปด้วยกัน แล้วจะพูดคุยเจรจาเพื่ออะไร?
ล่าสุดเมื่อวันอังคารที่ 18 มิ.ย.เพียงวันเดียว เกิดเหตุลอบวางระเบิดทหารและทหารพราน 3 จุด ซุ่มยิงทหาร 1 จุด ดักโจมตีตำรวจสายตรวจ 1 จุด สูญเสียชีวิตกำลังพลไปถึง 3 นาย บาดเจ็บอีก 12 นาย
หากย้อนดูสถิติความรุนแรงที่เก็บรวบรวมโดย ส่วนปฏิบัติการและรับแจ้งเหตุฉุกเฉิน ศูนย์ปฏิบัติการร่วมทางยุทธวิธี กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า เทียบกันเดือนต่อเดือน ตั้งแต่ ม.ค.2556 ถึงสิ้นเดือน พ.ค.2556 จะพบว่าสถิติความรุนแรงรายเดือนช่วงก่อนลงนามในข้อตกลงพูดคุยสันติภาพเมื่อ 28 ก.พ.2556 กับช่วงหลังลงนามในข้อตกลงสันติภาพ แม้ตัวเลขจะไม่สวิงไปด้านใดด้านหนึ่งอย่างมีนัยยะสำคัญ แต่ก็มีแนวโน้มสูงขึ้น ไม่มีสัญญาณลดลง โดยสามารถแยกแยะได้ดังนี้
จำนวนเหตุรุนแรงทุกประเภท เดือน ม.ค. 46 เหตุการณ์ ก.พ. 42 เหตุการณ์ มี.ค. 57 เหตุการณ์ เม.ย. 63 เหตุการณ์ และ พ.ค. 48 เหตุการณ์
เหตุลอบวางระเบิด เดือน ม.ค. 9 ครั้ง ก.พ. 17 ครั้ง มี.ค. 15 ครั้ง เม.ย.พุ่งไปถึง 21 ครั้ง และ พ.ค.18 ครั้ง
ยอดผู้เสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บ เดือน ม.ค. เสียชีวิต 38 ราย บาดเจ็บ 49 ราย รวม 87 ราย เดือน ก.พ.เสียชีวิต 50 ราย บาดเจ็บ 90 ราย รวม 140 ราย เดือน มี.ค.เสียชีวิต 45 ราย บาดเจ็บ 109 ราย รวม 154 ราย เดือน เม.ย. เสียชีวิต 49 ราย บาดเจ็บ 79 ราย รวม 128 ราย และเดือน พ.ค. เสียชีวิต 56 ราย บาดเจ็บ 77 ราย รวม 133 ราย
ส่วนตัวเลขหมู่บ้านสีแดง หรือหมู่บ้านที่มีความเคลื่อนไหวของกลุ่มก่อความไม่สงบนั้น ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเรียกใหม่เป็น หมู่บ้านเสริมสร้างความมั่นคง (สีแดง) มีจำนวน 136 หมู่บ้าน จากจำนวนหมู่บ้านทั้งหมด 1,970 หมู่บ้าน ที่เหลือเป็น หมู่บ้านเฝ้าระวัง (สีเหลือง) จำนวน 234 หมู่บ้าน และ หมู่บ้านเสริมสร้างการพัฒนา (สีเขียว) จำนวน 1,600 หมู่บ้าน
นับเฉพาะหมู่บ้านเสริมสร้างความมั่นคง หรือหมู่บ้านสีแดง แยกเป็น จ.ยะลา 32 หมู่บ้าน จ.ปัตตานี 47 หมู่บ้าน จ.นราธิวาส 48 หมู่บ้าน และ จ.สงขลา 9 หมู่บ้าน
นี่คือสถานการณ์ในภาพรวมที่ฝ่ายความมั่นคงประเมินว่าดีขึ้นกว่าเมื่อหลายปีก่อนซึ่งหมู่บ้านสีแดงเคยสูงถึง 217 หมู่บ้าน (ข้อมูลปี 2553) แต่นั่นไม่ได้เป็นผลโดยตรงจากการเจรจา เพราะหลังจากริเริ่มกระบวนการเจรจา เหตุรุนแรงมีแนวโน้มสูงขึ้น โดยเฉพาะที่พุ่งเป้าไปยังเจ้าหน้าที่รัฐ ทหาร ตำรวจ อส. และฝ่ายปกครอง
มุมมองของผู้ปฏิบัติอย่าง น.อ.สมเกียรติ ผลประยูร ผู้บังคับหน่วยเฉพาะกิจนาวิกโยธินภาคใต้ กองทัพเรือ (ผบ.นย.ภาคใต้ ทร.) มองว่าสถานการณ์ในภาพรวมยังทรงตัว และไม่ชัดเจนว่าเหตุรุนแรงเพิ่มสูงขึ้นหรือไม่ เพราะแต่ละช่วงเวลาของทุกๆ ปีที่ผ่านมา สถิติเหตุรุนแรงก็ขึ้นๆ ลงๆ แบบนี้ โดยเฉพาะช่วงใกล้เดือนรอมฎอน ฉะนั้นหากจะประเมินกันจริงๆ คงต้องประเมินกันในช่วงเดือนรอมฎอนปีนี้ซึ่งมีข่าวว่าทางฝ่ายบีอาร์เอ็นตกลงในหลักการจะลดเหตุรุนแรง
"แม้จะพูดคุยเจรจากันมาแล้ว 3 ครั้ง แต่ 2 ครั้งแรกบีอาร์เอ็นไม่ได้รับปากว่าจะลดเหตุรุนแรง จึงยังประเมินไม่ได้ มีเฉพาะครั้งที่ 3 เมื่อวันที่ 13 มิ.ย.เท่านั้นที่รับปากว่าจะลดการก่อเหตุ ฉะนั้นก็ต้องไปประเมินกันช่วงนั้น ส่วนการปฏิบัติของฝ่ายความมั่นคงยังไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง เราก็มุ่งบังคับใช้กฎหมาย รักษาความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของพี่น้องประชาชน ขณะที่การพูดคุยเจรจาเป็นเรื่องของฝ่ายนโยบาย"
สำหรับมาตรการปิดล้อมตรวจค้นที่มีข่าวว่าฝ่ายความมั่นคงจะต้องลดการปฏิบัติช่วงเดือนรอมฎอน เพื่อแลกกับการลดการก่อเหตุรุนแรงของฝ่ายบีอาร์เอ็นนั้น น.อ.สมเกียรติ บอกว่า ยังไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงเพราะยังไม่มีคำสั่งลงมา จึงยังต้องปฏิบัติตามยุทธวิธีปกติ ต้องเข้าใจว่าที่ผ่านมาถ้าไม่มีการก่อเหตุ เช่น วางระเบิด หรือยิงเจ้าหน้าที่ ฝ่ายความมั่นคงก็ไม่ได้ใช้มาตรการเชิงรุกมากนัก จะปิดล้อมตรวจค้นเฉพาะเมื่อมีเหตุรุนแรงเกิดขึ้นก่อนเท่านั้น ถ้าไม่มีเหตุการณ์อะไร ตามนโยบายจะไม่อนุญาตให้นำกำลังทหารขนาดใหญ่ไปปิดล้อมหมู่บ้านได้อยู่แล้ว
ด้านความเห็นของนักการเมืองรุ่นลายคราม "กลุ่มวาดะห์" อย่าง นายเด่น โต๊ะมีนา ซึ่งได้รับแต่งตั้งเป็นที่ปรึกษาของ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี ที่รับผิดชอบภารกิจดับไฟใต้ด้วย เขาประเมินว่าการพูดคุยกับบีอาร์เอ็นดังที่ดำเนินการอยู่ไม่ค่อยได้ประโยชน์ เพราะจุดยืนและความต้องการแตกต่างกันชัดเจน ฝ่ายบีอาร์เอ็นรู้สึกว่าตนเองเข้าสู่ขั้นตอนการเจรจาแล้ว เพราะมีการยื่นข้อเรียกร้อง 5 ข้อมายังรัฐบาลไทย แต่ฝ่ายรัฐบาลไทยกลับยังบอกว่าเป็นช่วงของการพูดคุยกันอยู่ มีเป้าหมายแค่ทำความรู้จัก สร้างความสนิทสนมจากการพูดคุยกันเท่านั้น
ที่สำคัญผู้มีอำนาจในรัฐบาลบางคนหรือบางหน่วยงานยังมองว่าไปเจรจากับโจร หากยังมองกันแบบนี้ก็สำเร็จยาก ประกอบกับบีอาร์เอ็นไม่ได้เต็มใจเข้าร่วมกระบวนการสันติภาพ แต่ถูกทางการมาเลเซียกดดันจากการขอร้องของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ส่วนเรื่องการลดความรุนแรงเฉพาะหน้ายิ่งเป็นไปได้ยาก มีแต่ยิ่งจะยิ่งเร่งก่อเหตุรุนแรงเพื่อเพิ่มอำนาจการต่อรอง
ขณะที่ อดีตผู้ต้องหาคดีความมั่นคง ซึ่งเคยเป็นสมาชิกรุ่นใหม่ของขบวนการบีอาร์เอ็น แต่ปัจจุบันวางมือแล้ว กล่าวว่า ไม่มั่นใจเลยว่าการพูดคุยสันติภาพครั้งนี้จะยุติความรุนแรงที่เกิดขึ้นได้ เนื่องจากเหตุผล 2 ประการ คือ 1.นายฮัสซัน ตอยิบ หัวหน้าคณะพูดคุยฝ่ายบีอาร์เอ็น ไม่ชัดเจนว่าปัจจุบันยังอยู่ในขบวนการจริงหรือเปล่า เพราะทางบีอาร์เอ็นไม่เคยมีนโยบายเจรจากับรัฐบาลไทย โดยเฉพาะเจรจาภายใต้รัฐธรรมนูญไทย เนื่องจากเป้าหมายของบีอาร์เอ็นคือเอกราชเท่านั้น
2.ทุกครั้งไม่ว่าก่อนหรือหลังเจรจา จะเกิดเหตุการณ์รุนแรงขึ้นในลักษณะต่อต้านการเจราจา แสดงให้เห็นว่าในพื้นที่ยังมีกลุ่มที่ไม่เห็นด้วยกับการเจรจาอยู่มาก ส่วนข้อเสนอของรัฐบาลไทยที่ให้ยุติการก่อเหตุรุนแรงช่วงเดือนรอมฎอน คงเป็นเรื่องยากในทางปฏิบัติ เพราะว่ากลุ่มที่เคลื่อนไหวในพื้นที่ได้รับการปลูกฝังมาว่าการทำสงครามญิฮาดในเดือนรอมฎอนถือว่าได้บุญมากเป็นสองเท่า
นี่คือโจทย์ข้อยากที่ท้าทายอย่างยิ่งต่อข้อตกลงหยุดยิงในช่วงเดือนรอมฎอนที่กำลังจะมาถึงในอีกไม่กี่สิบวันข้างหน้านี้!
---------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : เหตุการณ์คนร้ายลอบวางระเบิดรถตำรวจ สภ.กรงปินัง จ.ยะลา เมื่อคืนวันอังคารที่ 18 มิ.ย.2556 (ภาพโดย อะหมัด รามันห์สิริวงศ์)
อ่านประกอบ :
1 เด่น โต๊ะมีนา : เจรจาสำเร็จยากหากรัฐยังมองบีอาร์เอ็นเป็นโจร
2 อดีต BRN รุ่นใหม่ ไม่มั่นใจหยุดยิงรอมฎอน