นักวิจัยอิสระฯ เสนอตรวจวัดสารตกค้าง รมยาข้าวกำจัดมอด แมลง
นักวิจัยอิสระฯ เสนอตรวจวัดสารตกค้าง รมยาข้าวกำจัดมอด แมลง ชี้ใครสูดดมถึงขั้นหมดสติ อธิบดีวิชาการเกษตรยันไม่เป็นมะเร็ง
นายดำรงค์ จิระสุทัศน์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวกับสำนักข่าวอิศรา ถึงประเด็นความกังวลสารรม ‘เมทิลโบร์ไมด์’ (METHYL BROMIDE) ซึ่งใช้ในการรมยาข้าว เพื่อป้องกันแมลงศัตรูผลิตผลการเกษตร พวกมอด แมลง ซึ่งอาจตกค้างในข้าวว่า โดยทั่วไปข้าวที่เก็บไว้ในโกดังจะต้องรมควันด้วยสารเคมีชนิดนี้ตามมาตรฐานขององค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (เอฟเอโอ) ซึ่งไม่ว่าจะเป็นข้าวที่ส่งออกหรือบริโภคในประเทศ พร้อมยืนยันมีมาตรฐานเหมือนกันและไม่มีสารตกค้างที่อาจก่อให้เกิดโรคมะเร็ง
“บริษัทใหญ่ ๆ ต่างเก็บข้าวไว้ในโกดังเดียวกัน อีกทั้งสารเคมีดังกล่าวมีสภาพเป็นแก๊สที่ระเหยสู่ชั้นบรรยากาศอัตโนมัติเร็วที่สุดภายใน 24 ชั่วโมง ด้วยการแทรกตัวในช่องว่างอากาศระหว่างเมล็ดข้าว และเมื่อมีการเคลื่อนย้ายแก๊สที่แทรกตัวอยู่ยิ่งจะค่อย ๆ ระเหยจางหายไป”
ด้านรศ.สุชาตา ชินะจิตร นักวิจัยอิสระด้านสารเคมี กล่าวถึงสาร ‘เมทิลโบร์ไมด์’ ใช้รมควันมอดในข้าวว่า มีลักษณะเป็นแก๊ส จะระเหยและแพร่กระจายในชั้นบรรยากาศได้รวดเร็ว แต่ในที่สุดจะกลับสู่พื้นโลกโดยมากับฝนหรือน้ำค้าง
สำหรับผู้ที่อยู่ในโกดังระหว่างการฉีดพ่นนั้น รศ.สุชาตา กล่าวว่า เมื่อมีการสูดดมจะทำให้ระคายเคืองต่อปอดและเป็นพิษต่อระบบประสาท วิงเวียน คลื่นไส้ได้ โดยเฉพาะหากได้รับในปริมาณที่สูงจะมองเห็นไม่ชัด แขนขาชา ผิวหนังพุพอง คัน และหมดสติในที่สุด รวมถึงมีสิทธิกัดกระเพาะได้หากกลืนกินเข้าไป
“ที่ผ่านมาผลการศึกษาจากต่างประเทศระบุว่า เคยมีคนได้รับสารพิษจนเสียชีวิตแล้ว แต่อยู่ในรูปอุบัติเหตุ”
เมื่อถามว่า ‘เมทิลโบร์ไมด์’ มีโอกาสตกค้างในข้าวจนส่งผลกระทบต่อผู้บริโภคในประเทศหรือไม่ รศ.สุชาตา กล่าวว่า เราต้องทราบก่อนว่า ข้าวที่ผ่านการรมควันนั้นมีสารเคมีตกค้างหรือไม่ ปริมาณมากน้อยแค่ไหน ส่วนจะให้ยืนยันเลยว่าจะมีผลกระทบต่อร่างกาย ตอบทันทีไม่ได้ เพราะต้องอาศัยข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ประกอบ
“อาจจะมีสารเคมีตกค้างได้ แต่ไม่มีการยืนยันแน่ชัด เพราะปัจจุบันยังไม่มีผลการศึกษาอย่างเป็นรูปธรรม อย่างไรก็ตาม หากมีการทดสอบว่าตกค้างจริงก็จะมีโอกาสเสี่ยงต่อผู้บริโภค” นักวิชาการอิสระด้านสารเคมี กล่าว พร้อมเสนอให้มีการตรวจวัดการตกค้างของสารเคมีในข้าวจริงจัง พร้อมกันทั้งประเทศ เพื่อป้องกันการหลบหลีกของเจ้าของโกดัง
ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า ก่อนหน้านี้ นางรุ่งทิพย์ สุขกำเนิด ได้เขียนบทความ ‘ระวังเมทิลโบรไมด์เข้าสู่ร่างกายโดยไม่รู้ตัว’ ในบล็อกบ้านต้นคิดทิพย์ธรรม (http://tonkidthipdhama.blogspot.com/) ต่อประเด็นข้อกังวลดังกล่าวว่า ปัญหาของเมทิลโบรไมด์ กลับไม่ค่อยได้ถูกพูดถึงในแง่ของสารตกค้างถึงผู้บริโภค ทั้งในกรณีของสินค้านำเข้าและสินค้าส่งออก ในกรณีสินค้าส่งออกจากประเทศไทยนั้นคงจะไม่ค่อยมีปัญหาเท่าไรนัก เนื่องจากในต่างประเทศมีการกำหนดหรือควบคุมกระบวนการใช้ โดยมีการกำหนดให้ต้องส่งออกสินค้าที่รมสารนี้ภายในระยะเวลาที่กำหนด รวมถึงได้มีการกำหนดค่ามาตรฐานหรือเกณฑ์ในการตรวจสอบสารพิษตกค้างในอาหาร ในปริมาณที่ปลอดภัยไว้แล้ว
แต่สำหรับสินค้านำเข้าหรือสินค้าที่ขายในประเทศไทย โดยเฉพาะในข้าวสารที่ทานกันทุกวันนั้น กลับไม่มีการกำหนดค่าสารตกค้างจากเมทิลโบร์ไมด์ไว้
ยิ่งหากไม่ได้มีการควบคุมและตรวจสอบกระบวนการใช้สารอย่างถูกต้องแล้ว ย่อมมีผลตกค้างมาถึงผู้บริโภคอย่างแน่นอน เนื่องจากเป็นขั้นตอนการใช้สารเคมีที่เข้าใกล้การบริโภคมากๆ ซึ่งต่างจากสารกำจัดศัตรูพืชที่ใช้ในระยะการเติบโตถึงเก็บเกี่ยว ก่อนทำการสีเอาเปลือกออก
ส่วนผลตกค้างถึงผู้บริโภคจะมีมากน้อยแค่ไหนนั้น นางรุ่งทิพย์ ระบุว่า ยังไม่มีข้อมูลยืนยัน แต่สำหรับในเอกสารของผู้ค้าสารนี้ได้มีการระบุถึงพิษภัยของสารเมทิลโบร์ไมด์ว่า เป็นสารที่เป็นอันตรายต่อมนุษย์อย่างร้ายแรง ซึ่งต้องระวังเป็นพิเศษ โดยเฉพาะกับผู้ที่ทำหน้าที่รมสารและผู้ที่ทำงานในโรงเก็บผลผลิตทางการเกษตรที่ใช้สารดังกล่าว ตลอดจนผู้ที่ทำหน้าที่กำจัดสารเมื่อเกิดอุบัติเหตุและการกำจัดตัวบรรจุภัณฑ์ของสารนี้
สอดคล้องกับ ข้อมูลของบริษัทที่ให้บริการรมยาสินค้าเกษตร ที่ระบุถึง เมทิลโบรไมด์เป็นก๊าซมีพิษ มี Ceiling Concentration 5 ppm หากเราหายใจเอาก๊าซนี้เข้าไปเกินกว่า 5 ppm ทุกๆ วัน วันละ 7-8 ชั่วโมง เป็นเวลา 5 วัน ใน 1 สัปดาห์แล้วจะมีอันตราย ถ้ามีความเข้มข้นสูงอันตรายก็จะยิ่งมาก
ขณะที่การใช้เมทิลโบร์ไมด์ ควรหลีกเลี่ยงผลผลิตที่เคยรมด้วยเมทิลโบร์ไมด์มาแล้วมากกว่าหนึ่งครั้ง ไม่ควรรมอยู่ใกล้บริเวณที่ทำงานหรือที่อยู่อาศัย