ชาวบ้านสันติพัฒนาฟ้องศาลปกครองเพิกถอนเอกสารสิทธิ์ที่ดินมิชอบ
ชาวบ้านชุมชนสันติพัฒนา สุราษฎร์ฯ ฟ้องศาลปกครองเพิกถอนเอกสารสิทธิ์ที่ดินมิชอบบริษัทปาล์มยักษ์ใหญ่ทับเขตป่าสงวน หวังนำมาจัดสรรแก่คนจนไร้ที่ทำกิน
วันที่ 19 มิ.ย. 56 นายสรไกร ศรศรี ในฐานะทนายความผู้รับมอบอำนาจจากชาวบ้านชุมชนสันติพัฒนา ต.บางสวรรค์ อ.พระแสง จ.สุราษฎร์ธานี จำนวน 20 คน ได้ยื่นฟ้องกรมที่ดิน อธิบดีกรมที่ดิน คณะกรรมการสอบสวนตามความม.6 แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน และกรมป่าไม้ (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1-4 ตามลำดับ) ต่อศาลปกครองกลาง ในคดีหมายเลขดำ 1373/2556 โดยขอให้ศาลพิพากษาหรือมีคำสั่งเพิกถอนคำสั่งของอธิบดีกรมที่ดินและคณะกรรมการสอบสวนฯ ที่มีคำสั่งไม่เพิกถอนหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 710, 715, 724, 725, 728, 731, 732, 733, 734 และ 735 จำนวน 10 แปลง
และโฉนดที่ดินเลขที่ 8237, 8238, 8239, 8240, 8241, 8242, 8243, 8244, 8347,8250, 8281,8282 และ 8283 จำนวน 13 ฉบับ ตามม. 61 แห่งประมวลกฎหมายที่ดินออกให้บริษัท สหอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์ม จำกัด (มหาชน) ในพื้นที่ป่าไม้ถาวรหมายเลข 92 แปลงที่ 29 และป่าสงวนแห่งชาติป่าย่านยาว ป่าเขาวง และป่ากระซุม อีกทั้งขอให้ศาลมีคำพิพากษาบังคับให้กรมป่าไม้ปฏิบัติการและใช้อำนาจหน้าที่ตามกฎหมายกำหนด เพื่อดำเนินการให้บริษัทคู่กรณีดังกล่าวออกจากเขตป่าไม้ถาวรและป่าสงวนแห่งชาติด้วย
นายสรไกร กล่าวว่า คณะทำงานได้ตรวจสอบพบ บริษัท สหอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์ม จำกัด (มหาชน) ครอบครองที่ดินเพื่อทำประโยชน์ 3,392 ไร่ อยู่ในเขตป่าไม้ถาวร เขตปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) และเขตออกเอกสารสิทธิ์กรมที่ดิน โดยเมื่อผู้ตรวจการแผ่นดิน คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ และกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ได้ลงพื้นที่สำรวจข้อเท็จจริงมีความเห็นร่วมกันว่า เอกสารสิทธิถือครองที่ดินดังกล่าวได้มาโดยมิชอบด้วยกฎหมาย
อย่างไรก็ตาม การพิพากษาคดีที่ผ่านมา ศาลแพ่งและอาญาระบุว่าตราบใดที่เอกสารสิทธิถือครองที่ดินยังมิได้ถูกเพิกถอน สิทธิการเข้าทำประโยชน์ย่อมตกอยู่กับบริษัทฯ ดังนั้น ชาวบ้านจึงจำเป็นต้องร้องต่อศาลปกครองเพื่อมีคำสั่งเพิกถอนเอกสารสิทธิฯ เสียก่อน และเมื่อมีคำสั่งให้ที่ดินตกเป็นของรัฐ กรมป่าไม้ควรวิเคราะห์ว่ามีความเสื่อมโทรมหรือไม่ เพื่อหามาตรการจัดสรรแก่ชาวบ้านที่ไร้ที่ดินทำกินต่อไป
ด้านนายบุญฤทธิ์ ภิรมย์ ชาวบ้านชุมชนสันติพัฒนา หนึ่งในผู้ฟ้องคดี กล่าวว่าที่ดินต้องไม่ใช่ทรัพย์สินเชิงพาณิชย์ แต่ควรเป็นปัจจัยการผลิตเท่านั้น เพื่อป้องกันการได้เปรียบเสียเปรียบระหว่างชนชั้น รวมถึงสร้างความมั่นคงให้ลูกหลานในอนาคตหากนำที่ดินจากการครอบครองของนายทุนโดยมิชอบมาจัดสรรให้คนยากจน
"บริษัทหนึ่งครอบครองที่ดินกว่า 4 หมื่นไร่ ขณะที่ชาวบ้านชุมชนสันติพัฒนามีเจตนาให้รัฐจัดสรรครอบครัวละ 11 ไร่เท่านั้น โดยแบ่งเป็นเพื่อที่อยู่อาศัย 1 ไร่ และการเกษตรกรรม 10 ไร่ แต่ยังไม่ได้"
ขณะที่กระบวนการยุติธรรม มองว่า การตรวจสอบข้อเท็จจริงมักดูจากเอกสารเป็นหลัก แต่ยังขาดการตรวจสอบข้อเท็จจริงในพื้นที่ และหากจะหวังให้อธิบดีกรมที่ดินสั่งเพิกถอนเองนั้นค่อนข้างยาก เนื่องจากติดกลไกของรัฐ ดังนั้นจึงเสนอให้อนาคตควรมีองค์กรอิสระที่ไม่มีส่วนได้ส่วนเสียกับคดีเข้ามาแก้ปัญหา เพื่อสร้างความเป็นธรรมต่อไป