เยือนมัสยิดในอเมริกา...กับความแปลกแยกทางศาสนา ณ แดนศิวิไลซ์
หลายคนในประเทศไทยคงได้ติดตามข่าวคราวการเผาคัมภีร์อัลกุรอานของบาทหลวงเทอร์รี โจนส์ ที่โบสถ์เล็กๆ แห่งหนึ่งในรัฐฟลอริดา สหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 20 มี.ค.ที่ผ่านมา จนเกิดการประท้วงตอบโต้อย่างกว้างขวางในอัฟกานิสถาน กระทั่งบานปลายกลายเป็นจลาจลและโศกนาฏกรรม เมื่อมีคนบุกโจมตีสำนักงานขององค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ในเมืองทางตอนเหนือของอัฟกานิสถาน และสังหารเจ้าหน้าที่รวมทั้งประชาชนถึง 22 ราย
แม้ล่าสุด นายบารัค โอบามา ประธานาธิบดีสหรัฐ และโฆษกทำเนียบขาวจะพร้อมใจกันออกมาประณามการกระทำของบาทหลวงรายนี้ พร้อมๆ กับประณามการบุกโจมตีสำนักงานของยูเอ็น แต่ก็ไม่ได้ช่วยให้สถานการณ์ดีขึ้นแม้แต่น้อย
นับเป็นอีกหนึ่งการกระทำที่สร้างความเสียหายอย่างใหญ่หลวง และสะท้อนให้เห็นว่าคนอเมริกันหรือชาติตะวันตกจำนวนไม่น้อยยังคงปักใจในมิติทางศาสนา และมอง "มุสลิม" อย่างเหมารวมว่าเป็น "ผู้ก่อการร้าย" ภายหลังเกิดเหตุการณ์ 9/11 หรือการก่อวินาศกรรมครั้งมโหฬารที่สหรัฐตกเป็นเป้าหมาย ทั้งอาคารเวิลด์เทรด เซ็นเตอร์ และเพนตากอน เมื่อวันที่ 11 เดือนกันยายน ค.ศ.2001 (พ.ศ.2544) หรือเมื่อเกือบ 10 ปีที่แล้ว
ความรู้สึกนี้ถูกเร่งปฏิกิริยาให้รุนแรงขึ้นเมื่อ นายจอร์จ ดับเบิลยู บุช ประธานาธิบดีสหรัฐในขณะนั้น ประกาศเดินหน้าทำสงครามต่อต้านการก่อการร้าย โดยเฉพาะกับกลุ่ม "อัลกออิดะห์" หรือ "อัล ไกดา" ซึ่งสหรัฐเชื่อว่าอยู่เบื้องหลังเหตุการณ์ 9/11 โดยสงครามถูกจุดขึ้นในดินแดนของพี่น้องมุสลิมหลายต่อหลายแห่งทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งอัฟกานิสถานและตะวันออกกลาง
หลายคนบอกว่าเหตุการณ์ 9/11 คือต้นเหตุของปัญหา แต่อีกหลายคนก็แย้งว่าบทบาทของสหรัฐที่ต้องการสร้างดุลอำนาจและตักตวงผลประโยชน์จากน้ำมันในโลกอาหรับตลอดหลายสิบปีมานี้ต่างหากคือต้นเหตุของต้นเหตุอีกที
ไม่ว่าความจริงจะเป็นเช่นไร แต่สิ่งหนึ่งที่มิอาจปฏิเสธได้ก็คือความรู้สึกของคนอเมริกันที่มองพี่น้องมุสลิมร่วมโลกอย่าง "แปลกแยก" และ "ไม่ไว้วางใจ" จนกลายเป็นปัญหาใหญ่ที่ฝังรากลึกในสังคมอเมริกัน
ช่วง 1-2 เดือนมานี้ผมมีโอกาสได้เดินทางมาพำนักอยู่ที่อเมริกาเพื่อศึกษาและดูงานด้านสื่อสารมวลชนโดยได้รับทุนสนับสนุนจากมูลนิธิอิศรา อมันตกุล (โดยความร่วมมือของสมาคมนักเรียนเก่าวิสคอนซิน โครงการ API และ Life Sciences Communication มหาวิทยาลัยวิสคอนซิน-แมดิสัน) แม้จะใช้เวลาไม่มากนัก แต่ก็สัมผัสได้กับความรู้สึก "แปลกแยก" และ "หวาดระแวง" ดังว่า
อเมริกาเป็นประเทศใหญ่ ประกอบด้วยมลรัฐมากมายถึง 50 รัฐ บางรัฐมีขนาดพื้นที่ใหญ่กว่าประเทศไทย ฉะนั้นหากได้เยี่ยมเยือนแบบลึกซึ้งถึงข้างใน ก็จะได้พบเรื่องราว "แปลกๆ" แตกต่างไปจากภาพทั่วไปที่ชาวโลกเคยเห็นและคุ้นชิน หากจะบอกว่าเรารับรู้อเมริกาผ่านทางภาพยนตร์ฮอลลีวูดมากเกินไปก็คงไม่ผิดนัก เพราะนั่นไม่ใช่ทั้งหมดของประเทศนี้!
เมืองเล็กๆ หลายเมืองที่ค่อนข้างเป็น "เมืองปิด" ผู้คนในเมืองเหล่านั้นยังมีแนวคิดอนุรักษ์นิยมแบบสุดขั้ว ถึงขนาดยอมรับไม่ได้เลยกับพวก "เพศที่สาม" หรือตุ๊ด เกย์ แต๋ว อะไรเทือกนั้น ถ้าลูกหลานบ้านไหนมีพฤติกรรมในแบบไม่พึงปรารถนา ก็จะถูกต่อต้าน ประณามหยามเหยียด ทั้งๆ ที่ในเมืองไทยรับเรื่องแบบนี้ได้ในวงกว้างมาพักใหญ่แล้ว
โชคยังดี...เมืองที่ผมมาอยู่คือเมืองแมดิสัน เมืองหลวงของรัฐวิสคอนซิน ในเขตมิดเวสต์ทางตอนกลางค่อนไปทางเหนือของอเมริกา เมืองนี้ไม่ค่อยมีปัญหาเรื่องความแปลกแยกแตกต่างทางวัฒนธรรม ความเชื่อ และศาสนา เพราะแมดิสันเป็นเมืองมหาวิทยาลัย เป็นที่ตั้งของมหาวิทยาลัยวิสคอนซิน-แมดิสันซึ่งมีขนาดใหญ่และมีชื่อเสียงติดอันดับท็อป 20 ของสหรัฐ
มหาวิทยาลัยวิสคอนซินเป็นดั่งศูนย์กลางของนักเรียนต่างชาติจากนานาประเทศ หลากทวีป และหลายศาสนา เปรียบให้เห็นภาพง่ายๆ ว่าถ้ามีนักศึกษาเดินสวนมาสิบคน จะต้องมีนักเรียนต่างชาติปะปนมาด้วยอย่างน้อย 2-3 คนแน่นอน
ผมได้คุยกับคนอเมริกันที่นับถือศาสนาอิสลามหลายคน พบว่าเขาอพยพมาจากเมืองอื่น รัฐอื่น แล้วมาตั้งรกรากที่แมดิสัน เหตุผลเดียวก็คือที่นี่ยอมรับความแตกต่างหลากหลายทางศาสนา ภาษา และวัฒนธรรม
หนุ่มมุสลิมวัย 29 คนหนึ่ง แม้ไม่ได้เคร่งศาสนามากมาย แต่เขาก็เปิดใจให้ฟังว่า ตั้งแต่หลังเหตุการณ์ 9/11 เป็นต้นมา เขาไม่เคยกล้าบอกใครเลยว่านับถือศาสนาอิสลาม...
"เดิมผมอยู่อีกรัฐหนึ่งใกล้ๆ นี้ คนที่นั่นไม่รับเลยกับมุสลิม เวลาจะเดินทางไปไหนทีก็ลำบาก ถูกตรวจโน่นเช็คนี่วุ่นวายไปหมด สุดท้ายก็เลยตัดสินใจย้ายมาอยู่ที่แมดิสัน ที่นี่เป็นเมืองมหาวิทยาลัย มีนักศึกษาต่างชาติเยอะ ผู้คนก็เลยเปิดกว้าง ยอมรับได้กับความแตกต่าง ช่วยให้ผมใช้ชีวิตสบายขึ้น"
หนุ่มมุสลิมรายนี้ยังเล่าว่า คนจำนวนไม่น้อยในอเมริกายังมีแนวคิดเหยียดสีผิวและกีดกันทางศาสนา โดยเฉพาะอิสลาม ซึ่งเขาเองก็เคยโดนมาบ้างเหมือนกัน แม้จะเป็นทัศนคติส่วนบุคคลก็ตาม
ในแมดิสัน...เท่าที่ผมทราบมีมัสยิดขนาดใหญ่ที่เป็นศูนย์รวมของพี่น้องมุสลิมอยู่ 2-3 แห่ง หนึ่งในจำนวนนั้นคือ Islamic Center of Madison ตั้งอยู่ใกล้ๆ กับมหาวิทยาลัย และเป็นมัสยิดที่ผมเคยติดตามเพื่อนๆ นักศึกษาชาวซาอุดิอาระเบียไปละหมาดใหญ่วันศุกร์
ผมในฐานะที่เป็นชาวพุทธ และเคยทำข่าวอยู่ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้มาบ้าง จึงรู้สึกเกร็งๆ อยู่เหมือนกันตอนที่ตามเพื่อนๆ ชาวซาอุฯไป เพราะมัสยิดที่ชายแดนใต้ไม่อนุญาตให้คนต่างศาสนาเข้าไป ยกเว้นได้รับอนุญาตจากโต๊ะอิหม่ามเท่านั้น
แต่มัสยิดที่แมดิสัน ผมได้พบกับบรรยากาศที่แตกต่างออกไป เพราะเพื่อนมุสลิมของผมแทบจะจูงมือเข้าไปด้วยซ้ำ แถมเมื่อเข้าไปภายในแล้วยังได้เห็นป้ายขนาดใหญ่ติดไว้เหนือประตูเขียนข้อความเป็นภาษาอังกฤษว่า "ต้อนรับคนทุกศาสนิก" อีกด้วย
วันที่ผมไปเป็นช่วงใกล้เวลาละหมาดพอดี โต๊ะอิหม่ามกำลังอ่านคุตบะฮ์ (เทศนา) หลังจากนั้นพักหนึ่งก็นำละหมาด นับเป็นครั้งแรกที่ผมได้อยู่ร่วมในบรรยากาศอันศักดิ์สิทธิ์เช่นนี้...
พี่น้องมุสลิมที่ไปร่วมละหมาดวันศุกร์มีทั้งชาวเมืองและนักศึกษา ดูเผินๆ จากหน้าตาน่าจะมีทั้งชาวอาหรับ ชาวจีน เกาหลี และฝรั่งที่นับถือศาสนาอิสลาม จำนวนคนที่ไปละหมาดต้องบอกว่าแน่นมัสยิด ล้นออกไปถึงห้องหนังสือข้างๆ และอีกห้องหนึ่งบนชั้นลอย
มัสยิดแห่งนี้เป็นอาคารเตี้ยๆ ขนาดชั้นครึ่ง ไม่มี "โดม" อันเป็นสถาปัตยกรรมแบบอาหรับ แต่นั่นคงไม่สำคัญเท่าพลังศรัทธาในจิตใจ เสียงอิหม่ามเน้นย้ำให้ทุกคนทำความดี ก่อนที่พิธีอันสำคัญทุกๆ วันศุกร์จะสิ้นสุดลง
พี่น้องมุสลิมจากหลายเชื้อชาติ หลากที่มา ทุกคนเชื่อมร้อยสัมพันธ์กันด้วยความเชื่อทางศาสนา พวกเขาสลามให้กัน ยิ้มแย้มให้กันด้วยมิตรภาพ และยังเผื่อแผ่รอยยิ้มมายังคนต่างศาสนาอย่างผมด้วย
การยอมรับความแตกต่างหลากหลายคือความงดงาม และเป็นหนทางเดียวที่จะนำมาซึ่งสันติภาพและสันติสุขบนโลกใบนี้...
---------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ :
1 มุสลิมชาย-หญิงบนถนนในเมืองแมดิสัน ไม่ได้เป็นภาพที่แปลกตามากนักสำหรับเมืองเล็กๆ ที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรม
2 มุสลิมพร้อมใจกันละหมาดท่ามกลางบรรยากาศอันสงบและศักดิ์สิทธิ์
3 Islamic Center of Madison ศูนย์กลางของพี่น้องมุสลิมในเมืองหลวงของรัฐวิสคอนซิน (โปรดสังเกตหน้าตาแต่ละคน มาจากหลายเชื้อชาติมาก)
4 หนูน้อยตามพ่อมาละหมาด (ภาพโดย ปกรณ์ พึ่งเนตร)