ก.พาณิชย์ สรุปบทเรียนปิดบัญชีโครงการรับจำนำข้าว
บทเรียนการปิดบัญชีโครงการรับจำนำข้าว
ท่ามกลางกระแสข่าวการวิพากษ์วิจารณ์ตัวเลขผลการขาดทุนจากการปิดบัญชีของคณะอนุกรรมการปิดบัญชีโครงการรับจำนำข้าวเปลือก ล่าสุด เมื่อวันที่ ๑๓ มิถุนายน ๒๕๕๖ ได้มีการจัดประชุมคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.) โดยได้นำเสนอผลการปิดบัญชีดังกล่าวต่อ กขช. ซึ่งที่ประชุมมีมติให้นำมาพิจารณาอีกครั้งในวันที่ ๑๗ มิถุนายน ๒๕๕๖ เนื่องจากตัวเลขผลขาดทุนที่นำเสนอมีความคลาดเคลื่อนที่เป็นสาระสำคัญ สรุปได้ดังนี้
ประเด็นที่หนึ่ง รายงานการปิดบัญชีครอบคลุมทั้งสิ้น ๑๗ โครงการ ตั้งแต่ปี ๒๕๔๗ ถึงปัจจุบัน ๒๕๕๖ นอกจากสินค้าข้าวแล้วยังมีสินค้ามันสำปะหลัง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ กุ้งขาวแวนาไม ซึ่งการปิดบัญชีโดยภาพรวมเช่นนี้ คณะอนุกรรมการปิดบัญชีฯมีเป้าหมายเพื่อต้องการทราบสถานะภาระหนี้ที่รัฐบาลต้องบริหารจัดการในภาพรวมเป็นหลัก ซึ่งอยู่นอกเหนือความรับผิดชอบในการพิจารณาของ กขช. แต่เนื่องจากโครงการรับจำนำข้าวเปลือกเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์และเป็นที่สนใจของสังคมและการเมืองมาอย่างต่อเนื่อง จึงทำให้มีการอ้างอิงผลขาดทุนที่นำเสนอของคณะอนุกรรมการปิดบัญชีฯ ผิดพลาดซึ่งมีผลกระทบต่อความเข้าใจของสังคมที่คลาดเคลื่อน
ประเด็นที่สอง โครงการรับจำนำข้าวเปลือกที่เกี่ยวข้องกับรัฐบาลปัจจุบันมี ๓ โครงการเท่านั้น และอยู่ในหน้าที่ที่ กขช.ต้องพิจารณาและบริหารจัดการ คือ โครงการข้าวเปลือกนาปี ๒๕๕๔/๒๕๕๕ โครงการข้าวเปลือกนาปรังปี ๒๕๕๕ และโครงการข้าวเปลือกนาปี ๒๕๕๕/๒๕๕๖
ประเด็นที่สาม ตัวเลขผลขาดทุนที่นำเสนอของคณะอนุกรรมการปิดบัญชีฯสำหรับโครงการข้าวเปลือก ๓ โครงการตามนโยบายของรัฐบาลดังกล่าวยังมีความคลาดเคลื่อนที่เป็นสาระสำคัญเพราะ
1. ไม่ได้นำสต็อกข้าวที่อยู่ระหว่างการสีแปรสภาพและอยู่ระหว่างการส่งมอบมารวมคำนวณเป็นสินค้าคงเหลือ จึงมีผลกระทบต่อการคำนวณต้นทุนขายที่สูง
2. ต้องมีการปรับปรุงหรือคำนวณเพื่อรับรู้ตัวเลขใหม่ของข้าวที่ใช้สนับสนุนนโยบายรัฐบาล อาทิ ข้าวเพื่อลดค่าครองชีพของประชาชนในโครงการธงฟ้า ข้าวที่จำหน่ายให้กับกรมราชทัณฑ์ ข้าวบริจาคช่วยเหลือผู้ประสบภัย ข้าวสำรองเพื่อความมั่นคงด้านอาหาร (ถ้ามี) เพราะหากคิดมูลค่าและรับรู้ตามราคาข้าวที่ขายไปจะขาดทุนสูงมาก เนื่องจากเป็นการสนองต่อนโยบายของรัฐบาลที่จะขายในราคาต่ำกว่าปกติตามนโยบายลดค่าครองชีพของรัฐบาล
การจัดทำงบการเงินเพื่อปิดบัญชีตามที่รัฐบาลกำหนดนั้น มีเป้าหมายเพื่อต้องการสร้างความโปร่งใส และใช้เป็นตัวเลขเบื้องต้นในการประเมินผลการดำเนินงาน เพื่อพิจารณาตัดสินใจในการบริหารจัดการโครงการรับจำนำข้าวให้มีประสิทธิภาพสูงสุด เพราะที่ผ่านมาจะเห็นว่าไม่เคยมีการดำเนินการปิดบัญชีโครงการต่างๆเลยตั้งแต่ปี ๒๕๔๗ อย่างไรก็ดี ข้อผิดพลาดหรือจุดอ่อนในการนำเสนอข้อมูลการปิดบัญชีเป็นบทเรียนที่ต้องนำมาพิจารณาในการนำเสนอครั้งต่อไป ดังนี้
ข้อที่ ๑ การจัดทำงบการเงิน มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้ใช้งบการเงินนำไปใช้ในการตัดสินใจเชิงเศรษฐกิจและการบริหารงานให้เกิดประสิทธิภาพ แต่ก่อนที่ตัวเลขในงบการเงินจะนำไปใช้เผยแพร่จะต้องผ่านการอนุมัติหรือเห็นชอบโดยคณะกรรมการบริหารหรือ กขช.ก่อน เนื่องจาก กขช. เป็นฝ่ายบริหารและมีความรับผิดชอบต่อความถูกต้องและครบถ้วนต่อการนำเสนอตัวเลขการปิดบัญชีของโครงการรับจำนำข้าว
อย่างไรก็ตาม ข้อมูลดังกล่าวถูกนำไปเปิดเผยต่อสาธารณชนโดยไม่ทราบสาเหตุก่อนการพิจารณาของ กขช. แต่เมื่อนำข้อมูลเสนอ กขช.ในภายหลังก็มีข้อทักท้วง ๓ ประเด็นที่เป็นสาระสำคัญดังกล่าว ซึ่งคณะอนุกรรมการปิดบัญชีฯจะต้องแก้ไขและทบทวนตัวเลขก่อนการนำไปเผยแพร่ต่อไป ดังนั้นในการปฏิบัติงานจะต้องคำนึงถึงจริยธรรมในเรื่องนี้ด้วย เพราะเป็นการนำข้อมูลที่เป็นความลับขององค์กรไปเปิดเผยโดยไม่ได้รับอนุญาตจากองค์กร อีกทั้งยังเป็นข้อมูลเบื้องต้นที่ต้องมีการกลั่นกรองก่อน ประกอบกับยังมีข้อมูลที่ไม่ถูกต้องและครบถ้วนซึ่งสร้างความเสียหายและสับสนต่อองค์กรและสังคมอย่างร้ายแรง
ข้อ ๒ ส่วนสำคัญที่จะทำให้งบการเงิน หรือรายงานการบัญชีมีคุณภาพ คือ ความเชื่อถือได้ของข้อมูล ข้อมูลที่จะมีคุณสมบัติของความเชื่อถือได้จะต้องครบถ้วนและปราศจากข้อผิดพลาดที่มีสาระสำคัญ ดังนั้นรายงานการปิดบัญชีเบื้องต้นที่นำเสนอนั้นยังขาดคุณภาพ เพราะมีข้อบกพร่องที่มีสาระสำคัญอยู่มาก ทำให้ผู้ใช้งบการเงินเข้าใจผิดและเป็นข้อมูลที่ขาดความน่าเชื่อถือตามหลักการบัญชี
ข้อ ๓ รายงานการปิดบัญชีหรืองบการเงินตามโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาลมีวัตถุประสงค์เฉพาะ เพราะเป็นองค์กรที่ไม่แสวงหากำไร ซึ่งต่างจากงบการเงินของธุรกิจที่แสวงหากำไรทั่วไป การรวบรวมข้อมูลจากหน่วยงานต่างๆ เช่น กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ องค์การคลังสินค้า ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร จะต้องมีความเข้าใจและรอบรู้ในลักษณะธุรกิจและการดำเนินการของสินค้าข้าวเป็นอย่างดี จึงจะจัดทำงบการเงินและรับรู้รายการที่ถูกต้องและครบถ้วนตามวัตถุประสงค์ได้ เช่น ขบวนการสีแปร ขบวนการส่งมอบ ลักษณะสินค้าคงเหลือ ขบวนการจำหน่าย รายจ่ายที่เกี่ยวข้อง การดำเนินการตามนโยบายจำหน่ายข้าวราคาถูกหรือการบริจาค มิฉะนั้นจะทำให้รายงานทางการเงินคลาดเคลื่อนและเกิดความเสียหายในสาระสำคัญอย่างที่เป็นอยู่
ข้อ ๔ นอกจากนี้ต้องตระหนักว่างบการเงินไม่ได้ให้ข้อมูลทุกประเภทที่ผู้ใช้งบการเงินต้องการในการตัดสินใจเชิงเศรษฐกิจ เนื่องจากอาจไม่แสดงข้อมูลที่มิใช่ข้อมูลทางการเงิน ดังนั้นในทางปฏิบัติกิจการหลายแห่งยังนำเสนอรายงานเพิ่มเติม ซึ่งอยู่นอกเหนือขอบเขตของมาตรฐานรายงานทางการเงิน เช่น รายงานเกี่ยวกับผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม งบมูลค่าเพิ่ม ซึ่งจะต้องพิจารณาจากกลุ่มผู้ใช้งบการเงินเป็นสำคัญ ดังนั้นจึงมีภาพสะท้อนว่าโครงการรับจำนำข้าวไม่ใช่พิจารณามุมมองในแง่กำไร/ขาดทุนเชิงธุรกิจเท่านั้น เพราะเป็นโครงการที่รัฐบาลอุดหนุนจะต้องขาดทุนอยู่แล้ว
อย่างไรก็ดี การอุดหนุนสินค้าเกษตรก็เป็นที่ยอมรับภายใต้กฎเกณฑ์และกติกาสากลของโลกโดยองค์การการค้าโลก (WTO) ได้กำหนดกติกาการอุดหนุนที่อนุญาตให้มีได้ภายใต้เพดานระดับหนึ่ง ซึ่งมีการปฏิบัติกันทั่วโลก ทั้งสหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป และญี่ปุ่น
เนื่องจากภาคการเกษตรกรรมเป็นภาคการผลิตที่อ่อนไหวในทุกประเทศ จึงต้องการความช่วยเหลือจากภาครัฐ การใช้วิธีการอุดหนุนจึงเป็นเครื่องมือที่ใช้ในการช่วยเหลือเกษตรกรให้มีรายได้ที่พอเพียง มีมาตรฐานการดำรงชีวิตที่ดีขึ้น รวมทั้ง WTO ต้องการให้การค้าสินค้าเกษตรของโลกมีความยุติธรรมทั้งประเทศที่เป็นผู้ผลิต ผู้ซื้อ ผู้ส่งออก ตลอดจนสร้างความมั่นคงทางด้านอาหาร
ดังนั้นการเสนอตัวเลขทางการเงินของการปิดบัญชีในการรับจำนำข้าวของรัฐบาล จึงควรพิจารณานำเสนอโดยเปรียบเทียบกับผลประโยชน์มูลค่าเพิ่มเชิงสังคมและเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศด้วย เช่น ยกระดับและกระจายรายได้ให้กับเกษตรกรชาวนา การจ้างงาน การเพิ่มผลผลิตมวลรวม การกระตุ้นค่าใช้จ่ายภาคครัวเรือน และการสร้างความแข็งแรงแก่ระบบเศรษฐกิจของประเทศจากเศรษฐกิจภายในตามนโยบายของรัฐบาล
--------------------------------
กระทรวงพาณิชย์
17 มิถุนายน 2556