เมื่อปืนพญาตานีจำลองต้องจากลา กับปมประวัติศาสตร์ที่ยังค้างคาในหัวใจ
ภายหลังปืนพญาตานีจำลองถูกมือมืดลอบวางระเบิดจนลำกล้องหักกลางเมื่อค่ำวันที่ 11 มิ.ย.2556 ทั้งๆ ที่เพิ่งนำไปตั้งแสดงที่ลานวัฒนธรรมหน้ามัสยิดกรือเซะ อ.เมือง จ.ปัตตานี ได้เพียง 9 วัน ผู้เกี่ยวข้องก็ได้ขนย้ายปืนจำลองไปซ่อมที่สำนักช่างสิบหมู่ กรมศิลปากร จ.นครปฐม ส่วนจะนำกลับไปตั้งแสดงที่เดิมอีกหรือไม่ต้องรอการพิจารณาอีกครั้ง
จากการเข้าตรวจสอบความเสียหายของปืนพญาตานีจำลองก่อนเคลื่อนย้ายขึ้นรถบรรทุก 18 ล้อไปซ่อมแซม โดยมี นายเสรี ศรีหะไตร รองผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี นางศิรวี วาเล๊าะ ผู้อำนวยการสำนักงานท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดปัตตานี และ นายอภิรัฐ สะมาแอ นายอำเภอเมืองปัตตานี เข้าไปดูถึงจุดเกิดเหตุนั้น นายเสรี กล่าวว่า การจะนำปืนใหญ่จำลองกลับมาตั้งแสดงอีกครั้งหนึ่งหรือไม่ ทางจังหวัดมีแนวคิดให้ทำเวทีรับฟังความคิดเห็นของทุกฝ่าย ในลักษณะเวทีซูรอ ซึ่งเป็นการประชุมตามวิถีของมุสลิม ถ้าผลประชุมออกมาว่ายังต้องการให้นำปืนมาตั้งแสดง ก็จะนำกลับมา แต่คาดว่าต้องใช้เวลาในการซ่อมแซมราว 3 เดือน
"ที่มาของปืนใหญ่พญาตานีจำลองเป็นเพียงแค่สัญลักษณ์เพื่อการท่องเที่ยว เมื่อประชาชนในพื้นที่อยากได้ปืนมาวางหน้ามัสยิด ทางราชการก็ได้นำปืนจำลองที่เหมือนกับกระบอกจริงหน้ากระทรวงกลาโหม กรุงเทพฯ มาตั้งแสดง โดยใช้เวลาในการหล่อปืนจำลองนานเกือบ 1 ปี" รองผู้ว่าฯปัตตานี กล่าว
ชาวตันหยงลูโละอยากให้ปืนจำลองกลับมา
บริเวณจุดเกิดเหตุระเบิดและปืนจำลองที่หักพัง มีประชาชนจากทั่วสารทิศเดินทางไปดูความเสียหายอย่างหนาแน่น หลายคนแสดงความไม่พอใจที่ราชการนำแค่ปืนจำลองมอบให้คนปัตตานี แล้วบอกว่าเป็นปืนที่จำลองเหมือนจริง กระทั่งเกิดระเบิดขึ้น หนำซ้ำเมื่อได้เห็นส่วนประกอบของปืนที่แตกหัก พบว่าตัวปืนบางมาก ไม่เหมือนกับคำอธิบายในวันส่งมอบ
อย่างไรก็ดี ก็มีหลายเสียงอยากให้นำปืนจำลองกลับไปตั้งเหมือนเดิม เพราะมีคนไปชมกันมาก สร้างรายได้ให้กับชาวบ้านและร้านรวงรายรอบ
นายแวอูมาร์ ดอเลาะ กำนัน ต.ตันหยงลูโละ พื้นที่ตั้งของมัสยิดกรือเซะและปืนใหญ่พญาตานีจำลอง บอกว่า ปืนใหญ่จำลองเป็นประโยชน์ต่อชุมชน หลังจากที่ได้ไปตั้งหน้ามัสยิดกรือเซะ มีนักท่องเที่ยวแวะชม ทำให้เกิดความคึกคักในพื้นที่ สร้างรายได้ให้กับพี่น้องและชุมชนที่อยู่รอบๆ หลายคนเตรียมทำการค้าขายเพื่อหารายได้ ทั้งยังเป็นความภาคภูมิใจของบรรพบุรุษที่มีความสามารถในการหล่อปืนใหญ่ได้เอง
"9 วันที่ปืนใหญ่มาตั้งสร้างรายได้ให้กับพี่น้องในชุมชนมากทีเดียว ชาวบ้านดีใจที่ได้ขายของ พี่น้องที่อยู่ไกลๆ ก็มาเยี่ยมชมกัน ชาวบ้านและชุมชนต้องการให้ปืนกลับมาตั้งที่เดิม ความขัดแย้งในชุมชนเราไม่มี ตอนนี้มีการประชุมวางแผนเพื่อดูแลปืนกัน ปกติก็ได้จัดกำลังดูแลความสงบเรียบร้อยอยู่แล้ว โดยร่วมมือกันทั้งกำลังทหาร ชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน (ชรบ.) และอาสาสมัครพัฒนาหมู่บ้าน (อพม.) แต่วันเกิดเหตุเราประมาทไปหน่อย เพราะเป็นช่วงที่คนกำลังละหมาดและมีคนเยอะ เนื่องจากเป็นวันจัดตลาดนัด จึงเป็นช่องว่างให้คนเข้าไปวางระเบิดได้ ขอฝากถึงผู้ที่กระทำว่าเราไม่ทราบวัตถุประสงค์ที่แท้จริงว่าจะเกี่ยวข้องกับสถานการณ์หรือไม่ แต่ให้หยุดการกระทำ เพราะกระทบกับคนในพื้นที่และชุมชน"
นายมูฮำหมัดซอเร เด็ง ชาวบ้านกรือเซะซึ่งอยู่ตรงข้ามกับมัสยิดกรือเซะ ตั้งข้อสงสัยว่า ปกติจะมีเจ้าหน้าที่คอยดูแลอยู่ตลอด แต่วันเกิดเหตุไม่มีเจ้าหน้าที่เลย
"ปืนมาตั้งได้ไม่ถึง 2 อาทิตย์เลยก็เกิดเหตุเสียแล้ว บ่งบอกถึงนัยยะบางอย่างที่ผู้ก่อเหตุต้องการส่งสารให้ได้รู้ เขาอาจเห็นช่องว่างที่ไม่มีเจ้าหน้าที่ดูแล วันนั้นเสียงระเบิดดังมาก น่าจะวางไว้ข้างล้อหน้า เพราะตัวกระบอกปืนมันตัน ใส่ไม่ได้ พอหักกลางถึงได้เห็นว่าเหล็กที่ทำบางมากเหมือนขี้เหล็กที่ทำรางรถไฟ ทั้งที่ก่อนหน้านี้บอกว่าหนาถึง 1 นิ้ว หนัก 2 ตัน แล้วเป็นอย่างนี้จะเชื่อได้อย่างไรว่าหมดเงินหล่อปืนไปถึง 3 ล้านบาท"
ด้านความรู้สึกของเจ้าหน้าที่รัฐบางหน่วย มองว่า ไม่อยากให้เคลื่อนย้ายปืนพญาตานีจำลองไปซ่อม แต่อยากให้ตั้งไว้พังๆ แบบนี้ จะได้เป็นเครื่องเตือนใจว่าความรุนแรงไม่ได้แก้ปัญหา
เตือนรัฐอย่าละเลยศักดิ์ศรี-ประวัติศาสตร์ท้องถิ่น
นายอัฮหมัดสมบูรณ์ บัวหลวง อดีตกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ (กอส.) กล่าวถึงปมทางประวัติศาสตร์และกระแสต้านปืนใหญ่จำลองจนน่าจะนำมาสู่การลอบวางระเบิดว่า ปืนที่ว่าจำลองนี้ได้มีการจำลองปืนใหญ่พญาตานีให้เหมือนกระบอกจริง แล้วนำไปวางไว้หน้ามัสยิดกรือเซะ จึงเกิดเสียงวิจารณ์ที่ไม่ค่อยดีนัก หลายคำถามที่เกิดขึ้นมาจากประชาชน โดยเฉพาะการถามหาว่าของจริงอยู่ที่ไหน ทำไมไม่เอาของจริงไปวางไว้ที่เดิม เพราะปืนพญาตานีวางไว้ที่อื่นก็ไม่มีใครสนใจ แต่ถ้านำไปวางที่หน้ามัสยิดกรือเซะ พี่น้องประชาชนในแถบจังหวัดชายแดนภาคใต้และประเทศใกล้เคียงจะได้ไปดูว่านี่คือความยิ่งใหญ่ของแหลมมลายูที่เป็นส่วนหนึ่งของประเทศไทยในปัจจุบัน
อีกมุมมองหนึ่งก็เห็นว่า ดีแล้วที่นำของจำลองมา ชาวบ้านจะได้ถามถึงของจริง จะได้ตั้งคำถามว่าทำไมไม่นำของจริงกลับมา สร้างของจำลองทำไม หรือเป็นการหลอกหลวง ดูถูกเยียดหยาม เอาใจแต่ไม่ได้มีความจริงใจที่จะคืนความภูมิใจให้ท้องถิ่น
"ที่ผ่านมาไทยคิดแคบ ทรัพย์สินของคนอื่นกลับไม่ยอมคืน สมัยหนึ่งเราเป็นใหญ่ แต่มาถึงปัจจุบันเราก็เป็นประชาชนในประเทศไทย รัฐน่าจะบริหารจัดการให้เกิดความรู้สึกดีๆ เช่น เอาปืนพญาตานีกระบอกจริงคืนให้ปัตตานี เพราะปืนที่วางหน้ามัสยิดกรือเซะ ส่วนหนึ่งเป็นการแสดงความจริงใจ"
"ขณะเดียวกันรัฐต้องแสดงบทบาทในการสร้างความเข้าใจ โดยเฉพาะต้องบอกว่าปืนใหญ่จำลองชุดนี้ ของจริงอยู่ที่ไหน มีประวัติความเป็นมาอย่างไร กล้าบอกความจริงไหมว่าครั้งหนึ่งนครรัฐปัตตานีเป็นรัฐหนึ่งที่ยิ่งใหญ่ มีความรู้ความสามารถในการสร้างหล่อปืนใช้เอง ปืนใหญ่นี้ถูกโยกย้ายจากปัตตานีไปวางที่กรุงเทพฯ เพราะการแพ้สงครามเมื่อปี พ.ศ.2329 นี่คือข้อมูลทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญ ถ้าไม่อธิบาย ชาวบ้านอาจตีความเป็นอย่างอื่น อาจมีบางกลุ่มนำไปใช้ประโยชน์ ทำให้ความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างรัฐกับประชาชนที่มีน้อยอยู่แล้วลดต่ำลงไปอีก"
"ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นมีจริง ปืนใหญ่ก็มีจริง ผลิตจริง ใช้จริง แพ้สงครามจริงๆ ตอนนี้สามจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นสวนหนึ่งของไทย คงไม่คิดว่าถ้าได้ปืนใหญ่ก็จะเอาไปแบ่งแยกดินแดนหรอก แต่อยากบอกว่าศักดิ์ศรี ความเป็นท้องถิ่น เรื่องเหล่านี้รัฐบาลไทยทุกสมัยไม่เข้าใจถึงความสำคัญ"
อย่าเอานิทานมาปนประวัติศาสตร์
นายอัฮหมัดสมบูรณ์ กล่าวอีกว่า ปืนใหญ่พญาตานีนั้น "เชคอับดุลซอมัด" เป็นช่างหล่อขึ้น เพราะในหลักฐานมีการพูดถึงเมืองอัลรูม ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของประเทศอิหร่านในปัจจุบัน
"เชคอับดุลซอมัดมาจากอิหร่าน ผมจึงไม่เห็นด้วยที่นักประวัติศาสตร์บางคนพยายามลากโยงที่มาของปืนกับนิทาน เรื่องเหล่านี้ไม่ควรมาก้าวก่าย ตอกย้ำความรู้สึกกดดัน ทำให้ความรู้สึกภาคภูมิใจของท้องถิ่นหายไป ผมไม่อยากให้นิทานมาเกี่ยวข้องกับความจริง ไม่อยากให้ปืนใหญ่เป็นนิทาน แล้วทำให้เกิดประวัติศาสตร์ที่ไม่จริง"
"ผมยืนยันหลายครั้งว่าเราต้องค้นหาประวัติศาสตร์ดั้งเดิมที่ถูกต้อง เพราะที่ผ่านมามีการเล่าเรื่องลากโยงไปเกี่ยวข้องกับวงศ์ตระกูลหรือชนกลุ่มอื่นที่เป็นคนเข้ามาอาศัยภายหลัง 200-300 ปี ไม่ใช่คนดั้งเดิม ในประวัติศาสตร์ไม่เคยระบุว่ามีคนจีนมาสร้างปืน ถือเป็นการสร้างนิยาย"
นายอัฮหมัดสมบูรณ์ กล่าวด้วยว่า ที่ผ่านมาการพูดคุยประวัติศาสตร์เป็นเรื่องต้องห้ามในพื้นที่ แม้แต่ในปัจจุบัน ขณะที่ในอดีตก็เคยมีการสั่งห้ามไม่ให้เรียนรู้ประวัติศาสตร์ของตนเอง คนเราถ้าไม่มีประวัติศาสตร์ก็ไม่มีรากเหง้า ไม่รู้จักบรรพชนของตนเอง ซึ่งในทัศนะอิสลามเป็นเรื่องเลวร้ายที่สุด อย่าไปตีความว่าการเรียนประวัติศาสตร์แล้วจะเป็นเหมือนบางกลุ่มที่มักใช้ประวัติศาตร์ไปปลุกระดมเพื่อให้เกิดรัฐมลายู รัฐที่ต่อสู้เพื่อเอกราช เพราะนั่นเป็นส่วนหนึ่ง ทุกวันนี้คนเราฉลาด การพูดเรื่องปัตตานีไม่จำเป็นต้องลากไปเกี่ยวกับเรื่องขบวนการทั้งหมด
สิ่งเหล่านี้เป็นบทบาทของรัฐ บทบาทของกระทรวง ทบวง กรมที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นกระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงวัฒนธรรม ต้องคุยกันให้ชัดเรื่องประวัติศาสตร์ท้องถิ่น ไม่ใช่เฉพาะปัตตานี แต่รวมถึงล้านนา เชียงแสน หรืออีสาน เราต้องได้เรียนรู้ว่าการเกิดประเทศไทยมีพัฒนาการของมันอย่างไร มันมีที่มาเยอะแยะมากมาย อย่าไปควบหรือรวมความหมายประวัติศาสตร์ว่าเป็นของไทยอย่างเดียว มันตองมีการพัฒนาการว่ากว่าจะมาถึงจุดนี้ ใช้เวลาเป็นร้อยๆ ปี มีความเป็นมาอย่างไร ทุกพื้นที่ทุกอณูของพื้นที่คือองค์ประกอบของประเทศ จะไปแยกไม่ได้
------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ :
1-4 สภาพของปืนใหญ่พญาตานีจำลองหลังถูกระเบิดจนพังเสียหาย โดยมีประชาชนหลั่งไหลกันไปดูจุดเกิดเหตุอย่างเนืองแน่น ก่อนกรมศิลปากรเคลื่อนย้ายกลับไปซ่อมแซม (ภาพทั้งหมดโดย เลขา เกลี้ยงเกลา)
5 อัฮหมัดสมบูรณ์ บัวหลวง (ภาพโดย อับดุลเลาะ หวังหนิ)