ข่าวซุบซิบจากเหตุโจมตีฐานทหาร กับข้อมูลอีกด้านของ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า
ผ่านไปแล้ว 1 สัปดาห์กับเหตุการณ์คนร้ายบุกโจมตีฐานปฏิบัติการ ร้อย ร.15121 หน่วยเฉพาะกิจนราธิวาส 38 ที่ ต.มะรือโบตก อ.ระแงะ จ.นราธิวาส ซึ่งนับถึงวันนี้ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ในฐานะหน่วยงานผู้รับผิดชอบโดยตรง ดูจะยังไม่สามารถสร้างความกระจ่างกับสังคมได้ว่า เหตุร้ายแรงครั้งนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร และผลของมันสร้างความเสียหายมากมายขนาดไหนกันแน่
โดยเฉพาะเรื่องจำนวนอาวุธปืนที่ถูกปล้นไป ซึ่งโฆษก กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้าขอร้องให้สื่อมวลชนทุกแขนงยุติการใช้คำว่า "ปล้น" เพราะเห็นว่าน่าจะเป็นการ "หยิบฉวยไป" ในช่วงที่สถานการณ์กำลังสับสนอลหม่านมากกว่า
ในขณะที่ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า พยายามช่วงชิงพื้นที่สื่อกลับคืนมาจากฝ่ายผู้ก่อการ ด้วยการเปิดแถลงข่าวเป็นระยะตั้งแต่หลังเกิดเหตุ ทั้งยังมีการแถลงข่าวใหญ่ของ พล.ท.อุดมชัย ธรรมสาโรรัชต์ แม่ทัพภาคที่ 4 เมื่อวันอาทิตย์ที่ 23 ม.ค. แต่ "สาร" อย่างเป็นทางการที่ถูกส่งออกมายังไม่อาจกลบ "ข่าวสารที่ไม่เป็นทางการ" และ "ข้อกังขา" ที่ออกมาจากภาคส่วนต่างๆ ในสังคม รวมทั้งคนของฝ่ายรัฐเองได้เลย
ข่าวสารที่ว่านี้อาจจะเรียกว่า "ข่าวซุบซิบ" ก็ได้ ซึ่งผมขออนุญาตนำมาสรุปเอาไว้โดยเปรียบเทียบกับ "ข่าวทางการ" ของ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า เพื่อให้ได้วิเคราะห์วิจารณ์กันต่อไปว่าข่าวไหนมีน้ำหนักน่าเชื่อถือกว่ากัน
1.ตัวเลขอาวุธปืนที่หาย (ไม่ว่าจะถูกปล้นไป หยิบฉวยไป หรือถูกไฟไหม้ตามที่แม่ทัพภาคที่ 4 ชี้แจงเอาไว้ก็ตามที) ข้อมูลจากวงพูดคุยของทหารประจำการระดับสูงในส่วนกลางซึ่งมีลูกน้องเป็นทหารระดับปฏิบัติการอยู่ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ยืนยันว่ามีไม่ต่ำกว่า 50 กระบอก ในจำนวนนี้มีทั้งเอ็ม 16 ปืนกลเอ็ม 60 ปืนสั้น และปืน "มินิมิ" หรือปืนกลรุ่นใหม่ถอดด้ามที่เพิ่งสั่งเข้ามาประจำการ
มีข้อน่าสังเกตก็คือ เหตุการณ์ปล้นปืนจากกองพันพัฒนาที่ 4 ค่ายกรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ที่บ้านปิเหล็งใต้ ต.มะรือโบออก อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส หรือ "ค่ายปิเหล็ง" เมื่อวันที่ 4 ม.ค.2547 ฝ่ายทหารก็ไม่เคยแถลงอย่างเป็นทางการว่ามี "ปืนหาย" หรือ "ถูกปล้น" ไปจำนวนเท่าใดแน่ จากหลังเกิดเหตุที่บอกว่า 50-60 กระบอก เมื่อภาพเหตุการณ์ชัดเจนขึ้น ก็เพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อยๆ เป็นร้อยกว่ากระบอก และ 200 กว่ากระบอก
กระทั่งกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) รับคดีปล้นปืนเป็นคดีพิเศษ จึงมีการเปิดเผยตัวเลขอย่างเป็นทางการว่า ปืนจากค่ายปิเหล็ง "หาย" หรือ "ถูกปล้น" ไปทั้งสิ้น 413 กระบอก!
2.ประเด็นเรื่อง "หนอนบ่อนไส้" หรือ "ไส้ศึก" กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้ายืนยันว่าไม่มีหนอนบ่อนไส้ แต่เป็นความพยายามปล่อยข่าว (จากฝ่ายโจร) ให้กำลังทหารหวาดระแวงกันเอง เหมือนเมื่อครั้งเหตุการณ์ปล้นปืนจากค่ายปิเหล็ง เมื่อปี 2547
โฆษก กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ยืนยันหลายครั้งว่า ขณะที่คนร้ายบุกโจมตีฐานทหาร ไม่ได้มีการ "ตัดไฟ" ก่อนปฏิบัติการ แต่ที่แสงสว่างน้อยเพราะเป็นมาตรการ "พรางไฟ" ของหน่วยเอง เพื่อป้องกันไม่ให้คนภายนอกเห็นความเคลื่อนไหวภายในฐาน
จากจุดนี้เองที่ โฆษก กอ.รมน.ภาค 4 นำมาอธิบายว่า เมื่อไม่มีการตัดไฟ ก็ไม่น่าจะมี "หนอนบ่อนไส้" เช่นกัน
แต่จากปากคำของทหารที่รอดชีวิต 2 นาย เขาเล่านาทีชีวิตเอาไว้อย่างนี้ "แสงสว่างจากหลอดไฟฟ้ารอบฐานปฏิบัติการดับพรึ่บลง จากนั้นก็ได้ยินเสียงปืนที่คนร้ายยิงมาดังตูมๆ เพื่อกดดันไม่ให้ผมและเพื่อนทหารที่เข้าเวรอยู่ประมาณ 10 นายได้โงหัวขึ้นยิงตอบโต้..."
และ "ผมกำลังนั่งจัดเอกสารอยู่กับ ผบ.ร้อย ในอาคารน็อคดาวน์หลังหนึ่งที่ดัดแปลงเป็นห้องทำงาน จู่ๆ ไฟฟ้าจากหลอดนีออนในห้องก็ดับพรึ่บลง แล้วก็มีกระสุนปืนพุ่งเข้าใส่อาคารมาจากทุกทิศทางจนเป็นรูพรุนไปหมด"
ทหารทั้งในและนอกราชการที่ชาญสมรภูมิหลายนายบอกตรงกันว่า ถ้างานนี้ไม่มี "ไส้ศึก" ก็แสดงว่ากลุ่มโจรเก่งมาก เพราะดับไฟมืดหมดยังรู้ว่าทหารอยู่ตรงไหน ใครเป็นใคร อาวุธปืนเก็บอยู่ที่ไหน และฝ่ายโจรซึ่งบุกเข้ามาพร้อมกันหลายทิศทาง ก็ไม่ยิงถูกพวกเดียวกันเองเลย
3.กำลังพลที่อยู่ในฐานขณะถูกเข้าตีมีเท่าไหร่กันแน่ ข้อมูลจาก กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้าบอกว่าฐานปฏิบัติการ ร้อย ร.15121 มีทหารอยู่ 88 นาย วันเกิดเหตุมีทหารที่ลาพักจำนวนหนึ่ง แต่ไม่ได้บอกว่ากี่นาย
สาเหตุที่ประเด็นนี้กลายเป็นข้อสงสัย ก็เพราะหลายฝ่ายข้องใจว่าเหตุใดปฏิบัติการของคนร้ายจึงดูง่ายดาย เหมือนมีโจรมากกว่ากำลังทหาร
มีข้อมูลจากฝ่ายพนักงานสอบสวนว่า กำลังรอสอบปากคำทหารที่อยู่ในเหตุการณ์ 19 นายซึ่งอยู่ในระหว่าง "ฟื้นฟูสภาพจิตใจ" ภายใต้การควบคุมของนายทหารพระธรรมนูญ หากนี่คือจำนวนกำลังพลที่ยังเหลืออยู่ในฐาน นอกจากทหารที่ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตรวม 10 นาย ย่อมเท่ากับมีทหารอยู่ในฐานขณะเกิดเหตุราวๆ 29-30 นายใช่หรือไม่
ประเด็นนี้นับว่าสำคัญ เพราะมีข้อมูลจาก "บัตรสนเท่ห์" มากมายที่ส่งถึงฝ่ายจเรของกองทัพว่ามีบางหน่วย บางฐานปล่อยให้กำลังพลลาพักมากกว่าจำนวนสูงสุดที่กำหนดให้ลาได้คือ 25%
4.มีข้อมูลเกี่ยวกับที่ตั้งฐานพระองค์ดำ ซึ่งก็คือฐานปฏิบัติการร้อย ร.15121 ว่าเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญ ด้านหนึ่งเป็นเส้นทางที่ผ่านมาจาก อ.สุไหงโก-ลก แว้ง และสุคิริน จ.นราธิวาส ซึ่งรู้กันดีในพื้นที่ว่าเป็นเส้นทาง "ขนสินค้าหนีภาษี"
ขณะที่อีกด้านมีโครงข่ายถนนหนทางเชื่อมไปถึง อ.สายบุรี จ.ปัตตานี อ.บาเจาะ และ อ.ยี่งอ จ.นราธิวาส ซึ่งเป็นเส้นทาง "เคลื่อนย้ายวัตถุระเบิด" ที่สำคัญของฝ่ายก่อความไม่สงบ
จากการตรวจสอบย้อนหลังถึงการปฏิบัติหน้าที่ภายใต้การนำของ ร.อ.กฤช คัมภีรญาณ ผบ.ร้อย ร.15121 ซึ่งพลีชีพในเหตุการณ์ร้ายครั้งนี้ พบว่า "ผู้กองกฤช" ปฏิบัติภารกิจอย่างเข้มแข็ง ออกตั้งด่านและปิดล้อมตรวจค้นมากถึง 26 ครั้งในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา และสามารถจับกุมผู้ต้องสงสัยและผู้ต้องหาได้ทุกครั้ง
ข้อมูลนี้เมื่อนำมาพิจารณาเชื่อมโยงกับข้อสันนิษฐานของคนในรัฐบาล ฝ่ายตำรวจ และฝ่ายทหารเองที่ว่า กลุ่มคนร้ายที่ก่อการโจมตีฐานทหารครั้งนี้ เป็นการรวมตัวกันจากหลายๆ ท้องที่ในลักษณะ "รวมดารา" หรือ "รวมการเฉพาะกิจ" แล้ว พอจะสรุปได้หรือไม่ว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเชื่อมโยงกับขบวนการประกอบธุรกิจผิดกฎหมายในพื้นที่ด้วย ซึ่งกลุ่มขบวนการเหล่านี้ต้องการ "กำจัด" ผู้กองกฤชออกไปจากจุดยุทธศาสตร์นี้
แต่ที่น่าสังเกตก็คือทั้งรัฐบาลและหน่วยงานความมั่นคงในพื้นที่แทบไม่เคยมีมาตรการกวาดล้างจับกุมหรือปราบปรามขบวนการประกอบธุรกิจเถื่อนอย่างจริงจังเลย ซึ่งไม่แน่ใจว่ามีสาเหตุมาจากการให้น้ำหนักกับปัญหาแบ่งแยกดินแดนเป็นหลัก หรือว่า "ละเลย" กันแน่
5.การให้ข้อมูลต่อสาธารณะของ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ปฏิเสธไม่ได้ว่ามีความผิดพลาดเกิดขึ้นหลายครั้ง เช่น เหตุการณ์ระเบิดหน้ามัสยิดกลางจังหวัดยะลา เมื่อวันที่ 8 มิ.ย.2553 ซึ่งมีผู้ได้รับบาดเจ็บถึง 23 ราย มีคนเห็น "รถทหาร" แล่นผ่านช่วงเกิดระเบิด จนนำไปสู่กระแสวิจารณ์วิจารณ์กันสนั่น (ซึ่งไม่ได้หมายความว่าทหารเป็นคนปาระเบิด แต่มีข้อสงสัยว่าอาจทำระเบิดหล่น) ทว่า กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้ากลับออกมาชี้แจงย้ำหลายครั้งว่าไม่มีรถทหารแล่นผ่านบริเวณนั้นอย่างแน่นอน กระทั่งสุดท้ายมีภาพจาก "กล้องวงจรปิด" ยืนยันว่ามีรถทหารผ่านจริง จึงต้องให้ทหารที่ขับรถผ่านหน้ามัสยิดมาแถลงข่าวเปิดตัว และปฏิเสธความเกี่ยวข้องกับเหตุระเบิด
ก่อนหน้านั้น ยังมีการแถลงข่าวเกี่ยวกับการออกหมายจับ 4 ผู้ต้องหาในคดีใช้อาวุธสงครามกราดยิงมัสยิดไอร์ปาแย ต.จวบ อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส เมื่อวันที่ 8 มิ.ย.2552 จนมีพี่น้องมุสลิมเสียชีวิตไปถึง 10 ราย แต่เมื่อตรวจสอบไปตรวจสอบมากลับพบว่าเป็นหมายจับในคดีลอบวางระเบิดที่ อ.สุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส หาใช่เหตุการณ์กราดยิงมัสยิดไม่ การแถลงข่าวผิดในครั้งนั้นได้สร้างความสับสนวุ่นวาย และทำให้ฝ่ายเจ้าหน้าที่ "เสียรังวัด" ไปพอสมควร
ข้อมูล ข้อสังเกต ข้อสงสัย ตลอดจนข่าวไม่เป็นทางการที่ผมยกมาทั้งหมดนี้ล้วนมีแหล่งที่มา และเป็นประเด็นจากทุกวงสนทนาในสังคมที่สนใจปัญหาภาคใต้ ซึ่งไม่ได้มีเจตนาร้ายในลักษณะซ้ำเติมสถานการณ์ แต่ต้องการให้ตระหนักถึง "สภาพการณ์" ที่เปลี่ยนไปในโลกยุคข้อมูลข่าวสารซึ่งไม่มีใครหรือหน่วยงานใดสามารถปกปิดข้อมูลหรือทำเรื่องใหญ่ให้กลายเป็นเรื่องเล็กได้อีกต่อไป
เพราะ "ความจริง" เท่านั้นที่จะทำให้ทุกคน ทุกฝ่าย ได้ตระหนักถึงความผิดพลาด ได้ทบทวนช่องโหว่ช่องว่างจากการปฏิบัติที่ผ่านมา ไม่ประเมินสถานการณ์ต่ำกว่าความเป็นจริง และยังนำมาเป็น "บทเรียน" เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความผิดพลาดซ้ำอีกในอนาคตด้วย
นายอานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกรัฐมนตรี และอดีตประธานคณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ หรือ กอส. เคยกล่าวอมตะวาจรเอาไว้เมื่อครั้งลงพื้นที่เก็บข้อมูลศึกษาวิจัยเพื่อเสนอรายงานดับไฟใต้ให้กับรัฐบาลเมื่อปี 2548-2549 ว่า ความจริงเท่านั้นที่จะปลดปล่อยทุกสิ่ง...
เพราะการยอมรับความจริงคือจุดเริ่มต้นของการลดความขัดแย้งและสร้างสันติสุขอย่างยั่งยืน!
-------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : ภาพถ่ายด้านหน้าฐานปฏิบัติการ ร้อย ร.15121 (ภาพผ่านการตกแต่งโดยฝ่ายศิลป์ ทีมข่าวอิศรา)