งบน้ำ 3.5 แสนล้านบาท "ปัญหาของประเทศ ต้องให้ประชาชนร่วมคิด ร่วมตัดสินใจ"
งบน้ำ 3.5 แสนล้านบาท "ปัญหาของประเทศ ต้องให้ประชาชนร่วมคิด ร่วมตัดสินใจ"
ดร. มานะ นิมิตรมงคล
ผู้อำนวยการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย)
ถึงเวลานี้โครงการใช้งบเพื่อการบริหารจัดการน้ำที่ใช้งบประมาณมากถึง 3.5 แสนล้านบาท ไม่นับรวมโครงการก่อนหน้านี้ที่ใช้เงินไปแล้ว 1.2 แสนล้านบาท ยังมีคำถามของสังคม ที่ไม่ได้รับความสนใจจากนักการเมืองผู้มีอำนาจที่จะให้คำตอบหรือข้อมูลแต่อย่างใด ซึ่งที่ผ่านมาพฤติกรรมของนักการเมืองผู้บริหารโครงการที่พยายามปิดบังข้อมูลของโครงการไม่ให้สาธารณชนได้รับรู้ หลังจากได้รับการอนุมัติจากรัฐบาลหรือสภาฯแล้ว มักเป็นเพราะต้องการหลีกเลี่ยงการตรวจสอบที่จะเกิดขึ้น พฤติกรรมเช่นนี้จึงเสี่ยงที่จะเกิดการคอร์รัปชันเป็นอย่างยิ่ง
มีข้อคิดเห็น 4 ประเด็นที่ผู้เขียนอยากเห็นรัฐบาลชุดนี้ให้ความสำคัญ คือ
1. เปิดเผยข้อมูลเพื่อให้ประชาชนมีส่วนร่วมคิด ร่วมตัดสินใจ เนื่องจากขณะนี้รัฐบาลเปิดเผยข้อมูลโครงการออกมาน้อยมาก ส่งผลให้ประชาชนไม่สามารถเข้ามามีส่วนร่วมในโครงการนี้เลย ต้องไม่ลืมว่าจากประสบการณ์น้ำท่วมปี 2554 คนที่เสียหายและเดือดร้อนมากคือประชาชนและนักธุรกิจที่ถูกน้ำท่วม และเงินในโครงการก็เป็นภาษีของประชาชน เรามีบทเรียนจากการใช้เงิน 1.2 แสนล้านที่ผ่านมาของรัฐบาลว่ามีการคอร์รัปชันมากมาย บางโครงการก็ทำไม่ได้ตามแผนที่กำหนดไว้ เช่น การยกถนนและสร้างแผงเหล็กกันน้ำเป็นแนวยาวมาตั้งแต่อยุธยา หลายแห่งถนนสูงถึงหน้าต่างบ้านของประชาชน และหลายแห่งเช่น ย่านถนนรังสิต-นครนายก พบว่าการติดตั้งแผงเหล็กกันน้ำไม่สามารถสร้างให้ต่อเนื่องได้ มีการเว้นเป็นระยะ เหตุเพราะสร้างปัญหาเดือดร้อนจนชาวบ้านไม่ยินยอม ดังนั้นการดำเนินงานครั้งใหม่จึงควรเริ่มต้นด้วยความโปร่งใส เปิดเผยให้ประชาชนได้รับรู้ ได้เข้าใจ เพื่อร่วมคิดร่วมสนับสนุนและป้องกันปัญหาการคัดค้านโครงการเมื่อเริ่มลงมือไปแล้ว
2.ให้ความสำคัญที่การบริหารจัดการมากกว่าการลงทุนภายหลังน้ำท่วมใหญ่ปี 2554 เหล่านักวิชาการล้วนชี้ไปที่ปัญหามาตรการการบริหารจัดการตั้งก่อนเกิดน้ำท่วม คือ ไม่มีการเตรียมการขุดลอกคูคลองและบำรุงรักษาระบบระบายน้ำ ไม่มีการวางแผนล่วงหน้าอย่างเป็นระบบและให้ผู้ปฏิบัติงานรู้ว่า หากเริ่มมีวิกฤติน้ำหลากจำนวนมาก เขื่อนและฝายต่างๆ ต้องทำอย่างไรจะกักเก็บน้ำหรือระบายให้เอ่อออกไปในทิศทางและเวลาที่เหมาะสมอย่างไร และเมื่อเกิดน้ำท่วมใหญ่แล้วจะผลักดันน้ำกันอย่างไร
สอดคล้องกับผลการศึกษาของไจก้า ที่เห็นว่าการลงทุนแก้ปัญหาน้ำท่วมของประเทศไทยยังมีทางทางเลือกอื่นๆ ที่ทำได้ เช่น แทนที่จะลงทุนเม็ดเงินมหาศาลในคราวเดียว ก็สามารถใช้ระบบระบายน้ำหรือคู คลอง หรือพื้นที่น้ำท่วมถึงที่มีอยู่ในปัจจุบันได้ เพียงแต่ปรับสภาพและเพิ่มเติมให้มีความสมบูรณ์เป็นระบบที่รองรับกันได้ดี
3. Design & Build เป็นวิธีการที่ไม่เหมาะสมกับการแก้ปัญหาน้ำในระยะยาว โดยหลักการ Design & Build หรือให้เอกชนรับโครงการไป รับเงินไป ให้ทำงานไปแล้วก็ออกแบบกำหนดรายละเอียดและแก้ปัญหาไปพร้อมๆ กัน น่าจะช่วยให้งานเริ่มต้นได้เร็ว แต่เป็นวิธีที่สมเหตุสมผลและจำเป็นในสถานะการณ์ปัจจุบันแล้วหรือ เพราะวันนี้ยังไม่มีข้อมูลใดที่บอกได้เลยว่าโครงการนี้มีพิจารณาด้านเทคนิครอบคอบแล้ว ยังจะมีปัญหาในพื้นที่ดำเนินโครงการ เช่น ประชาชนต่อต้านเนื่องจากรู้สึกว่าเขาถูกเอาเปรียบ เขาได้รับความเดือดร้อน ใครจะเป็นผู้แก้ปัญหา รัฐบาลหรือเอกชนใครเป็นผู้รับผิดชอบในการทำประชาพิจารณ์ และหากมีการแก้ไขงานจะมีการคิดเงินลดหรือเพิ่มกันอย่างไร โครงการแก้ปัญหาน้ำต้องมองเรื่องผลประโยชน์ของสาธารณะ แต่ผู้รับเหมาที่มุ่งผลประโยชน์ทางการค้าจะพยายามสร้างเนื้องานตามวงเงินที่ตนได้รับ แล้วเราแน่ใจอย่างไรว่าสิ่งที่ทำนั้นเหมาะสมตามหลักการและสอดคล้องกับระบบที่มุ่งหวัง อย่างนี้เท่ากับเรากำลังปล่อยให้ผู้รับเหมาตัดสินอนาคตประเทศใช่หรือไม่
มองอีกด้านของการบริหารจัดการโครงการในวันนี้ คือรัฐบาลยังไม่มีความชัดเจนว่าจะทำอะไร ตรงไหน อย่างไร ผลกระทบจะเป็นอย่างไร ใช่หรือไม่ อย่าลืมว่าการปล่อยให้มีการแก้ไขสัญญา แก้ไขเนื้องาน หลังจากทำสัญญาไปแล้วเท่ากับเปิดช่องให้เกิดคอร์รัปชันได้ง่ายมาก
4. การอนุมัติโครงการทั้งระบบในคราวเดียวเพื่อให้เกิดความต่อเนื่องเป็นสิ่งที่ดี แต่ควรมีการจัดลำดับความสำคัญก่อนหลังของแต่ละโครงการที่จะลงทุนหรือทำโครงการเป็นส่วนๆ ไป (phasing) เพื่อให้เกิดความรอบคอบและคุ้มค่าในการลงทุน เรียนรู้หาประสบการณ์ข้อดี -ข้อเสียจากโครงการต่างๆ ที่ทำไป และสามารถบริหารเงินให้ใช้ไปในด้านอื่นๆ ที่จำเป็นเร่งด่วนได้
ถึงวันนี้จะมีการแบ่งงานให้ผู้รับเหมาไปแล้วด้วยวิธีการพิเศษ แต่ประชาชนก็ยังไม่รู้ข้อมูลอยู่ดีว่ารัฐบาลจะใช้เงินภาษีไปอย่างไร เชื่อว่าคนไทยทุกคนต้องการเห็นความสำเร็จของโครงการนี้ และยังหวังว่าเงินทุกบาทของประชาชนจะได้รับการตรวจสอบว่าถูกใช้ไปอย่างคุ้มค่า ไม่เหมือนกับโครงการโฮปเวลล์หรือการใช้เงิน 1.2 แสนล้านบาทที่เต็มไปด้วยการคอร์รัปชัน ยังไม่สายเกินไปหากจะเริ่มให้ภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมตัดสินโครงการนี้ แต่ต้องเร่งมือก่อนที่จะมีการทำสัญญากับผู้รับเหมาและถึงแม้ลงนามในสัญญาแล้วก็ควรสร้างกลไกให้ประชาชนเข้าไปตรวจสอบได้อย่างเต็มที่ต่อไปด้วย