7 ปีซ่อม 7 ปีเศร้า…ความจริงอันปวดร้าวที่ชายแดนใต้
ในขณะที่รัฐบาลและฝ่ายความมั่นคงกำลังยินดีปรีดากับตัวเลขสถิติเหตุรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ห้วงปี 2553 (ที่นับเองและสรุปเอง) ว่าลดต่ำกว่า 1,000 ครั้งเป็นปีแรกนับตั้งแต่เกิดเหตุการณ์ปล้นปืนทหาร 413 กระบอกเมื่อวันที่ 4 ม.ค.2547 เป็นต้นมา
และพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้กำลังจะได้กฎหมายใหม่บังคับใช้เพิ่มอีก 2 ฉบับ คือพระราชบัญญัติการบริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ พ.ร.บ.ศอ.บต.ฉบับใหม่ กับพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2551 หรือ พ.ร.บ.ความมั่นคง ที่จะใช้แทนในบางอำเภอที่ยกเลิกการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง (ซึ่งประกาศมาเกือบ 5 ปีครึ่ง นานกว่าที่กรุงเทพฯและปริมณฑลถึง 5 ปี)
โดยรัฐบาลยืนยันว่านี่คือ “ทิศทางใหม่ดับไฟใต้” และเป็นเครื่องยืนยันว่าที่ผ่านมาเดินมาถูกทางแล้ว เนื่องจากสถานการณ์ดีขึ้นเป็นลำดับ ถึงกับยกเลิกการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินได้ในบางอำเภอ
แต่หากหันมาพิจารณาในฐานะประชาชนคนธรรมดาที่ปราศจากอำนาจรัฐและอาวุธในมือ สถานการณ์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่เห็นและเป็นอยู่ตลอด 7 ปี ดำเนินไปอย่างที่รัฐบาลและฝ่ายความมั่นคงตีปี๊บหรือไม่ ข้อมูลข้างล่างนี้คือคำตอบส่วนหนึ่งที่น่าจะอธิบายภาพจริงๆ ในพื้นที่ได้อย่างชัดเจน
ยอดผู้เสียชีวิตถึงสิ้นเดือน พ.ย.2553 (จากการเก็บสถิติของศูนย์รับแจ้งเหตุฉุกเฉิน กองบัญชาการผสมพลเรือนตำรวจทหาร หรือ ศจฉ.พตท.) อยู่ที่ 4,122 ราย (ยอดตายทะลุ 4,000 รายไปเมื่อเดือน มี.ค.2553) บาดเจ็บ 7,225 ราย ผู้คนทุกเพศ ทุกวัย ทุกศาสนา และทุกสาขาอาชีพ ล้วนได้รับผลกระทบ
เหตุระเบิดที่เกิดขึ้นนับถึงวันที่ 13 ธ.ค.2553 มีจำนวน 1,987 ครั้ง เฉลี่ยเกือบวันละ 1 ครั้ง แยกเป็น จ.นราธิวาส 920 ครั้ง ยะลา 599 ครั้ง ปัตตานี 412 ครั้ง และสงขลา 56 ครั้ง ในจำนวนนี้มีไม่น้อยที่เป็น “กับระเบิด” ในสวนยางพารา ทำให้ประชาชนตาดำๆ ต้องพิการขาขาด ทนทุกข์ทรมานกับผลแห่งความรุนแรงที่ตนเองไม่ได้เป็นผู้ก่อ
จำนวนเด็กกำพร้าที่ต้องสูญเสียบิดา มารดา หรือทั้งบิดาและมารดาจากสถานการร์ความไม่สงบ มากถึง 5,111 คน หรือกว่าครึ่งหมื่น ส่วนหญิงหม้ายที่ต้องสูญเสียสามีไปเพราะเหตุการณ์ความรุนแรงมีถึง 2,188 คน
คดีความมั่นคงในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ และสี่อำเภอของจังหวัดสงขลา ตั้งแต่ต้นปี 2547 จนถึงสิ้นเดือนสิงหาคม 2553 มีคดีอาญาเกิดขึ้น 72,731 คดี แยกเป็นคดีความมั่นคง 7,439 คดี เฉพาะคดีความมั่นคง เป็นคดีที่ไม่รู้ตัวผู้กระทำผิดมากถึง 5,688 คดี หรือคิดเป็นร้อยละ 76.46 ส่วนคดีที่รู้ตัวผู้กระทำผิด มีเพียง 1,751 คดี คิดเป็นร้อยละ 23.54 ในจำนวนนี้จับกุมผู้ต้องหาได้ 1,227 คดี และจับกุมไม่ได้ 524 คดี
คดีความมั่นคงที่อยู่ในชั้นศาล และศาลมีคำพิพากษาแล้วมีจำนวน 238 คดี จำเลย 440 คน สัดส่วนคดีที่ยกฟ้องสูงถึงร้อยละ 43
ระยะเวลา 7 ปีมีคดีที่ขึ้นสู่ศาลฎีกาและศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดแล้วเพียงคดีเดียว โดยศาลมีคำพิพากษายกฟ้อง!
7 ปีไฟใต้ 8 ปีงบประมาณ รัฐบาลทุ่มเงินลงไปแก้ไขปัญหาแล้วทั้งสิ้น 1.44 แสนล้านบาท แยกเป็นปีงบประมาณ 2547 จำนวน 13,450 ล้านบาท ปี 2548 จำนวน 13,674 ล้านบาท ปี 2549 จำนวน 14,207 ล้านบาท ปี 2550 จำนวน 17,526 ล้านบาท ปี 2551 จำนวน 22,988 ล้านบาท ปี 2552 จำนวน 27,547 ล้านบาท ปี 2553 จำนวน 16,507 ล้านบาท และปี 2544 อยู่ที่ 19,102 ล้านบาท
ถึงวันนี้ประชาชนคนไทยสรุปได้หรือไม่ว่า 7 ปีไฟใต้รัฐใช้งบไป 1.44 แสนล้าน แลกกับความสูญเสียกว่า 4,100 ชีวิต ทำให้มีเด็กกำพร้ามากกว่าครึ่งหมื่น หญิงหม้ายกว่า 2 พันคน โดยที่กระบวนการยุติธรรมทางอาญายังไม่สามารถเอาผิดหรือลงโทษใครได้เลย...
นี่ยังไม่นับปัญหาสังคมที่ทวีขึ้นจนยากจะควบคุม ทั้งการแพร่ระบาดของยาเสพติดในแทบทุกชุมชนหมู่บ้าน การเฟื่องฟูของธุรกิจผิดกฎหมายทุกประเภท ทั้งขนสินค้าหนีภาษี น้ำมันเถื่อน สถานบริการที่ขายบริการทางเพศ บ่อนการพนัน โต๊ะบอล โดยมีเจ้าหน้าที่ของรัฐเข้าไปเกี่ยวข้องอย่างโจ๋งครึ่ม มีการจับกุม "คนของรัฐ" ที่กระทำผิดอยู่เนืองๆ แต่กลับไม่มีนโยบายในระดับ "วาระแห่งชาติ" ลงมาปัดกวาดสะสางแต่อย่างใด
หากจะบอกว่า 7 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลและฝ่ายความมั่นคงพยายาม “ซ่อม” สถานการณ์ที่ชายแดนใต้ซึ่งเปรียบเสมือนบ้านหลังหนึ่งในดินแดนที่เรียกว่า "ไทย" ไม่ให้พังครืนลงมา ดูเหมือนวันนี้ช่างซ่อมบ้านจะยังไม่รู้เลยว่า ต้นเหตุที่แท้จริงของปัญหาที่ทำให้บ้านใกล้พังถล่มนั้นอยู่ตรงไหน ทั้งๆ ที่ค้นหามานานร่วม 7 ปีแล้ว
เป็นความสำเร็จ หรือเป็นความจริงอันปวดร้าวกันแน่?
----------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : ชาวบ้านที่ต้องเสียขาจากกับระเบิดในสวนยางพารา เมื่อปลายเดือน ต.ค.ที่ผ่านมา นั่งอย่างหมดอาลัยตายอยากที่โรงพยาบาล (ภาพโดย นาซือเราะ เจะฮะ ภาพผ่านการตกแต่งโดยทีมข่าวอิศรา)