ถึงที่สุดก็ต้องใช้ "การเมือง" แก้
ตั้งแต่ต้นเดือนพฤศจิกายนเป็นต้นมา เป็นอีกช่วงหนึ่งที่เว็บอิศราดูจะอืดๆ ไปสักนิด สาเหตุข้อหนึ่งเป็นเพราะมีสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ ทำให้ "ทีมข่าวอิศรา" หลายคนได้รับความเดือดร้อนไปด้วย แต่ก็ยังกัดฟันรายงานข่าวอย่างต่อเนื่อง และมีข่าว+ภาพจากพื้นที่เข้าถึงยากมารายงานทางหน้าเว็บในห้วงเวลาที่หลายๆ คนค้นหาข้อมูลความเสียหายจากชายแดนใต้
อีกสาเหตุหนึ่งเป็นเพราะมีการปรับปรุงหน้าเว็บของ "ศูนย์ข่าว สถาบันอิศรา" ซึ่งผมเคยเล่าให้ฟังไปบ้างแล้วว่า ปัจจุบันมีโต๊ะข่าวอยู่ใต้ร่ม "สถาบันอิศรา" ถึง 4 โต๊ะ คือ ศูนย์ข้อมูลข่าวสารปฏิรูปประเทศไทย, โต๊ะข่าวเพื่อชุมชน, ศูนย์ศึกษากฎหมายและนโยบายสื่อมวลชน และโต๊ะข่าวภาคใต้ หรือ "ศูนย์ข่าวอิศรา" เดิม ที่ท่านผู้อ่านกำลังเปิดอ่านอยู่นี้
การปรับปรุงล่าสุดก็คือใช้ยูอาร์แอล www.isranews.org ซึ่งเคยเป็นของโต๊ะข่าวภาคใต้ ไปเป็นยูอาร์แอลของ "ศูนย์ข่าว สถาบันอิศรา" ซึ่งเมื่อเปิดเข้าไปก็จะพบข่าวลีดของโต๊ะข่าวต่างๆ เป็นไฮไลท์ให้ดูทุกโต๊ะ รวมทั้งโต๊ะข่าวภาคใต้ด้วย โดยท่านผู้อ่านสามารถคลิกจากตรงนี้เข้าไปอ่านเนื้อหาของโต๊ะข่าวแต่ละโต๊ะได้เลย
แต่สำหรับแฟนๆ ข่าวภาคใต้ที่ต้องการเข้าถึงเว็บโต๊ะข่าวภาคใต้โดยตรง ต้องเข้าที่ยูอาร์แอล www.south.isranews.org เท่านั้นครับ และการจะเข้าถึงเว็บไซต์ที่ปรับปรุงใหม่แบบ "เต็มร้อย" คือแสดงผลแบบไม่มีติดขัด ก็ควรเข้าอินเทอร์เน็ตจากผู้ให้บริการที่ชื่อ Firefox แทน Internet Explorer ที่ใช้กันอย่างแพร่หลายในประเทศไทย อันนี้เป็นเรื่องทางเทคนิคครับ ผมก็ไม่ค่อยทราบเหตุผลเหมือนกัน แต่หากต้องการดาวน์โหลดโปรแกรม Firefox 3.6 ภาษาไทย ก็เข้าไปโหลดได้ที่ www.firefox.com หรือ www.mozilla.com ครับ เมื่อโหลดมาแล้วก็กดเข้าอินเทอร์เน็ตผ่านช่องทางนี้ จะสามารถรับชมเว็บอิศราโฉมใหม่แบบจุใจ ไม่ขัดอารมณ์ครับ
ข่าวสารจากชายแดนใต้ในรอบครึ่งเดือนมานี้ ส่วนใหญ่ไปกระจุกอยู่ที่สถานการณ์น้ำท่วม ซึ่งการช่วยเหลือก็ยังมีปัญหาพอสมควร แต่ไม่ใช่ปัญหาเรื่องความขาดแคลนข้าวของเครื่องอุปโภคบริโภคนะครับ แต่เป็นปัญหาเรื่องการจัดการ เพราะสิ่งของบริจาคและสิ่งของที่รัฐบาลจัดส่งให้ผู้ประสบภัยนั้นมีเป็นจำนวนมาก แต่เกือบทั้งหมดมักไปกระจุกอยู่ตามหมู่บ้านหรือชุมชนที่มีข่าวความเสียหายเสนอผ่านสื่อ ส่วนหมู่บ้านที่อยู่ห่างไกลออกไปมักไม่ค่อยได้รับความช่วยเหลือ หลายพื้นที่ถึงกับน้อยใจ และบ่นเรื่อง "สองมาตรฐาน" กันพอสมควร
นอกจากนั้น คาราวานน้ำใจส่วนใหญ่ยังจำกัดเฉพาะเรื่องข้าวของเครื่องใช้และอาหารการกิน ซึ่งถ้าจะว่ากันตามจริงก็ส่งกันไปจนล้น แต่ความช่วยเหลือที่ชาวบ้านต้องการจริงๆ จะเป็นเรื่องอุปกรณ์การทำมาหากิน โดยเฉพาะเรือประมง และเครื่องมือทำประมง รวมถึงการซ่อมแซมบ้านเรือนที่ปรักหักพังให้กลับเข้าไปอาศัยอยู่ได้โดยเร็วที่สุดมากกว่า ทว่าการช่วยเหลือใน 2 เรื่องนี้ยังเป็นไปอย่างล่าช้า ซึ่งในแง่หนึ่งก็ต้องยอมรับว่าเป็นความล่าช้าโดยสภาพเหมือนกัน เพราะต้องใช้งบประมาณและกำลังคนค่อนข้างมาก โดยเฉพาะการซ่อมแซมหรือสร้างบ้านหลังใหม่
แต่ทั้งหมดนี้ "ทีมข่าวอิศรา" จะเข้าพื้นที่เป็นระยะ เพื่อรายงานความคืบหน้ามาให้ทราบต่อไป
อีกเรื่องหนึ่งที่เป็นข่าวน่าสนใจในความรู้สึกของผม แม้ไม่ได้เกี่ยวกับปัญหาภาคใต้โดยตรง แต่สำหรับผมแล้วเห็นว่ามีความเชื่อมโยงกัน ก็คือการพิจารณาให้ประกันตัว "คนเสื้อแดง" บางส่วนจากที่ถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำต่างๆ ทั่วประเทศกว่า 200 คน
หลายคนวิจารณ์ว่ารัฐบาลคิดช้าไปหรือเปล่าที่เพิ่งดำเนินการเรื่องนี้ แต่ผมแย้งว่าไม่ช้าเลยหากคิดเทียบกับผู้ต้องขังคดีความมั่นคงในจังหวัดชายแดนภาคใต้กว่า 500 ชีวิตที่ถูกจับกุมตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ซึ่งประกาศใช้มากกว่า 5 ปีแล้ว แต่กระทรวงยุติธรรมเพิ่งให้ความช่วยเหลือเรื่องเงินประกัน และได้รับประกันตัวล็อตแรก 20 กว่าคนเมื่อไม่กี่สัปดาห์มานี้เอง
หลักคิดของรัฐบาลในเรื่องนี้นับว่าน่าสนใจ โดยเฉพาะหากถอดรหัสจากรายงานของคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อความปรองดองแห่งชาติ หรือ คอป. ที่มี นายคณิต ณ นคร อดีตอัยการสูงสุดเป็นประธาน และได้สรุปรายงานเสนอให้รัฐบาลพิจารณาเรื่องการ "ปล่อยชั่วคราว" ผู้ต้องหาเสื้อแดง ในการประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันอังคารที่ 16 พ.ย.ที่ผ่านมา
สาระสำคัญจากรายงานของ คอป.ว่าไว้ดังนี้...สิทธิที่จะได้รับการปล่อยชั่วคราวเป็น "สิทธิพื้นฐาน" ของผู้ถูกกล่าวหาในคดีอาญาที่ได้รับการยอมรับเป็นสากล และรับรองในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 40 (7) เพราะการเอาตัวผู้ถูกกล่าวหาไว้ในความควบคุมหรือในอำนาจรัฐเป็นการจำกัดสิทธิของผู้ถูกกล่าวหา ซึ่งนอกจากจะกระทบต่อเสรีภาพของบุคคลอันเป็นสิทธิพื้นฐานที่สำคัญแล้ว ยังกระทบถึงโอกาสในการต่อสู้คดี และส่งผลกระทบต่อครอบครัวและญาติพี่น้องของผู้กล่าวหาอีกด้วย
คอป.เห็นว่ามีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมีการปล่อยตัวชั่วคราวแกนนำ (เสื้อแดง) บางส่วนที่ถูกควบคุมตัวไว้ โดยเฉพาะผู้ที่ไม่ได้เป็นผู้ก่อหรือสนับสนุนความรุนแรงในระหว่างการชุมนุมโดยตรง เพื่อเปิดโอกาสให้บุคคลเหล่านั้นได้เข้ามามีส่วนร่วมในการนำแนวทางสันติวิธีมาใช้ในการแสวงหาทางออกให้กับบ้านเมือง
การปล่อยตัวหรือการปล่อยชั่วคราวแกนนำดังกล่าวจะเป็น "จุดเปลี่ยนที่สำคัญ" ที่จะส่งสัญญาณว่าทุกฝ่ายให้ความสำคัญอย่างจริงจังกับกระบวนการสร้างความปรองดองในชาติ นอกจากนี้ยังเป็นการลดกระแสความเชื่อที่ว่ากระบวนการยุติธรรมไม่มีความเป็นธรรมต่อผู้ถูกกล่าวหา อันเป็นสาเหตุสำคัญที่นำไปสู่ความไม่เชื่อถือในระบบการปกครองของรัฐ อันอาจสร้างความร้าวฉานและความรุนแรงที่อาจจะเกิดขึ้นใหม่อีกด้วย...
นี่คือแนวทางการใช้ "การเมือง" แก้ปัญหาความขัดแย้งโดยแท้ และยึดหลัก "แยกปลาออกจากน้ำ" ตามที่ นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และอดีตสมาชิกวุฒิสภา ได้เสนอเอาไว้ และ "ทีมข่าวอิศรา" ได้นำมาถ่ายทอดต่อในคอลัมน์ "สัมภาษณ์พิเศษ" ทางหน้าเว็บศูนย์ข่าวอิศรา
ประเด็นที่ผมเห็นว่ามีคุณค่าอย่างยิ่งก็คือ ข้อเสนอของ คอป. ไม่ได้บอกให้รัฐบาลละเลยการบังคับใช้กฎหมาย หรือมองกฎหมายเป็นปฏิปักษ์ แต่แนะให้รัฐบาลเลือกใช้ "ดุลพินิจ" ในบางกรณี และเปิดโอกาสให้มีการ "พูดคุย" กับคนที่คิดต่างทางการเมือง หรือไม่เห็นด้วยกับรัฐ เพื่อให้เกิดการรับฟัง แลกเปลี่ยนทัศนะ และแก้ไขปัญหาบนแนวทางสันติวิธี ภายใต้กระบวนการที่เรียกว่า "ยุติธรรมเชิงสมานฉันท์" ซึ่งไม่ใช่การมุ่งเอาผิดกันในแบบ "แก้แค้นทดแทน" แต่เน้นใช้การทำความเข้าใจ และชี้ให้เห็นความเสียหายหากเลือกใช้ความรุนแรงในการจัดการปัญหา ซึ่งผมจะนำมาขยายความให้ฟังในโอกาสต่อไป
ข้อเสนอที่ว่านี้ผมเห็นว่าน่าจะหยิบมาใช้กับผู้ต้องหาคดีความมั่นคงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วย เพราะแนวทางว่าด้วยการ "พูดคุยเจรจา" เพื่อหาทางออกร่วมกัน ก็เป็นสิ่งที่พูดกันมานาน แต่ไม่เคยมีการปฏิบัติที่เป็นรูปธรรม
ยังไม่สายเกินไปหากรัฐบาลจะหยิบเอาแนวทางนี้มาใช้กับผู้ต้องขังคดีความมั่นคง และผู้ที่คิดต่างทางการเมืองในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ด้วยการเปิดเวทีให้มีการ "พูดคุย" ทั้งอย่างเป็นทางการและไม่เป็นทางการ เพื่อให้มีช่องทางใหม่ๆ ในการจัดการความขัดแย้ง นอกจากการใช้ความรุนแรง จับปืนหรือวางระเบิดเพื่อต่อสู้กับอำนาจรัฐ
นี่คือความในใจที่ผมอยากจะสื่อสารสู่สาธารณะและรัฐบาลในห้วงปลายปี 2553 ก่อนที่สถานการณ์ไฟใต้จะทะยานขึ้นสู่ปีที่ 7 ของความรุนแรง...
เพราะถึงที่สุดแล้ว "การเมือง" คือวิถีทางการแก้ไขปัญหา และทุกๆ ความขัดแย้งย่อมจบลงบนโต๊ะเจรจาเท่านั้น!