ขอบคุณในน้ำใจ และขออภัยในความไม่สะดวก
ในห้วง 1 เดือนมานี้ ซึ่งเป็นวาระครบ 5 ปีและก้าวขึ้นสู่ปีที่ 6 ของโครงการ “โต๊ะข่าวภาคใต้ ศูนย์ข่าวอิศรา” ด้วย มีเรื่องราวที่ผมในฐานะตัวแทนศูนย์ข่าวอิศราต้องกราบขอบพระคุณ และกราบขออภัยท่านผู้อ่านไปพร้อมๆ กัน
เริ่มจากเรื่องที่ต้องขอขอบคุณก่อน...ทุกท่านคงยังจำกันได้กับเหตุการณ์คนร้ายไม่ทราบจำนวนใช้อาวุธปืนเอ็ม 16 ยิง ครูวิลาศ เพชรพรหม อายุ 54 ปี ครูโรงเรียนบ้านมะนังกาหยี และ ครูคมขำ เพชรพรหม อายุ 52 ปี ครูโรงเรียนบ้านทุ่งโต๊ะดัง อ.เมืองนราธิวาส ซึ่งทั้งคู่เป็นสามีภรรยากัน เสียชีวิตขณะขี่รถจักรยานยนต์นำผักไปส่งที่ตลาดตันหยงมัส อ.ระแงะ จ.นราธิวาส เมื่อเช้าตรู่ของวันอังคารที่ 7 ก.ย.ที่ผ่านมา
นับเป็นเหตุการณ์ร้ายแรงที่สุดเหตุการณ์หนึ่งในรอบเดือนกันยายนที่เกิดขึ้นในดินแดนปลายสุดด้ามขวาน จนกลายเป็นข่าวครึกโครมที่สื่อทุกแขนงตลอดจนผู้คนในสังคมต่างให้ความสนใจ
การปลิดชีพครูวิลาศและครูคมขำ ไม่ได้จบลงแค่การสิ้นลมหายใจของ “แม่พิมพ์ของชาติ” อีก 2 คนเท่านั้น แต่ยังทำให้ลูกสาวอีก 3 คนซึ่งอยู่ในวัยเรียนต้องกลายเป็นกำพร้า นับเป็นความสูญเสียอันร้ายแรงที่เชื่อว่าไม่ว่าใครต้องเผชิญล้วนต้องเศร้าเสียใจอย่างสุดซึ้ง
ทั้งสามจะมีชีวิตอยู่ต่อไปอย่างไร...
จากเหตุการณ์ร้ายดังกล่าว ทำให้สถานีวิทยุคลื่นเอฟเอ็ม 96.5 ร่วมกับสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย และสถาบันอิศรา มูลนิธิพัฒนาสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย เปิดรับบริจาคเงินช่วยเหลือครอบครัวของครูวิลาศและครูคมขำ โดยผ่านบัญชี “โครงการศูนย์ข่าวอิศรา โต๊ะข่าวภาคใต้” เป็นบัญชีออมทรัพย์ หมายเลขบัญชี 073-217487-4 ธนาคารไทยพาณิชย์ สาขาย่อยสามเสน
วลีที่ว่า “น้ำใจของผู้คนในสังคมไทยไม่เคยเหือดแห้ง” ได้รับการพิสูจน์อีกครั้ง โดยตั้งแต่เปิดรับบริจาคเมื่อวันที่ 9 ก.ย. จนถึงวันที่ 20 ก.ย. มียอดเงินบริจาคผ่านบัญชีของศูนย์ข่าวอิศราถึง 225,942.15 บาท และยังมีการบริจาคผ่านบัญชีของสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทยด้วยอีก 25,800 บาท รวมยอดเงินบริจาคทั้งสิ้น 251,742.15 บาท
และในวันเสาร์-อาทิตย์ที่จะถึงนี้ ทางสถานีวิทยุคลื่นเอฟเอ็ม 96.5 จะจัดกิจกรรมลงพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อนำเงินบริจาคทั้งหมดไปมอบให้กับลูกสาวของครูวิลาศและครูคมขำ เพื่อเป็นอีกหนึ่งแรงใจให้เด็กสาวทั้งสามมีชีวิตต่อไปอย่างมั่นคง
แม้ในเรื่องร้ายที่สุด ก็ยังมีสิ่งดีๆ ปรากฏขึ้นมาด้วยเสมอ...
ผมจึงขอถือโอกาสเป็นตัวแทนขององค์กรร่วมรับบริจาค กราบขอบพระคุณน้ำใจจากทุกท่านไว้ ณ ที่นี้ และผมเชื่อว่าพลังใจจากเพื่อนร่วมชาติจะช่วยปัดเป่าเมฆหมอกแห่งความรุนแรงที่ปกคลุมสามจังหวัดชายแดนมาเนิ่นนาน ให้มลายหายไปเสียที
ส่วนเรื่องที่ต้องขออภัย...ถึงวันนี้ทุกท่านคงทราบแล้วเช่นกันว่า “โต๊ะข่าวภาคใต้ สถาบันอิศรา” ได้ปรับปรุงหน้าเว็บไซต์ใหม่อีกครั้ง เป็นการปรับปรุงในวาระก้าวขึ้นสู่ปีที่ 6 ของศูนย์ข่าวแห่งนี้ และเท่าที่ผมจำได้น่าจะเป็นการปรับปรุงครั้งใหญ่ครั้งที่ 3 นับตั้งแต่เปิดศูนย์มาเมื่อปลายเดือน ส.ค.2548
สาเหตุที่ต้องขออภัย แม้จะเป็นความพยายามก้าวไปสู่สิ่งที่ดีกว่า ก็เพราะในกระบวนการปรับหน้าเว็บไซต์ เป็นธรรมดาที่จะต้องมีอะไรผิดๆ พลาดๆ ติดๆ ขัดๆ ขาดๆ เกินๆ ให้รกหูรกตากันอยู่บ้าง ประกอบกับหน้าเว็บใหม่ที่ออกแบบโดยมืออาชีพ จะแสดงผลสมบูรณ์ที่สุดหากเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตผ่านโปรแกรม Firefox หรือ Googlechrome ส่วน Internet Explorer โดยเฉพาะในเวอร์ชั่นเก่านั้น จะมีปัญหาในการแสดงผล
จึงต้องขอรบกวนแฟนๆ ของ “ศูนย์ข่าวอิศรา” ที่ยังไม่มีโปรแกรมดังว่า ช่วยดาวน์โหลดโปรแกรมมาไว้ในคอมพิวเตอร์ของท่าน และเข้าชมเนื้อหาสาระในเว็บไซต์ศูนย์ข่าวอิศราโดยผ่านโปรแกรมดังกล่าว ซึ่งจะช่วยให้ท่านได้สัมผัสกับหน้าเว็บไซต์ใหม่อย่างเต็มอิ่มและสมบูรณ์
เท่าที่ผมทราบจากฝ่ายเทคนิค สำหรับคอมพิวเตอร์ที่มีปัญหาการแสดงผลเมื่อเปิดหน้าเว็บศูนย์ข่าวอิศรา จะมีโปรแกรมเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตใหม่ๆ ให้ดาวน์โหลดโดยอัตโนมัติปรากฏขึ้นตรงหน้าจอในระดับสายตาอยู่แล้ว ก็เชิญเลือกดาวน์โหลดได้ตามอัธยาศัย
สำหรับหน้าเว็บใหม่ นอกจากจะออกแบบให้สวยงามและมีสีสันมากขึ้นแล้ว ยังเพิ่ม “เครื่องมือ” เพื่อตอบสนองความต้องการของท่านผู้อ่านซึ่งเคยเรียกร้องกันมานานอย่างจุใจด้วย โดยเฉพาะช่องสำหรับค้นหาข้อมูลเก่าโดยใช้ “คำสำคัญ” ซึ่งผมทดลองใช้ดูแล้ว ได้ผลเป็นที่น่าพอใจ
อีกเครื่องมือหนึ่งก็คือ การเพิ่มขนาดตัวอักษร ซึ่งมีให้เลือกถึง 3 ขนาด น่าจะสนองตอบทัศนวิสัยของท่านผู้อ่านได้มากขึ้น เพราะหน้าเว็บเก่าที่ใช้มาราวๆ 1 ปีก่อนหน้านี้นั้น มีเสียงติติงมาตลอดว่าตัวหนังสือเล็กเกินไป ไม่เหมาะกับแฟนๆ ศูนย์ข่าวอิศราที่มากด้วยวัยวุฒิ (ฮา) อย่างไรก็ดี สำหรับท่านที่ยังมีปัญหา หรือต้องการแสดงความคิดเห็น ติชม หรือเสนอแนะใดๆ ทางเว็บมาสเตอร์ได้เปิดช่องทาง "ติดต่อเรา" เอาไว้ รวมทั้งประชาสัมพันธ์ที่อยู่ของสถาบันอิศราเอาไว้ด้านล่างสุดของหน้าเว็บ ให้สามารถส่งเสียงผ่านตัวอักษรมาได้ทั้งสองช่องทาง
นอกจากนั้น หน้าเว็บใหม่ยังสามารถเชื่อมต่อไปยังโต๊ะข่าวอีก 3 โต๊ะใต้ร่มของ “สถาบันอิศรา” ได้ด้วย คือ “โต๊ะข่าวเพื่อชุมชน” ที่เน้นรายงานข่าวสารเกี่ยวกับชุมชนท้องถิ่นและการขับเคลื่อนของรากหญ้า ตลอดจนภาคประชาสังคมทั่วประเทศ
“ศูนย์ข้อมูลข่าวสารปฏิรูปประเทศไทย” เป็นเว็บไซต์สุดฮอตรายงานความเคลื่อนไหวในกระแสปฏิรูปทุกๆ มิติของบ้านเรา ทั้งปฏิรูปการเมือง ปฏิรูปเศรษฐกิจ ปฏิรูปสังคม ลดความเหลื่อมล้ำ รวมไปถึงการปรองดองสมานฉันท์ เพื่อปลดชนวนขัดแย้งและความรุนแรงในสังคมไทย
และสุดท้ายคือโต๊ะข่าวน้องใหม่ “ศูนย์ศึกษากฎหมายและนโยบายสื่อมวลชน” แม้ฟังชื่อแล้วอาจดูเป็นเรื่องเฉพาะกลุ่มไปสักนิด แต่ก็มีข่าวสารน่ารู้มากมาย โดยเฉพาะในกระแสปฏิรูปสื่อ และการก้าวให้ทันกับพลวัตของ “สื่อใหม่” หรือ นิวมีเดียส์
ทั้งหมดสามารถคลิกหากันและกันได้เพียงปลายนิ้วสัมผัส...
อีกเรื่องหนึ่งที่เป็นข่าวลือกันหนาหูพอสมควรก็คือ “โต๊ะข่าวภาคใต้” ใกล้จะถึงกาลปิดตัว ต้องยอมรับว่าข่าวนี้มีมูลอยู่เหมือนกัน เพราะต้องเข้าใจว่าโครงการ “โต๊ะข่าวภาคใต้ ศูนย์ข่าวอิศรา” เป็นโครงการ “นำร่อง” ในการพัฒนาสื่อให้สนองตอบกับการรายงานข่าวท่ามกลางความขัดแย้ง รุนแรง และภาวะกึ่งสงคราม หรือเต็มไปด้วยภยันตรายจากสถานการณ์ความไม่สงบ โดยไม่ให้สื่อมีบทบาทเป็นผู้ซ้ำเติมปัญหาโดยไม่รู้ตัว
ตลอด 5 ปีที่ผ่านมา “ศูนย์ข่าวอิศรา” ได้ทำหน้าที่ในส่วนนี้ได้ดีพอสมควร กระทั่งมีประสบการณ์และสามารถถ่ายทอดประสบการณ์สู่การรายงานข่าวอย่างมีประสิทธิภาพในพื้นที่ขัดแย้ง รุนแรง ทั้งในและนอกจังหวัดชายแดนภาคใต้ อีกทั้งยังสามารถสร้างนักข่าวรุ่นใหม่ๆ ที่มีองค์ความรู้เข้าสู่แวดวงสื่อสารมวลชนได้จำนวนหนึ่ง ซึ่งถือว่าบรรลุเป้าหมาย จึงมีแนวคิดจากบางฝ่ายว่าน่าจะจบภารกิจเสียที
ประกอบกับการรายงานข่าวในพื้นที่เสี่ยง ด้วยการตั้ง “ศูนย์ข่าว” อย่างเป็นกิจจะลักษณะ เป็นเรื่องเป็นราว มีการบริหารจัดการ และมีการบริหารงานข่าวเทียบเท่ากองบรรณาธิการของสื่อกระแสหลักสื่อหนึ่ง ย่อมมีค่าใช้จ่ายสูง แต่ “โต๊ะข่าวภาคใต้” ไม่ได้บริหารในเชิงพาณิชย์ จึงต้องใช้ทุนสนับสนุนจากการบริจาค ซึ่งดูเหมือนง่าย แต่จริงๆ แล้วไม่ง่าย เพราะบริบทของปัญหาในจังหวัดชายแดนภาคใต้มีความอ่อนไหวสูง เรื่องที่มาของ "แหล่งทุน" จึงต้องพิจารณาอย่างละเอียดรอบคอบที่สุด
ปัญหานี้จึงเป็นอีกปัญหาหนึ่งที่ทำให้มีการตั้งวงถกเถียงกันว่า น่าจะถึงเวลา “เก็บฉาก” เสียทีดีไหม?
อย่างไรก็ตาม เมื่อข่าวเกี่ยวกับอนาคตของศูนย์ข่าวอิศราเผยแพร่ออกไป ก็มีเสียงเรียกร้องอย่างกว้างขวางให้รักษาศูนย์ข่าวอิศราเอาไว้ เพราะในห้วงที่ปัญหาภาคใต้ไม่ได้เป็น “วาระหลัก” ทั้งของรัฐบาลและสื่อกระแสหลักแล้ว การติดตามข่าวสารจากชายแดนใต้ของผู้ที่สนใจจึงมีช่องทางไม่มากนัก และหนึ่งในช่องทางนั้นก็คือเว็บไซต์ "โต๊ะข่าวภาคใต้ สถาบันอิศรา" ซึ่งให้บริการทั้งข่าวกระแสรายวัน สกู๊ป สารคดี สัมภาษณ์พิเศษ ข่าวเชิงสืบสวน บทความ เวทีวิชาการ ข่าวแปลภาษาอังกฤษ และสถิติเหตุการณ์เกี่ยวกับปัญหาชายแดนใต้ ครอบคลุมทุกมิติที่ศูนย์ข่าวศูนย์หนึ่งจะทำได้และพึงกระทำ
ประกอบกับในวาระ 5 ปีศูนย์ข่าวอิศรา ได้มีการจัดเสวนาวงเล็กๆ กันที่โรงแรมซี.เอส.ปัตตานี เมื่อวันที่ 4 ก.ย. ปรากฏว่าเสียงทุกเสียงที่มาร่วมในเวทีต่างเห็นพ้องต้องกันให้มีศูนย์ข่าวแห่งนี้ต่อไป ทำให้คณะผู้บริหารสถาบันอิศรา มูลนิธิพัฒนาสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย และสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ต้องนัดหารือกันใหม่ เพื่อวางอนาคตของศูนย์ข่าวอิศราให้คงอยู่เป็น “ศูนย์ข่าวทางเลือก” และเป็นพลังเล็กๆ ที่ร่วมคิด ร่วมแสดงความคิดเห็น เพื่อดับไฟใต้และสร้างสังคมสันติสุขต่อไป
ผมขอถือโอกาสนี้ขอบคุณกำลังใจจากหัวใจทุกดวงที่มอบให้ศูนย์ข่าวอิศรา และขอบคุณน้ำใจจากทุกท่านที่ไม่มองผ่านปัญหาภาคใต้หรือมองคนเล็กๆ ร่วมสังคมที่ต้องเผชิญกับสถานการณ์เลวร้าย ดังเช่นครอบครัวของครูวิลาศและครูคมขำ...เป็นแค่เรื่องไกลตัว
--------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : บรรยากาศงานเสวนา "5 ปีศูนย์ข่าวอิศรา กับข่าวทางเลือกในพื้นที่ความขัดแย้ง" เมื่อวันที่ 4 ก.ย.2553 ที่โรงแรมซี.เอส.ปัตตานี อ.เมือง จ.ปัตตานี