มุก"ยูทิวบ์-ถวิล"ช่วยชีวิต...เก็บตกวงถก BRN หวิดล่ม
คำแถลงของ พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ในฐานะหัวหน้าคณะพูดคุยสันติภาพฝ่ายไทยที่ไปดำเนินกระบวนการพูดคุยสันติภาพกับแกนนำขบวนการบีอาร์เอ็นกลุ่มนายฮัสซัน ตอยิบ ครั้งที่ 3 เมื่อวันที่ 13 มิ.ย.2556 นั้น แม้ พล.ท.ภราดร ยืนยันว่าแนวโน้มดีขึ้น และฝ่ายบีอาร์เอ็นยอมรับข้อเสนอลดเหตุรุนแรงช่วงเดือนรอมฎอนก็ตาม แต่นั่นยังไม่ใช่ทั้งหมดของการพูดคุยตลอด 7 ชั่วโมงครึ่ง
พล.ท.ภราดร เล่าให้ฟังเองระหว่างการพูดคุยนอกรอบกับกลุ่มผู้สื่อข่าวที่ติดตามไปทำข่าวการพูดคุยสันติภาพที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซียว่า บรรยากาศดี ผู้ประสานงานดีมาก ดาโต๊ะซัมซามิน (ดาโต๊ะ ซรี อาหมัด ซัมซามิน ฮาซิม อดีตผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองมาเลเซีย ผู้อำนวยความสะดวกการพูดคุย) ย้ำก่อนเลยว่าเรื่องเอกราชกับแยกดินแดนไม่ต้องหยิบขึ้นมาพูด ทำให้ช่วงแรกคุยกันแต่ 5 ข้อเรียกร้องของฝ่ายบีอาร์เอ็น ทำให้บรรยากาศเคร่งเครียด เพราะฝ่ายบีอาร์เอ็นเข้าใจว่าข้อเรียกร้องทั้ง 5 ข้อต้องนำเข้าสภาของไทย
"เขาเข้าใจว่าต้องเอาเข้าสภาเลย เราก็บอกว่าไม่ได้ มันไม่ใช่ขั้นตอนแบบนั้น เราเป็นผู้แทนฝ่ายบริหาร ยังอยู่ในขั้นตอนของฝ่ายบริหาร บรรยากาศตึงเครียด ต้องหยุดกินข้าวกลางวันกัน จากนั้นบรรยากาศก็ดีขึ้น และนำมาสู่ข้อตกลงลดเหตุรุนแรงช่วงเดือนรอมฎอนในตอนบ่าย"
เสียไป 2 ได้กลับมาแค่ 1
หลายเสียงจากคณะพูดคุยสันติภาพบอกว่านี่คือความสำเร็จ และฝ่ายไทยเริ่มได้เปรียบบ้างแล้ว แต่บางคนในคณะพูดคุยกลับไม่เห็นพ้องด้วย
แหล่งข่าวหนึ่งในคณะพูดคุยสันติภาพ กล่าวว่า การพูดคุยครั้งที่ 3 นี้ยังไม่ถือว่าฝ่ายรัฐบาลได้เปรียบ เพราะยังไม่ได้ตกลงทำอะไรกันอย่างเป็นรูปธรรมเลย เรื่องลดเหตุรุนแรงก็ยังไม่เห็นผล แต่ยอมรับว่าแนวโน้มดีขึ้น พูดคุยกันง่ายขึ้นกว่า 2 ครั้งแรก
นอกจากนั้นในมุมมองของเขา เห็นว่า ฝ่ายรัฐบาลไทยยังเสียมากกว่าได้ หมายถึงเสีย 2 ได้กลับมาแค่ 1 กล่าวคือ สิ่งที่ได้กลับมา ได้แก่ การยอมตกลงลดเหตุรุนแรงช่วงเดือนรอมฎอน ซึ่งก็เป็นเรื่องดี แต่ก็ต้องรอดูแผนของฝ่ายบีอาร์เอ็นที่จะส่งกลับมาก่อนว่ามีรายละเอียดอย่างไร พื้นที่ที่จะลดเหตุรุนแรงครอบคลุมกว้างขวางแค่ไหน หากแค่ 1 อำเภอ หรือ 1 ตำบล ย่อมไม่เรียกว่าสำเร็จ
ส่วนสิ่งที่ฝ่ายรัฐต้องเสีย 2 ประการ ได้แก่ การลดมาตรการปิดล้อมตรวจค้นจับกุม และต้องรอรับพิจารณาข้อเรียกร้อง 5 ข้อของฝ่ายบีอาร์เอ็น
"ท่าทีของเราต่อข้อเรียกร้อง 5 ข้อของบีอาร์เอ็นนั้น ไม่เชิงว่าซื้อเวลาออกไป คือให้เขาส่งคำอธิบายอย่างละเอียดมาก่อนว่าทั้ง 5 ข้อหมายถึงอะไร ซึ่งเราก็ยังตอบไม่ได้ว่าจะรับหรือไม่รับ หรือจะต้องมีกระบวนการอย่างไร แต่สิ่งที่เราไม่ได้ทำเลยคือกดดันให้เขาอธิบายเหตุผลมาว่าที่ต้องเรียกร้อง 5 ข้อนี้เพราะอะไร จะได้ทราบเจตนาที่แท้จริงของบีอาร์เอ็น"
ไม่รับโพลล์-ข้อเสนอไทยเป็นหมัน
แหล่งข่าวรายเดิม บอกอีกว่า ข้อมูลที่ฝ่ายไทยเตรียมไปไม่ได้พูดเลย ไม่ได้เสนออะไรเลย นอกจากข้อเสนอเดิมคือลดเหตุรุนแรง ซึ่งก็เรียกร้องมาตั้งแต่ครั้งแรกแล้ว ส่วนโพลล์หรือผลสำรวจทัศนคติของประชาชนที่เตรียมนำไปยันกับฝ่ายบีอาร์เอ็นนั้น สรุปว่าบีอาร์เอ็นไม่ยอมรับ และไม่ยอมให้นำเรื่องโพลล์ขึ้นมาพูดคุย โดยอ้างว่าเป็นการสำรวจโดยรัฐ ไม่มีความน่าเชื่อถือ
สำหรับประเด็นที่ฝ่ายไทยเตรียมไปเสนอ ได้จัดทำเป็นเอกสารความยาวหลายหน้ากระดาษ แบ่งเป็นประเด็นที่ให้บีอาร์เอ็นยอมรับในหลักการ 3 ข้อ ได้แก่
1.ยอมรับให้ประชาชนทุกเชื้อชาติศาสนาสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างสงบสันติในแผ่นดินสามจังหวัดชายแดนภาคใต้
2.ยอมรับว่าเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน ชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนที่บริสุทธิ์ จะได้รับการปกป้องจากการฆ่า ทำลาย แย่งชิง
3.ยอมรับว่าปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ไม่ใช่จากการเป็นดินแดนดารุลฮารบีในทุกพื้นที่
ประเด็นที่ให้บีอาร์เอ็นปฏิบัติ 4 ข้อ ได้แก่
1.ยุติการบ่มเพาะ แบ่งแยก สร้างความเกลียดชังต่อมนุษย์ด้วยกัน
2.ปลดปล่อยเยาวชนปฏิวัติที่จัดตั้งขึ้น คืนสู่สังคมเป็นเยาวชนก้าวหน้า รักสันติ
3.ยุติการใช้อาวุธ ความรุนแรง ต่อปัญหาทั้งมวลของอาร์เคเค
4.ทั้งสองฝ่ายต้องยอมรับว่าการใช้อาวุธ ใช้ความรุนแรงต่อผู้บริสุทธิ์ เป็นอาชญากรรม และการก่อการร้าย
"เราไม่ได้เสนออะไรเลย พอเขาบอกไม่ยอมรับโพลล์ก็เลยชะงักหมด ไม่ได้เสนอทุกข้อที่เตรียมไป" แหล่งข่าวระบุ
บี้ส่ง 5 ข้อเข้าสภา-วงถกหวิดล่ม
แหล่งข่าวอีกรายที่เป็นหนึ่งในคณะพูดคุยสันติภาพเช่นกัน ยอมรับว่า บรรยากาศไม่ได้มีแต่ชื่นมื่นอย่างเดียว เพราะมีบางช่วงที่ตึงเครียดจนเกือบล่มเหมือนกัน โดยเฉพาะช่วงที่พูดคุยกันเรื่อง 5 ข้อเรียกร้องของฝ่ายบีอาร์เอ็น และฝ่ายบีอาร์เอ็นเข้าใจว่าฝ่ายไทยต้องนำเข้ารายงานต่อรัฐสภา จนเกิดการโต้เถียงกันวุ่นวาย โดยเฉพาะ นายอับดุลการิม กาลิบ และ นายมะสุกรี อาลี สองแกนนำที่มีความใกล้ชิดกับฝ่ายปฏิบัติการในพื้นที่ พูดอย่างมีอารมณ์มาก
"สุดท้ายทางดาโต๊ะซัมซามินต้องขอให้พักการประชุม ก็ไปกินข้าว กินกาแฟกัน ใช้เวลากว่า 2 ชั่วโมงถึงได้กลับมาประชุมร่วมกันอีกรอบ"
ยิงมุก "ยูทิวบ์-ถวิล" กู้สถานการณ์
แหล่งข่าวรายนี้บอกว่า บุคคลที่ทำให้บรรยากาศคลายความตึงเครียดลง ก็คือ พล.อ.นิพัทธ์ ทองเล็ก รองปลัดกระทรวงกลาโหม หนึ่งในคณะพูดคุยฝ่ายไทยที่ไปแซว นายฮัสซัน ตอยิบ ระหว่างพักประชุมทำนองว่า "วันหลังถ้าจะไปออกยูทิวบ์อีกให้ชวนผมไปด้วยนะ จะได้โด่งดังเหมือนท่านฮัสซัน เพราะคลิปของบีอาร์เอ็นตอนนี้คนดูเป็นแสนแล้ว คนไทยรู้จักท่านฮัสซันทั้งนั้น" ทำเอานายฮัสซันหัวเราะชอบใจ บรรยากาศจึงเริ่มดีขึ้น
จากนั้นได้มีการขอให้นายฮัสซันช่วยพูดสนับสนุนเรื่องการลดเหตุรุนแรงช่วงเดือนรอมฎอน เพื่อเรียกความเชื่อมั่นจากประชาชนต่อการพูดคุยสันติภาพ เพราะคุยกันมาหลายครั้งแล้ว แต่ความรุนแรงยังคงเกิดขึ้นอยู่ จึงเหมือนไม่มีความคืบหน้า ซึ่งนายฮัสซันก็รับปากและช่วยพูดในที่ประชุม โดยฝ่ายไทยที่มีบทบาทสูงอีกคนหนึ่งคือ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ซึ่งคณะพูดคุยฝ่ายบีอาร์เอ็นค่อนข้างไว้วางใจ และสุดท้ายจึงนำไปสู่ข้อตกลงลดเหตุรุนแรงช่วงเดือนรอมฎอน
"ในตอนท้ายฝ่ายไทยยังมีการยิงมุกอีกว่า อยากให้บีอาร์เอ็นเพิ่มข้อเรียกร้องอีกสักข้อหนึ่ง เป็นข้อที่ 6 จะได้หรือไม่ คือห้ามไม่ให้ นายถวิล เปลี่ยนศรี กลับมาเป็นเลขาธิการ สมช.อีก เพราะกลัวการเจรจาไม่คืบหน้า มุกนี้เรียกเสียงหัวเราะได้ทั้งฝ่ายบีอาร์เอ็นและฝ่ายไทย โดยเฉพาะ พล.ท.ภราดร ที่หัวเราะเสียงดัง ทำให้การประชุมจบลงด้วยรอยยิ้ม" แหล่งข่าวกล่าว
--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : การประชุมนอกรอบของคณะพูดคุยสันติภาพฝ่ายไทยที่โรงแรมอินเตอร์คอนติเนนตัล กัวลาลัมเปอร์ เมื่อช่วงเช้าวันพฤหัสบดีที่ 13 มิ.ย.2556