นักข่าวสืบสวนนานาชาติเปิดข้อมูล“บริษัทลับ”บนเกาะสวรรค์1 แสนราย-เศรษฐีไทยอื้อ
เครือข่ายนักข่าวสืบสวนนานาชาติประกาศเปิดข้อมูลถือครองบริษัทลับบนเกาะสวรรค์ บริติช เวอร์จิ้น หมู่เกาะ เคแมน หมู่เกาะคุก ทั่วโลก 100,000 ชื่อ คนไทยด้วยซุ่มจดทะเบียน 600 ราย ตระกูลดังอื้อ
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า เครือข่ายผู้สื่อข่าวสืบสวนนานาชาติ (The International Consortium of Investigtive Journalists: ICIJ) ตั้งอยู่ที่กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. สหรัฐอเมริกาประกาศเปิดข้อมูลการถือครองบริษัทนอกอาณาเขต (offshore company) ครั้งใหญ่ ผ่านทางเว็บเพจ offshoreleaks.icij.org
ข้อมูลดังกล่าวมาจากฐานข้อมูลของบริษัทให้บริการจัดตั้งบริษัทนอกอาญาเขตรายใหญ่สองบริษัท คือบริษัทพอร์ตคูลิส ทรัสต์เน็ต (Portculis TrustNet) ตั้งอยู่ที่สิงคโปร์ กับบริษัทคอมมอนเวลธ์ ทรัสต์ ลิมิดเต็ท (Commonwealth Trust Limited) ตั้งอยู่ที่เกาะบริติช เวอร์จิ้น ข้อมูลดังกล่าว ประกอบไปด้วยชื่อผู้ใช้บริการบริษัทนอกอาณาเขต, ทรัสต์ และบัญชีธนาคารแบบปิดลับกว่า 100,000 ชื่อ รวมทั้งรายชื่อผู้เกี่ยวข้องจากทุกประเทศทั่วโลกรวมทั้งประเทศไทย โดยบริษัทนอกอาณาเขตเหล่านี้ตั้งอยู่พื้นที่พิเศษต่างๆรวมทั้งหมู่กาะ บริติช เวอร์จิ้น, หมู่เกาะ เคแมน, หมู่เกาะคุก และประเทศสิงคโปร์ เป็นต้น
ในกรณีของประเทศไทยซึ่งมีบุคคลและบริษัทรวมแล้วว่า 600 รายในฐานข้อมูล ผู้อ่านสามารถค้นรายชื่อทั้งหมดได้ในเว็บเพจ offshoreleaks.icij.org เช่นกัน
โดยในเว็บเพจซึ่งสร้างขึ้นโดยหนังสือพิมพ์ La Nación ในคอสตาริก้า ซึ่งมีผู้สื่อข่าวเป็นสมาชิก ICIJ มีข้อมูลชื่อบริษัทนอกอาณาเขตและผู้เกี่ยวข้อง ซึ่งรวมถึงผู้ถือหุ้นและผู้อำนวยการบริษัท รวมทั้งผู้เกี่ยวข้องอื่นๆเช่นทนายความ, ผู้ทำบัญชี และ ธนาคารที่ให้บริการ โดยมีใช้อินโฟกราฟฟิกแสดงความเชื่อมโยงของบุคคลและบริษัทเหล่านั้น
เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา สำนักข่าวอิศราได้ร่วมมือกับ ICIJ ตรวจสอบและรายงานการถือครองบริษัทนอกอาณาเขตของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง, นักธุรกิจใหญ่ และบุคคลผู้มีชื่อเสียงบางรายที่พบในฐานข้อมูล เช่น นางนลินี ทวีสิน ผู้แทนการค้าไทย, คุณหญิง พจมาน ณ ป้อมเพชร, นาย บรรณพจน์ ดามาพงศ์, สมาชิกตระกูลจิราธิวัฒน์และตระว่องกุศลกิจ รวมทั้งนักร้องชื่อดัง “แอ๊ด คาราบาว” โดยการรายงานข่าวครั้งนั้นเป็นส่วนหนึ่งของความร่วมมือระหว่าง ICIJ กับสื่อมวลชนกว่า 40 องค์กรทั่วโลก
สำหรับรายชื่อในประเทศไทยที่ปรากฏในเว็บเพจ offshoreleaks.icij.org ครั้งนี้ ประกอบด้วยบุคคลหลากหลายอาชีพ รวมถึงสมาชิกในตระกูลธุรกิจขนาดใหญ่ของประเทศหลายตระกูล เช่น ตระกูลเจียรวนนท์, โชควัฒนา, กาญจนพาสน์, กรรณสูตร และศรีเฟื่องฟุ้ง เป็นต้น นอกจากนั้นยังมีนักธุรกิจชื่อดังเช่น นายไพโรจน์ เปี่ยมพงษ์สานต์ ซึ่งจดทะเบียนเป็นผู้อำนวยการบริษัท มีนา เวิลด์ไวด์ อิ้งค์ (MENA Worldwide Inc.) ที่บริติช เวอร์จิ้น เมื่อ พ.ศ. 2552 และนายภูษณ ปรีย์มาโนช ที่พบว่ามีชื่อเป็นผู้อำนวยการและผู้ถือหุ้นร่วมของบริษัท ยูพีเอ ไมน์นิ่ง ลิมิดเต็ด (U P I Mining Limited) ใน พ.ศ. 2544 ที่บริติช เวอร์จิ้น เช่นเดียวกัน ส่วนกลุ่มอื่นๆมีบุคคลในแวดวงการเงินการธนาคาร, ทนายความ และเจ้าของบริษัทขนาดกลาง เป็นต้น
เมื่อวันที่ 14 มิถุนายนที่ผ่านมา นาย เจอราด ไรย์ ผู้อำนายการ ICIJ กล่าว ถึงเหตุผลในการเปิดเผยข้อมูลครั้งนี้ว่า เพื่อให้เป็นประโยชน์สาธารณะด้วยการทำให้อุตสาหกรรมที่ดำเนินการอยู่ในเงามืดมาเป็นเวลานานกลายเป็นสิ่งที่สามารถตรวจสอบได้ เขาชี้ว่าการปิดลับ (เกี่ยวกับการดำเนินการของบริษัทนอกอาณาเขต) ได้สร้างบรรยากาศที่เอื้อให้ให้พฤติกรรมการคดโกง, การเลี่ยงภาษี และการฟอกเงิน รวมทั้งการโกงกินในรูปแบบต่างๆแผ่ขยายมากขึ้น การเปิดเผยข้อมูลในครั้งนี้ถือเป็นการทำลายการปิดลับที่ว่านี้ไปเสีย
อย่างไรก็ตาม เอกสารแถลงข่าวของ ICIJ ชี้ว่า การถือครองบริษัทนอกอาณาเขตเป็นสิ่งที่สามารถทำได้อย่างถูกต้องตามกฎหมายและการเปิดเผยข้อมูลในครั้งนี้ ICIJ ไม่มีเจตนาที่จะกล่าวหาผู้ใดว่ากระทำการอันไม่เหมาะสม ข้อมูลที่นำมาเปิดเผยได้ผ่านการกลั่นกรองอย่างระมัดระวังโดยมีเฉพาะข้อมูลพื้นฐานที่สำคัญ ในขณะเดียวกันไม่มีการระบุรายละเอียดส่วนตัวบางอย่างเช่นข้อมูลเกี่ยวกับบัญชีธนาคาร, การทำธุรกรรมทางการเงิน, การติดต่อสื่อสารทางอินเตอร์เน็ตและช่องทางอื่น รวมทั้งหมายเลขหนังสือเดินทางและหมายเลขโทรศัพท์ เป็นต้น
การรายงานข่าวโดย ICIJ กับสื่อมวลชนต่างๆในช่วงเดือนเมษายนที่ผ่านมา สร้างผลกระทบให้เกิดขึ้นในหลายประเทศ เช่น ส่งผลให้รองประธานสภามองโกเลียและนายธนาคารผู้มีอิทธิพลของออสเตรียซึ่งมีชื่อเป็นผู้ถือครองบริษัทนอกอาณาเขตต้องลาออกจากตำแหน่ง นอกจากนั้นยังนำไปสู่การสอบสวนอย่างเป็นทางการกรณีเลี่ยงภาษีของบุคคลที่ปรากฏชื่อในฐานของมูลใน ประเทศฟิลิปปินส์, อินเดีย, กรีซ และเกาหลีใต้
ขณะเดียวกันกลุ่มประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปหลายประเทศเริ่มปรับเปลี่ยนมาตรการควบคุมการเลี่ยงภาษี เช่น รัฐบาลอังกฤษ, สเปน, ฝรั่งเศส, อิตาลี และเยอรมัน ได้ประกาศว่าจะเริ่มแลกเปลี่ยนข้อมูลธนาคารระหว่างกัน
การเปิดข้อมูลของ ICIJ ครั้งนี้เกิดขึ้นก่อนการประชุมกลุ่มประเทศ G8 ที่ไอร์แลนด์เหนือในสัปดาห์นี้ ซึ่งมีนายเดวิด คาเมรอน นายกรัฐมนตรีอังกฤษเป็นประธาน ได้ระบุวาระเรื่องปัญหาการเลี่ยงภาษีเป็นวาระสำคัญหนึ่งของการประชุม