17 ปีข้างหน้า อนาคตไทยเมืองเพิ่ม 60% รุกพื้นที่เกษตร-ชงรัฐป้องแหล่งผลิตอาหาร
เวทีสมัชชาความมั่นคงอาหารชี้ปี 2573 ไทยจะเกิดเมืองเพิ่มร้อยละ 60 รุกพื้นที่เกษตร ชงรัฐดันแผนรักษาแหล่งผลิตอาหาร-ใช้ที่ดินสาธารณะทำเกษตรในเมือง แก้ปัญหาการขาดแคลนอนาคต
วันที่ 15 มิ.ย. ในงานสมัชชาความมั่นคงทางอาหาร ปี 2556 ซึ่งจัดขึ้นเป็นวันที่ 2 ณ อาคารวชิรานุสรณ์ คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดยแผนงานสนับสนุนความมั่นคงทางอาหาร ร่วมกับมูลนิธิชีววิถี
ช่วงเช้านางสุภา ใยเมือง ผอ.มูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน (ประเทศไทย) ปาฐกถาเรื่อง ‘เกษตรกรรมในเมือง:ความมั่นคงทางอาหารในบริบทการเปลี่ยนแปลงของสังคมไทย’ ตอนหนึ่งว่า เกษตรกรรมในเมืองมีความสำคัญมากในปัจจุบัน เนื่องจากไทยมีการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจที่มุ่งพัฒนาภาคอุตสาหกรรมและบริการเป็นหลัก ส่งผลให้เกิดการขยายตัวของเมืองใหญ่มากขึ้นจนพื้นที่เกษตรกรรมดั้งเดิมถูกรุกราน
"ยิ่งอนาคตจะมีการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) แล้ว มีแต่จะทำให้พื้นที่กายภาพไทยเปลี่ยนแปลงไปทั้งชนบทและเมือง"
นางสุภา กล่าวถึงรายงานโลกทัศน์เพื่อเมืองและความหลากหลายทางชีวภาพ ปี 2553 พบว่า ในอีก 17 ปีข้างหน้า (ปี 2573) ไทยจะมีพื้นที่เมืองเพิ่มขึ้นร้อยละ 60 ขณะที่เมืองในโลกจะเพิ่มขึ้นอีก 3 เท่า ทำให้เราต้องคิดแล้วว่า หากเมืองขยายตัวแล้วมนุษย์จะอยู่กันอย่างไร
“พื้นที่เมืองและชนบทไม่มีขอบเขตที่ชัดเจนเช่นอดีต ซึ่งการขยายตัวของเมืองนั้นทำให้เกิดการถกเถียงของคนในสังคมไม่ว่าจะเป็นประเด็นการบริหารจัดการน้ำ หรือโครงสร้างพื้นฐานอื่น”
ผอ.มูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน กล่าวถึงนิยามของเกษตรกรรมในเมืองอีกว่า เกี่ยวข้องกับการปลูกหรือดูแลพืช การเลี้ยงสัตว์ รวมทั้งกระบวนการหมุนเวียนการใช้ทรัพยากรต่าง ๆ ระบบการกระจายอาหารและกระจายอำนาจในระบบอาหาร ทั้งยังรวมถึงพื้นที่อุตสาหกรรม หรือการใช้วิถีชีวิตแบบเมือง ซึ่งขอบเขตของเมืองนั้นต้องครอบคลุมพื้นที่ชั้นใน ชานเมือง และปริมณฑล
"สาเหตุที่เราหันมาทำโครงการสวนผักคนเมืองเกิดจากปัจจัยราคาอาหารที่แพงขึ้นและกำหนดเองไม่ได้ ความต้องการบริโภคอาหารที่ปลอดภัย เพื่อสุขภาพที่แข็งแรง และอยู่รอดเมื่อเกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติ อย่างไรก็ดีปัจจุบันมีหลายคนที่สนใจร่วมแลกเปลี่ยนความรู้ดังกล่าวมาก โดยเฉพาะผ่านสื่อโซเซียลมีเดีย"
พร้อมกันนี้ นางสุภา ได้ยกตัวอย่างความสำเร็จจากโครงการเกษตรในเมืองหลากหลายรูปแบบ เช่น การทำเกษตรบนดาดฟ้าของสำนักงานเขตหลักสี่ กระทั่งกลายเป็นศูนย์อบรมขยายผลไปสู่โรงแรม หรือองค์กรอื่น ขณะที่พื้นที่เล็ก ๆ อย่างเจริญนคร 26 ยังสามารถพัฒนาเป็นแปลเกษตรได้ผ่านวิธีการแขวน หรือหลายครัวเรือนนำพื้นที่ระเบียงบ้านมาทำ รวมถึงโรงพยาบาลอ่าวอุดม จ.ชลบุรี นำพื้นที่ไม่ใช้ประโยชน์มาทำแปลงเกษตรบำบัดผู้ป่วยทางจิต จนสร้างแรงจูงใจแก่โรงพยาบาลอื่นนำเป็นแบบอย่าง เช่น โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ และสมเด็จเจ้าพระยา ทั้งนี้ยังมีโรงเรียนหลายแห่งในกทม.และปริมณฑลที่ประสบความสำเร็จจากโครงการดังกล่าว ซึ่งนอกจากจะช่วยประหยัดค่าวัตถุดิบในการประกอบอาหารกลางวันแล้ว ยังสร้างกระบวนการเรียนรู้ให้กับนักเรียนด้วย
ทั้งนี้ นางสุภา กล่าวถึงเกษตรกรรมในเมืองเกี่ยวโยงกับระบบนิเวศเมืองเช่นกัน เพราะเมืองไม่สามารถอยู่ตามลำพังได้ หากขาดสิ่งแวดล้อมและคุณภาพชีวิตที่ดี หลายคนต่างต้องการต้นไม้ใหญ่ หรือทางวิ่งจักรยาน และยังสร้างความสัมพันธ์ที่ดีแก่คนในเมืองจากการพบปะกันผ่านกิจกรรมต่าง ๆ พร้อมกันนี้ ยังได้เรียกร้องต่อภาครัฐขอให้ผลักดันนโยบายด้านอาหารที่ชัดเจน โดยให้รักษาพื้นที่เกษตรกรรมของประเทศไว้ โดยเฉพาะในเมืองใหญ่อย่างกทม.ที่มีพื้นที่เกษตรกรรมเพียง 1.8 แสนไร่ รวมถึงการสนับสนุนการใช้พื้นที่สาธารณะเป็นแปลงเกษตรในเมือง และขับเคลื่อนทิศทางอาหารที่เคารพสิทธิด้านอาหารและให้ทุกคนเข้าถึงอย่างเท่าเทียมผ่านการเชื่อมโยงระหว่างเมืองกับชนบท