5 ปีศูนย์ข่าวอิศรา...กับโศกนาฏกรรมในความเงียบ
โต๊ะข่าวภาคใต้ สถาบันอิศรา
ศูนย์ข่าวอิศราเดินทางไกลมาครบ 5 ปีเต็มแล้ว และในวันเสาร์ที่ 4 กันยายนนี้ จะมีวงเสวนาเล็กๆ ว่าด้วย “สรุปบทเรียน 5 ปีศูนย์ข่าวอิศรา” และ “ทิศทางการรายงานข่าวในสถานการณ์ความรุนแรง” ตั้งแต่ช่วงสายๆ ถึงบ่าย 2 โมง ที่โรงแรมซี.เอส.ปัตตานี
เวทีในช่วงแรกจะเป็นการบอกเล่าประสบการณ์ของบรรณาธิการศูนย์ข่าวอิศราแต่ละยุค สาเหตุที่มีบรรณาธิการหลายคน ไม่ใช่เพราะศูนย์ข่าวแห่งนี้ใช้บุคลากรเปลือง แต่เป็นเพราะรูปแบบการทำงานที่วางเอาไว้ตั้งแต่ปฐมบทของการก่อตั้งศูนย์ข่าวว่า ให้มีผู้สื่อข่าวหรือบรรณาธิการจากส่วนกลางทำงานร่วมกับผู้สื่อข่าวในพื้นที่ เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน ทั้งประสบการณ์การทำข่าว และแง่มุมอื่นๆ อันหลากหลาย ทั้งประเด็นทางศาสนา ภาษา วิถีชีวิต วัฒนธรรม และความมั่นคง
ถัดจากเวทีในช่วงเช้าก็จะเข้าสู่ไฮไลท์ของงาน คือทุกภาคส่วนในพื้นที่ ทั้งชาวบ้าน นักวิชาการ ผู้นำศาสนา องค์กรภาคประชาสังคม สื่อสารมวลชน และเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง ตำรวจ ทหาร จะช่วยกันวิพากษ์ผลที่ได้รับทั้งบวกและลบจาก "โครงการโต๊ะข่าวภาคใต้ ศูนย์ข่าวอิศรา" ของสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย นับตั้งแต่วันแรกที่ผู้สื่อข่าวจากส่วนกลางชุดแรก 5 คนสะพายกระเป๋าลงไปประจำการที่ปัตตานี เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2548 โดยมีเรือนรับรองภายในมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี เป็นที่ตั้งชั่วคราวของกองบรรณาธิการ
ประเด็นที่จะหยิบมาแลกเปลี่ยนทัศนคติก็มีทั้งวิธีและรูปแบบการทำงาน ทิศทางของข่าวสาร ซึ่งในแต่ละช่วงเวลาย่อมมีความแตกต่างกัน ตลอดจนจุดยืนของศูนย์ข่าว การปรับตัว และศูนย์ข่าวอิศราในวันนี้ ซึ่งปรับโครงสร้างเป็น “โต๊ะข่าวภาคใต้ สถาบันอิศรา” อยู่ใต้ร่มของมูลนิธิพัฒนาสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย
ประเด็นสำคัญที่จะมองไปข้างหน้าร่วมกันก็คือ ทิศทางการรายงานข่าวในสถานการณ์ความขัดแย้งรุนแรง ซึ่งปัจจุบันไม่ได้จำกัดแค่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้อีกแล้ว แต่ลุกลามไปถึงกรุงเทพฯ และภูมิภาคอื่นๆ ทั่วประเทศ ในที่นี้จะรวมไปถึงประเด็นบทบาทของ “สื่อทางเลือก” และ “สื่อใหม่” หรือ “นิว มีเดียส์” ที่มีบทบาทสูงมากในสังคมข้อมูลข่าวสารปัจจุบันด้วย
ผู้ที่สนใจเชิญร่วมวงรับฟังและแสดงความเห็นกันได้ตามวันและเวลาที่บอก...
นอกจากวงเสวนาสรุปบทเรียน 5 ปีศูนย์ข่าวอิศราแล้ว ในแง่ของเว็บไซต์ www.isranews.org ซึ่งเป็นหน้าเว็บหลักของโต๊ะข่าวภาคใต้ ก็จะมีการปรับหน้าเว็บครั้งใหญ่อีกครั้งหนึ่ง เพื่อสนองตอบการใช้งานและค้นหาข้อมูลของบรรดาแฟนๆ ข่าวภาคใต้ซึ่งเรียกร้องกันมาเนิ่นนาน ประกอบกับจะมีการปรับทิศทางด้านเนื้อหาใหม่อีกครั้ง ด้วยการเปิดรับบทความ สกู๊ป และสารคดีจากผู้ที่สนใจ ไม่จำกัดเฉพาะนักข่าวอีกด้วย
ในฐานะที่ผมเป็นหนึ่งในผู้สื่อข่าวกลุ่มแรกจากส่วนกลางที่เดินทางลงพื้นที่ปัตตานีเมื่อเดือนสิงหาคม 2548 และช่วยงานอยู่ห่างๆ อย่างต่อเนื่อง กระทั่งกลับเข้ามาทำหน้าที่รักษาการบรรณาธิการเมื่อกลางปี 2551 จนถึงนาทีนี้ บอกตรงๆ ว่ารู้สึกดีใจปนประหลาดใจที่ศูนย์ข่าวอิศรามีอายุอานามยืดยาวมาได้ถึง 5 ปี
แต่ความรู้สึกดีใจก็ต้องสะดุดหยุดลง เมื่อฉุกคิดได้ว่าการดำรงอยู่อย่างยาวนานของศูนย์ข่าวอิศรา อันเป็นเพียง “โครงการนำร่อง” ของ “โครงการสื่อสันติภาพ” และ “การรายงานข่าวในสถานการณ์ความขัดแย้ง” ของสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยนั้น ย่อมสะท้อนความจริงอีกด้านหนึ่งว่า ความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ปะทุขึ้นมาตั้งแต่ต้นปี 2547 จนถึงขณะนี้ก็ยังไม่จบลงเช่นกัน
เนื่องจากปัญหาภาคใต้ยังคงอยู่ ศูนย์ข่าวอิศราจึงยังต้องอยู่...
ความรู้สึกของผมจึงแปรเปลี่ยนเป็นความสลด เพราะการที่ต้องทำหน้าที่เกาะติดข่าวสารจากชายแดนใต้อยู่ทุกวัน ทำให้รู้ดีว่าสถานการณ์จริงในพื้นที่ไม่ได้ดีขึ้นอย่างที่ฝ่ายรัฐกล่าวอ้าง
สามจังหวัดชายแดนยังมีเหตุลอบยิงทุกวัน วางระเบิดเกือบทุกวัน และมีคนตายทุกวัน เพียงแต่รูปแบบของเหตุการณ์จะ “แรง” พอที่จะขึ้นเป็นข่าวหน้าหนึ่งหนังสือพิมพ์รายวัน หรือเป็นข่าวนำทางโทรทัศน์หรือไม่เท่านั้น
แม้ระยะหลังเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงจะพยายามแยกแยะคดีความรุนแรงที่เกิดขึ้นว่ามีทั้งเหตุส่วนตัว ชู้สาว เหตุขัดแย้งเรื่องการเมืองท้องถิ่น ยาเสพติด และคดีความมั่นคงแท้ๆ จากฝีมือของกลุ่มก่อความไม่สงบ โดยระบุว่าปริมาณคดีความมั่นคงนั้นมีเพียงราวๆ 10% ของคดีอาชญากรรมที่เกิดขึ้นทั้งหมดกว่า 7 หมื่นคดีตลอดเกือบ 7 ปีที่ผ่านมาก็ตาม
แต่การพูดประหนึ่งว่าการปฏิบัติงานที่ผ่านมาประสบความสำเร็จแล้ว เพราะคดีความมั่นคงเกิดน้อย ขณะที่คดีความรุนแรงจากสาเหตุอื่นเกิดเยอะกว่านั้น (ในกรณีที่เชื่อว่าสถิตินี้เป็นจริง ไม่ใช่ตกแต่งตัวเลขให้ดูดี) ก็ไม่น่าจะเป็นตรรกะที่ถูกต้องภายใต้ปรัชญาการดูแลรักษาความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน เนื่องจากความรุนแรงไม่ว่าจะเกิดขึ้นจากสาเหตุใด ก็หนีไม่พ้นที่รัฐจะต้องรับผิดชอบและหามาตรการป้องกันทั้งสิ้น
ที่สำคัญความรุนแรงคงเกิดขึ้นไม่ได้มากมายขนาดนี้ หากอำนาจรัฐไม่อ่อนแอ และ “เข้าถึง” ทั้งพื้นที่และหัวจิตหัวใจของประชาชนได้อย่างแท้จริง
แต่สิ่งที่เห็นและเป็นอยู่ก็คือ ความพยายามควบคุมสถิติเหตุรุนแรง (ไม่ว่าจะในแง่ตัวเลขหรือสถานการณ์จริง) ให้อยู่ในระดับที่ “พอยอมรับได้” ยิ่งนานวันไปสังคมก็จะค่อยๆ เคยชินกับความรุนแรง ข่าวสารผ่านสื่อกระแสหลักก็เริ่มลดน้อยลง และเจ้าหน้าที่รัฐในพื้นที่เองก็จะมองปัญหาเป็นแค่ “งานรูทีน”
เมื่อถึงเทศกาลของบประมาณ หรือครบรอบเหตุการณ์อะไรกันที ก็จะสรุปตัวเลขสถิติเพื่อยืนยันความสำเร็จกันแบบขอไปที โดยที่ชีวิตประชาชนจริงๆ ในพื้นที่ ตลอดจนเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหาร และพลเรือน ก็ยังคงตายและบาดเจ็บทุกวัน
ครอบครัวที่ขาดเสาหลักก็เพิ่มขึ้น เด็กกำพร้ายิ่งเพิ่มขึ้น ทั้งในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้เอง และภูมิภาคอื่นๆ ทั่วประเทศที่เป็นบ้านเกิดของเหล่าทหาร ตำรวจ ที่ถูกส่งลงไปปฏิบัติหน้าที่แล้วต้องสังเวยชีวิตให้กับความรุนแรง
นี่คือ “โศกนาฏกรรมในความเงียบ” ในห้วงที่สถานการณ์ไฟใต้กำลังก้าวขึ้นสู่ปีที่ 7 และในห้วงที่ปัญหาภาคใต้กำลังจะได้ผู้รับผิดชอบชุดใหม่แบบ “ยกชุด” ทั้งผู้บัญชาการทหารบกคนใหม่ แม่ทัพภาคที่ 4 คนใหม่ ผู้บัญชาการศูนย์ปฏิบัติการจังหวัดชายแดนภาคใต้คนใหม่ และศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ ศอ.บต.โครงสร้างใหม่ เข้ามาช่วยกันดับไฟที่ปลายด้ามขวาน...
แต่ใครล่ะจะหยุดวงจรโศกนาฏกรรมในความเงียบนี้?