20 ปี ‘ตะกอนยม’ กับภารกิจต้านเขื่อนเพื่อรักษาป่าสักทองผืนสุดท้าย
งานครบรอบ 111 ปี กรมชลฯ มีการหยิบยก ‘เขื่อนแก่งเสือเต้น’ ขึ้นมาเป็นประเด็น โดยยืนยันว่าตอบโจทย์การจัดการน้ำภาคกลางได้ หากแต่ความจริงแล้วกลุ่มเยาวชนตะกอนยมไม่เห็นด้วย พร้อมยืนหยัดคัดค้านการสร้างเขื่อนแห่งนี้มายาวนานร่วม 20 ปี
เขื่อนแก่งเสือเต้นมักถูกกล่าวถึงทุกครั้งเมื่อเกิดเหตุการณ์น้ำท่วมในไทยผ่านรัฐบาลหลายยุคหลายสมัย ดังเช่นในงานครบรอบ 111 ปี วันสถาปนากรมชลประทาน ได้หยิบยกเรื่อง ‘เขื่อนแก่งเสือเต้น’ ขึ้นมาพูดคุยด้วย โดยระบุว่า เขื่อนแห่งนี้ตอบโจทย์การบริหารจัดการน้ำลุ่มเจ้าพระยาที่ดีที่สุด แม้ไทยจะไม่เหมาะสำหรับการก่อสร้างเขื่อนขนาดใหญ่แล้วก็ตาม (อ่านเพิ่มเติม:กรมชลฯ โอดสร้างเขื่อนใหญ่ลำบาก เล็งเปลี่ยนรูปแบบผันน้ำจากเพื่อนบ้านเข้าไทยแทน)
แต่สำหรับกลุ่มเยาวชนเล็ก ๆ ‘ตะกอนยม’ แห่งหมู่บ้านสะเอียบ อ.สอง จ.แพร่ ซึ่งตั้งอยู่ในพื้นก่อสร้างเขื่อนนั้น ต่างมีความเห็นที่ค้านกับแนวคิดภาครัฐ เพราะเขาและเธอมีจิตที่มุ่งอนุรักษ์ฐานทรัพยากรธรรมชาติของชาติที่กำลังเหลือน้อยลงทุกที
‘ชาติชาย ธรรมโม’ : 30 ปีชาวสะเอียบค้านสร้างเขื่อน – หวังเยาวชนสืบต่อ
“แรกเริ่มกลุ่มตะกอนยม ก่อตั้งโดยผู้หญิง 9 คนซึ่งเป็นเพื่อนผมในหมู่บ้าน ตอนแรกเขาตั้งเป็นชื่อกลุ่มลูกแม่ยม ปี 2537 ผมอายุ 13 เพื่อนก็ชวนเข้าไปช่วยกันทำงาน และมีการเปลี่ยนแปลงชื่อกลุ่มเป็นตะกอนยม ผมเป็นตะกอนยมรุ่นที่ 3 ตอนนั้นที่หมู่บ้านมีปัญหาเรื่องการสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น ผู้ใหญ่ก็คัดค้าน ส่วนกลุ่มตะกอนยม ก็ช่วยเขียนป้ายผ้า ทำกิจกรรมทางสิ่งแวดล้อม”
‘ชาติชาย ธรรมโม’ ผู้ประสานงานกลุ่มตะกอนยม ย้อนความถึงที่มาของ ‘ตะกอนยม’ กลุ่มที่เกิดจากการรวมกลุ่มกันของเยาวชนจากบ้านดอนชัย บ้านดอนแก้ว บ้านแม่เต้น ต.สะเอียบ อ.สอง จ.แพร่ ในปี 2537 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อปกป้องอนุรักษ์ธรรมชาติ สิ่งแวดล้อมและวัฒนธรรมของชุมชน โดยเฉพาะป่าสักทองผืนสุดท้ายของประเทศที่ยังคงความอุดสมบูรณ์และมีเนื้อที่กว่า 24,000 ไร่
‘ชาติชาย’ ในวัย 32 ปีวันนี้ แม้จะเติบโตเข้าสู่วัยผู้ใหญ่ แต่ก็ยังร่วมขับเคลื่อนกลุ่มตะกอนยมร่วมกับเพื่อน ๆ อีกหลายสิบคน โดยหน้าที่ปลูกฝังจิตสำนึกในการรักษาทรัพยากรธรรมชาติให้แก่เด็กและเยาวชนในหมู่บ้านผ่านการจัดกิจกรรมค่ายสิ่งแวดล้อมอย่างน้อยปีละ 2 ครั้ง โดยมีผู้ใหญ่ในชุมชนเป็นคนให้ความรู้แก่เด็ก ๆ กลุ่มตะกอนยมรุ่นใหม่ที่เติบโตจากค่ายของชุมชน
“เวลาทำค่าย ถ้าเด็กตัวเล็ก ๆ อยากไปเราก็พาไปด้วย โดยเก็บเงินค่าเข้าค่ายตามอายุ 5 ขวบก็ 5 บาท เด็ก ๆจะชอบมากถ้าเราบอกว่าปีนี้มีการเข้าค่ายริมแม่น้ำยมนะ กิจกรรมในค่ายก็ไม่ได้เน้นแต่การสร้างความเข้าใจถึงปัญหาการสร้างเขื่อน แต่ยังพาเด็กพาไปหากุ้ง เก็บผักหวาน สอยไข่มดแดง เราอยากให้เด็กรู้จักทรัพยากรในท้องถิ่น บางทีเด็กเรียนหนังสืออย่างเดียวเขาก็ไม่รู้จักธรรมชาติ นอกจากนี้กลุ่มเรายังสนใจเรื่องประเพณีวัฒนธรรมท้องถิ่นด้วย เช่น ศึกษาว่าเราอพยพมาจากไหน นับถือผีบรรพบุรุษอะไรบ้าง หรือใครทำงานวิจัยท้องถิ่นอะไร เราก็จะเป็นพวกเด็ก ๆ ที่ช่วยจดบันทึก”
เมื่อถามถึงการคัดค้านการสร้างเขื่อนในลุ่มน้ำยม ทั้งเขื่อนแก่งเสือเต้น เขื่อนยมบน และยมล่างที่เป็นปัญหาเรื้อรังระหว่างรัฐและชาวบ้านมาหลายสิบปี ‘ชาติชาย’ กล่าวว่า หลายเขื่อนที่ถูกสร้างขึ้นไม่ได้แก้ปัญหาน้ำท่วมน้ำแล้ง เมื่อบริหารจัดการน้ำไม่ได้ ก็สร้างเขื่อนเพิ่มแต่ปัญหาน้ำท่วมก็ยังเกิดขึ้น ส่งผลกระทบต่อชาวบ้าน เท่ากับเป็นการหลอกลวงประชาชนที่ต้องสูญเสียทรัพยากรท้องถิ่นและวิถีชีวิตการทำกินไปจากการสร้างเขื่อนหลายแห่ง เช่น กรณีเขื่อนปากมูล
“ผมคิดว่าการแก้ไขปัญหาแบบนี้เป็นการแก้ไขปัญหาแบบรวมศูนย์อำนาจ ตราบใดที่รัฐบาลยังเป็นผู้ตัดสินใจในการสร้างเขื่อนเพียง เป็นคนควบคุมการเปิดปิดประตูน้ำ ฉะนั้นน้ำจะท่วมหรือแล้งรัฐบาลจึงเป็นคนกำหนดโดยที่ชาวบ้านไม่มีส่วนร่วม ถ้าน้ำแล้งชาวบ้านอยากใช้น้ำก็ใช้ไม่ได้ เพราะเขาบอกว่ากันน้ำไว้เผื่อแล้ง พอน้ำท่วมก็ปล่อยไม่ได้กลัวไปท่วมที่อื่น จะเห็นว่าอำนาจตัดสินใจไปอยู่ที่รัฐบาลหมด”
ชาติชาย กล่าวอีกว่า วิธีการแก้ปัญหาเรื่องน้ำที่ดีที่สุดไม่ใช่การสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ แต่คือการสร้างฝายขนาดเล็กตามลุ่มน้ำสาขา ซึ่งชาวบ้านสามารถมีส่วนร่วมบริหารจัดการได้ และการปลูกป่าตามแหล่งต้นน้ำ ซึ่งจะเป็นการอนุรักษ์พื้นที่บริหารจัดการน้ำโดยธรรมชาติอย่างยั่งยืน
ด้วยความสามัคคีและเข้มแข็งของชาวสะเอียบในการคัดค้านการสร้างเขื่อนเพื่อปกป้องแหล่งทรัพยากรมากกว่า 30 ปี จะยังสำฤทธิ์ผล แต่สมาชิกตะกอนยมรุ่นใหญ่คนนี้ก็ยังกังวลว่า ต่อไปความเข้มแข็งของชุมชนจะค่อย ๆลดลงไป เพราะข้อจำกัดของเยาวชนตะกอนยมรุ่นใหม่ซึ่งจะกลายเป็นพลังสำคัญของหมู่บ้านในวันหน้า
“ผมกลัวอย่างเดียวว่าในที่สุดแล้ว น้อง ๆ ที่ไปเรียนหนังสือจบม.6 แล้วไปต่อมหาวิทยาลัย จะไม่มีโอกาสกลับมาบ้าน เพราะต้องใช้หนี้กยส.กู้ยืมเรียน เลยต้องไปทำงานในกรุงเทพฯ ไปมีครอบครัวที่นู้น เพราะงานในจังหวัดไม่มีรองรับ ต่อไปเราก็จะแพ้โดยปริยาย แต่ตราบใดที่คนในหมู่บ้านอยู่สู้..ผมว่าเราก็ยังสู้ได้” ชาติชายกล่าว
‘วรเมธ ชัยมงคล’ : เพราะเขื่อนไม่ใช่คำตอบสุดท้ายในการแก้ไขปัญหาน้ำท่วม – น้ำแล้ง
“เข้าเป็นสมาชิกตั้งแต่อายุเท่าไหร่ไม่ทราบ แต่ตั้งแต่จำความได้...ผมก็ร่วมเดินขบวนกับกลุ่มเยาวชนตะกอนยม ได้ช่วยผู้ใหญ่วาดป้าย ถือป้ายคัดค้านการสร้างเขื่อน เด็ก ๆ ในพื้นที่เห็นเรื่องพวกนี้มาตั้งแต่เกิดเพราะการคัดค้านการสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้นมีมายาวนานกว่า 30 ปี” ‘วรเมธ ชัยมงคล’ นักศึกษาชั้นปีที่ 1 มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เล่าถึงที่มาในการเข้าร่วมเป็นสมาชิกกลุ่มตะกอนยม
‘วรเมธ’ เรียกตัวเองและเพื่อน ๆ กลุ่มตะกอนยมว่า ‘นักอนุรักษ์’ เพราะนอกจากกลุ่มฯจะมีหน้าที่ปกป้องรักษาธรรมชาติในป่าสะเอียบแล้ว ทรัพยากรธรรมชาติทุกอย่างบนโลกใบนี้ก็เป็นสิ่งที่กลุ่มฯร่วมปกป้อง โดย “การประชุมไซเตส(การประชุมสมัยสามัญภาคีอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดพันธุ์สัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์)ในประเทศไทย ซึ่งมีการพูดถึงการค้าช้าง ค้าสัตว์ป่า เราก็ได้ติดตามเรื่องนี้มาโดยตลอด เพราะเราเป็นนักอนุรักษ์ที่ต้องรู้และเข้าใจสถานการณ์ทรัพยากรธรรมชาติของโลกด้วย”
แม้จะยังเป็นเพียงเยาวชนที่เพิ่งพ้นจากรั้วโรงเรียนมัธยมได้ไม่นาน แต่เมื่อเล่าถึงการบริหารจัดการน้ำของรัฐ ‘วรเมธ’ แสดงความคิดเห็นได้อย่างผู้ใหญ่ที่เข้าใจต้นตอปัญหาเป็นอย่างดี “ถ้าถามผมว่าการบริหารจัดการน้ำภายใต้งบฯ 3.5 แสนล้านบาทของรัฐบาลเวลานี้เป็นการแก้ปัญหาที่ถูกจุดไหม ก็อาจถูกบางส่วน การสร้างเขื่อนมันอาจช่วยแก้ไขเรื่องอุทกภัย ภัยแล้งได้บ้าง แต่อยากให้มองว่าเขื่อนอื่น ๆ ที่สร้างมาแล้วได้ช่วยแก้ปัญหาน้ำได้จริงหรือ อย่างกรณีน้ำท่วมเมื่อปลายปี 54 ถ้าไม่ระบายน้ำจากเขื่อนสิริกิตต์ เขื่อนก็แตก พอระบายแล้วน้ำก็ท่วม หรือตอนนี้เกิดปัญหาน้ำแล้ง เขื่อนต้องกักเก็บน้ำไว้ ชาวบ้านก็ใช้น้ำไม่ได้”
‘วรเมธ’ กล่าวถึงกระแสเรียกร้องให้มีการสร้างเขื่อนในลุ่มน้ำยม โดยอ้างเหตุน้ำท่วมในหลายปีให้หลังว่าเป็นเพราะแม่น้ำยมไม่มีเขื่อนกั้นน้ำ ซึ่งเขาอยากให้มองว่าการสร้างเขื่อนเป็นการแก้ปัญหาน้ำที่ต้นตอจริงหรือไม่ หรือ ฝ่ายการเมืองที่ได้ผลประโยชน์จากการสร้างเขื่อนอยู่เบื้องหลัง โดยเห็นว่าการสร้างเขื่อนในลุ่มแม่น้ำยมขณะนี้มีความเสี่ยงมากขึ้น เมื่อมีการสำรวจทางธรณีวิทยาพบรอยเลื่อนแม่ยมที่ทำให้เกิดแผ่นดินไหวขนาด 2.9 ริกเตอร์ เมื่อวันที่ 11 มี.ค. 56
“การมีป่าต่างหากที่สำคัญ ไม่ใช่การมีเขื่อน เพราะป่าเป็นที่กักเก็บน้ำถาวรที่สุดและยังรักษาความอุดมสมบูรณ์ของระบบนิเวศไว้ได้อย่างดีด้วย วิธีการจัดการน้ำที่ดีที่สุดจึงควรฟื้นฟูป่ามากกว่าสร้างเขื่อน” เยาวชนตะกอนยมกล่าวทิ้งท้าย
อาริศราพรดิ์ สะเอียบคง:แนะคนไทยใช้เศรษฐกิจพอเพียงจัดการชุมชนยั่งยืน
“การแก้ไขปัญหาน้ำท่วมโดยการสร้างเขื่อนไม่ใช่ทางออกที่ถูกต้อง ทางที่ดีรัฐบาลควรวิเคราะห์ถึงต้นตอปัญหาที่แท้จริงว่า กรณีน้ำท่วมที่ผ่านมาเกิดจากอะไร เพราะเชื่อว่าแต่ละพื้นที่มีสาเหตุของปัญหาที่แตกต่างกัน” คำบอกเล่าของอาริศราพรดิ์ สะเอี่ยมพงศ์ เยาวชนตะกอนยมรุ่นแรก ๆ
‘อริศราพรดิ์’ กล่าวถึงการดำเนินงานของกลุ่มตะกอนยมว่า เยาวชนในพื้นที่ขับเคลื่อนเรื่องการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมตลอดเวลา โดยเฉพาะการจัดการชุมชน ซึ่งร่วมกับชาวบ้านในการทำฝาย เพื่อกักเก็บน้ำในฤดูน้ำหลากไว้ใช้ในหน้าแล้ง และยังสามารถทำให้สิ่งมีชีวิตรอบฝายอุดมสมบูรณ์ขึ้นได้ โดยได้รับการสนับสนุนจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ซึ่งวิธีการของกลุ่มตะกอนยมและชาวบ้านสะเอียบสามารถก่อเกิดประโยชน์มากกว่าการสร้างเขื่อน
อย่างไรก็ตาม แม้รัฐบาลพยายามผลักดันการสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น เขื่อนยมบน และเขื่อนยมล่าง เพื่อควบคุมการไหลของน้ำของลุ่มน้ำยม เธอมองว่าแม้จะไม่ส่งผลกระทบต่อชาวบ้านในพื้นที่มากนัก แต่จะส่งผลกระทบโดยตรงกับป่าสักทองหลายหมื่นไร่ ตลอดจนระบบนิเวศที่ต้องสูญสลายไป ซึ่งถาวมว่าคุ้มค่าแล้วหรือ สำหรับการสร้างเพื่อแก้ปัญหาจุดหนึ่ง โดยที่ไม่รู้ว่าจะแก้ไขได้จริงหรือไม่
“รัฐบาลจะต้องเปิดเผยข้อเท็จจริงเกี่ยวกับผลดีผลเสียของการสร้างเขื่อนทั้งหมดให้ประชาชนทราบอย่างจริงใจ รวมถึงเรียกร้องให้คนไทยทั้งประเทศลุกขึ้นมามีส่วนร่วมในการวิเคราะห์ปัจจัยเหล่านี้ มิใช่เฉพาะ ชาวสะเอียบเท่านั้น”
อย่างไรก็ดี เพื่อการแก้ปัญหาน้ำท่วมอย่างยั่งยืน อริศราพรดิ์ จึงเสนอให้คนไทยหันมาดำรงชีวิตแบบวิถีเศรษฐกิจพอเพียงตามแนวทางพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ โดยการรวมพลังในชุมชนอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติอย่างพอเพียง ด้วยการจัดการน้ำชุมชน ซึ่งเป็นการจัดการที่ยั่งยืน อันสำคัญมากกว่าการสร้างเขื่อน เพราะการสร้างเขื่อนบนรอยเลื่อนนั้น เมื่อเกิดแผ่นดินไหวอาจส่งผลกระทบให้เขื่อนแตกร้าว อย่าลืมว่าเหตุการณ์ภัยพิบัติทางธรรมชาติ มนุษย์ไม่สามารถคาดการณ์ได้
ทั้งนี้ ทิ้งท้ายฝากถึงรัฐบาลให้มีนโยบายในการส่งเสริมสนับสนุนการทำงานของภาคเยาวชนในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจัง ด้วยแนวทางปฏิบัติที่ชัดเจนและเป็นรูปธรรม เพื่อประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นแก่สังคม ซึ่งดีกว่าการส่งเสริมให้เด็กเรียนรู้การอนุรักษ์จากหน้าจอแท๊ปเล็ตเหมือนเช่นปัจจุบัน
เยาวลักษณ์ ศรีคำภา:เขื่อนแก่งเสือเต้นอาจมีผลประโยชน์แอบแฝงอยู่
“คนที่บอกว่าไม่สมควรสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้นในอดีตกับคนที่บอกว่าไทยจำเป็นต้องมีเขื่อนแก่งเสือเต้นในปัจจุบันกลับเป็นคน ๆ เดียวกัน นั่นคือ นายปลอดประสพ สุรัสวดี รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย (กบอ.)” เยาวลักษณ์ ศรีอำภา วัย 35 ปี กลุ่มตะกอนยมรุ่นที่ 1 กล่าวถึงโครงการก่อสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำยมขนาดใหญ่ที่ถกเถียงยาวนานกว่า 20 ปี
เธอกล่าวต่อว่า นายปลอดประสพมีปณิธานแน่วแน่ในอดีตว่าไทยไม่มีพื้นที่สำหรับการสร้างเขื่อนขนาดใหญ่อีกแล้ว เพราะโครงการเหล่านี้เป็นตัวบ่อนทำลายทรัพยากรธรรมชาติ แต่เมื่อสถานะของนายปลอดประสพกลายเป็นรองนายกรัฐมนตรีกลับเปลี่ยนแปลงอุดมการณ์ดังกล่าว จึงน่าสงสัยว่า “เขื่อนแก่งเสือเต้นอาจมีผลประโยชน์หลายหมื่นล้านเกี่ยวโยงก็ได้”
โดยผลวิจัยต่าง ๆ ออกมายืนยันว่า เขื่อนแก่งเสือเต้นไม่ตอบโจทย์ต่อการแก้ปัญหาน้ำท่วม เพราะเก็บกักน้ำได้น้อย รวมถึงตั้งอยู่บริเวณรอยเลื่อนของแผ่นเปลือกโลก ทำให้อนาคตหากเกิดแผ่นดินไหวอาจพังลงมาได้ ทางที่ดีต้องไปสร้างเขื่อนบริเวณจังหวัดสุโขทัย เพราะเป็นพื้นที่เสี่ยงต่อการเกิดน้ำท่วม เนื่องจากมีมวลน้ำจากแม่น้ำสาขาไหลลงมามาก แต่ต้องอยู่ภายใต้การจัดการน้ำอย่างยั่งยืน และชุมชนเข้าถึงสิทธิการมีส่วนร่วม เพราะปัจจุบันชาวบ้านมีความตื่นตัวเรื่องสิทธิชุมชนสูง จะเห็นได้จากโครงการขนาดใหญ่ที่จะเกิดขึ้นและอาจส่งผลกระทบต่อชุมชน ชุมชนมักจะออกมาตั้งคำถามและเริ่มกระบวนการมีส่วนร่วมในการติดตามหาข้อมูลของโครงการทันที ผิดกับอดีตที่หลายคนยังขาดการตั้งคำถาม เพราะหลงเชื่อกับคำพูดหน่วยงานรัฐที่มักอ้างให้เสียสละเพื่อประโยชน์ของการพัฒนาชาติ
“อดีตไทยมีบทเรียนจากการสร้างเขื่อนแล้วไม่เกิดประโยชน์มากมาย จึงถึงเวลาแล้วที่จะยุติการสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ ด้วยประเทศพัฒนาแล้วอย่างสหรัฐอเมริกาที่เคยสร้างเขื่อนกักเก็บน้ำมากมายเมื่อ 60 ปีก่อน ปัจจุบันได้ทยอยทุบทิ้ง เพราะการมีเขื่อนได้ส่งผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมมหาศาล”
ทั้งนี้ ยังกล่าวอีกว่า แม้ตอนนี้กระแสเรื่องเขื่อนแก่งเสือเต้น เขื่อนยมบน เขื่อนยมล่างจะเงียบไป แต่ชาวบ้านยังหวั่นว่าภายใต้ความเงียบนั้นรัฐบาลอาจจะมีการแอบเคลื่อนไหวก็ได้ ดังนั้นกลุ่มตะกอนยมจึงต้องรวมตัวกันขับเคลื่อนและพัฒนาฐานทรัพยากรชุมชนตลอดเวลา รวมถึงส่งเสริมเด็กและเยาวชนรุ่นใหม่ให้ก้าวขึ้นมาแทนที่อีกด้วย เพราะอย่างไรเราก็ไม่สามารถให้เกิดเขื่อนแก่งเสือเต้นในพื้นที่ได้
................................................................................................................
แม้ตะกอนเล็ก ๆ ที่พัดพามาตามลำน้ำยมจะดูไร้ค่าในสายตาหลายคน แต่เมื่อรวมตัวเป็นกลุ่มก้อนเดียวกันแล้ว กลับสามารถสร้างประโยชน์ให้กับชาติได้ เฉกเช่นกลุ่มเยาวชน ‘ตะกอนยม’ ที่ยืนหยัดต่อสู้เพื่อยับยั้งการสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น และมุ่งมั่นอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมตลอดไป.