ชาวบ้านหวั่นอ่าวพังงาทรัพยากรสูญ เหตุสร้างท่าเรือยอช์ท หวังโกยเงินท่องเที่ยว
ชาวบ้านหวั่นอุตฯ-เขื่อนใหญ่รุกพื้นที่เกษตร ทำลายแหล่งผลิตอาหาร ชี้อ่าวพังงาทรัพยากรใกล้สูญ เหตุสร้างท่าเรือยอช์ทเอื้อเศรษฐีต่างชาติ หวังโกยเงินท่องเที่ยว ดัน ‘แม่น้ำบางปะกง’ เป็นแรมซาไซต์
วันที่ 14 มิ.ย. 56 แผนงานสนับสนุนความมั่นคงทางอาหาร ร่วมกับมูลนิธิชีววิถี จัดประชุมสมัชชาความมั่นคงทางอาหาร ปี 56 ณ คณะเกษตร ม.เกษตรศาสตร์ โดยในเวทีเสวนา ‘การขยายตัวของอุตสาหกรรมและโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ในไทยและอาเซียนที่กระทบพื้นที่ผลิตอาหาร’
นายกระแสร์ บัวบาน กำนันต.บางหลวงโดด อ.บางบาล จ.พระนครศรีอยุธยา กล่าวว่า พื้นที่เกษตรกรรมในจ.อยุธยา 1.3 ล้านไร่ กำลังถูกคุกคามจากการขยายตัวของอุตสาหกรรม จนส่งผลให้แหล่งผลิตอาหารของประเทศเสื่อมโทรม และอาจทำให้อาชีพเกษตรกรรมดั้งเดิมค่อย ๆ หายสาบสูญ ยิ่งเมื่อประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) เกิดขึ้น ไทยคงเหลือแต่อุตสาหกรรมเกษตรหรืออาหารที่กลุ่มทุนเป็นเจ้าของแทนที่เท่านั้น
ส่วนข้อกังวลโครงการพัฒนาตามแผนบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาท ที่มีการอนุมัติก่อสร้างเขื่อนแม่วงก์ เขื่อนแก่งเสือเต้น ฟลัดเวย์ หรือสิ่งก่อสร้างขนาดใหญ่อื่นนั้น นายกระแสร์ กล่าวว่า จะส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตชาวบ้านและระบบนิเวศทางธรรมชาติ อย่างไรก็ตาม ชาวบ้าน 19 จังหวัดยินยอมที่จะให้พื้นที่เกษตรกรรม 3.7 ล้านไร่ใช้รับน้ำตามโครงการพระราชดำริฯ แก้มลิงมากกว่า ซึ่งเป็นการดำเนินงานที่ไม่ต้องลงทุนมาก และเชื่อว่าจะสามารถป้องกันน้ำท่วมเขตเศรษฐกิจได้โดยไม่ทำลายแหล่งผลิตอาหารของประเทศ
ด้านนายประสิทธิ์ชัย หนูนวล เครือข่ายปกป้องพื้นที่ผลิตอาหาร อ่าวทองคำ กล่าวว่า ขณะนี้อุตสาหกรรมหนักกำลังคุกคามพื้นที่ภาคใต้ โดยเฉพาะโรงไฟฟ้าถ่านหินและแท่นขุดเจาะน้ำมันปิโตเลียมกรณีเชฟรอน ทำให้ชาวบ้านใน 4 จังหวัด ได้แก่ นครศรีธรรมราช พัทลุง สุราษฎร์ธานี และชุมพร ลุกขึ้นมาประกาศเจตนารมณ์ว่าจะปกป้องแหล่งผลิตอาหารของภาคใต้ ซึ่งไม่จำเป็นต้องมาถกเถียงกันในประเด็นการศึกษาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) อีกต่อไป
"แม้จะบอกว่ามีเทคโนโลยีที่ดีที่สุดจะสามารถป้องกันความเสื่อมโทรมทางทรัพยากรธรรมชาติ คิดว่าไม่มีอยู่จริง แต่หากเป็นโครงการอุตสาหกรรมเกษตรหรืออาหารแช่แข็ง ซึ่งเอื้อต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตเรายินยอมเจรจา" นายประสิทธิ์ชัย กล่าว และว่า ถ้าสังคมไทยไม่รักษาพื้นที่ทรัพยากรอาหารของประเทศ เชื่อว่า ในอนาคตจะไปไม่รอด ดังนั้นชาวบ้านต้องลุกขึ้นมากำหนดวิถีชีวิตให้พึ่งพาตนเองได้ โดยไม่ต้องพึ่งพางบประมาณจากภายนอกมากนัก
นายกัญจน์ ทัตติยกุล เครือข่ายเพื่อนตะวันออก วาระเปลี่ยนตะวันออก กล่าวถึงสถานการณ์ปัญหาสิ่งแวดล้อมเข้าขั้นวิกฤต ตั้งแต่ญี่ปุ่นผลักดันอุตสาหกรรมหนักที่มีผลกระทบต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อมมาตั้งฐานการผลิตในภาคตะวันออกของไทย โดยเฉพาะการแย่งชิงทรัพยากรน้ำที่ไม่เพียงพอและบางแห่งเริ่มเน่าเสีย อย่างไรก็ดี เราพยายามรักษาแม่น้ำบางปะกง ซึ่งเป็นสายหลักของพื้นที่ให้มีความมั่นคงในฐานะฐานผลิตอาหารสำคัญด้วยการลุกขึ้นมาศึกษาศักยภาพของแม่น้ำแห่งนี้ เพื่อประกาศเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญในระดับนานาชาติ (แรมซาไซค์) โดยคาดว่าจะสำเร็จในเร็ววัน
ขณะที่นายพิเชษฐ์ ปานดำ โครงการสร้างความมั่นคงทางด้านอาหาร ชุมชนชายฝั่งอ่าวพังงา กล่าวว่า ภายหลังเกิดเหตุการณ์สึนามิ ภาครัฐมุ่งพัฒนาพื้นที่อ่าวพังงา ซึ่งประกอบด้วยจ.ภูเก็ต พังงา และกระบี่ ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวทางน้ำโลก ทำให้นักลงทุนทั้งไทยและต่างชาติเข้ามาสร้างท่าจอดเรือยอช์ท อำนวยความสะดวกแก่นักท่องเที่ยวมหาเศรษฐีที่เข้ามาพักผ่อนในไทยตามแผนพัฒนาของจังหวัด โดยลืมไปว่า การสร้างท่าจอดเรือยอช์ทนั้นได้ทำลายฐานทรัพยากรสำคัญทางธรรมชาติ นั่นคือแนวหญ้าทะเล ป่าชายเลน และแนวปะการัง อีกทั้งทำให้แหล่งอาหารในพื้นที่ไม่เพียงพอสำหรับการยังชีพของชาวบ้าน จนต้องนำเข้าจากพื้นที่อื่น ได้แก่ ราชบุรี นครศรีธรรมราช สุราษฏร์ธานี ชุมพร และภาคตะวันออก
“แม้จะรู้ว่าการสร้างท่าเรือทำลายความมั่นคงทางอาหาร แต่เมื่อเป็นการท่องเที่ยว ซึ่งมองว่า นโยบายสะอาด จึงยากที่จะหาชาวบ้านคัดค้าน ทั้งที่น่ากังวลหากยังเกิดการรุกรานพื้นที่ธรรมชาติจากเอกชนเพียงไม่กี่รายเช่นนี้ ชาวบ้านจะอยู่อย่างไร เพราะปัญหามิได้เกิดขึ้นระหว่างชุมชนกับทุนท้องถิ่น แต่เกิดขึ้นระหว่างชุมชนกับมหาเศรษฐีต่างชาติ” นายพิเชษฐ์ กล่าวทิ้งท้าย