ใช้อำนาจอย่างเดียวแก้ขัดแย้งไม่ได้!
โต๊ะข่าวภาคใต้ สถาบันอิศรา
"อำนาจโดยไม่มีความรักจะระห่ำและกดขี่ แก้ปัญหาด้วยอำนาจโดยไม่มีความรัก จะไม่มีทางสำเร็จ" เป็นคำกล่าวของ มาร์ติน ลูเธอร์ คิง ผู้นำการเรียกร้องสิทธิมนุษยชนในสหรัฐ เจ้าของรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ ซึ่ง นายอดัม คาเฮน ผู้เชี่ยวชาญกระบวนการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในหลายประเทศทั่วโลกหยิบยกขึ้นมาอ้างอิงระหว่างร่วมสัมมนาเรื่อง "เราจะส่งมอบประเทศไทยแบบไหนให้ลูกหลาน" ที่วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร เมื่อบ่ายวันจันทร์ที่ 16 ส.ค.ที่ผ่านมา
แม้ อดัม คาเฮน จะมีประสบการณ์การจัดกระบวนการสันติวิธีเพื่อยุติปัญหาความขัดแย้งรุนแรงมาแล้วทั้งในประเทศแอฟริกาใต้ โคลัมเบีย อาร์เจนตินา และกัวเตมาลา โดยใช้วิธีการที่เรียกว่า "scenarios" หรือ "จำลองภาพเหตุการณ์ในอนาคต" และเขาก็ออกตัวว่ายังไม่เข้าใจสภาพปัญหาของประเทศไทยอย่างลึกซึ้งเพียงพอ แต่คำกล่าวของ มาร์ติน ลูเธอร์ คิง ที่เขาหยิบยกมาอ้าง ดูจะอธิบายสถานการณ์ตึงเครียดอึดอัดในสังคมไทยขณะนี้ได้เป็นอย่างดี
โดยเฉพาะการใช้อำนาจโดยปราศจากความรัก!
เขาอธิบายว่าแม้ความขัดแย้งในแต่ละประเทศจะมีรายละเอียดไม่เหมือนกัน แต่ก็มีจุดร่วมบางอย่างคล้ายๆ กัน สิ่งที่ชัดเจนที่สุดคือหากไม่มุ่งเน้นการผนึก ประสาน และสร้างสมานฉันท์โดยใช้ "ความรัก" เป็นพลังขับเคลื่อน กระบวนการยุติปัญหาความขัดแย้งก็จะไม่มีทางสำเร็จ
"อำนาจและความรักล้วนมีข้อดีของตนเอง แต่หากใช้โดยขาดอย่างใดอย่างหนึ่งไป จะทำให้ปัญหายิ่งลุกลาม" อดัมซึ่งเพิ่งเปิดตัวหนังสือเล่มใหม่ที่ได้รับการแปลเป็นภาษาไทยชื่อ "พลังรัก พลังอำนาจ" หรือ Power and Love สรุป
ย้อนกลับไปที่วิธีการ "scenarios" หรือการจำลองสถานการณ์ในอนาคต อดัม อธิบายว่า หมายถึงการรวบรวมข้อมูลจากทุกฝ่ายว่าที่ผ่านมามีอะไรเกิดขึ้น และในอนาคตอาจจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง เพื่อวางแผนปฏิบัติการและป้องกันอุปสรรคปัญหาที่จะเกิดขึ้นต่อไป ตัวอย่างความสำเร็จของแอฟริกาใต้ มีการจำลองเหตุการณ์ในอนาคต 3 ขั้นตอน คือ
1.ริเริ่มการเจรจาต่อรองได้หรือไม่ หากได้ก็จะเดินหน้าต่อไป แต่หากไม่ได้ โดยรัฐบาลคนขาวทำตัวเหมือนนกกระจอกเทศ คือมุดหัวอยู่แต่ในทราย พยายามหลีกเลี่ยงปัญหาและไม่ยอมรับฟัง แม้จะทำได้ แต่ก็เพียงชั่วคราว และไม่แก้ปัญหาอะไรเลย
2.กระบวนการเปลี่ยนผ่านอำนาจเร็วเกินไปหรือไม่ เช่น การจัดโครงสร้างอำนาจใหม่ การเปิดให้คนผิวดำเข้าไปมีส่วนร่วมในรัฐบาล หากเร็วเกินไปหรือมากเกินไป รัฐบาลก็จะกลายเป็นเป็ดง่อย แต่ถ้าดำเนินการอย่างค่อยเป็นค่อยไปจนได้รับการยอมรับจากทุกฝ่าย ก็จะเดินหน้าไปในขั้นตอนต่อไปได้
3.การจัดการของรัฐบาลหลังการเปลี่ยนผ่านมีความเข้มแข็งยั่งยืนหรือไม่ ถ้าเข้มแข็งก็จะมีโอกาสเดินหน้าสู่สันติภาพ แต่ถ้าไม่เข้มแข็งยั่งยืน กระบวนการทั้งหมดก็ต้องถอยหลัง
อดัม ชี้ว่า วิธีการสร้างปาฏิหาริย์เมื่อสถานการณ์ถึงทางตันโดยไม่ต้องคุกเข่าอ้อนวอนขอเทวดา ก็คือการดึงทุกฝ่ายมาร่วมจำลองเหตุการณ์ในอนาคต และร่วมเดินไปด้วยกัน จากประสบการณ์ของแอฟริกาใต้ มีการจัดระดมความเห็นคนทุกฝ่าย ทั้งฝ่ายค้าน ฝ่ายรัฐบาล คนผิวขาว ผิวดำ ทั้งที่มีแนวคิดซ้ายสุดจนถึงขวาสุด เพื่อหาทางออกร่วมกันกระทั่งประสบความสำเร็จ
"ปัญหาขัดแย้งในระดับชาติเป็นปัญหาที่มีความซับซ้อนสูง ทั้งในแง่พลวัต สังคม และวิธีการ ในแง่ของวิธีการนั้นเราสามารถศึกษาเรียนรู้ประสบการณ์จากประเทศอื่นได้ แต่ในแง่ของสังคม เราต้องมองตัวเอง และต้องเรียนรู้เพื่อเข้าใจความคิดของแต่ละฝ่ายในสังคมไปพร้อมๆ กัน สิ่งสำคัญคือทุกภาคส่วนต้องมีส่วนร่วม ต้องพร้อมที่จะปรับตัว และเรียนรู้เพิ่มเติมตลอดเวลา"
อดัม เรียกสิ่งที่เขาอธิบายทั้งหมดว่า "ห้องปฏิบัติการความเปลี่ยนแปลง" ซึ่งก็คือการดึงภาคส่วนต่างๆ ของสังคมมาร่วมคิด ร่วมจำลองเหตุการณ์ในอนาคตด้วยกัน เพราะการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งไม่สามารถทำเพียงคนเดียวหรือฝ่ายเดียวได้
เช่นเดียวกับปัญหาที่กัวเตมาลา ซึ่งเคยขัดแย้งรุนแรงถึงขั้นฆ่ากัน มีประชาชนนับแสนถูกสังหาร เมื่อเริ่มต้นแก้ปัญหา ก็ต้องคิดว่าจะปฏิสังขรณ์ประเทศกันอย่างไร เพราะทุกภาคส่วนแตกยับไปหมด จึงต้องดึงทุกฝ่ายให้หันหน้าเข้าหากัน ทั้งรัฐบาล ฝ่ายค้าน นักการเมือง นักหนังสือพิมพ์ พ่อค้า ชนพื้นเมือง คนหนุ่มสาว หรือแม้กระทั่งผู้นำศาสนา
"คณะทำงานที่เราตั้งขึ้นแบ่งออกเป็นคณะย่อยๆ นับร้อยชุด ลงไปทำงานกับทุกกลุ่ม ทั้งทำกิจกรรมเชิงสมานฉันท์ ประนีประนอม พูดคุยในทางลับ และอื่นๆ ผลที่ได้จากการจำลองเหตุการณ์ในอนาคตร่วมกันเปรียบเหมือนเก้าอี้สามขา คือมีการเริ่มต้น มีการขับเคลื่อน และมีสถาบัน ทั้งหมดนำไปสู่การสร้างความเข้าใจ เครือข่าย รูปแบบการแก้ปัญหา ความมั่นใจ และฉันทามติร่วม"
อดัม ยังบอกอีกว่า ปัจจัยหนึ่งที่จะนำไปสู่ความสำเร็จของการแก้ไขปัญหา คือต้องเปลี่ยนวิธีการพูดและฟัง ซึ่งมี 4 ระดับ จาก Downloading หรือดึงข้อมูลเก่าๆ เอามาพูดซ้ำๆ ซึ่งไม่มีประโยชน์ ต้องเปลี่ยนเป็น Debating หรือการอภิปราย ซึ่งเป็นวิธีที่เปิดมากขึ้น เพราะเป็นการฟังเพื่อตัดสิน แต่ก็ไม่ได้สร้างสรรค์สิ่งใหม่
ฉะนั้นต้องขยับไปอีกขั้นคือ Dialoguing คือการสานเสวนา ซึ่งไม่ได้บอกแค่ว่าตัวเองคิดอะไรอยู่ แต่บอกว่าทำไมถึงคิดแบบนั้น และพยายามทำความเข้าใจอีกฝ่ายหนึ่งด้วยความใส่ใจ สนใจ เน้นทำความเข้าใจ ไม่ใช่ตัดสิน และสุดท้ายคือ Presencing ได้แก่การร่วมกันสร้างสรรค์สิ่งใหม่โดยไม่มีพรมแดน ซึ่ง "ความรัก" และ "อำนาจ" จะเป็นพลังที่ทำให้เกิดสิ่งใหม่ดังกล่าวได้
ผู้เชี่ยวชาญด้านการแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง ยังกล่าวถึงสถานการณ์ในประเทศไทยว่า มีความซับซ้อนสูง ไม่ใช่แค่เสื้อแดงกับเสื้อเหลือง แต่เป็นความแตกต่างหลากหลายในสังคม ปัญหาซับซ้อนแบบนี้จึงไม่ใช่แค่ให้ผู้มีอำนาจหรืออาจารย์มหาวิทยาลัยมาร่วมกันแก้เท่านั้น แต่ต้องให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง
"เหมือนกับการให้ปิดตาคลำช้าง แต่ละคนก็จะพูดเฉพาะในมุมที่ตัวเองได้สัมผัสหรือพบเจอมา ฉะนั้นต้องทำให้ทุกคนทุกฝ่ายได้คุยกัน จึงจะเห็นภาพทั้งหมด"
"ผมก็เข้าใจว่าในประเทศไทยมีความแตกแยกเป็นฝักฝ่ายและแบ่งขั้วกันชัดเจน ขณะที่แต่ละฝ่ายก็พยายามแสวงหาสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับตัวเอง วิธีการแก้ไขสภาพการณ์เช่นนี้ไม่ใช่การกดขี่ปราบปรามฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง แต่ต้องสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมด้วยความรัก ซึ่งไม่ใช่แค่มอบดอกกุหลาบให้กัน แต่เป็นความรักเพื่อความสมานฉันท์และเปิดพื้นที่เพื่อสานเสวนาและสร้างกิจกรรมเพื่อความปรองดอง" อดัม กล่าวทิ้งท้าย
-----------------------------------------------------------------------------------
หมายเหตุ 1 : อดัม คาเฮน บรรยายที่วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร เมื่อบ่ายวันจันทร์ที่ 16 ส.ค. ในงานสัมมนาเรื่อง "เราจะส่งมอบประเทศไทยแบบไหนให้ลูกหลาน" ซึ่งสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยเป็นองค์กรร่วมจัด โดยผมมีโอกาสไปร่วมรับฟังด้วย และเห็นว่าแนวคิดของ อดัม คาเฮน น่าจะเป็นประโยชน์ต่อการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในสังคมไทย รวมถึงปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเฉพาะการร่วมจำลองภาพเหตุการณ์ในอนาคต หรือ "scenarios" และการเปลี่ยนวิธีการพูดกับการฟังเพื่อร่วมกันหาทางออกของความขัดแย้ง จึงนำมารายงานไว้ในคอลัน์นี้
หมายเหตุ 2 : งานเขียนชิ้นนี้ตีพิมพ์ครั้งแรกในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ หน้า 2 ฉบับวันอังคารที่ 17 ส.ค.2553
ขอบคุณ : ภาพ อดัม คาเฮน จากศูนย์ภาพเนชั่น