กรรมสิทธิ์ที่ดิน แค่เรื่อง “จิ๊บจ๊อย” จุฬาฯไล่อุเทนถวายเพราะเหตุใดกันแน่?
ความเคลื่อนไหวล่าสุด ที่คณะศิษย์เก่าและศิษย์ปัจจุบัน มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก วิทยาเขตอุเทนถวาย ได้รวมตัวกันไปทวงถามความคืบหน้าจากสำนักงานจัดการทรัพย์สิน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หลังจากจากที่ได้ไปยื่นจดหมาย เรื่องขอให้โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินคืนให้แก่โรงเรียนช่างก่อสร้างอุเทนถวาย เมื่อวันที่ 15 มีนาคมที่ผ่านมา
วันนี้ (14 มิ.ย.) จุฬาฯ โดยรองอธิการบดี นายบุญไชย สถิตมั่นในธรรม ยืนยันชัดเจนว่า “เป็นไปไม่ได้” เพราะมี พ.ร.บ.จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พ.ศ.2551 กำกับ แม้จะอยากทำแต่ก็ทำไม่ได้ เพราะขัดต่อกฎหมาย พร้อมทั้งชวนให้กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เข้ามาเป็นคนกลางในการแก้ปัญหา ทั้งการหาพื้นที่ใหม่ให้อุเทนถวายและช่วยตัดสินใจเชิงนโยบายเพื่อให้เรื่องเดินหน้า
และระบุด้วยว่า จุฬาฯไม่ได้เร่งรัดให้ต้องย้ายออกในเร็ววัน เพราะเข้าใจดีว่าต้องใช้เวลาในการจัดเตรียมพื้นที่ และต้องได้รับงบประมาณสนับสนุนด้วย
ถือว่าเป็นคำตอบ ที่ยังไม่อาจนำมาซึ่งทางออก ของกรณีพิพาทเรื่องที่ดินระหว่างสองสถาบัน
ลำดับความย้อนไป ความขัดแย้งเริ่มขึ้นเมื่อ “จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย” ขอพื้นที่คืนจาก “มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก วิทยาเขตอุเทนถวาย” เพื่อนำพื้นที่ไปสร้าง "ศูนย์นวัตกรรมงานสร้างสรรค์เพื่อชุมชนยั่งยืน" ตามโครงการที่ได้วางไว้ตามแผนแม่บทพัฒนามหาวิทยาลัย
ภายหลังจากที่อุเทนถวายครบกำหนดตามสัญญา “เช่าที่” จากจุฬาฯ ตั้งแต่ปี 2546
แต่วิทยาเขตอุเทนถวายไม่ยินยอมย้ายออก จนนำไปสู่การฟ้องร้อง มีการตั้งคณะกรรมการพิจารณาชี้ขาดการยุติการดำเนินคดีแพ่งของส่วนราชการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง (กยพ.) ซึ่งเป็นหน่วยงานในสังกัดสำนักงานอัยการสูงสุด ได้ตัดสินชี้ขาดเมื่อปี 2552 ให้วิทยาเขตอุเทนถวายย้ายออกจากที่ดินแปลงดังกล่าว แต่วิทยาเขตอุเทนถวายได้ยื่นข้อเสนอขอเช่าที่ดินต่อเพื่อดำรงสถาบันไว้ ณ ที่ตั้งเดิม แต่ไม่สามารถตกลงกันได้
ข้อพิพาทยืดยาวมาจนถึงปัจจุบัน ต้นปี 2556 ที่มีคณะศิษย์เก่าและศิษย์ปัจจุบันดำเนินการเคลื่อนไหว ค้นข้อมูลหลักฐานทางประวัติศาสตร์มาสู้ แม้จะเห็นชัด ๆ ว่าถึงอย่างไรก็สู้จุฬาฯในเรื่องข้อกฎหมายไม่ได้ เพราะจุฬาฯเป็นผู้ถือครองกรรมสิทธิ์ในที่ดินอันเป็นที่ตั้งของวิทยาเขตอุเทนถวาย อย่างถูกต้องชอบธรรมตามกฎหมาย ได้แก่ พ.ร.บ.โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินอันเป็นทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ฯ ให้จุฬาฯ พ.ศ.2482 และ พ.ร.บจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พ.ศ.2551
ซึ่งเป็นข้อเท็จจริงที่ชัดเจน ยากจะมีข้อโต้เเย้ง
ทางอุเทนถวายเองก็ดูจะยอมรับเงื่อนไขข้อยุติกฎหมายตามบริบทในปัจจุบัน ความเคลื่อนไหวของศิษย์เก่าและศิษย์ปัจจุบันตามที่ได้ยื่นหนังสือถึงจุฬาฯไปเมื่อวันที่ 15 มีนาคม จึงเห็นได้ชัดว่าออกไปในทางอ้อน “ขอความเป็นธรรม” จากจุฬาฯเสียมากกว่า
เป็นการขอความเป็นธรรม ในฐานะเป็นสถานศึกษาที่ตั้งอยู่บนที่ดินผืนนี้มายาวนานเคียงคู่มากับจุฬาฯ จึงขออยู่บนที่ดินนี้ต่อไป ไม่ขอย้ายไปไหน
สรุปความได้จากเสียงของคณะศิษย์เก่าและจากแม้แต่จากรองอธิการบดี วิทยาเขตอุเทนถวายคนปัจจุบัน ว่า จุฬาฯ และ อุเทนถวาย อยู่ร่วมกันมานานกว่า 80ปี ที่ดินดังกล่าวอุเทนถวายได้รับพระราชทานจาก ร.6 และอุเทนถวายได้ตั้งอยู่ตรงนี้ตลอดมา ไม่เคยย้ายไปที่อื่น ทั้งอุเทนถวายและจุฬาฯ ต่างก็เป็นสถานศึกษาที่ผลิตบุคคลากรให้ประเทศชาติเหมือนกันทั้งคู่ และเป็นเสมือนเพื่อนบ้านที่มีรั้วติดกัน จะขออยู่ร่วมกันเป็นพี่น้องกับจุฬาฯต่อไป (จะได้ไหม?)
ได้หรือไม่ได้ ดูท่าทีล่าสุดจากจุฬาฯก็คงพอจะเดาออก ในเมื่อยังยืนยันหัวเด็ดตีนขาดว่า ในฐานะเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินขนาด 21 ไร่ ริมถนนพญาไทผืนนี้ จะขอพื้นที่คืนเพื่อไปสร้างศูนย์นวัตกรรมงานสร้างสรรค์ฯ
พร้อมให้เหตุผลเพิ่มเติมว่า พื้นที่ที่ขอคืนไป ก็นำไปใช้ประโยชน์เพื่อการศึกษา ตามนโยบายขยายพื้นที่การศึกษา ไม่ใช่นำไปใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ เพราะทางจุฬาฯก็มีการแบ่งสัดส่วนการใช้ประโยชน์ที่ดินของตัวเองชัดเจนอยู่แล้ว ว่า 1.เขตพื้นที่เพื่อการศึกษา 52% 2.เขตพื้นที่พาณิชย์ (ปล่อยเช่าแก่เอกชน) 30% และ 3. เขตพื้นที่ราชการ (ให้ราชการเช่าราคาพิเศษและยืมใช้) 18%
“จุฬาฯ ยืนยันว่า ยังจำเป็นต้องขยายเขตการศึกษาออกไป เพราะปัจจุบัน จุฬาฯ มีจำนวน นิสิต 40,000 คน คณาจารย์ บุคลากร รวมกว่า 8,000 คน และด้วยจำนวนบุคลากรที่มาก จึงจำเป็นต้องขยายเขตการศึกษาออกไป เพื่อสร้างองค์ความรู้พัฒนาประเทศ” รองอธิการบดี นายบุญไชย กล่าวสำทับ (14 มิ.ย.)
แต่ก็ยังเกิดข้อเคลือบแคลงว่า ในเมื่อวิทยาเขตอุเทนถวายก็เป็นสถานศึกษาอยู่แล้ว มีประโยชน์ในการผลิตบุคลากรที่มีความรู้ด้านการก่อสร้างและสถาปัตยกรรมมากว่า 80 ปี เช่นเดียวกับจุฬาฯที่ผลิตบัณฑิตเกือบทุกสาขาวิชาป้อนสู่สังคมมาเป็นเวลาเกือบร้อยปี เหตุใดจึงคิดจะรื้อวิทยาเขตอุเทนถวายทิ้งแล้วไปสร้างอย่างอื่นขึ้นมาแทน ซึ่งดูเป็นการกระทำที่ลักลั่นอยู่ในตัวเอง
มีหลายฝ่ายเคยเสนอทางออกของเรื่องนี้ไว้อย่างน่าสนใจ อาทิ เดชา บุญค้ำ มองว่า ความขัดแย้ง อุเทนฯ-จุฬาฯเป็นเรื่อง "จิ๊บจ๊อย" มาก ต่างฝ่ายต่างมี “อัตตา” ถ้าโยนทิ้งไป อาจหาทางออกแบบวิน-วินได้มากกว่า เมื่อเชื่อมโยงไปถึงสถานการณ์ด้านอุตสาหกรรมการก่อสร้างของประเทศไทย ที่จะแห้งเฉาในอีกไม่กี่ปีข้างหน้าจาก AEC จึงมีข้อเสนอว่าเป็นไปได้หรือไม่ ที่จะมีการจัดตั้งสำนักวิชานวกรรมศาสตร์ (เทียบเท่าคณะวิชา) ขึ้นในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และโอนวิทยาลัยก่อสร้างอุเทนถวาย (ชื่อเดิม) มาอยู่ในสำนักวิชานี้และใช้ชื่อว่า "สำนักวิชานวกรรมศาสตร์อุเทนถวายแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย"
ทั้งนี้ โครงการนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่และเกือบเป็นผลสำเร็จสามารถเปิดรับนิสิตรุ่นแรกได้มาแล้วตั้งแต่ปี 2542 และได้มารื้อฟื้นอีกครั้งในปี 2548 ทั้งสองครั้งอับปางด้วยพายุอัตตา แม้ได้เคยไหว้วอนทั้งสภาและสมาคมสถาปนิกและวิศวกรให้ช่วยหนุนก็ไม่สำเร็จ อันที่จริงก็เป็นหลักสูตรมาตรฐานสากลที่เปิดสอนระดับมหาวิทยาลัยในโลกนี้มานานแล้ว บางแห่งมากว่า 70 ปี
เดชาสรุปปิดท้ายไว้อย่างน่าสนใจว่า ดังนั้น สำนักวิชานวกรรมศาสตร์อุเทนถวายแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คือการ "ตอบโจทย์" ที่จะทำให้ประวัติศาสตร์และเกียรติภูมิอันยาวนานของชาวอุเทนถวาย จะยังคงอยู่ได้ต่อไปอีกหลายศตวรรษ จุฬาฯ ก็ไม่จำเป็นต้องเรียกคืนที่ดิน ประเทศไทยก็จะค่อยๆ พ้นวิกฤตขาดความเชี่ยวชาญด้านอุตสาหกรรมการก่อสร้างที่อาจถูกกลืนได้ง่าย ๆ
หรือกับมุมมองด้านสังคมศาสตร์ รศ.ดร.ไชยันต์ รัชชกูล คณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ได้เคยกล่าวในการเสวนารายการหนึ่งเมื่อเร็ว ๆ นี้ โดยตั้งคำถามถึงความสัมพันธ์ทางสังคมบนพื้นที่ของจุฬาฯ ที่ตอนนี้กำลังไล่ที่อุเทนถวาย แต่จุฬาฯ กลับไม่ไล่ที่ โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา หรือสาธิตจุฬาฯ ว่า
เหตุผลของจุฬาฯ คือ ต้องการทำให้พื้นที่นั้น เป็นพื้นที่ ๆ สะอาด หรือเป็นที่เคารพนับถือ เช่น โรงเรียนเด็กเล็กในปทุมวัน หรือ อุเทนถวาย เทียบกับ สาธิตจุฬาฯ, เตรียมอุดม โรงเรียนไหนดูสะอาด/น่านับถือมากกว่า การทำเช่นนี้ เหมือนกับการไล่คนออกจากป่าที่เขาเคยอยู่
"นอกจากนี้ เหตุผลที่จุฬาฯ ใช้อ้างเพื่อไล่ที่อุเทนถวายนั้น ก็ไม่ใช่เหตุผลที่สัมพันธ์กับการศึกษาโดยตรง ซึ่งก็อาจเข้าใจได้ว่าลึกแล้วอาจเป็นเหตุผลทางเศรษฐกิจ" ก่อนทิ้งท้ายว่า บทบาทที่ผ่านมาของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ย่อมสะท้อนลักษณะทุนนิยมของไทยที่เปลี่ยนแปลงไปเพื่อรองรับทุนจากต่างประเทศได้ไม่มากก็น้อย
ดังนั้น เมื่อมองให้กว้างกว่าการตัดสินใจขอพื้นที่คืน บนฐานของข้อยุติทางกฎหมายและแผนการดำเนินการพัฒนามหาวิทยาลัย หากแต่คุณค่าทางประวัติศาสตร์และการศึกษาของโรงเรียนช่างก่อสร้างแห่งหนึ่ง การพัฒนาวงการวิชาชีพก่อสร้างไทยในอนาคต และการเลือกทำให้พื้นใดพื้นที่หนึ่งดูสะอาด น่านับถือ เป็นสิ่งที่จุฬาฯได้เคยคำนึงถึงบ้างหรือไม่.
อินโฟกราฟิกที่เผยแพร่ในแฟนเพจของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ไขข้อข้องใจกรณีที่ดินจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
( *ข้อมูลของเดชา บุญค้ำ และ ไชยันต์ รัชชกูล ผู้เขียนเรียบเรียงจากเว็บไซต์มติชน)