จาก “โกลกัตตา” ถึง “โกตาบาโต”
โต๊ะข่าวภาคใต้ สถาบันอิศรา
ช่วงนี้เว็บข่าวอิศราอาจจะดูเหงาๆ ไปสักนิด ไม่ได้นำเสนองานถี่ยิบเหมือนเคย เพราะผมต้องระหกระเหินเดินทางไปดูงานด้านการจัดการความขัดแย้งถึงประเทศอินเดีย
ผมเป็นนักศึกษาหลักสูตรเสริมสร้างสังคมสันติสุข รุ่น 2 หรือที่เรียกกันติดปากว่า “4 ส.2” เป็นหลักสูตรการศึกษากึ่งอบรมว่าด้วยการจัดการความขัดแย้งด้วยสันติวิธีของสถาบันพระปกเกล้า
ระยะเวลาเรียนตลอดหลักสูตรประมาณ 9 เดือน มีทั้งเรียนในห้องสี่เหลี่ยมและลงพื้นที่ขัดแย้งจริงๆ ซึ่งที่ผ่านมาคณะนักศึกษาก็เดินทางลงพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ไปแล้ว 1 ครั้ง และครั้งนี้เป็นการดูงานเพื่อเรียนรู้ประสบการณ์จากต่างประเทศ
การเดินทางแยกเป็น 2 สาย สายหนึ่งไปที่มณฑลซินเจียง สาธารณรัฐประชาชนจีน ไปศึกษาบทเรียนการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งทางศาสนาและชาติพันธุ์กรณีชนกลุ่มน้อย “อุยกูร์” ในมณฑลภาคตะวันตกที่ใหญ่ที่สุดของจีน
ส่วนอีกสายหนึ่งมุ่งสู่ประเทศอินเดีย ซึ่งมีปัญหาชนกลุ่มน้อยเช่นกัน ผมกับคณะทำงานศูนย์ข่าวอิศราอีกท่านหนึ่ง คือ คุณวัสยศ งามขำ จากหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ เลือกเดินทางสายอินเดียด้วยกัน นอกจากนั้นยังมี คุณอับดุลการิม รามันห์สิริวงศ์ ผู้สื่อข่าวประจำจังหวัดยะลา และ คุณปาเรซ โลหะสัณห์ ผู้สื่อข่าวประจำจังหวัดปัตตานี เป็นตัวแทนจากชายแดนใต้ร่วมคณะไปด้วย
การเดินทางไปต่างบ้านต่างเมืองทำให้ได้เห็นอะไรมากมาย ทั้งบวกและลบ ดีและไม่ดี แต่ความรู้สึกดีๆ ที่เกิดขึ้นในใจไม่ต่างกับใครอีกหลายๆ คนที่เคยไปสัมผัสปัญหาถึงในต่างแดนก็คือ เมืองไทยของเรายังดีกว่าและน่าอยู่กว่าเยอะ!!
แน่นอนว่าสิ่งที่ได้พบเจอทุกเรื่องราว ผมจะนำมาเขียนเล่าเป็นระยะให้ได้ติดตามกันในคอลัมน์นี้ในโอกาสต่อๆ ไป
ช่วงหนึ่งของการดูงาน น่าจะราวๆ วันศุกร์ที่ 6 ส.ค. ผมเห็นข่าวระเบิดที่สนามบินแห่งหนึ่งทางตอนใต้ของประเทศฟิลิปปินส์ ทำให้ย้อนนึกถึงสถานการณ์ความไม่สงบบนเกาะมินดาเนาซึ่งผมเคยเดินทางไปเยือนเมื่อเกือบ 2 ปีก่อน
ครั้งนั้นผมได้ไปถึงถิ่นที่มีปัญหาความรุนแรงจริงๆ คือ “โกตาบาโต ซิตี้” เมืองเอกทางฝั่งตะวันตกของเกาะมินดาเนา อันเป็นสมรภูมิการสู้รบระหว่างทหารของรัฐบาลฟิลิปปินส์ กับกองกำลังติดอาวุธหลายกลุ่ม โดยเฉพาะกลุ่มใหญ่ที่สุดคือ ขบวนการแนวร่วมปลดปล่อยอิสลามโมโร หรือ เอ็มไอแอลเอฟ
ช่วงที่เดินทางไปเป็นช่วงที่กระบวนการเจรจาสันติภาพว่าด้วย “อาณาเขตครอบครองของบรรพบุรุษ” ที่เกือบจะทำพิธีลงนามกันอยู่แล้ว ต้องสะดุดหยุดลงพอดีจากคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวของศาลสูงฟิลิปปินส์ ทำให้บรรยากาศคุกรุ่นน่าสะพรึงครอบคลุมไปทั่ว
แฟนๆ เว็บไซต์ศูนย์ข่าวอิศราคงยังจำกันได้ ผมเขียนเรื่องราวเกี่ยวกับปัญหาความไม่สงบทางตอนใต้ของฟิลิปปินส์เอาไว้ถึง 3 ตอนเมื่อปลายปี 2551 แต่ประเด็นที่ไม่เคยเล่าถึงเลยก็คือสภาพบ้านเมืองของโกตาบาโต ซิตี้ ซึ่งอยู่ในสถานการณ์สงครามร้ายแรงกว่าสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ของบ้านเรามากนัก
โกตาบาโต ซิตี้ แม้จะเป็นเมืองใหญ่เมืองหนึ่งของเกาะมินดาเนา แต่การพัฒนาต้องเรียกว่ายังไปไม่ถึง สนามบินโกตาบาโตนั้นเป็นเพียงลานกว้างๆ สำหรับให้เครื่องบินขึ้นลง และมีอาคารผู้โดยสารที่เล็กพอๆ กับสถานีขนส่ง บขส.ตามต่างจังหวัดของประเทศไทย
เวลาเครื่องบินลงจอด ก็จะมีเจ้าหน้าที่นำบันไดไปเทียบที่ประตูเครื่อง จากนั้นผู้โดยสารก็จะก้าวลงบันไดและสาวเท้าจากรันเวย์เข้าสู่อาคารผู้โดยสารทันที ไม่มีงวงช้าง ไม่มีรถบัสแอร์เย็นฉ่ำมารอรับ
ภายในอาคารผู้โดยสารมีป้ายเตือนให้ระวังวัตถุระเบิดและการก่อการร้าย แถมยังติดป้ายประกาศเตือนพวกอุตริแกล้งทำระเบิดกำมะลอว่ามีโทษตามกฎหมายในขั้นสูงสุด ฐานทำให้ผู้คนแตกตื่นและหวาดกลัว
ถนนหนทางในโกตาบาโต ซิตี้ คับแคบและแออัด โครงสร้างพื้นฐานค่อนข้างแย่ ภาพเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยตามธนาคารหรืออาคารสำคัญๆ สะพายปืนหรามีให้เห็นอยู่ทั่วไปแม้ช่วงกลางวันแสกๆ
พอตกค่ำตามชานเมืองก็ปิดไฟมืดสนิท ผู้คนหลบเข้าไปอยู่ภายในบ้าน แม้แต่ถนนสายสำคัญที่มุ่งหน้าสู่อาคารเทศบาลของเมืองก็แทบไม่มีรถราแล่นผ่าน ยกเว้นรถของทหารที่ออกตรวจตราและลาดตระเวน
ร้านรวงที่ยังพอจะมีเปิดอยู่บ้างก็ต้องดับไฟด้านหน้า ส่วนใหญ่เป็นร้านคาราโอเกะ เพราะคนฟิลิปปินส์ชอบร้องเพลงเหมือนคนไทย แต่บรรยากาศภายในร้านต้องเรียกว่า “เกือบร้าง” และสภาพของร้านก็ปลูกสร้างกันอย่างง่ายๆ ด้วยไม้ไผ่ขัดแตะ หลังคามุงจาก นึกภาพขนำตามสวนยางบ้านเราก็ได้ ของจริงเป็นอย่างนั้นเลย เพียงแต่ใหญ่กว่าเล็กน้อยเท่านั้นเอง
ความรู้สึกที่เคยเกิดกับ “โกตาบาโต ซิตี้” เมื่อเกือบ 2 ปีก่อน วันนี้มาเกิดกับหลายเมืองในประเทศอินเดียซึ่งผมกับคุณวัสยศและเพื่อนสื่อจากชายแดนใต้กำลังศึกษาดูงานกันอยู่
เป้าหมายแรกที่เดินทางไปเยือนเปลี่ยนจาก “แคว้นแคชเมียร์” เพราะกำลังประกาศเคอร์ฟิว เป็นเมือง “โกลกัตตา” เมืองหลวงของรัฐเบงกอลตะวันตก และเคยเป็นเมืองหลวงของอินเดียในยุคที่ถูกอังกฤษปกครอง
สิ่งที่ได้สัมผัสในโกลกัตตา นอกจากอากาศอันร้อนระอุและรถราติดหนึบยิ่งกว่ากรุงเทพฯแล้ว ก็คือความยากจนของผู้คน และชีวิตริมถนนของพวกไร้บ้าน เรียกว่าทั้งนั่งทั้งนอนกันเกลื่อนทางเท้ากันเลยทีเดียว ขอทานก็เยอะอย่างไม่น่าเชื่อ แถมยังมีรถลากที่ใช้ “คนลาก” ให้เห็นกันอีกต่างหาก
รถประจำทางที่โกลกัตตา ส่วนใหญ่ยี่ห้อ “ทาทา” ซึ่งเป็นของอินเดียเอง แต่สภาพนั้นไม่ต้องพูดถึง รถหวานเย็นที่วิ่งระหว่างอำเภอในต่างจังหวัดของบ้านเรายังดีกว่า ตึกรามสองข้างทางก็เก่าและรกร้าง
ที่เล่าให้ฟังแบบนี้ไม่ได้มีเจตนาดูถูกทั้งสองเมืองคือ “โกลกัตตา” และ “โกตาบาโต” ว่าเจริญสู้ไทยไม่ได้ แต่สิ่งที่ต้องการจะบอกก็คือประเทศไทยยังมีอะไรอีกหลายๆ อย่างที่เป็น “จุดแข็ง” และเป็น “ทุนทางสังคม” ที่น่าจะมารังสรรค์สังคมให้สันติสุขได้
อินเดียนั้นประกอบด้วย 28 รัฐ และอีก 7 เขตปกครอง ประเทศทั้งประเทศใหญ่เป็นอันดับ 7 ของโลก และใหญ่กว่าประเทศไทยของเรากว่า 6 เท่า มีจำนวนประชากรมากเป็นอันดับ 2 เป็นรองแค่จีน
แม้จะเป็นประเทศขนาดใหญ่และกำลังเป็นประเทศ “เกิดใหม่ทางเศรษฐกิจ” (เป็น 2 ประเทศในกลุ่ม BRIC คือบราซิล รัสเซีย อินเดีย และจีน ซึ่งมีกำลังซื้อขนาดมหึมา) แถมยังได้รับการคาดหมายว่าในอีกไม่กี่ปีข้างหน้าจะเป็นผู้กุมชะตาเศรษฐกิจโลก ทว่าทั้งจีนและอินเดียต่างก็ต้องเผชิญกับปัญหาแบ่งแยกดินแดน มีสถานการณ์การก่อการร้ายและความไม่สงบอันสืบเนื่องมาจากความขัดแย้งทางชาติพันธุ์และศาสนาแทบไม่ต่างกัน
แทบทุกแห่งในโกลกัตตาเต็มไปด้วยทหารถือปืน แม้แต่ในท่าอากาศยาน เกือบทุกอาคารสำคัญๆ ติดตั้งเครื่องตรวจอาวุธและวัตถุระเบิด...
ประสบการณ์และการ “ลองผิดลองถูก” เพื่อจัดการปัญหาความขัดแย้งของยักษ์ใหญ่ทั้งสองเป็นเรื่องที่น่าสนใจอย่างยิ่ง และผมจะนำมาบอกเล่าเก้าสิบกันต่อไป
แต่สิ่งที่อยากจะฝากทิ้งท้ายเอาไว้ก็คือ ทั้งโดยสภาพทางกายภาพและขนาดของปัญหา บอกได้เลยว่าประเทศไทยของเรายังมีหวังกว่าเยอะ ขอเพียงแก้ปัญหาให้ถูกทาง รับฟังกันอย่างจริงใจ และหยุดทำร้ายกันเองเท่านั้น
สันติสุขที่ถามหาก็อยู่ไม่ไกลเกินเอื้อม!
-----------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : 1-2 ชีวิตริมถนนที่โกลกัตตา