ความจริง 3 ชุดที่ชายแดนใต้ สัญญาณเตือนภัยก่อนรัฐพ่ายถาวร!
โต๊ะข่าวภาคใต้ สถาบันอิศรา
ปัญหา “ความจริงหลายชุด” ที่ชายแดนใต้ เป็นปัญหาเรื้อรังที่ยังแก้กันไม่ตกเสียที เป็นความเรื้อรังที่ไม่อาจสรุปได้แน่ชัดว่า เป็นเพราะหน่วยงานรัฐซึ่งมีอยู่มากมายหลายหน่วยในพื้นที่แก้ไขไม่ได้จริงๆ หรือไม่ได้ใช้ความพยายามมากพอที่จะแก้ไขกันแน่
แต่เมื่อ “ความจริงหลายชุด” เกิดขึ้นกับเหตุการณ์ร้ายหลายๆ เหตุการณ์ที่กลายเป็น “คดีความมั่นคง” ในเวลาต่อมา ผลของมันย่อมส่งถึงความเชื่อมั่นของพี่น้องประชาชนที่มีต่อหน่วยงานรัฐและกระบวนการยุติธรรมอย่างรุนแรงและมิอาจหลีกเลี่ยง
ตลอด 6 ปีเศษของสถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ปฏิเสธไม่ได้ว่าหน่วยงานรัฐหลายภาคส่วนได้พยายามปรับปรุงนโยบายและผลักดันโครงการดีๆ ลงมาในพื้นที่เพื่อเอาชนะใจพี่น้องประชาชน แต่หลายๆ ครั้งทุกอย่างกลับต้องพังทลายลงเพียงเพราะเกิดเรื่องที่รัฐ “อธิบายไม่ได้” หรืออธิบายได้แต่ “ไม่มีใครเชื่อ”
แน่นอนว่าในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้มี “ขบวนการข่าวลือ” คอยบ่อนเซาะทำลายความน่าเชื่อถือของรัฐอยู่แล้วแทบทุกตำบล หมู่บ้าน แต่การที่ภาครัฐไม่อาจทำความจริงให้ปรากฏได้ หรือพิสูจน์ความจริงได้แต่ชาวบ้านไม่เชื่อ ผลย่อมไม่แตกต่างกัน คือสุดท้ายก็กลายเป็นความพ่ายแพ้ต่อขบวนการข่าวลือและกลุ่มผู้ไม่หวังดีที่แฝงตัวอยู่ในพื้นที่นั่นเอง
เรื่องราว “ความจริงหลายชุด” มิพักต้องพูดถึงคดีใหญ่ๆ อย่างคดีไอร์ปาแย อันหมายถึงเหตุการณ์กราดยิงในมัสยิดอัลฟุรกอน บ้านไอร์ปาแย ต.จวบ อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส เมื่อวันที่ 8 มิ.ย.2552 จนมีผู้เสียชีวิตใน “บ้านของพระเจ้า” มากถึง 10 ศพ ซึ่ง “ชุดความจริง” ที่รัฐพยายามอธิบายหลังเกิดเหตุการณ์ แทบจะตรงกันข้ามกับ “ชุดความจริง” ของชาวบ้านที่วิพากษ์วิจารณ์กันอย่างหนาหูในพื้นที่ จนนำมาสู่วิกฤติความเชื่อมั่นขยายวงกว้างอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน
แต่คดีเล็กๆ ที่ดูเหมือน “ไม่มีอะไร” อย่างคดีระเบิดปริศนาหน้ามัสยิดกลางประจำจังหวัดยะลา เมื่อวันที่ 8 มิ.ย.2553 หรือคดีการเสียชีวิตของ สุไลมาน แนซา ผู้ต้องสงสัยคดีความมั่นคงคาค่ายทหาร เมื่อวันที่ 30 พ.ค.ที่ผ่านมา ก็ส่งผลสะเทือนเลื่อนลั่นไม่แพ้กัน
และจนถึงวันนี้ก็ยังไม่มีการขับเคลื่อนใดๆ จากภาครัฐ นอกจากการชี้แจงแถลงข่าวไปตามกระบวนการปกติเท่านั้น!
ที่สำคัญยังมีเรื่องราว “ความจริงหลายชุด” อีกมากมายที่กลายเป็นปริศนาคาใจ ประหนึ่งแผลเป็นที่ไม่ยอมหาย แต่พร้อมจะสร้างความปวดแสบปวดร้อนได้ทุกครั้งที่ถูกสะกิดขึ้นมา
หนึ่งในนั้นคือคดีล่วงละเมิดทางเพศเด็กหญิงวัย 10 ขวบ ณ อำเภอหนึ่งของ จ.ยะลา...น่าตกใจหากจะบอกว่า คดีที่ดูจะไม่มีความซับซ้อนอะไรเลยนี้มี “ความจริง” อยู่ถึง “3 ชุด” ให้ได้เลือกเชื่อกัน
“ความจริงชุดแรก” มาจากองค์กรภาคประชาสังคมในพื้นที่ ระบุว่า เรื่องราวการล่วงละเมิดทางเพศเด็กหญิงวัยแค่ 10 ขวบ กลายเป็นคดีอาญาขึ้นเมื่อวันที่ 17 ม.ค.2553 หลังจากญาติของผู้เสียหายได้เข้าแจ้งความกับพนักงานสอบสวน สภ.ท้องที่ ว่าผู้เสียหายซึ่งยังมีสถานะเป็น “เด็กหญิง” ถูกชายแต่งกายคล้ายทหารบังคับนำตัวจากบ้านในอำเภอหนึ่งของ จ.ยะลา ไปข่มขืนบริเวณป่าละเมาะในเขตอำเภอเมือง
ข้อมูลจากองค์กรภาคประชาสังคม ระบุต่อว่า ในช่วงแรกๆ หลังจากมีการแจ้งความ ทางแม่ทัพภาคที่ 4 และหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ก็ให้ความสนใจกันเป็นอย่างดี มีการเก็บรวบรวมพยานหลักฐานทั้งในที่เกิดเหตุและจากตัวผู้เสียหาย รวมถึงเก็บสารพันธุกรรม หรือดีเอ็นเอ ของผู้ต้องสงสัยจำนวนหนึ่งไปตรวจสอบด้วย
ข้อมูลจากแหล่งเดียวกันยังชี้ว่า จากการสืบสวนในทางลับ มีเหตุอันควรสงสัยว่าผู้กระทำผิดน่าจะเป็นพลทหารที่ปฏิบัติหน้าที่อยู่ในค่ายแห่งหนึ่ง แต่ผู้ต้องสงสัยรายนี้ให้การปฏิเสธ และมีการเก็บดีเอ็นเอไปตรวจ แต่ผลตรวจไม่ปรากฏชัด
องค์กรภาคประชาสังคมที่เกาะติดคดีนี้ยังให้ข้อมูลว่า คดีที่เกิดขึ้นเป็นที่สนใจและวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างกว้างขวางในหมู่ประชาชน เพราะผู้เสียหายเป็นเด็กหญิงอายุเพียง 10 ขวบ แม้เจ้าหน้าที่จะได้ให้การเยียวยาตามสมควรแก่ครอบครัว แต่การดำเนินคดีตามกระบวนการยุติธรรมกลับล่าช้า ผ่านไปหลายเดือนก็ยังไม่มีการแจ้งข้อหากับผู้ใด
กรณีนี้องค์กรภาคประชาสังคมที่ติดตามตรวจสอบ หวั่นเกรงว่าจะกลายเป็น “น้ำผึ้งหยดเดียว” เหมือนกรณีที่มีข่าวเจ้าหน้าที่หน่วยหนึ่งข่มขืนแล้วฆ่าหญิงสาวรายหนึ่งพร้อมครอบครัวเมื่อหลายปีก่อน จนเกิดการชุมนุมประท้วงของนักศึกษาที่หน้ามัสยิดกลางประจำจังหวัดปัตตานีตามมา แม้ว่าจะมีความพยายามชี้แจงโดยหน่วยงานความมั่นคง ด้วยการอ้างอิงผลชันสูตรศพจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญว่าไม่มีการข่มขืนเกิดขึ้นก็ตาม แต่ก็ไม่สามารถหยุดยั้งกระแสข่าวลือและความเชื่อนั้นได้
ขณะที่กรณีการล่วงละเมิดทางเพศหญิงในพื้นที่โดยคนในเครื่องแบบ ทั้งที่ยินยอมพร้อมใจและไม่ยินยอมพร้อมใจ ก็เคยปรากฏเป็นข่าวหลายครั้ง แต่เกือบทุกกรณีก็ไม่เคยมีการดำเนินคดีกับผู้กระทำ นอกเสียจากความพยายามในการชดใช้และเยียวยา ส่งผลให้เจ้าหน้าที่รัฐสูญเสียความไว้เนื้อเชื่อใจจากประชาชนอย่างสิ้นเชิง
ทั้งหมดนี้คือ “ความจริงชุดแรก” ที่ได้จากการเก็บรวบรวมข้อมูลขององค์กรภาคประชาสังคมแห่งหนึ่งที่ทำงานอยู่ในพื้นที่อย่างต่อเนื่องยาวนาน
“ความจริงชุดที่ 2” มาจากการลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงของ “ทีมข่าวอิศรา” ซึ่งได้ข้อมูลมาอีกหลายชุดจากเจ้าหน้าที่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง...
ผู้กำกับการ สภ.ท้องที่บ้านของผู้เสียหาย ชี้แจงว่า แม้คดีนี้จะอยู่ในความรับผิดชอบของ สภ.เมืองยะลา แต่ทาง สภ.ท้องที่ก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ และได้นำภาพถ่ายกำลังพลซึ่งตกเป็นผู้ต้องสงสัยทั้งหมดไปให้ผู้เสียหายชี้ แต่ก็ไม่ได้รับการยืนยัน นอกจากคำให้การเดียวที่ว่าเสื้อผ้าที่คนร้ายสวมใส่เป็น “สีดำ” ซึ่งผู้กำกับฯมองว่า เสื้อผ้าแบบนี้สามารถหาซื้อได้ตามท้องตลาดทั่วไป ไม่ได้เป็นการยืนยันว่าผู้กระทำต้องเป็นทหารเท่านั้น
ตำรวจท้องที่ยังให้ข้อมูลว่า แม่ของเด็กผู้เสียหายได้พาลูกสาวย้ายไปอยู่อำเภออื่นแล้ว ส่วนบ้านเดิมที่เด็กอาศัยอยู่ขณะเกิดเหตุเป็นบ้านของลุงกับป้า
ขณะที่ พ.ต.อ.ปิยะวัฒน์ เฉลิมศรี ผู้กำกับการ สภ.เมืองยะลา บอกว่า ที่ผ่านมาได้นำภาพของกำลังพลในพื้นที่จำนวน 806 นาย ทั้งทหารหลักและทหารพรานไปให้ผู้เสียหายและญาติยืนยัน แต่ก็ไม่สามารถยืนยันได้
“ข้อเท็จจริงยังไม่ทราบว่าเป็นทหารแน่หรือเปล่า แต่ในคำให้การผู้เสียหายบอกว่าคนร้ายแต่งกายคล้ายทหาร สวมชุดดำ ใส่พระ พูดสำเนียงใต้ ซึ่งข้อมูลบางส่วนจากคำให้การขัดกับข้อเท็จจริง เพราะทหารที่ประจำการอยู่ในพื้นที่ขณะเกิดเหตุเป็นกองพันที่มาจากภาคเหนือ อีกทั้งไม่มีพยานผู้เห็นเหตุการณ์อื่นใดนอกจากเด็กผู้เสียหายเพียงคนเดียว”
พ.ต.อ.ปิยะวัฒน์ กล่าวอีกว่า อยากให้เรื่องนี้กระจ่างโดยเร็ว จะได้หมดปัญหา ซึ่งที่ผ่านมาก็พยายามเต็มที่ ทั้งการลงพื้นที่เกิดเหตุ และประสานไปยังกองพันของกำลังพลที่ตกเป็นผู้ต้องสงสัย ซึ่งก็ต้องเจรจาอยู่นานกว่าทางกองพันจะเข้าใจ เพราะทางหน่วยก็ติดใจเหมือนกันว่าทำไมต้องมากล่าวหาหน่วยของเขา
“จากคำให้การของเด็กผู้เสียหาย ระบุว่าช่วงเวลาเกิดเหตุเป็นเวลาใกล้ค่ำ เด็กผู้หญิงกำลังยืนอยู่หน้าบ้าน มีคนเอาปืนมาจี้แล้วพาขึ้นมอเตอร์ไซค์ไป โดยให้เด็กผู้หญิงนั่งข้างหน้า แล้วขับไปยังจุดเกิดเหตุซึ่งห่างจากบ้านของผู้เสียหายประมาณ 10 กิโลเมตร”
“จากการสำรวจเส้นทางและจุดที่อ้างว่ามีการข่มขืน ต้องบอกว่าถ้าคนไม่เคยไปก็ไม่น่าจะเข้าไปถูก และระยะทาง 10 กิโลเมตรไม่ใช่ใกล้ๆ ระหว่างทางก็มีด่านตรวจของเจ้าหน้าที่หลายจุด หากเรื่องนี้เกิดขึ้นจริงก็น่าจะมีการขัดขืนหรือร้องเรียกให้คนช่วยบ้าง แต่นี่ไม่มีเลย”
“ความเป็นไปได้ที่มีการสันนิษฐานก็คือ เด็กน่าจะรู้จักผู้ต้องสงสัยด้วย เพราะผ่านด่านตรวจไปได้ทุกด่าน แต่จุดนี้ก็เป็นเพียงข้อสันนิษฐาน และไม่อยากพูดอะไรมาก เนื่องจากเกรงจะถูกกล่าวหาว่าเข้าข้างเจ้าหน้าที่ด้วยกัน”
พ.ต.อ.ปิยะวัฒน์ บอกด้วยว่า จนถึงขณะนี้คดีไม่มีความคืบหน้า เพราะญาติผู้เสียหายไม่ยอมติดต่อกับพนักงานสอบสวน
ด้าน พล.ท.กสิกร คีรีศรี ผู้บัญชาการกองบัญชาการผสมพลเรือนตำรวจทหาร (ผบ.พตท.) ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ผู้ต้องสงสัยในคดีนี้เป็นทหาร ได้นำตัวไปตรวจดีเอ็นเอแล้ว ปรากฏว่าไม่ตรงกับหลักฐานอื่นๆ ที่พบ ประกอบกับทหารที่เป็นผู้ต้องสงสัยก็มีพยานมายืนยันว่าขณะเกิดเหตุอยู่อีกที่หนึ่งค่อนข้างชัดเจน หลังจากนั้นได้มีการนำทหารพรานอีก 2 คนที่อยู่บริเวณเดียวกับบ้านของผู้เสียหายไปตรวจดีเอ็นเอเพิ่มเติม แต่ก็ไม่ใช่อีกเช่นกัน
“สรุปก็คือถึงตอนนี้เราสามารถพูดได้ชัดเจนว่าไม่ใช่เจ้าหน้าที่ทหารแล้ว ส่วนจะเป็นใครตำรวจต้องไปสืบสวนต่อ แต่ทราบว่าคดีไม่คืบหน้า เพราะเจ้าทุกข์หายไปหมด”
ฟังชุดความจริงจากทางฝั่งเจ้าหน้าที่ไปแล้ว ลองหันมาฟัง “ชุดความจริง” จากครูของเด็กหญิงบ้าง ครูคนนี้มีบ้านอยู่ไม่ห่างจากบ้านของเด็กผู้เสียหายมากนัก เธอให้ข้อมูลว่าทราบเรื่องจากการพูดคุยกันของชาวบ้าน เพราะช่วงที่เกิดเรื่องเป็นข่าวดังมาก มีการวิพากษ์วิจารณ์กันทุกวงสนทนา ไม่ว่าจะตามบ้านหรือร้านน้ำชา
ข้อมูลจากครูของเด็กหญิงแตกต่างจากข้อมูล 2 ชุดแรกแทบจะสิ้นเชิง กล่าวคือ ในวันเกิดเหตุที่โรงเรียนมีการจัดกิจกรรม จากนั้นเด็กหญิงได้กลับไปเปลี่ยนชุดที่บ้าน แต่ก็ถูกชายใส่ชุดดำสะพายปืนมีรถจักรยานยนต์เป็นพาหนะ จี้บังคับเด็กหญิงขึ้นรถไปด้วยกัน
“ชายคนนั้นขี่รถไปได้ประมาณ 3 กิโลเมตร เด็กได้ส่งเสียงร้องขอความช่วยเหลือ โดยเฉพาะช่วงที่รถผ่านร้านน้ำชาและบ้านของชาวบ้าน แต่คนไม่กล้าช่วย เพราะนึกว่าเป็นเรื่องคนในครอบครัวทะเลาะกัน เมื่อรถแล่นไปถึงเขตเมืองยะลา ฝ่ายชายได้ชะลอรถ ทำให้เด็กดิ้นหนีและกระโดดลงจากรถได้ จากนั้นก็วิ่งเข้าไปในบ้านของชาวบ้านละแวกนั้นแล้วสลบไป เมื่อเด็กฟื้นขึ้นมาก็โทรศัพท์เรียกลุงให้มารับ ส่วนชายต้องสงสัยรีบขี่รถหลบหนีไป”
ครูของเด็กหญิงยังให้ข้อมูลด้วยว่า ช่วงแรกๆ ที่เกิดเรื่องและได้ยินชาวบ้านพูดกัน เข้าใจว่าเป็นเรื่องทหารพรานลักพาเด็กอายุ 10 ขวบจะไปทำมิดีมิร้าย ไม่ได้มีข่าวเกี่ยวกับข่มขืน แต่เมื่อเจ้าหน้าที่ไม่ได้สร้างความกระจ่าง ทำให้ข่าวลือยิ่งลือไปใหญ่
ทั้งหมดนี้คือ “ความจริง 3 ชุด” ที่แทบจะไม่เหมือนกันเลย แต่ก็เกิดขึ้นแล้วที่ชายแดนใต้ แน่นอนว่าเมื่อไม่มี “ชุดความจริง” ที่ทุกคนยอมรับร่วมกันหรือเชื่อว่าเป็นเรื่องจริงได้ เรื่องลักษณะนี้ก็จะตกเป็นเหยื่อของขบวนการข่าวลือดิสเครดิตเจ้าหน้าที่รัฐต่อไป
นายกองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ในพื้นที่ ให้ความเห็นเอาไว้อย่างน่าสนใจว่า หลังเกิดเรื่องใหม่ๆ มีการพูดคุยกันอย่างกว้างขวางตามร้านกาแฟว่าทหารพรานข่มขืนเด็ก ซึ่งเรื่องแบบนี้ไม่มีใครรับได้ ฉะนั้นเมื่อหน่วยงานรัฐไม่รีบแก้ข่าวหรือสร้างความกระจ่าง เรื่องจึงไปกันใหญ่
“ผมคิดว่าเรื่องแบบนี้ไม่ว่าใครจะเป็นคนทำก็ตาม ควรมีการติดตามและเสนอข้อเท็จจริงให้ประชาชนในพื้นที่ได้รับรู้ เพื่อแสดงให้เห็นถึงความจริงใจและความตั้งใจของเจ้าหน้าที่ ไม่ใช่ปล่อยให้มีการนำไปเป็นประเด็นสร้างเงื่อนไขไปเรื่อยๆ จนสุดท้ายก็แก้ไม่ตก”
จากเรื่องราวที่เล่ามาทั้งหมด น่าจะถึงเวลาแล้วที่หน่วยงานความมั่นคงต้องสร้าง “กลไก” ใหม่เพื่อทำความจริงให้เหลือเพียงชุดเดียว และเป็นความจริงที่ชาวบ้านยอมรับ หากคนของรัฐผิดก็ต้องถูกดำเนินคดีโดยไม่ละเว้น ไม่ใช่ปล่อยให้ใช้กระบวนการปกติในการ “เปิดแถลง-ชี้แจง” หรือพยายามให้ข่าวปกป้องกันเองเหมือนที่ผ่านๆ มา
มิฉะนั้นรัฐจะเป็นฝ่ายพ่ายแพ้อย่างถาวรในสงครามแย่งชิงมวลชน!