กรมชลฯ โอดสร้างเขื่อนใหญ่ลำบาก เล็งเปลี่ยนรูปแบบผันน้ำจากเพื่อนบ้านเข้าไทยแทน
ก้าวสู่ปีที่ 112 กรมชลประทาน ชี้ไทยไม่เหมาะสร้างเขื่อนใหญ่ ยกเว้น ‘แก่งเสือเต้น’ ยังตอบโจทย์อยู่ เตรียมวางโครงการผันน้ำจากเพื่อนบ้าน-ทำประตูระบายน้ำกั้นไหลลงโขง แก้ปัญหาขาดแคลนอนาคต
วันที่ 13 มิ.ย. 56 กรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) จัดงานวันสถาปนากรมชลประทานครบรอบ 111 ปี ณ กรมชลประทาน ถ.สามเสน โดยในเวทีเสวนา ‘เช็กความฟิต กรมชลประทานสู่การบริหารจัดการน้ำในอนาคต’ นายสุเทพ น้อยไพโรจน์ รองอธิบดีฝ่ายบำรุงรักษา กล่าวว่า ไทยในอดีตประสบปัญหาน้ำท่วมขังนาน 2-3 เดือนทุกปี แต่ภายหลังกรมชลฯ ได้สร้างเขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนภูมิพล และเขื่อนเจ้าพระยาขึ้น ทำให้ปัญหาดังกล่าวลดน้อยลง ประชาชนจึงย่ามใจจนนำมาสู่การเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตจากที่เคยปลูกบ้านใต้ถุนสูงมาเป็นบ้านปูนชั้นเดียว ดังนั้นเมื่อเกิดน้ำท่วมปี 2554 จึงสร้างความเสียหายมาก
“วิธีป้องกันในอนาคตควรให้ความรู้แก่ชาวบ้าน ซึ่งรัฐบาลต้องมีส่วนในการขับเคลื่อนเรื่องนี้ให้มาก รวมถึงการกำหนดพื้นที่รับน้ำนองที่ชัดเจน โดยกษ.ได้วางแผนโซนนิ่งเกษตรเพื่อหวังเก็บเกี่ยวผลผลิตทันฤดูน้ำหลากแล้ว”
อย่างไรก็ตาม การดำเนินการดังกล่าวจะไม่ประสบความสำเร็จ หากชาวบ้าน หน่วยงานระดับท้องถิ่น และภาครัฐไม่มีความเข้าใจที่ตรงกัน จะเห็นว่าในอดีตไทยยังไม่มีการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น ทำให้การบริหารจัดการของภาครัฐเข้มแข็ง แต่ปัจจุบันเมื่อมีองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เกิดขึ้น อิทธิพลในการครอบงำความคิดของประชาชนจึงอยู่ที่ผู้นำท้องถิ่นเป็นหลัก ประกอบกับบุคลากรภาครัฐน้อยลง จึงทำให้ขณะนี้ภาพลักษณ์ของกรมชลฯ ขาดความน่าเชื่อถือ โดยเฉพาะตั้งแต่เกิดน้ำท่วมเมื่อปี 2554 ดังนั้น ต้องสนับสนุนให้บุคลากรลงพื้นที่ใกล้ชิดผู้นำท้องถิ่นมากขึ้น เพื่อสื่อสารความรู้เกี่ยวกับการบริหารจัดการน้ำไปยังประชาชน เพื่อจะได้มีข้อมูลที่ตรงกัน
สำหรับความเป็นไปได้ในการก่อสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้นนั้น นายสุเทพ กล่าวว่า ในความคิดถ้าขอสร้างเขื่อนนี้ได้จะเป็นเครื่องมือในการบริหารจัดการน้ำยมที่ดีที่สุด เพราะจะทำให้ชาวบ้านในพื้นที่มีน้ำกินน้ำใช้ แม้การก่อสร้างเขื่อนชาวบ้านได้รับผลกระทบแน่นอน แต่เราต้องคิดว่าจะทำอย่างไรให้ชาวบ้านเหล่านั้นมีความพึงพอใจในที่อยู่อาศัยใหม่ เพราะเข้าใจว่าหลายคนมีความรักในถิ่นฐาน ซึ่งหากรัฐบาลและฝ่ายค้านมีทิศทางที่มั่นคง นโยบายดังกล่าวจะเกิดขึ้นโดยง่าย
ด้านนายชัชวาล ปัญญาวาทีนันท์ รองอธิบดีฝ่ายวิชาการ กล่าวเสริมถึงการสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้นเป็นทางเลือกที่ดีที่สุดในการบริหารจัดการน้ำอนาคต แต่รัฐบาลต้องมีนโยบายชัดเจน พร้อมเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีลงพื้นที่สำรวจความเป็นไปได้ของโครงการด้วยตัวเอง เพื่อพบปะกับชาวบ้านในท้องถิ่น แต่หากนายกรัฐมนตรีลงไปในพื้นที่ไม่ได้ ก็ยากจะเกิดเขื่อนแห่งนี้
“ทำไมเขื่อนใหญ่ ๆ ในอดีตจึงเกิดขึ้นได้ เพราะเป็นเขื่อนที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ เสด็จฯ ทอดพระเนตรพื้นที่ด้วยพระองค์เอง ทำให้มีความเข้าใจ จึงจะดำเนินการก่อสร้างได้”
รองอธิบดีฝ่ายวิชาการ ยังกล่าวด้วยว่า ปัจจุบันไทยไม่สามารถก่อสร้างเขื่อนใหญ่ได้แล้ว เพราะติดข้อจำกัดทางกฎหมาย ในอนาคตกรมชลฯ จึงอาจเปลี่ยนรูปแบบมาผันน้ำจากประเทศเพื่อนบ้านเข้ามาฝั่งไทยแทน แต่ก็ค่อนข้างยาก เพราะอ่างเก็บน้ำยังน้อยอยู่ อีกทั้งยังมีความจำเป็นต้องทำประตูระบายน้ำในภาคอีสานเปิดปิดเพื่อป้องกันน้ำไหลลงแม่น้ำโขงเร็วเกินไป ซึ่งทั้งสองโครงการเป็นเรื่องท้าทายสำหรับกรมชลฯ แต่หากดำเนินการได้ประเทศจะมีความมั่นคงด้านน้ำมากขึ้น .