พบเด็กไทย 2.4 แสนคน มีพัฒนาการล่าช้า ต้นเหตุ IQ/EQ ต่ำกว่าเกณฑ์
กรมสุขภาพจิต -สสค.-ราชานุกูล จับมือวางระบบดูแลเด็ก ตั้งเป้า 3 ปี เด็กไทยไอคิวเกิน 100 ดร.อมรวิชช์ เชื่อเป็นไปได้ ไม่ไกลเกินเอื้อม นำร่องทำงานพัฒนา IQ/EQ ใน 4 จังหวัด 9 อำเภอ
วันที่ 13 มิถุนายน กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับสำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) แถลงข่าว "เด็กไทย IQ เกิน 100" ภายใต้โครงการพัฒนาระบบการจัดการเชิงพื้นที่ในการเชื่อมต่อข้อมูลสุขภาพและการให้บริการส่งเสริมพัฒนาการและเชาวน์ปัญญาเด็กไทย ณ ห้องประชุมกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข
แพทย์หญิงอัมพร เบญจพลพิทักษ์ ผู้อำนวยการสถาบันราชานุกูล กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า อัตราการเกิดของเด็กไทยปัจจุบันเฉลี่ย 800,000 คน/ปี ในจำนวนนี้มีเด็กที่พัฒนาการล่าช้าอยู่ถึง 240,000 คน/ปี หรือคิดเป็น 30% ซึ่งหาพ่อแม่รู้เร็วสามารถเปลี่ยนปัญหาให้เป็นโอกาสการพัฒนาได้
สำหรับพัฒนาการล่าช้าของเด็กไทยนั้น ผอ.สถาบันราชานุกูล กล่าวว่า สะท้อนได้จากจำนวนเด็กที่มีระดับสติปัญญาต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐาน หรือ IQ ต่ำกว่า 100 พบสูงถึง 49% รวมถึงความฉลาดทางอารมณ์ หรือ EQ ที่อยู่ในระดับต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐาน ดังนั้น หากเด็กได้รับการดูแลตั้งแต่ 0-5 ปีอย่างต่อเนื่อง 90% สามารถแก้ปัญหาพัฒนาการล่าช้าได้ ด้วยวิธี “กิน กอด เล่น เล่า" ซึ่ง การกิน หมายถึงการมีโภชนาการที่ดี การกอด คือการสัมผัส เพิ่มเรื่องอาหารใจ การเล่นกับเด็ก ด้วยของเล่นมีชีวิต และการเล่านิทาน เป็นต้น
พญ.อัมพร กล่าวต่อว่า นอกจากการพัฒนาการของเด็ก 0-5 ปี ล่าช้า ระดับสติปัญญาของเด็กไทยมีภาวะสาละวันเตี้ยลงเรื่อยๆ แล้ว ความฉลาดทางอารมณ์หรือ EQ ของเด็กไทยก็น่าเป็นห่วง กรมสุขภาพจิตจึงได้ดำเนินการใน 2 ส่วนคือ 1 การสนับสนุน “เขตบริการระดับพื้นที่” ให้มีเครื่องมือในการเฝ้าระวังและติดตามเด็กที่มีแนวโน้มความเสี่ยงด้าน IQ/EQ และให้การดูแลตั้งแต่ตั้งครรภ์จนถึงพัฒนาการของเด็กในทุกช่วงวัย โดยมีเป้าหมายให้เด็กไทยมี IQ เกิน 100 ในปี 2559 และ 2 คือ ความร่วมมือกับภาคีเครือข่ายเพื่อให้เกิดการทำงานร่วมกันในระดับพื้นที่ โดยร่วมกับสสค. และสถาบันราชานุกูล โดยมีเป้าหมายในการพัฒนาระบบการจัดการเชิงพื้นที่ในการเชื่อมต่อข้อมูลและการให้บริการเพื่อส่งเสริมพัฒนาการและเชาวน์ปัญญาเด็กไทย พร้อมกับพัฒนากลไกการปฏิบัติงานในพื้นที่เพื่อส่งเสริมพัฒนาการของเด็ก
ขณะที่ ดร.อมรวิชช์ นาครทรรพ ที่ปรึกษาด้านวิชาการ สสค. กล่าวถึง IQ เด็กไทยขณะนี้อยู่ที่ 98.6 การตั้งเป้าหมายภายในปี 2559 จะพัฒนา IQ เด็กไทย เกิน 100 จึงไม่น่าไกลเกินเอื้อม แม้รัฐบาลจะให้ความสำคัญเรื่องการดูแลเด็กครบวงจร ขณะที่แผนพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 11 หรือของกระทรวงสาธารณสุข ก็พูดเรื่องนี้เอาไว้เช่นกันว่า จะพัฒนา IQ เด็กไทยเกิน 100 ภายในปี 2559 แต่การพัฒนาเด็กช่วง 0-5 ปี ซึ่งเป็นช่วงสำคัญที่สมองจะพัฒนาการได้มากที่สุดเพื่อให้ได้ดีนั้น จะมองเฉพาะด้านนโยบายอย่างเดียวไม่พอ ต้องทำในเชิงพื้นที่ด้วย
ดร.อมรวิชช์ กล่าวถึงระบบการจัดการเชิงพื้นที่ ต้องประสานความร่วมมือกัน ทั้งสาธารณสุขจังหวัด องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เขตพื้นที่การศึกษา ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก โรงเรียน และอื่นๆ โดยต้องเชื่อมต่อข้อมูลกันให้ได้ สร้างขีดความสามารถระหว่างหน่วยงานร่วมกัน เช่น หากพบเด็กพัฒนาการล่าช้า สมาธิสั้น แอลดี เรียนช้า หรือออทิสติก จะกระตุ้นอย่างไร ฉะนั้น เราหวังว่า เด็กไทยในอนาคตจะไม่ถูกทิ้งแม้แต่คนเดียว
“จะสังเกตว่า อัตราความล้มเหลวทางการเรียนเกิดขึ้นตรงชั้นประถมการศึกษาที่ 1 มากสุด นี่คือรอยต่อ พัฒนาการเด็ก 0-5 ปี ซึ่งกลายเป็นตัวเลขฟ้องชัด ระบบการดูแลเด็กเล็กของเราไม่ดีเลย และจะลากยาวไปเรื่อยๆ” ที่ปรึกษาด้านวิชาการ สสค. กล่าว และว่า ยิ่งเด็กอยู่ในชนบท โรงเรียนขนาดเล็ก เด็กไทยก็จะหลุดจากระบบไปเรื่อยๆ อย่างเก่งกลายเป็นกำลังคนที่กินค่าแรงขั้นต่ำ หรือหนักกว่านั้น กลายเป็นเด็กที่สร้างปัญหาให้กับสังคม
สำหรับพื้นที่นำร่องทำงานเพื่อพัฒนา IQ/EQ นั้น ดร.อมรวิชช์ กล่าวด้วยว่า จะเริ่มทำใน 4 จังหวัด 9 อำเภอ ได้แก่ ภาคเหนือ จ.เชียงราย ภาคกลาง จ.พระนครศรีอยุธยา ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จ.สุรินทร์ และภาคใต้ จ.ภูเก็ต ให้เป็นหน่วยจัดการเชิงพื้นที่ทำงานร่วมกัน
ด้านดร.เบญจลักษณ์ น้ำฟ้า รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า ปัจจุบันจำนวนเด็กบกพร่องการเรียนรู้ ประกอบด้วย สมาธิสั้น แอลดี เรียนช้า และออทิสติก มีถึง 12-13% ของประชากรเด็กทั้งหมด กว่าจะถูกคัดกรองจากระบบโรงเรียนก็สายไปเสียแล้ว
“จากข้อมูลของสมาคมแอลดีแห่งประเทศไทยพบว่า ขณะมีมีการคัดกรองเด็กในระบบโรงเรียนจำนวน 140,000 คน แต่ยังมีเด็กที่มีสัญญาณบกพร่องการเรียนรู้อีกถึง 900,000 คน นั่นคือมีเด็กกว่า 700,000 คนที่ขาดการดูแลอย่างถูกต้องและมีความเสี่ยงต่อการล้มเหลวในการเรียนและการหลุดออกจากระบบการศึกษา” รองเลขาธิการสพฐ. กล่าว และว่า นอกจากนี้ในโรงเรียนยังไม่มีครูสอนเด็กบกพร่องการเรียนรู้ โดยขณะนี้มีเพียง 1 ใน 3 ของโรงเรียนที่มีครูไปรับการอบรมเรื่องการดูแลเด็กพิเศษโดยการทำงานร่วมกันของกระทรวงศึกษาธิการและสมาคมแอลดีแห่งประเทศไทย นั่นคือ จากโรงเรียนทั่วไป 30,000 แห่ง มีโรงเรียนที่มีครูสอนเด็กพิเศษ อยู่เพียง 10,000 แห่งเท่านั้น ดังนั้นถ้ามีระบบข้อมูลเชื่อมต่อกันก็จะนำไปสู่การดูแลเด็กได้มากขึ้นและทันเวลามากขึ้นโดยเป็นความร่วมมือทั้งฝ่ายสาธารณสุข ท้องถิ่น และสพฐ.