ภาพฝันวัน"ไทย"สงบ
โต๊ะข่าวภาคใต้ สถาบันอิศรา
มีประสบการณ์ระดับโลกที่พิสูจน์ให้เห็นเป็น “สัจธรรม” แล้วว่า การเอาชนะการก่อการร้าย อาทิ กลุ่มอัลไกด้า ไม่ใช่แค่การไล่ฆ่า “บิน ลาเดน” แต่คือการย้อนกลับไปแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ
ประสบการณ์จากกรณีของ “อัลไกด้า” ก็คือหากคิดจะยุติปัญหาก่อการร้ายให้ได้อย่างยั่งยืน ต้องกลับไปถามหาจุดยืนของสหรัฐอเมริกาว่าจะ “หยุด” ทำร้าย และเริ่ม “เยียวยา” ปฏิบัติการรุกรานตะวันออกกลาง หรือกล่าวให้ชัดก็คือ “โลกมุสลิม” ดังที่ทำมาตลอดหลายทศวรรษอย่างไร
เช่นเดียวกับกรณีในประเทศไทย ถึงวันนี้ทุกฝ่ายพร้อมหรือยังที่จะย้อนกลับไปหาสาเหตุที่เป็น “ต้นตอ” ของปัญหาทั้งมวล
ปฏิเสธไม่ได้ว่า วาทกรรม “ล้มอำมาตย์” และ “สองมาตรฐาน” โดนใจชาวรากหญ้าที่เป็นฐานเสียงของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และอดีตพรรคไทยรักไทยเป็นอย่างยิ่ง เพราะเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจริง อย่างน้อยก็ในห้วง 4-5 ปีมานี้
การเลือก “หยุดทักษิณ” ด้วยวิธีการปฏิวัติเมื่อวันที่ 19 กันยาฯ 2549 และสถาปนาระบอบ “ตุลาการภิวัตน์” ขึ้นมา โดยผลของกระบวนการคือล้มรัฐบาล “นอมินีทักษิณ” ทุกชุดไม่ให้กลับมาครองอำนาจ หรือมีอำนาจก็ต้องในระยะเวลาสั้นที่สุด คือชนวนเหตุอันสำคัญที่ถูก “เครือข่ายทักษิณ” นำไปปลุกชาวบ้านรากหญ้าอย่างเห็นเป็นรูปธรรมได้ว่า “มันล้มรัฐบาลของพวกเรา”
คำอธิบายของนายอภิสิทธิ์ที่ว่า “ผมมา (เป็นนายกฯ) ตามรัฐธรรมนูญ” เพราะผ่านการลงคะแนนอย่างเปิดเผยในรัฐสภา อาจจะเป็นคำตอบทื่ถูกต้องสำหรับตัวนายอภิสิทธิ์เองและผู้สนับสนุน แต่ไม่ได้เป็นคำตอบให้กับประชาชนรากหญ้าจำนวนมากที่ไม่ได้นิยมชมชอบรัฐบาลชุดนี้
เพราะก่อนจะมีการ “ลงคะแนนอย่างเปิดเผย” ในรัฐสภา มันปฏิเสธไม่ได้ว่ามีการ “หาคะแนนอย่างปิดลับ” ในค่ายทหาร
และเสียงจากพรรคภูมิใจไทยคือเสียงที่ประชาชนมอบให้สำหรับพรรคพลังประชาชนแต่เดิม เพื่อจัดตั้งรัฐบาล “นอมินีทักษิณ” ไม่ใช่ให้หันไปสนับสนุนนายอภิสิทธิ์เป็นนายกฯ
นี่จึงเป็นความจริงที่ไม่อาจบิดพลิ้วได้เลยว่า ส.ส.หลายสิบเสียงของพรรคภูมิใจไทย “ทรยศ” เจตนารมณ์ดั้งเดิมของประชาชน ส่วนเจตนารมณ์นั้นจะถูกหรือผิดเป็นอีกเรื่องหนึ่ง
เช่นเดียวกันกับผลงานที่ประสบความสำเร็จอย่างงดงามของ “ตุลาการภิวัตน์” ที่สามารถสกัดรัฐบาล “นอมินีทักษิณ” ไปได้ถึง 2 ชุด โดยมีรัฐธรรมนูญ และกฎหมายฉบับต่างๆ เป็นตราประทับความถูกต้อง
แต่คำถามในใจชาวรากหญ้าเสื้อแดงก็คือ กฎหมายต่างๆ เหล่านั้นมาจากไหน และเป็นธรรมหรือไม่ เพียงใด?
ยกตัวอย่างคดียุบพรรคไทยรักไทย และตัดสิทธิ์กรรมการบริหารพรรครวดเดียว 111 คน หากพิจารณาตามกฎหมาย ชัดเจนว่าคำวินิจฉัยของตุลาการรัฐธรรมนูญถูกต้อง และแทบจะหาช่องโหว่ให้ตำหนิไม่ได้เลย เป็นคำวินิจฉัยประวัติศาสตร์ฉบับหนึ่งเสียด้วยซ้ำ เพราะถึงพร้อมด้วยเหตุและผลทุกประการ
แต่ประเด็นก็คือ กฎหมายที่นำมากล่าวอ้างเป็นฐานในการพิจารณาความผิดและลงโทษ มาจากคณะรัฐประหารใช่หรือไม่ ซ้ำยังมาเขียนเพิ่มโทษเข้าไปภายหลังจากการกระทำความผิดเกิดขึ้นแล้วอีกต่างหาก
หรืออย่างคดี “ทำกับข้าวออกทีวี” ที่ทำให้ นายสมัคร สุนทรเวช ต้องกระเด็นตกจากเก้าอี้นายกรัฐมนตรี แม้จะตอบคำถามเรื่อง “ข้อกฎหมายได้” แต่มันตอบคำถามเรื่อง “ความรู้สึก” ไม่ได้แน่นอน
เช่นเดียวกับการตัดสินยุบพรรคการเมือง 3 พรรครวดในวันเดียวของศาลรัฐธรรมนูญ ที่เปิดให้หัวหน้าพรรคแถลงปิดคดีตอนเช้า แล้วตัดสินทันทีในตอนบ่าย โดยอ่านคำพิพากษาที่เขียนมาจากบ้านแล้ว
แม้ในทางกฎหมายจะไม่มีอะไรผิด แต่ในแง่ “ความรู้สึก” ต้องบอกว่า “ผิดมหันต์”
หลายคนเรียกปรากฏการณ์นี้ว่า “ความไม่ยุติธรรมทางความรู้สึก” ซึ่งไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ก็มีให้เห็นอยู่บ่อยครั้ง ไม่ว่าจะเป็นคดี “กรือเซะ” หรือ “ตากใบ” และผลของมันก็คือการขยายตัวของแนวร่วมก่อความไม่สงบที่นับวันจะใหญ่โตขึ้น โดยที่รัฐต้องใช้กำลังพลจำนวนมหาศาลเข้าไปกดสถานการณ์เอาไว้ แต่ก็ไม่อาจยุติปัญหาได้อย่างเด็ดขาด แม้ระยะเวลาจะล่วงผ่านมานานกว่า 6 ปีแล้วก็ตาม
หลายฝ่ายกำลังหวั่นเกรงว่า ภาพเหตุการณ์ที่เคยเกิดขึ้นเฉพาะในสามจังหวัดภาคใต้ อาจปรากฏเป็น "ภาพใหญ่" ของประเทศไทย
ในวงการนิติศาสตร์มีวลีๆ หนึ่งที่ใช้เตือนสติผู้บังคับใช้กฎหมาย คือ justice must be seen to be done หมายความว่าความยุติธรรมนั้นไม่ใช่แค่ “กระทำ” อย่างเดียว แต่ต้องทำให้ “เห็น” หรือ “รู้สึก” ว่ายุติธรรมด้วย
ทั้งหมดนี้จึงไม่น่าแปลกอะไรเลยที่วาทกรรม “ล้มอำมาตย์” และ “สองมาตรฐาน” จะนำไปสู่การเผาบ้านเผาเมืองกันได้อย่างง่ายดาย
คำถามจึงย้อนกลับไปที่รัฐบาลรวมไปถึงกลุ่มอำมาตย์ที่ให้การสนับสนุนว่า กล้าไหมล่ะที่จะรับความจริงเหล่านี้ แล้วลงมือแก้กันที่ต้นเหตุกันเสียที
ถ้าแนวทาง “นิรโทษกรรม” มันอาจสวนทางหลักการของ “นิติรัฐ” มากเกินไป เป็นไปได้ไหมที่จะเลือกแนวทาง "ทบทวนตัวเอง" และ “เสียสละ” แทน
เช่น นายกฯกำหนดวันยุบสภาหลังจากนี้ไม่นานนัก แล้วอาจประกาศต่อสาธารณะว่าตนเองจะไม่ลงสมัครรับเลือกตั้งในครั้งต่อไป เพื่อเดินเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมอย่างสง่างาม และยืนยันเจตนาการเลือกใช้วิธีปราบปรามที่ผ่านมาว่า มุ่งคลี่คลายปัญหาอย่างแท้จริง ไม่ได้มุ่งเอาชนะคะคานกันทางการเมือง
เป็นไปได้ไหมที่กรรมการองค์กรอิสระทั้งหลายที่ส่วนใหญ่มาจากสาย “ตุลาการ” อาทิ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) จะยอมลาออกก่อนครบวาระ เพราะตนเองได้รับการสรรหาจากกระบวนการตามรัฐธรรมนูญที่ยกเลิกไปแล้ว และ/หรือรับรองโดยคณะรัฐประหาร ไม่ใช่คัดเลือกมาตามกระบวนการซึ่งเปลี่ยนไปตามรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน
นี่คือตัวอย่างง่ายๆ ของการ “ปลดชนวนทางความรู้สึก” ซึ่งแน่นอนว่าการพูดนั้นง่าย แต่ทำจริงคงยาก...
คล้ายๆ กับรายงานข้อเสนอ “ดับไฟใต้” ของคณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ (กอส.) ที่ทุกฝ่ายเชื่อว่าดี แต่ไม่มีรัฐบาลชุดใดหยิบไปทำให้เกิดผลในทางปฏิบัติ
อย่างไรก็ตาม การย้อนกลับไปทบทวน “ต้นเหตุ” ของปัญหาการเมืองเฉพาะหน้านี้ ก็ไม่ควรจำกัดเฉพาะรัฐบาลหรือฝ่ายอำมาตย์ที่สนับสนุนให้เกิดรัฐบาลชุดปัจจุบันเท่านั้น แต่ควรจะเป็นฝ่าย “คนเสื้อแดง” และผู้ที่สนับสนุน พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ได้ร่วมทบทวนด้วย
เพราะการปฏิวัติรัฐประหารคงไม่เกิดขึ้น หากรัฐบาลทักษิณไม่ถูกกล่าวหาเรื่องคอร์รัปชั่นเชิงนโยบายอย่างมโหฬาร ไม่ปิดพื้นที่การแสดงความเห็นของกลุ่มที่เห็นต่าง รวมทั้งไม่แทรกแซงองค์กรอิสระจนกระบวนการตรวจสอบทั้งรัฐบาลและตัว พ.ต.ท.ทักษิณ เอง เข้าขั้นพิกลพิการ
และที่สำคัญที่สุดคือ หาก พ.ต.ท.ทักษิณ และครอบครัวขายหุ้นมูลค่า 7.6 หมื่นล้านแล้วจ่ายภาษีเหมือนประชาชนทั่วไป!
เป็นไปได้ไหมที่ “คนเสื้อแดง” และ “พรรคเพื่อไทย” จะยอมรับความจริงเหล่านี้เช่นเดียวกัน แล้วยื่นมือไปสัมผัสกับรัฐบาลเพื่อร่วมกันฟื้นฟูประเทศชาติ โดยหยุดการเล่นการเมืองในแบบ “เอากันให้ตายไปข้าง” อย่างน้อยก็สักระยะหนึ่ง
นี่คือทางสองแพร่งของประเทศไทย คือ “สมานฉันท์” หรือ “สงคราม” ซึ่งจากประสบการณ์ที่ผ่านๆ มาทั้งปัญหาภาคใต้และการเมืองระดับชาติ คงจะเป็นได้เพียง “ภาพฝัน” หรือแค่จินตนาการ
แต่หากทุกฝ่ายเริ่มต้นด้วยการ "หยุด" และ "ทบทวนตัวเอง" ด้วยกัน “ภาพฝัน” ที่ว่านั้นก็อาจแปรเป็น “ความจริง”