ลอบสังหาร “เสธ.แดง”…นับหนึ่งความรุนแรงแบบไม่รู้จบ
โต๊ะข่าวภาคใต้ สถาบันอิศรา
ผมตัดสินใจใช้พื้นที่ตรงนี้เขียนถึงเหตุการณ์ลอบสังหาร พล.ต.ขัตติยะ สวัสดิผล หรือ “เสธ.แดง” ผู้ทรงคุณวุฒิกองทัพบก ซึ่งขณะที่เขียนอยู่นี้อาการยังอยู่ในขั้นโคม่า และยังต้องอยู่ในความดูแลของทีมแพทย์อย่างใกล้ชิดที่ห้องไอซียู โรงพยาบาลหัวเฉียว
หลายคนอาจจะไม่ทราบว่า พล.ต.ขัตติยะ จบโรงเรียนเตรียมทหารรุ่น 11 โรงเรียนนายร้อย จปร.รุ่น 22 รุ่นเดียวกับ พล.ท.พิเชษฐ์ วิสัยจร แม่ทัพภาคที่ 4 คนปัจจุบัน และเขายังบรรจุเข้ารับราชการครั้งแรกที่กองพันทหารราบที่ 4 ค่ายอิงคยุทธบริหาร จ.ปัตตานี อีกด้วย
แม้กรณีของ “เสธ.แดง” หรือกระทั่ง “ม็อบเสื้อแดง” ในขณะนี้ แทบจะไม่มีส่วนหนึ่งส่วนใดของสถานการณ์เกี่ยวเนื่องกับจังหวัดชายแดนภาคใต้เลยก็ตาม แต่ก็มิอาจปฏิเสธได้ว่าหากบ้านเมืองของเรายังอยู่ในภาวะมิคสัญญี โอกาสที่ปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้จะได้รับความสนใจและทุ่มเทแก้ไขอย่างเต็มที่เต็มกำลัง...ย่อมเป็นไปไม่ได้เลย
ดังเช่น 1 ปี 5 เดือนของพรรคประชาธิปัตย์ที่ต้องบริหารราชการบนความขัดแย้ง จนถึงป่านนี้ยังผ่านกฎหมายจัดระเบียบบริหารราชการชายแดนภาคใต้ใหม่แค่ฉบับเดียวก็ยังไม่ได้ นับประสาอะไรจะไปทำเรื่องที่ยากกว่านี้
นี่ยังไม่นับเสียงติฉินนินทาว่า ตั้งแต่เกิดปัญหา “ม็อบเสื้อแดง” เป็นต้นมา มีการโยกเงินงบประมาณที่จัดเตรียมเอาไว้สำหรับงานพัฒนาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ไปเป็นงบเบี้ยเลี้ยงและสับเปลี่ยนกำลังพลจำนวนมหาศาลเข้าไปดูแลสถานการณ์ในเมืองหลวง หนำซ้ำยังมีข่าวการดึงกำลังพลจากปลายด้ามขวาน โดยเฉพาะตำรวจ ไปช่วยปฏิบัติการตั้งด่านตรวจและคุมม็อบที่กรุงเทพฯอีกต่างหาก
ทั้งหมดนี้คือเครื่องยืนยันว่า หากบ้านเมืองยังคงระส่ำระสาย ย่อมส่งผลร้ายกับปัญหาชายแดนใต้อย่างไม่ต้องสงสัย
ยิ่งไปกว่านั้น สถานการณ์ที่กรุงเทพฯกำลังพุ่งเข้าสู่ภาวะตึงเครียดถึงขีดสุด หลังสิ้นเสียงปืนหมายปลิดชีพ พล.ต.ขัตติยะ ที่ใกล้แยกศาลาแดงเมื่อค่ำวันที่ 13 พ.ค. เพราะตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา พล.ต.ขัตติยะ แสดงบทบาททั้งคุมและฝึกการ์ด นปช.อย่างแข็งขัน อีกทั้งยังเป็นขวัญใจ “คนเสื้อแดง” จำนวนไม่น้อย ถึงขั้นที่ว่าไปไหนก็มีคนเข้าคิวขอลายเซ็น
กระสุนปืนปริศนาที่เจาะเข้าศีรษะของ “เสธ.แดง” จึงทำให้แนวโน้มสถานการณ์การชุมนุมของ “คนเสื้อแดง” นับจากนี้เป็นไปได้ 2 ลักษณะ คือ
1.บรรดาแกนนำและผู้ชุมนุมเกิดอาการฝ่อกับความรุนแรงที่เกิดขึ้น อาจตัดสินใจเลิกชุมนุม หรือลดระดับความเข้มข้นของการชุมนุมลง แล้วเปิดการเจรจารอบใหม่กับรัฐบาล
2.บรรดาแกนนำและผู้ชุมนุมเกิดความรู้สึกคลั่งแค้นที่สมาชิกคนสำคัญถูกลอบสังหาร อาจยกระดับการชุมนุม หรือเลือกใช้มาตรการรุนแรงกดดันรัฐบาลเพิ่มขึ้นอีก
เมื่อพิจารณาจากอาการและบรรยากาศที่เวทีราชประสงค์กลางกรุงเทพฯล่าสุดเมื่อกลางดึกคืนวันที่ 13 พ.ค.แล้ว ดูเหมือนแนวโน้มของสถานการณ์จะออกมาในลักษณะที่ 2 มากกว่าลักษณะที่ 1 กล่าวคือมีโอกาสสูงที่ผู้ชุมนุมจะโกรธแค้น ทำให้โอกาสการยุติชุมนุมมีน้อยลงกว่าเดิม แม้จะมีกระแสข่าวแกนนำ “สายพิราบ” หลายคนออกอาการถอดใจ และอาจตัดสินใจโบกมือลาก็ตาม
สถานการณ์ความวุ่นวายที่เกิดขึ้นบนถนนพระรามที่ 4 ใกล้สวนลุมพินี จนมีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บอีกจำนวนหนึ่งในคืนเดียวกับที่เกิดเหตุยิง “เสธ.แดง” คือเครื่องยืนยันแนวโน้มของอนาคตอันใกล้นี้ได้เป็นอย่างดี
ที่สำคัญด้วยวิธีการก่อเหตุแบบใช้ “นักแม่นปืน” หรือที่เรียกว่า “สไนเปอร์” ยิงจากระยะไกลแบบนัดเดียวจอด ย่อมทำให้หลายฝ่ายโดยเฉพาะ “คนเสื้อแดง” จำนวนมาก ปักใจเชื่อว่าเป็นการกระทำของฝ่ายรัฐบาล
ฉะนั้นการตอบโต้ในลักษณะ “แก้แค้น-เอาคืน” ก็จะเกิดขึ้นตามมา!
ยิ่งหากรัฐบาลใช้ความรุนแรง หรือใช้กลไกตามกฎหมายพิเศษที่เป็น “ยาแรง” เข้าจัดการ แม้ในช่วงต้นอาจคุมสถานการณ์ได้ แต่เมื่อเวลาผ่านไประยะหนึ่ง ขบวนการต่อต้านก็จะไหลลงใต้ดิน และเปิดปฏิบัติการในลักษณะ “สงครามกองโจร” หรือการก่อวินาศกรรมตามสถานที่สำคัญต่างๆ อย่างแน่นอน
โมเดลแบบสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ก็จะเกิดขึ้นที่กรุงเทพฯ หรือหัวเมืองใหญ่ๆ ทั่วประเทศ!
อย่าลืมว่าก่อนที่สถานการณ์จะเดินมาสู่จุดล่อแหลมขนาดนี้ รัฐบาลยังเจอทั้ง เอ็ม 79 เอ็ม 67 เอ็ม 26 และระเบิดแสวงเครื่องเข้าไปถึงกว่า 70 ลูกในห้วงเวลาไม่ถึง 2 เดือน ทั้งๆ ที่มีการประกาศใช้มาตรการตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และกฎหมายความมั่นคง อย่างขึงขังเข้มงวดตลอดมา
หลังจากนี้ประสบการณ์ความผิดพลาดของการใช้กฎหมายพิเศษในรอบเกือบ 5 ปีที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ต่ออายุ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯไปแล้วถึง 19 ครั้ง (ครั้งละ 3 เดือน) จึงอาจไปเกิดซ้ำรอยในพื้นที่อื่นๆ ของประเทศไทย
ที่น่าสนใจอย่างยิ่งก็คือ หากนี่เป็นเกม “ตีสองหน้า” ของผู้มีอำนาจ หน้าหนึ่งก็เล่นบทปรองดอง แต่เป้าหมายที่แท้จริงเพื่อย่อยสลายเอกภาพของแกนนำเสื้อแดง ขณะที่อีกหน้าหนึ่งก็รอ “เงื่อนไขความรุนแรง” แบบเหนือความคาดหมายมาผสมโรง แล้วบ้านเมืองของเราจะอยู่กันได้อย่างไร
ผศ.อับดุลเลาะ อับรู แห่งวิทยาลัยอิสลามศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี เคยบอกเอาไว้ หากมองเรื่องนี้อย่างพินิจพิจารณาจะเข้าใจว่าปัญหาเสื้อแดงที่สังคมไทยกำลังเผชิญอยู่นั้นหนักหนาสาหัสอย่างยิ่ง เทียบกันแล้วจะพบว่าจริงๆ ปัญหาภาคใต้เล็กนิดเดียว
เพราะสงครามไม่รู้จบกำลังเริ่มนับหนึ่ง!
------------------------------------------------------------------------------------
ขอบคุณ : ภาพประกอบจากเว็บไซต์ www.tnews.co.th