“สันติวิธีต่างมุมมอง” ของนักการเมือง นักการทหาร และผู้เชี่ยวชาญความมั่นคง
โต๊ะข่าวภาคใต้ สถาบันอิศรา
ปฏิเสธไม่ได้ว่าผู้คนส่วนใหญ่ในสังคมไทยเวลานี้ที่ไม่ได้เลือกข้าง-แบ่งสี ต่างอยู่ในภาวะหดหู่ สิ้นหวังกับสภาพบ้านเมืองที่ใกล้เคียงกับคำว่า “อนาธิปไตย” หลายคนพูดว่า “สันติวิธี” กำลังพ่ายแพ้ เพราะฝ่ายรัฐบาลกับฝ่ายคนเสื้อแดงและบรรดาผู้สนับสนุนกำลังโหมกระพือที่จะใช้ความรุนแรงเข้าห้ำหั่นกัน โดยไม่คำนึงถึงผลที่จะตามมาอีกต่อไป
อย่างไรก็ดี หากพิจารณาอย่างถี่ถ้วนจะพบว่า แท้ที่จริงแล้ว “สันติวิธี” ไม่ได้พ่ายแพ้ เพราะความรุนแรงขนาดใหญ่ที่ยังไม่เกิดขึ้นง่ายนัก ในมุมหนึ่งก็คือความสำเร็จของการรณรงค์เรื่อง “สันติวิธี” นั่นเอง
เพียงแต่ “สันติวิธี” นั้นโดยตัวของมันเป็น “วิธี” ไม่มี “สูตรสำเร็จ” จึงมีหลากหลาย “วิธีการ” ที่จะคลี่คลายปัญหาอย่างสันติได้ เพียงแต่สังคมไทยต้องร่วมกันค้นหา “ฉันทามติ” ว่าจะเลือกเดินแนวทางไหนเพื่อก้าวข้ามความขัดแย้งอย่างรุนแรงครั้งนี้ไปโดยไม่เสียเลือดเนื้อ
ช่วงหลายวันที่ผ่านมา ผมได้รับฟัง พูดคุย และนั่งจับเข่าคุยกับบุคคลสำคัญ 3 คนที่มีส่วนขับเคลื่อนแนวทาง “สันติวิธี” เพื่อฝ่าวิกฤติการณ์ของบ้านเมืองในปัจจุบัน ท่านหนึ่งเป็นนักการเมือง ท่านหนึ่งเป็นนักการทหาร และอีกท่านหนึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญงานด้านความมั่นคง
มุมมองของทั้งสามท่านคือเครื่องยืนยันว่า แม้แต่ในปีกสันติวิธีเองก็ยังมีแนวคิดแนวทางที่แตกต่างหลากหลาย ทว่าทั้งหมดมีเป้าหมายเดียวกันคือสังคมไทยที่สงบและสันติสุข จึงคิดว่าน่าจะนำมาบันทึกไว้เผื่อเป็นอีกหนึ่ง “ทางออก” ของวิกฤติความขัดแย้ง ทั้งในบริบทไฟใต้และไฟการเมือง
ชวน หลีกภัย : อย่าใช้สันติวิธีทำลายความถูกต้อง
เพิ่งมีชื่อปรากฏเป็นข่าวในฐานะ "นายกฯสำรอง" ของพรรคประชาธิปัตย์และรัฐบาล หากนายกฯคนปัจจุบันอย่าง อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ไปไม่ไหวจริงๆ ฉะนั้นจุดยืนและความเห็นของ ชวน หลีกภัย อดีตนายกฯและประธานสภาที่ปรึกษาพรรคประชาธิปัตย์ จึงต้องเงี่ยหูฟังเสมอ
นายชวน เพิ่งไปบรรยายพิเศษในหัวข้อ "สันติวิธีกับความมั่นคงแห่งชาติในมิติใหม่" ให้กับนักศึกษาหลักสูตรเสริมสร้างสังคมสันติสุข รุ่นที่ 2 ของสถาบันพระปกเกล้า เมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา แม้เนื้อหาส่วนใหญ่จะมุ่งไปที่มิติปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่หลายๆ ประโยคก็โยงถึงสถานการณ์การเมืองในปัจจุบันด้วยเช่นกัน
โดยเฉพาะความหมายของ "สันติวิธี" ตามแบบฉบับของอดีตนายกฯผู้นี้
นายชวน กล่าวว่า สภาพบ้านเมืองที่เป็นอยู่ในขณะนี้ ไม่ใช่มิติความมั่นคงเท่านั้นที่เปลี่ยนไป แต่ปัญหาความขัดแย้งก็เปลี่ยนไปด้วย ความมั่นคงที่แท้จริงจึงไม่ใช่การแก้ปัญหาในลักษณะแค่ให้ผ่านไป 2-3 เดือน เพราะปัญหาใหม่จะตามมาอีก
ทั้งนี้ แนวคิดเรื่องนโยบายความมั่นคงแห่งชาติที่จัดทำโดยสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ส่วนหนึ่งเกิดขึ้นเพราะปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยมีการพัฒนาแนวคิดมาเรื่อยๆ กระทั่งตกผลึกเป็นการยอมรับความแตกต่างหลากหลาย ดอกไม้หลากสี มุ่งสร้างความเข้าใจมากกว่าการปราบปราม
"ความบกพร่องผิดพลาดเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ นำมาสู่แนวทางการรักษาความมั่นคงด้วยสันติวิธี จากที่มองแต่มิติทางการทหาร และมองมิติสังคมน้อยมาก ก็เปลี่ยนเป็นการยอมรับความแตกต่างว่าเป็นเป็นพลังความเข้มแข็ง ไม่ใช่ความอ่อนแอ แต่นโยบายที่ดีจะประสบความสำเร็จได้ต้องขึ้นกับศรัทธาของผู้ปฏิบัติด้วย ถ้าผู้ปฏิบัติเชื่อวิธีอื่น ก็จะไม่เป็นไปตามแนวทางนี้ และความผิดพลาดเรื่องนโยบายความมั่นคงเพียงนิดเดียว จะส่งผลเสียหายต่อบ้านเมืองอย่างมหาศาล"
"ฉะนั้นผู้ปฏิบัติทุกระดับต้องศรัทธาในสันติวิธี แต่อย่าให้สันติวิธีไปทำลายความถูกต้อง สังคมแบบนี้หาความสงบยั่งยืนยาก เพราะคนที่เคารพกฎกติกาเสียเปรียบ ด้วยเหตุนี้จึงต้องตระหนักว่าสันติวิธีไม่ใช่การยกเว้นการกระทำความผิด แต่หมายถึงการทำให้ข้อขัดแย้งจบลงด้วยวิธีที่ไม่รุนแรง คนทำผิดอาจจะมีเหตุผลการกระทำในแต่ละเรื่อง แต่สันติวิธีไม่ใช่การทำสิ่งที่ผิดให้ไม่ผิด หรือลดโทษให้คนผิดแล้วเรื่องจบ อย่าให้มองได้ว่าสันติวิธีคือการให้อภัยคนทำผิด แต่อาจจะต้องยอมสูญเสียบางอย่างเพื่อประโยชน์ส่วนรวมของบ้านเมือง"
นายชวน ยังบอกด้วยว่า ได้โทรศัพท์ไปให้กำลังใจนายกฯอยู่บ่อยๆ แต่ไม่ได้แนะนำอะไรมาก เพราะอยู่ห่างไกลข้อมูล และไม่รู้ข้อเท็จจริงทั้งหมด จึงได้แต่บอกนายกฯให้ยึดหลัก ระวังอย่าให้ใครออกนอกกติกา
รองฯจิราพร : ใช้ปัญหา"ชาวบ้าน"เป็นจุดร่วม
จิราพร บุนนาค อดีตรองเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) และหนึ่งในคณะกรรมการยุทธศาสตร์สันติวิธี ซึ่งมีบทบาทอย่างสูงในการเจรจาเพื่อลดช่องว่างและหาทางออกร่วมกันระหว่างรัฐบาลกับคนเสื้อแดง กล่าวว่า ความมั่นคงของประชาชนในสถานการณ์เผชิญหน้าระหว่างรัฐบาลกับผู้ชุมนุมมีอยู่ 4 ประเด็นที่ต้องพิจารณา คือ
1.มีความไม่ไว้วางใจสูงมากระหว่างคู่ขัดแย้ง
2.เมื่อมีความไม่ไว้วางใจ จึงนำไปสู่การหาทางออกร่วมกันไม่ได้
3.มีการปฏิบัติต่อกันโดยขาดการประเมินผลกระทบการแก้ไขปัญหาในภาพรวม ทำให้มีอคติต่อกัน มองอีกฝ่ายเป็นศัตรู สื่อสารไม่ตรงกับความจริง มีความเสี่ยงที่จะเกิดความผิดพลาดจากการใช้กำลัง
และ 4.ทั้งสองฝ่ายไม่ค่อยได้ประเมินสถานการณ์ความรุนแรง
"สภาพที่เป็นอยู่มีความผิดปกติของการสื่อสารระหว่างกัน มีการสื่อสารทางเดียว ข้อมูลข่าวสารไม่สอดคล้องกับความจริง ไม่เพียงพอ ไม่ทันเวลา คู่ขัดแย้งเริ่มขาดความอดทน ขาดความเห็นใจซึ่งกันและกัน จึงมีการเตรียมกำลังเพื่อเอาชนะ 'ฝ่ายตรงข้าม' ซึ่งเป็นแนวทางที่ไม่ควรเกิดขึ้น"
ส่วนทางออกจากสถานการณ์ความขัดแย้งนั้น รองฯจิราภรณ์ เสนอว่า ต้องลดเงื่อนไขความไม่ไว้เนื้อเชื่อใจ ที่ผ่านมามีการเจรจาไปแล้ว 2 ครั้ง แต่ตกลงกันไม่ได้ เพราะจุดยืนต่างกัน ในแง่สันติวิธีจึงต้องเร่งหา "จุดร่วม" แล้วคุยกันโดยเร็วที่สุด
"จุดร่วมหนึ่งที่พอมองเห็นก็คือ ในกลุ่มคนเสื้อแดงมีคนยากจน มีคนที่มีปัญหามาจากท้องถิ่นต่างๆ ของประเทศ กลุ่มสันติวิธีจึงอยากเชิญชวนทุกกลุ่มมาคุยกันเรื่องแก้ไขปัญหาความยากจน แล้วดึงกลุ่มเยาวชนมาแสดงบทบาทเพื่อแก้ปัญหาของคนในกลุ่มเสื้อแดงเพื่อหาทางออก ที่ผ่านมานายกฯอภิสิทธิ์พูดถึงโรดแมพ (แผนที่เดินทาง) เพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่วันนี้เราจะพูดถึงโรดแมพแก้ความยากจน ถ้าผู้ใหญ่ไม่ทำ ก็จะให้เด็กและเยาวชนช่วยกันทำ" อดีตรองเลขาฯสมช. ระบุ
พล.ท.ดร.พีระพงษ์ : ต้องแก้การเมืองด้วยการเมือง
ความเห็นของทหารประจำการที่ยืนยันว่าไม่ใช่ "ทหารแตงโม" อย่าง พล.ท.ดร.พีระพงษ์ มานะกิจ ที่ปรึกษาสำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม มองว่า วิธีคิดในการแก้ปัญหาของรัฐบาลผิดตั้งแต่แรก เพราะไม่ยอมแก้การเมืองด้วยการเมือง เมื่อตีความว่าไม่ใช่การเมือง แต่เป็นการก่อการร้าย ก็ต้องนิยามคำว่าก่อการร้ายให้ชัด
"ผมว่าข้อกล่าวหานี้อ่อนมาก ที่บอกว่าผู้ก่อการร้ายปะปนอยู่ในม็อบ ต้องเชื่อมโยงให้เห็นว่าอยู่ร่วมกับม็อบจริง เช่น คนชุดดำเป็นมือปืนรับจ้างของคนเสื้อแดง ซึ่งเป็นเรื่องยาก ฉะนั้นสถานการณ์นี้ต้องใช้การเมืองแก้"
พล.ท.ดร.พีระพงษ์ กล่าวต่อว่า พิจารณาจากท่าทีขององค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) และสหรัฐอเมริกา ชัดเจนว่าไม่เห็นด้วยกับการใช้กำลังสลายม็อบหรือปราบปรามประชาชน ฉะนั้นหากยังคิดทำ ระวังจะต้องขึ้นศาลอาญาระหว่างประเทศในฐานะอาชญากรสงคราม
"การมองว่าม็อบละเมิดกฎหมาย เป็นการมองเฉพาะมิติกฎหมาย แน่นอนว่าการกระทำบางอย่างผิดกฎหมายก็จริง แต่อาจงดเว้นกฎหมายบางข้อได้ เพื่อให้การแก้ปัญหาเดินหน้าต่อไป ส่วนการใช้กำลังปราบปราม รัฐจะยิ่งเสียเปรียบทางยุทธศาสตร์ บอกว่าต้องจับให้ได้ แล้วจับไม่ได้ แถมไปกล่าวหาแบบเหมารวม แบบนี้ยิ่งอันตราย โดยยุทธศาสตร์ถือว่ารัฐบาลพ่ายแพ้แล้ว ต่างชาติก็ไม่สนับสนุน"
"ลองคิดในมุมกลับ ตอนนี้ม็อบถือไพ่เหนือกว่า ม็อบอาจจะคิดว่าทำไมเขาต้องใช้กำลัง ฉะนั้นเอ็ม 79 ที่ลงที่โน่นที่นี่อาจไม่ใช่ฝ่ายเสื้อแดงทำก็ได้ อาจจะคิดว่ารัฐทำก็ได้ เพราะจริงๆ แล้วรัฐเสียเปรียบอยู่ ฉะนั้นการที่รัฐยิ่งกล่าวหารุนแรง จะยิ่งเพิ่มแรงกดดันให้ตัวเอง ต้องจับคนยิงให้ได้ยังไม่พอ ต้องพิสูจน์ให้ได้ด้วยว่ามีความเชื่อมโยง ซึ่งเป็นเรื่องยากดังที่บอกแล้ว"
สำหรับทางแก้นั้น พล.ท.ดร.พีระพงษ์ เสนอว่า ต้องให้กองทัพถอยออกไป แล้วเปิดเจรจา ต่อรองเรื่องยุบสภาว่าจะใช้เวลากี่เดือน จากนั้นก็เปิดเวทีให้คนไทยนั่งเถียงกันเรื่องรัฐธรรมนูญใหม่ ถ้าใช้ความจริงใจ ไม่กี่เดือนก็จะเรียบร้อย
ได้แต่หวังว่า แนวคิดแนวทางของทั้งสามท่านจะช่วยให้สังคมไทยได้ตกผลึก และทำให้เกิดแสงสว่างแห่งสันติภาพได้บ้าง...ไม่มากก็น้อย
--------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ :
1 เครือข่ายสันติวิธีรณรงค์ให้ใช้ "สติ" และ "สันติ" ที่สถานีรถไฟฟ้าแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ (ภาพจาก http://www.siamintelligence.com/non-violence/)
2 นายชวน หลีกภัย (ภาพจากบล็อคโอเคเนชั่น)
3 จิราพร บุนนาค (ภาพจาก http://learners.in.th/file/papon_k/view/77790)
4 พล.ท.ดร.พีระพงษ์ มานะกิจ (ภาพจากเว็บไซต์หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ)