"อย่า-หยุด-ยิ้ม" คาถาดับไฟความรุนแรง
โต๊ะข่าวภาคใต้ สถาบันอิศรา
ในที่สุดสังคมไทยก็หลีกไม่พ้นเหตุการณ์ "นองเลือด" จากความขัดแย้งทางการเมืองที่รุนแรงที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ชาติเรา หนำซ้ำสถานการณ์ยังส่อเค้าบานปลายกลายเป็นบาดแผลเรื้อรังที่ยากจะนำความสงบสุข สมานฉันท์กลับคืนมาได้ดังเดิม
"สยามเมืองยิ้ม" ที่ทั่วโลกเคยยกย่อง นับจากวันนี้อาจกลายเป็นเพียงอดีต...
วิกฤตการณ์การเมืองเที่ยวนี้ปะทุแทรกขึ้นมาท่ามกลางปัญหาความขัดแย้งและความรุนแรงในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่สังคมไทยยังอยู่ในสภาพหลงทางอยู่ในเขาวงกต กระบวนการคลี่คลายปัญหายังคล้ายพายเรืออยู่ในอ่าง ยักตื้นติดกึก ยักลึกติดกัก มานานเกือบ 7 ปีแล้ว
ประวัติศาสตร์บาดแผลเที่ยวนี้จึงยิ่งทำให้ทุกปัญหาในประเทศไทย รวมทั้งปัญหาภาคใต้แก้ยากมากขึ้นไปอีกเป็นทับทวี
ถึงนาทีนี้คงไม่มีอะไรดีกว่าการดึงสติให้กลับมาอยู่กับเนื้อกับตัว และพิจารณาปัญหาอย่างถ่องแท้ด้วยปัญญา หยุดใช้ "อวิชชา" และ "อคติ" แล้วจึง "ตั้งสติ" ให้สมกับการเป็น "ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน"
เมื่อไม่นานมานี้ผมได้มีโอกาสฟังคำบรรยายอันมีค่าจาก พระมหาหรรษา ธมฺมหาโส แห่งมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ในห้องเรียนหลักสูตรการเสริมสร้างสังคมสันติสุข รุ่นที่ 2 หรือที่รู้จักกันในชื่อ "หลักสูตร 4 ส." ของสถาบันพระปกเกล้า
สารัตถะที่ได้รับจาก พระมหาหรรษา คือคุณูปการอันยิ่งใหญ่ที่จะดับไฟความขัดแย้งและความรุนแรงในบ้านเมืองของเรา ซึ่งผมขอนำมาถ่ายทอดให้ได้อ่านกัน ณ ที่นี้
พระมหาหรรษา เริ่มต้นตรงที่ว่า แนวคิด "สันติวิธี" มีฐานมาจากศาสนา ทั้งพุทธ คริสต์ และอิสลาม แต่ต้องยอมรับว่าปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในบ้านเมืองปัจจุบัน ทั้งปัญหาการเมืองและปัญหาภาคใต้ ทำให้ศาสนจักรและสันติวิธีถูกท้าทายอย่างหนัก เพราะทำให้เกิดคำถามว่าสันติวิธีใช้ได้ผลจริงหรือ แล้วสถานการณ์ร้ายๆ เหล่านี้จะจบลงเมื่อใด
พระคุณเจ้าตั้งข้อสังเกตว่า เวลาคนในสังคมพูดถึงอะไรกันมากๆ แสดงว่าสังคมกำลังขาดสิ่งนั้น ฉะนั้นการที่สังคมไทยพูดถึงสันติวิธีกันอย่างกว้างขวางมากมาย แสดงให้เห็นว่ากำลังเกิดแนวทางที่ไม่ได้ใช้สันติวิธีขึ้นในสังคมไทย
สันติวิธีที่แท้จริงของศาสนาพุทธคือการกลับมาดูตัวเอง พิจารณาลมหายใจของตัวเองให้ได้ก่อน ดังประโยคทองที่ว่า “ความสุขที่ยิ่งใหญ่ คือการได้อยู่กับลมหายใจของตัวเอง"
พระมหาหรรษา มองว่า ขณะนี้สังคมไทยเป็นสังคม “ตาบอดคลำช้าง” เป็นสังคมแห่งความไม่รู้ แต่ละคนมีประสบการณ์ต่างกัน จึงมีจุดยืนแตกต่างกันจากประสบการณ์ของตนเอง ส่งผลให้เกิดการโต้เถียงกันไม่รู้จบ
ความไม่รู้ของสังคมไทยมีหลากหลายอย่าง ซึ่ง พระมหาหรรษา ได้ยกตัวอย่างมาแบบตรงเผงกับสภาพที่เกิดขึ้นจริงในปัจจุบัน ได้แก่ ไม่รู้อะไรผิดอะไรถูก, ไม่รู้อะไรดีอะไรไม่ดี, ไม่รู้อะไรควรอะไรไม่ควร, ไม่รู้อะไรสูงอะไรต่ำ, ไม่รู้อะไรจริงอะไรเท็จ และไม่รู้ไม่ชี้
ทางออกของปัญหาที่กำลังเกิดและดำรงอยู่ในสังคมไทย ต้องใช้หลัก "3 ย." คือ อย่า หยุด และ ยิ้ม
"อย่า" หมายถึง อย่าเห็นแก่ตัว อย่ากลัวเสียหน้า เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า "ขันติ" เพราะมนุษย์เราจำเป็นต้องรักคนอื่น เนื่องจากมนุษย์ไม่อาจอยู่คนเดียวในโลกได้ ฉะนั้นต้องรักคนอื่น และต้องช่วยกันสร้างสังคมสมานุภาพ
"หยุด" หมายถึง มีสติรู้คิด และกลับมาที่ลมหายใจของตัวเอง เหมือนดังที่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสกับองคุลีมาลที่วิ่งไล่ล่าพระองค์เพื่อตัดนิ้วให้ได้ครบ 1,000 นิ้วว่า "เราหยุดแล้ว ท่านต่างหากที่ยังไม่หยุด"
การหยุดมีหลายเรื่อง ที่สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันก็คือ หยุดคิดทำร้าย หยุดป้ายสี หยุดพาทีให้เกลียดชัง หยุดยั้งเติมเชื้อไฟ และหยุดสร้างเงื่อนไขความรุนแรง
ส่วน “ยิ้ม” หมายถึงสันติ หรือสันติภาพ
ฉะนั้นท่ามกลางวิกฤติเช่นนี้ ทุกฝ่ายที่อยู่ในวังวนความขัดแย้งต้องยึดหลัก “อย่า-หยุด-ยิ้ม” หรือ “ขันติ-สติ-สันติ” แล้วกลับมาที่ลมหายใจของตัวเอง...
มิฉะนั้นจะไม่มีวันได้เห็นทางออก!
------------------------------------------------------------------
ขอบคุณ :
ภาพ 1 จากหนังสือพิมพ์แนวหน้า
ภาพ 2 จากบล็อค gotoknow.org