บทพิสูจน์กรณี “สมเพียร เอกสมญา" สังคมไทยยัง “เข้าไม่ถึง” ชายแดนใต้
โต๊ะข่าวภาคใต้ สถาบันอิศรา
พูดถึงปัญหาสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ยามนี้ หากจะไม่กล่าวถึงกรณีการเสียชีวิตของ พล.ต.อ.สมเพียร เอกสมญา อดีตผู้กำกับการ สภ.บันนังสตา จ.ยะลา คงจะไม่ได้ เพราะสื่อกระแสหลักทุกแขนงได้เชิดชูวีรกรรมของ พล.ต.อ.สมเพียร หรือที่คนใกล้ชิดในแวดวงสามจังหวัดชายแดนภาคใต้เรียกกันสั้นๆ ว่า “จ่าเพียร” กันอย่างคึกคักยิ่ง
แม้แต่ในวังวนการเมืองที่มีการจัดชุมนุมของ “กลุ่มคนเสื้อแดง” และพรรคฝ่ายค้านอย่าง “พรรคเพื่อไทย” ก็ฉวยจังหวะหยิบประเด็นการเสียชีวิตของ “จ่าเพียร” ไปเป็นอีกหนึ่งหัวข้อในการปราศรัยและให้สัมภาษณ์ถล่มรัฐบาลอย่างเมามัน
ทว่าสังคมไทยโดยรวมอาจไม่ทราบว่า ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นจากการเสียชีวิตของ “จ่าเพียร” นั้น คือภาพสะท้อนที่แจ่มชัดยิ่งว่า สังคมไทยยัง “เข้าไม่ถึง” ข้อเท็จจริงบางมิติในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้และความรู้สึกของผู้คนส่วนใหญ่ซึ่งเป็นชาวมลายูมุสลิม
และนั่นก็คือบทพิสูจน์ว่า เหตุใดปัญหาภาคใต้จึงยืดเยื้อเรื้อรังไม่ต่างอะไรกับหนังเรื่องยาวที่ยังมองไม่เห็นตอนจบดังเช่นปัจจุบัน...
บทความชิ้นนี้ไม่ได้ปฏิเสธ “วีรกรรม” ที่แปลว่าการกระทำที่กล้าหาญของ “จ่าเพียร” ในทางกลับกันยังชื่นชมเช่นเดียวกับสังคมไทยทั้งสังคมในแง่ของหัวจิตหัวใจที่กล้าแกร่งเสนอตัวเข้าไปปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่เสี่ยงอันตรายที่สุดอำเภอหนึ่งอย่างบันนังสตา ซึ่งนอกจากจะเป็นพื้นที่ประกาศกฎอัยการศึกแล้ว ยังเคยเป็นหนึ่งใน 2 อำเภอที่ประกาศ “เคอร์ฟิว” หรือมาตรการห้ามออกนอกเคหะสถานในเวลาที่กำหนดด้วย
เช่นเดียวกับความอยุติธรรมที่ พล.ต.อ.สมเพียร ได้รับ ก็รู้สึกสะท้อนใจในความเหลวแหลกเละเทะของกระบวนการแต่งตั้งโยกย้ายของสำนักงานตำรวจแห่งชาติที่เต็มไปด้วยการใช้เงินและผลประโยชน์ซื้อขายตำแหน่งกันอย่างโจ๋งครึ่ม ทั้งยังเห็นว่า “งานนี้ต้องมีคนรับผิดชอบ” และคงยอมไม่ได้หากสุดท้ายผลการสอบสวนของคณะกรรมการที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติตั้งขึ้น สรุปผลออกมาว่า “ไม่มีใครผิด” แต่เป็น พล.ต.อ.สมเพียร ที่ผิด เพราะย้ายไม่ได้เอง
อย่างไรก็ดี ยังมีข้อสังเกตบางประการเกี่ยวกับบางประเด็นที่พ่วงมากับกระแส “จ่าเพียรขาเหล็ก” ซึ่งน่านำมาพินิจพิเคราะห์ว่ามีความถูกต้อง เหมาะควรหรือไม่ เพียงใด นั่นก็คือการยกย่อง “จ่าเพียร” จากผลงานที่พูดถึงกันมากคือการต่อสู้กับ “โจรใต้” และ “วิสามัญฆาตกรรมโจร” ไปถึง 22 ศพ ในห้วงเวลา 2 ปีเศษบนเก้าอี้ผู้กำกับการ สภ.บันนังสตา ถึงขั้นที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติจะสร้างอนุสาวรีย์ให้ และจะนำเรื่องราวตลอดจนผลงานของ “จ่าเพียร” (ซึ่งน่าจะรวมถึงการวิสามัญฆาตกรรม 22 ศพ) ไปบรรจุในหลักสูตรสอนกันในโรงเรียนตำรวจทุกระดับกันเลยทีเดียว
ประเด็นดังกล่าวมีข้อสังเกตอยู่ 2 ประการ คือ
1.การวิสามัญฆาตกรรม 22 ศพ เรียกว่าผลงานหรือไม่
2.วลีที่ว่าต่อสู้หรือทำสงครามกับ “โจรใต้” มีความหมายอย่างไร
เริ่มจากประเด็นแรกก่อน คือการวิสามัญฆาตกรรม 22 ศพ หากสำนักงานตำรวจแห่งชาติรับรองว่านี่คือผลงานชิ้นโบว์แดง ก็ต้องตั้งคำถามว่าสำนักงานตำรวจแห่งชาติหรือจะพูดโดยรวมว่า “ตำรวจไทย” เข้าใจข้อกฎหมายว่าด้วยการวิสามัญฆาตกรรมแค่ไหน และอย่างไร
คำว่า “วิสามัญฆาตกรรม” นั้น แท้จริงแล้วไม่ได้มีบัญญัติไว้ในกฎหมายใด แต่ตามความเข้าใจโดยทั่วไปหมายถึงการตายโดยผิดธรรมชาติซึ่งเกิดจากการกระทำของเจ้าพนักงาน (โดยมากคือตำรวจ) ซึ่งอ้างว่าปฏิบัติราชการตามหน้าที่ หรือตายในระหว่างอยู่ในความควบคุมของเจ้าพนักงานซึ่งอ้างว่าปฏิบัติราชการตามหน้าที่
ตัวอย่างง่ายๆ ก็คือยิงต่อสู้กันแล้วคนร้ายตายโดยปืนของตำรวจ อย่างนี้เรียกว่า “วิสามัญฆาตกรรม”
อย่างไรก็ดี คดีวิสามัญฆาตกรรมมีบทบัญญัติพิเศษที่กำหนดให้เจ้าพนักงานในกระบวนการยุติธรรมต้องปฏิบัตินอกเหนือจากคดีฆาตกรรมทั่วๆ ไป โดยในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 150 วรรค 4-5 และ 6 ให้พนักงานอัยการและพนักงานฝ่ายปกครองตำแหน่งตั้งแต่ระดับปลัดอำเภอหรือเทียบเท่า ร่วมชันสูตรพลิกศพร่วมกับพนักงานสอบสวน นัยว่าเพื่อถ่วงดุลตรวจสอบ เพราะเป็นกรณีที่ตำรวจสอบสวนตำรวจด้วยกันเอง
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญายังกำหนดให้อัยการทำคำร้องต่อศาลเพื่อไต่สวนการตายและทำคำสั่งแสดงว่าผู้ตายคือใคร ตายที่ไหน เมื่อใด และถึงเหตุและพฤติการณ์ที่ตาย ถ้าตายโดยคนทำร้ายให้กล่าวว่าใครเป็นผู้กระทำร้ายเท่าที่จะทราบได้ เมื่อศาลได้มีคำสั่งแล้ว ให้ส่งสำนวนการไต่สวนของศาลไปยังพนักงานอัยการ เพื่อส่งแก่พนักงานสอบสวนดำเนินการต่อไป
พูดง่ายๆ ก็คือการทำคดี "วิสามัญฆาตกรรม" จะต้องมีอัยการและศาลร่วมตรวจสอบพยานหลักฐานด้วย เพื่อให้ความเป็นธรรมกับผู้เสียหายซึ่งถูกทำให้เสียชีวิตระหว่างการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐ
นอกจากนั้นพนักงานสอบสวน (ตำรวจ) ยังต้องทำสำนวนฟ้องเจ้าพนักงานที่กระทำการวิสามัญฆาตกรรม หากเจ้าพนักงานผู้นั้นพิสูจน์ต่อศาลได้ว่าเป็นการป้องกันตัวที่ไม่เกินสมควรแก่เหตุ ก็จะถือว่าไม่มีความผิด แต่หากไม่เข้าข่ายเป็นการป้องกันตัว ก็ต้องถือว่าเป็นกรณี “ฆ่าคนตายโดยเจตนา” หรือ “ฆ่าคนตายโดยประมาท” หรืออื่นๆ ตามแต่กรณี
สรุปก็คือการ “วิสามัญฆาตกรรม” เป็นการละเมิดสิทธิต่อชีวิตและร่างกายอย่างหนึ่ง แม้ว่าผู้ถูกละเมิดจะถูกระบุว่าเป็นคนร้าย หรือเป็นผู้ต้องหาตามหมายจับก็ตาม เจ้าพนักงานก็ไม่มีสิทธิละเมิด
เพราะรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยบัญญัติรับรองสิทธิผู้ต้องหาและจำเลยไว้ในมาตรา 39 วรรค 2-3 ว่า “ในคดีอาญาต้องสันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ต้องหาและจำเลยไม่มีความผิด ก่อนมีคำพิพากษาอันถึงที่สุดแสดงว่าบุคคลใดได้กระทำความผิด จะปฏิบัติต่อบุคคลนั้นเสมือนเป็นผู้กระทำความผิดมิได้”
นี่คือหลักที่รัฐธรรมนูญไทยวางเอาไว้ ซึ่งสอดคล้องกับหลักปฏิบัติสากลที่ใช้กันทั่วโลก
การ “วิสามัญฆาตกรรม” ที่ได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายจึงเป็น “กรณียกเว้น” ไม่ใช่ “กรณีทั่วไป” และจำกัดแค่เพียงการ “ป้องกันตัว” ที่ไม่เกินสมควรแก่เหตุ หรือการป้องกันตัวโดยชอบด้วยกฎหมายเท่านั้น เพื่อมิให้เจ้าหน้าที่รัฐทำตัวเป็น “ศาลเตี้ย” พิพากษาชีวิตคนโดยไม่ผ่านกระบวนการยุติธรรม
ด้วยเหตุนี้หากสำนักงานตำรวจแห่งชาติแสดงท่าทีสนับสนุนการ “วิสามัญฆาตกรรม” หรือกำหนดให้การ “วิสามัญฆาตกรรม” คือผลงานอย่างหนึ่ง ย่อมเปิดช่องให้เจ้าพนักงานใช้อำนาจหน้าที่โดยมิชอบ เช่น ยิงทิ้งแล้วอ้างว่าเป็นวิสามัญฆาตกรรมได้ ซึ่งนับว่าอันตรายอย่างยิ่ง
โดยเฉพาะในพื้นที่อ่อนไหวที่เจ้าหน้าที่มักมองประชาชนเป็น “ศัตรู” ดังเช่นในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้
เพราะข้อมูลจากองค์กรด้านสิทธิมนุษยชนชัดเจนว่า คดีวิสามัญฆาตกรรมที่เกิดขึ้นท่ามกลางสถานการณ์ความไม่สงบ มีน้อยยิ่งกว่าน้อยที่พนักงานสอบสวนจะมีความเห็นสั่งฟ้องเพื่อให้เจ้าพนักงานที่กระทำ “วิสามัญฆาตกรรม” ไปพิสูจน์ตัวเองในชั้นศาลว่าเป็นการป้องกันตัวโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ อีกทั้งในหลายกรณีฝ่ายผู้เสียหายก็ไม่มีโอกาสได้ตั้งทนายความคัดค้านความเห็นของอัยการระหว่างการไต่สวนของศาลตามมาตรา 150 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาด้วย
ส่วนใหญ่พนักงานสอบสวนจะทำความเห็น “สั่งไม่ฟ้อง” เพราะผู้ที่กระทำวิสามัญฆาตกรรมล้วนสวมเครื่องแบบสีเดียวกัน
ทั้งหมดที่อธิบายมา ไม่ได้หมายความว่าเจ้าหน้าที่ไม่สามารถทำวิสามัญฆาตกรรมได้เลย เพราะในยามคับขัน ถูกคนร้ายยิงใส่ก่อน แน่นอนว่าเจ้าหน้าที่ก็ต้องป้องกันตัวเอง แต่ประเด็นเปราะบางที่ต้องระมัดระวังก็คือ ทั้งองค์กรตำรวจและสังคมต้องไม่สนับสนุนหรือเชิดชูว่าการทำวิสามัญฆาตกรรมคือผลงาน
เพราะนั่นอาจหมายถึงการมอบใบอนุญาตให้ “ฆ่า” โดยชอบด้วยกฎหมาย!
ประเด็นที่สอง คือวลีที่ว่า “ต่อสู้” หรือ “ทำสงครามกับโจรใต้” ที่ถูกนำมาอธิบายถึงความกล้าหาญของเจ้าหน้าที่ ประเด็นนี้นับว่าลึกซึ้ง เพราะนั่นเท่ากับมองว่ากลุ่มก่อความไม่สงบเป็นศัตรูที่ต้อง “กำจัด” ให้หมดไป หาใช่คนไทยด้วยกันที่มีอุดมการณ์แตกต่างกันในมุมมองของความเป็นรัฐและรูปแบบการปกครองไม่
พล.อ.ไวพจน์ ศรีนวล อดีตรองปลัดกระทรวงกลาโหม และอดีตผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองแห่งชาติ เคยให้สัมภาษณ์ในนิตยสารดีพเซาท์ วอทช์ ฉบับที่ 3 (สงครามความรู้สึก ปม-ลึก-ไฟใต้; ตีพิมพ์ พ.ศ.2551) ถึงการทำสงครามข้อมูลข่าวสาร หรือที่เรียกว่า ไอโอ (Information Operation) เอาไว้อย่างน่าสนใจ
โดย พล.อ.ไวพจน์ วิพากษ์การทำ ไอโอ ของกองทัพไทยในภารกิจดับไฟใต้ว่า การโหมสงครามข่าวว่าฝ่ายก่อความไม่สงบเป็นศัตรู ดังที่ประเทศแม่แบบ ไอโอ อย่างสหรัฐอเมริกาใช้ในอิรักนั้น จะไม่เกิดผลดีกับปัญหาภาคใต้ของไทย เพราะกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบคือคนไทยร่วมชาติ เป็นพลเมืองไทย ไม่ใช่ศัตรูที่ต้องล้างผลาญให้ย่อยยับกันไปข้างหนึ่งเหมือนที่สหรัฐทำกับอิรัก
ฉะนั้นการมองกลุ่มก่อความไม่สงบเป็น “ศัตรู” ที่ต้องทำสงครามประหัตประหาร (หรือวิสามัญฆาตกรรม) จะยิ่งขยายวงปัญหา ไม่ใช่แก้ปัญหา
ที่น่าคิดก็คือในพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2551 (พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ) มาตรา 21 ยังเปิดช่องให้ “บุคคลที่หลงผิด” อาจไม่ต้องถูกดำเนินคดีอาญา หากกลับใจเข้ามอบตัวกับทางราชการ และสมัครใจไปอบรมปรับเปลี่ยนทัศนคติตามที่ทางราชการกำหนด
น่าแปลกที่มุมมองว่ากลุ่มก่อความไม่สงบคือศัตรู ดูจะขัดกับเจตนารมณ์ของกฎหมายความมั่นคงซึ่งรัฐกำลังใช้เป็นกรอบในการจัดการปัญหาภาคใต้ในระยะต่อไปอย่างชัดแจ้ง
ประเด็นสำคัญที่สุดก็คือ แทบไม่มีใครในสังคมไทยสนใจใคร่รู้เลยว่า “จ่าเพียร” ที่กำลังได้รับการยกย่องว่าเป็น “วีรบุรุษคนใหม่” ในหัวใจของคนไทยส่วนใหญ่นั้น มีภาพพจน์อย่างไรในหัวใจของผู้คนอีกส่วนหนึ่งซึ่งอาจจะเป็นคนส่วนน้อยของประเทศ แต่เป็นคนส่วนใหญ่ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่อยู่ภายใต้การปฏิบัติงานและบังคับใช้กฎหมายโดยตรงของ “จ่าเพียร”
หากลองเงี่ยหูฟังสักนิดจะทราบว่าชาวบ้านที่นั่นไม่ได้เรียกขานเขาว่า “จ่าเพียรขาเหล็ก” แน่ๆ
การยิ่งเชิดชูผลงานของ “จ่าเพียร” โดยเฉพาะการวิสามัญฆาตกรรมโจรใต้ 22 ศพในห้วงเวลาเพียง 2 ปีเศษ ซึ่ง “โจรใต้” เหล่านั้นก็ล้วนเป็นลูกหลานของคนในพื้นที่ซึ่งถือบัตรประชาชนไทย จึงยิ่งสร้างความแปลกแยกในหัวใจของคนสามจังหวัดที่มีต่อสังคมไทยมากยิ่งขึ้นไปอีก
ทั้งนี้มิได้หมายความว่า บุคคลที่ถูกเรียกขานว่า “โจรใต้” กระทำในสิ่งที่ถูกต้องหรือควรได้รับการสนับสนุน เพียงแต่การจัดการแก้ไขปัญหาที่มีความอ่อนไหวสูงเช่นนี้จะต้องยึดหลักกฎหมายอย่างเคร่งครัดเท่านั้น เพราะหากเมื่อใดที่เราละเลยหลัก “นิติธรรม” เมื่อนั้นปัญหาจะยิ่งบานปลายไม่รู้จบ ซึ่งข้อเท็จจริงนี้ยืนยันได้จากทุกพื้นที่ขัดแย้งทั่วโลก
บทพิสูจน์จากกรณีของ “จ่าเพียร” ก็คือ สังคมไทยยังไม่เคยสนใจ ไม่พยายามเข้าใจ และ “เข้าไม่ถึง” หัวจิตหัวใจของคนในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างแท้จริงเลย!