ร่วมต้านความรุนแรง...ทั้งที่กรุงเทพฯและชายแดนใต้
โต๊ะข่าวภาคใต้ สถาบันอิศรา
กระแสตื่นกลัวความรุนแรงจากการนัดชุมนุมใหญ่ของกลุ่มคนเสื้อแดงตั้งแต่วันศุกร์ที่ 12 มีนาคม แพร่กระจายไปทั่วประเทศ ซึ่ง ณ นาทีนี้ไม่อาจคาดเดาได้อีกแล้วว่าหากมีความรุนแรงเกิดขึ้นจริง จะเป็นความรุนแรงที่เกิดจากฝ่ายใด เพียงแต่ทุกคน ทุกฝ่าย หน่วยข่าวทุกหน่วย รู้แค่ว่าโอกาสที่จะเกิดความรุนแรงมีสูงมาก
ล่าสุดเครือข่าย "หยุดทำร้ายประเทศไทย-หยุดใช้ความรุนแรง" จากทุกภาคส่วน ทั้งองค์กรวิชาชีพสื่อสารมวลชนอย่างสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย นำโดย นายประสงค์ เลิศรัตนวิสุทธิ์ นายกสมาคมฯ นักวิชาการ อาทิ ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ องค์กรภาคประชาสังคมและองค์กรด้านสันติวิธีอย่างสำนักสันติวิธีและธรรมาภิบาล สถาบันพระปกเกล้า ได้รวมตัวกันอีกครั้งที่สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ถนนสามเสน กรุงเทพฯ เพื่อออกแถลงการณ์เรียกร้องให้ทุกฝ่ายในสังคมไทยช่วยกันระงับยับยั้งความรุนแรง
แถลงการณ์หัวข้อ "ไม่เอาความรุนแรง" ระบุว่า ตามที่แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) จะจัดให้มีการชุมนุมในกรุงเทพมหานครในวันที่ 14 มีนาคม 2553 โดยเริ่มระดมคนจากทั่วประเทศให้เดินทางเข้ามาชุมนุมตั้งแต่วันที่ 12 มีนาคม 2553 ทำให้เกิดความวิตกกังวลว่าอาจจะเกิดความรุนแรงขึ้นมาอีกครั้งนั้น
เครือข่าย "หยุดทำร้ายประเทศไทย-หยุดใช้ความรุนแรง" ซึ่งได้ตั้งขึ้นมาตั้งแต่เดือนเมษายน 2552 ร่วมกับกลุ่มองค์กรภาคประชาสังคมต่างๆ ที่ไม่ต้องการเห็นความรุนแรงหรือความสูญเสียที่อาจเกิดขึ้นมาอีกในสังคมไทย จึงมีข้อเรียกร้องต่อทุกฝ่ายเพื่อให้สังคมไทยและทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องได้ช่วยกันระงับยับยั้งความรุนแรง ดังต่อไปนี้
1. ขอให้ทุกฝ่ายต้องไม่ใช้ความรุนแรง และให้อดทนต่อการยั่วยุ ซึ่งอาจทำให้เกิดความรุนแรง "การชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ" เป็นสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานตามรัฐธรรมนูญ รัฐบาลและเจ้าหน้าที่ที่มีอำนาจหน้าที่ในการรักษาความสงบเรียบร้อยหรือความมั่นคง จึงต้องเคารพสิทธิเสรีภาพในการชุมนุมของประชาชน การควบคุมการชุมนุมของรัฐบาลนั้นให้บังคับใช้กฎหมายเท่าที่จำเป็นและเหมาะสมในการดูแลความสงบเรียบร้อยของสังคม ที่สำคัญเจ้าหน้าที่ที่ควบคุมการชุมนุมต้องไม่มีการติดอาวุธ โดยให้มีเฉพาะอุปกรณ์ป้องกันตัว และอุปกรณ์สำหรับควบคุมดูแลการชุมนุมเท่านั้น
ขณะที่ฝ่ายผู้ชุมนุมจะต้องอยู่ในขอบเขตของการไม่ใช้ความรุนแรงและไม่มีอาวุธ ฝ่ายแกนนำการชุมชุมที่ยืนยันว่าจะไม่มีการใช้ความรุนแรงจะต้องควบคุมดูแลไม่ให้มีการพกพาอาวุธมาชุมนุม และผู้ชุมนุมต้องช่วยกันควบคุมดูแลซึ่งกันและกันไม่ให้มีใครใช้ความรุนแรง
2. รัฐธรรมนูญมาตรา 28 บัญญัติว่า “บุคคลจะใช้สิทธิและเสรีภาพของตนได้เท่าที่ไม่ละเมิดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลอื่น” ผู้ชุมนุมจึงต้องไม่ใช้วิธีการที่เป็นการละเมิดสิทธิและเสรีภาพของผู้อื่น การชุมนุมโดยใช้วิธีการที่สร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชนคนอื่นๆ เป็นสิ่งที่รัฐธรรมนูญไม่อนุญาตให้กระทำ ทั้งยังอาจจะนำไปสู่การกระทบกระทั่งกับประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนด้วย
3. สำหรับประชาชนกลุ่มต่างๆ ซึ่งอาจมีจุดยืนหรือความเห็นทางการเมืองแตกต่างกับผู้ชุมนุม ก็ควรใช้ความอดทนอดกลั้น มีสติยับยั้ง ต้องไม่ใช้ความรุนแรงในการแก้ปัญหา นอกจากนี้ประชาชนส่วนใหญ่ที่เป็นพลังเงียบต้องติดตามข่าวสารอย่างมีสติ อย่าได้เชื่อข่าวสารที่อาจนำสู่การใช้ความรุนแรง และประชาชนไม่ควรให้ความร่วมมือกับฝ่ายใดก็ตามที่ใช้ความรุนแรง
4. รัฐบาลและแกนนำผู้ชุมนุมต่างยืนยันว่าจะไม่มีการใช้ความรุนแรง ฉะนั้นเพื่อให้เกิดผลในทางปฏิบัติ ฝ่ายรัฐบาลและแกนนำผู้ชุมนุมจึงควรร่วมมือกันในการป้องกันไม่ให้มีความรุนแรงเกิดขึ้น ไม่ว่าจะเริ่มจากผู้ชุมนุม จากเจ้าหน้าที่ หรือจากบุคคลอื่นใด ในกรณีที่เกิดเหตุรุนแรงขึ้นมา ขอให้รัฐบาลและแกนนำการชุมนุมร่วมมือกันคลี่คลายแก้ไขปัญหา โดยขอให้มีการต่อสายตรงถึงกันในการร่วมกันแก้ไขปัญหา
เครือข่าย “หยุดทำร้ายประเทศไทย-หยุดใช้ความรุนแรง” และกลุ่มองค์กรภาคประชาสังคมต่างๆ ขอเชิญชวนประชาชนร่วมกันแสดงพลังของสังคมไทยในการระงับยับยั้งความรุนแรง ไม่ว่าเป็นการกระทำของฝ่ายใดก็ตาม จึงขอเสนอแนวทางป้องกันแก้ไขความรุนแรงด้วยกันร่วมกันรณรงค์ “ไม่เอาความรุนแรง“ ด้วยการใช้สัญลักษณ์หรือข้อความต่างๆ ที่เป็นสันติวิธี และเป็นการเตือนสติทุกฝ่ายไม่ให้ใช้ความรุนแรง ได้แก่ การใช้ "ธงชาติ" ติดที่หน้าบ้านหรือที่ทำงาน เพื่อขอให้ทุกฝ่ายได้ตระหนักว่าเราอยู่ร่วมในประเทศเดียวกัน มีปัญหาต้องแก้ไขโดยไม่ใช้ความรุนแรงซึ่งเป็นการทำร้ายประเทศของเรา หรือใช้ "สีขาว" โดยใส่เสื้อขาว ผูกริบบิ้นขาว หรือใช้ "ดอกไม้" หรือสัญลักษณ์ใดๆ ที่สื่อถึงสันติภาพและการไม่ใช้ความรุนแรง
และขอเชิญประชาชนที่เห็นด้วยกับ “การไม่เอาความรุนแรง” ร่วมกันรณรงค์ด้วยการส่งข้อความ “ไม่เอาความรุนแรง” ไปยังประชาชนกลุ่มต่างๆ เพื่อช่วยกันสร้างพลังของสังคมไทยในการระงับยับยั้งความรุนแรงที่อาจเกิดขึ้นในครั้งนี้
โต๊ะข่าวภาคใต้ สถาบันอิศรา ในฐานะองค์กรสื่อที่รายงานข่าวท่ามกลางสถานการณ์ความขัดแย้งและความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้มานานหลายปี ขอร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการรณรงค์ในครั้งนี้ และไม่ควรตีกรอบการ "ไม่ใช้ความรุนแรง" เฉพาะสถานการณ์การชุมนุมในกรุงเทพฯ แต่ควรรณรงค์ให้เกิดวัฒนธรรม "ไม่ใช้ความรุนแรง" ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วย ไม่ว่าจะเป็นจากฝ่ายรัฐหรือฝ่ายก่อความไม่สงบก็ตาม
เพราะทุกปัญหาแก้ไขได้โดยไม่ต้องใช้ความรุนแรง...