“เมธาโดน” ในชุมชน เพื่อผู้เสพเข้าถึงกระบวนการบำบัด
หากมองตัวเลขการบำบัดรักษาผู้ติดยาเสพติดในช่วงปีที่ผ่านมา จากการดำเนินการของศูนย์อำนวยการพลังแผ่นดินเอาชนะยาเสพติดแห่งชาติ จะพบว่า มีผู้เข้าสู่ระบบบำบัดรวมแล้วกว่า 600,000 คน ซึ่งถือเป็นตัวเลขที่ทะลุเป้าที่วางไว้เพียง 400,000 คน
แน่นอนว่าปัจจัยสำคัญในการเข้าถึงการบำบัดรักษานั้น เรื่องของจิตใจมาเป็นอันดับหนึ่ง ควบคู่กับแนวทางการบำบัดที่แตกต่างกันออกไป แล้วแต่ฤทธิ์ของสิ่งเสพติด
แต่สำหรับการบำบัดรักษาผู้เสพเฮโรอีน โดยเฉพาะประเภทฉีดเข้าเส้น ซึ่งเป็นวิธีเสพที่อันตราย และเสี่ยงต่อการได้รับเชื้อเอช ไอ วี การให้ความรู้ ความเข้าใจ ต่อการบำบัดอย่างถูกทางจึงมีความสำคัญ
ผลจากการตรวจจับเฮโรอีน ยาเสพติดให้โทษขั้นรุนแรงของเจ้าหน้าที่ตำรวจอย่างเข้มข้น ทำให้ขณะนี้การแสวงหาเฮโรอีนยากขึ้น กลุ่มผู้เสพส่วนใหญ่จึงเป็นผู้เสพรายเก่า และใช้ยาติดต่อกันมาแล้วหลายปี ในจำนวนนี้มีอีกส่วนหนึ่งที่เข้าสู่กระบวนการบำบัด โดยใช้ เมธาโดน
ศูนย์โอโซน โดยมูลนิธิพีเอสไอ เป็นองค์กรหนึ่งที่มีบทบาทสูงในการกระจายเมธาโดนสู่ชุมชน ซึ่งเป้าหมายหลักขององค์กรแห่งนี้ คือลดการติดเชื้อเอชไอวีในบรรดาผู้ติดยาเสพติด โดยเฉพาะผู้ติดยาที่ใช้เข็มฉีดยาเป็นประจำ หากปล่อยให้ผู้เสพยาใช้เข็มอย่างต่อเนื่อง ก็จะเพิ่มความเสี่ยงในการติดเชื้อจากการใช้เข็มร่วมกันมากยิ่งขึ้น ดังนั้นการใช้เมธาโดนจึงเป็นเครื่องมือหนึ่งที่ช่วยให้ผู้เสพยาปลอดภัยกว่าที่เป็นอยู่
การทำงานของศูนย์โอโซน เน้นเปิดพื้นที่ให้ผู้ติดยาสมัครใจ เข้าไปใช้บริการโดยการรับยาเมธาโดน เพื่อลดอาการอยากยา โดยศูนย์โอโซน สำคัญ ๆ มีอยู่ 2 แห่ง คือ บ้านโอโซน ประชาชื่น กรงเทพฯ และอีกแห่งหนึ่งคือที่จังหวัดเชียงราย มีพื้นที่ทำงานหลักอยู่ที่ ศูนย์โอโซนบ้านสันติคีรี (แม่สลอง) ต.แม่สลองนอก อ.แม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย ซึ่งทั้งสองแห่งมีรูปแบบในการทำงานที่ต่างกันพอสมควร โดยที่โอโซนประชาชื่นจะเป็นศูนย์ที่ให้ผู้บำบัดยาได้มีสังคมร่วมกัน เน้นการทำงานด้านสุขภาพ เพื่อให้ผู้ใช้ยามีสุขภาพดี ปลอดภัย หากคนไหนอยากเลิกเสพ จะส่งต่อไปยังศูนย์รับบริการ ช่วยประเมินความพร้อมเพื่อการเลิกเสพยา
ส่วนศูนย์โอโซนบ้านสันติคีรี คือศูนย์ต้นแบบที่เน้นกระบวนการนำเมธาโดนเข้าถึงชุมชนอย่างแท้จริง และเป็นแห่งเดียวในประเทศไทยที่การให้เมธาโดนสำหรับผู้สมัครใจ ดำเนินการโดยเอกชน และมีเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์คอยให้คำปรึกษา
โอโซนสันติคีรี มีกระบวนการในการทำงานเริ่มจากประเมินสถานการณ์การใช้ยาเสพติดในชุมชน ผ่านการสัมภาษณ์เชิงลึกผู้ใช้ยาเสพติด โดยขอความร่วมมือไปยังผู้นำชุมชนในการรวบรวมข้อมูลเบื้องต้น จากนั้นค้นหาอาสาสมัครผู้ที่เคยเสพยามาก่อน มอบภารกิจเข้าไปทาบทามผู้เสพยาที่มีความพร้อม (อยากจะเลิก) ให้มารับยาเมธาโดนทุกวันแทนการเสพยา
ปัจจุบันที่ศูนย์โอโซนสันติคีรี มีผู้เสพยาสมัครใจเข้ามารับการบำบัดอย่างสม่ำเสมอประมาณ 70 ราย ทุก ๆ เช้าช่วงเวลา 07.30-09.00 น. พวกเขาจะมารับยาที่ศูนย์โอโซนก่อนออกไปทำงาน หรือใช้ชีวิตประจำวัน ทุกคนต้องกินยา 15 ซีซีต่อหน้าเจ้าหน้าที่ ห้ามนำกลับไปกินที่บ้านเด็ดขาด และต้องมากินยาทุกวัน ห้ามกลับไปใช้สารเสพติดอีก
ผศ.นพ.อภินันท์ อร่ามรัตน์ ภาควิชาเวชศาสตร์ครอบครัว คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ระบุว่า เมธาโดน เป็นสารกึ่งสังเคราะห์จากฝิ่น มีทั้งแบบเม็ด และน้ำ แต่ที่นิยมมากที่สุดคือแบบน้ำ เพราะจะปรับปริมาณการใช้ (โดส) ได้ง่าย โดยออกฤทธิ์ 24 ชั่วโมง แตกต่างจาก เฮโรอีนที่ออกฤทธิ์เพียง 4-6 ชั่วโมง
นั่นทำให้การรับเมธาโดนเข้าถึงฤทธิ์ยาได้นานกว่า ช่วยให้ผู้เสพยาลดการพึ่งพายาเสพติดได้ เพราะฤทธิ์ของเฮโรอีน เมื่อเสพไปนาน ๆ ในปริมาณมากจะมีฤทธิ์กดประสาท ในจุดสั่งการของสมอง เมื่ออวัยวะไม่ตอบสนองตามที่สั่งการ อาจทำให้ร่างกายช็อค จนเสียชีวิตได้
“เมื่อผู้ต้องการเลิกยาโดยใช้วิธีการหักดิบ จะส่งผลให้ได้รับความทรมาน ร่างกายทรุดโทรม แต่ก็ไม่สามารถเลิกเสพได้อย่างถาวร เพราะส่วนใหญ่ยังพบว่า หากกลับไปอยู่ในสิ่งแวดล้อมเดิม ๆ ก็จะส่งผลให้กลับไปเสพได้อีกครั้ง” อาจารย์ภาควิชาเวชศาสตร์ครอบครัว คณะแพทยศาสตร์ มช. ขยายความ
ผศ.นพ.อภินันท์ บอกด้วยว่า แม้เมธาโดนจะช่วยในการบำบัดรักษาผู้เสพยา แต่ก็ต้องใช้อย่างระมัดระวัง ในปริมาณที่เหมาะสม เพราะหากไม่ควบคุมปริมาณ อาจออกฤทธิ์ที่ส่งผลต่อร่างกายไม่ต่างจากเฮโรอีน
อย่างไรก็ตามปัจจุบัน ยังพบว่า มีผู้ติดยาเพียงส่วนน้อยเท่านั้นที่เข้าถึงสิทธิ์ด้วยเมธาโดน เนื่องจากผู้ติดยายังคงถูกมองเชิงลบจากสังคม ทำให้ไม่กล้าเผชิญหน้า และเข้าสู่กระบวนการบำบัด และการที่กระทรวงสาธารณสุขยังควบคุม ปริมาณการใช้อย่างเข้มงวด จึงถูกมองได้ว่าภาครัฐยังไม่ได้ให้ความสำคัญกับการเข้าถึงเมธาโดนอย่างจริงจัง
“หากเปรียบเทียบกับสหรัฐอเมริกา ประเทศกลุ่มยุโรป ออสเตรเลีย หรือกระทั่งเพื่อนบ้านเราอย่างมาเลเชีย กลับให้ความสำคัญกับเรื่องอย่างมาก เห็นได้จากปริมาณที่ให้เมธาโดนมากกว่าไทย โดยกำหนดให้ปริมาณเฉลี่ยอยู่ที่ 60-100 มิลลิกรัมต่อคนต่อวัน ขณะที่บ้านเราให้เพียง 20 มิลลิกรัมต่อคนต่อวันเท่านั้น การเข้าถึงจึงยังไม่เพียงพอ”ผศ.นพ.อภินันท์ สะท้อน
ถึงตรงนี้แม้เมธาโดน จะกลายเป็นอีกหนึ่งหนทางสำหรับผู้ที่คิดจะเลิกยาเสพติด แต่พวกเขายังอยากเห็น หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ปรับรูปแบบการเข้าถึงยา โดยเฉพาะการรับยาไปกินที่บ้าน เพราะจะช่วยให้การดำเนินชีวิตง่ายขึ้นเหมือนคนทั่วไป
สำหรับผู้ที่อยู่ในระบบการบำบัด เข้าถึงเมธาโดนอยู่แล้ว ก็ไม่ต้องอายที่จะใช้ยา และพร้อมที่จะออกมาแสวงหาแนวทางการรักษาใหม่ แต่สิ่งที่คาดหวังมากที่สุดจากสังคมนั่นคือ สายตาที่มองพวกเขาเป็นเพียง “ผู้ป่วย” ไม่ใช่ “อาชญากร”