“จีที 200” หยิกเล็บก็เจ็บเนื้อ!
ปมปัญหาเกี่ยวกับเครื่องตรวจร่องรอยสสารระยะไกล หรือที่รู้จักกันไปทั่วประเทศในนาม “จีที 200” ถือเป็นประเด็นอ่อนไหวเข้าทำนอง "หยิกเล็บเจ็บเนื้อ" ทั้งการตรวจสอบทุจริตการจัดซื้อที่จะมีขึ้นต่อไป และการประโคมข่าวอย่างใหญ่โตที่ไปๆ มาๆ มีความเป็นห่วงว่าอาจเข้าทางกลุ่มก่อความไม่สงบได้เหมือนกัน
ประเด็นแรก คือเรื่องของความโปร่งใสในการจัดซื้อ ตัวเลขคร่าวๆ ของความสูญเสีย หรืออาจจะเรียกว่า “ค่าโง่” ที่นายกฯอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ประเมินเอาไว้คร่าวๆ อยู่ที่ 700-800 ล้านบาท อันนี้ว่ากันเฉพาะ "จีที 200" นะครับ ยังไม่รวมอุปกรณ์ชนิดเดียวกันแต่คนละยี่ห้อ อาทิ "อัลฟ่า 6" อีกหลายร้อยเครื่อง
ปัญหาก็คือการจับทุจริตซึ่งเชื่อว่าน่าจะมี โดยเฉพาะพวก "เงินใต้โต๊ะ" หรือ "ค่าคอมมิชชั่น" อันเป็นเรื่องธรรมดาๆ ของวงการค้าอาวุธ จะสามารถทำได้จริงหรือ เพราะหากไล่ดูสถิติการจัดซื้อล็อตใหญ่ๆ แล้ว ล้วนเกิดขึ้นในปี 2552 ซึ่งเป็นช่วงที่รัฐบาลชุดปัจจุบันบริหารประเทศอยู่ทั้งสิ้น
เอาเฉพาะกองทัพบก นอกจากการจัดซื้อในรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ที่มี พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน เป็นผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ครั้งแรก 2 เครื่อง และครั้งต่อมาอีก 24 เครื่องแล้ว พบว่ามีการจัดซื้อในสมัยรัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ จำนวน 59 เครื่อง สมัยรัฐบาลนายสมัคร สุนทรเวช จำนวน 107 เครื่อง สมัยรัฐบาลนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ จำนวน 44 เครื่อง และสมัยรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ มากถึง 547 เครื่อง โดยทั้งหมดจัดซื้อด้วยวิธีพิเศษ
ราคาเฉลี่ยที่กองทัพบกซื้ออยู่ที่ 900,000 บาท คิดจากตัวเลขข้างบนก็เท่ากับซื้อมาทั้งหมด 783 เครื่อง ใช้งบประมาณไปทั้งสิ้นราวๆ 704 ล้านบาท
นี่ยังไม่นับที่กระทรวงมหาดไทยจัดซื้อเครื่องมือคล้ายๆ กับ "จีที 200" ที่ชื่อ "อัลฟ่า 6" จากบริษัทเปโตกรุงเทพฯ ในภารกิจตรวจหาสารเสพติด อีก 479 เครื่อง ราคาเครื่องละ 720,000 บาท ใช้เงินงบประมาณ 344.8 ล้านบาท
แค่ 2 หน่วยงานก็ละเลงงบไปแล้วกว่า 1,000 ล้านบาท!
คำถามก็คือ จะสอบทุจริตกันอย่างไร เพราะกองทัพบกมีผู้บัญชาการทหารบกชื่อ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ขณะที่กระทรวงมหาดไทยก็เป็นกระทรวงที่มีพรรคภูมิใจไทยเป็นผู้กำกับดูแล และเป็นที่รับรู้กันว่าทั้งกองทัพกับพรรคภูมิใจไทยต่างก็เป็น “ผู้สนับสนุนหลัก” ให้ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้ก้าวขึ้นดำรงตำแหน่งนายกฯ และพรรคประชาธิปัตย์ได้เป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล
นี่อาจเป็นคำตอบว่า เหตุใดนายกฯจึงไม่สั่งยุติการใช้ "จีที 200" ทันทีเหมือนรัฐบาลอังกฤษ เมื่อผลการทดสอบทางวิทยาศาสตร์ด้วยเทคนิคที่ทั่วโลกยอมรับยืนยันว่าเป็นเครื่องมือที่ไร้ประสิทธิภาพจริงๆ
ขณะที่ทั้งกองทัพและกระทรวงมหาดไทยต่างยืนยันเสียงแข็งว่าจะใช้เครื่อง "จีที 200" และ "อัลฟ่า 6" ต่อไป โดยไม่สนใจท่าทีของนายกฯและกระแสเรียกร้องของสังคมให้ยอมรับผลการทดสอบ โดยให้คำนึงถึงการละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชน รวมทั้งความปลอดภัยของทั้งกำลังพลและชาวบ้านตาดำๆ
"จีที 200" จึงทำให้เกิดอาการ "หยิกเล็บก็เจ็บเนื้อ" และจะเป็นบทพิสูจน์ภาวะผู้นำอีกครั้งของนายกฯอภิสิทธิ์
ประเด็นที่สอง คือเรื่องการนำเสนอข่าว "จีที 200" อย่างชนิดที่เรียกว่าครึกโครมสุดๆ กระทั่งสามารถกลบกระแส "ม็อบเสื้อแดง" ให้เงียบไปได้ระยะหนึ่งเลยทีเดียว
ล่าสุดผมเพิ่งได้คุยกับอดีตเจ้าหน้าที่ระดับ "บิ๊ก" ของหน่วยงานด้านข่าวกรองอย่าง พล.ท.นันทเดช เมฆสวัสดิ์ (อดีตผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการพิเศษภาคใต้ ศูนย์รักษาความปลอดภัย : ศรภ.) ท่านแสดงความเป็นห่วงว่า การประโคมข่าว จีที 200 เป็น "ดาบสองคม" อยู่เหมือนกัน เพราะในด้านหนึ่งก็จะทำให้ฝ่ายที่จ้องก่อความรุนแรงกล้าขยับเขยื้อนเคลื่อนไหวและอาจตัดสินใจก่อเหตุร้ายมากขึ้น
อย่าลืมว่าในช่วงที่ "จีที 200" ยังแสดงตัวว่าเป็นอุปกรณ์ทรงอานุภาพ ย่อมจะต้องทำให้เกิดความรู้สึก "ครั่นคร้าม" หรือ "ไม่อยากเสี่ยง" ต่อบรรดากลุ่มก่อความไม่สงบบ้างไม่มากก็น้อย และข้อมูลจาก พล.ท.นันทเดช ซึ่งยังเกาะติดปัญหาภาคใต้อยู่อย่างต่อเนื่องก็บอกว่า สถิติเหตุระเบิดลดลงอย่างมีนัยสำคัญตั้งแต่นำเจ้าเครื่องมือชนิดนี้มาใช้
เรียกว่าถึงประสิทธิภาพมันจะเทาๆ หน่อย แต่ก็ป้องปรามฝ่ายที่จ้องจะก่อความรุนแรงได้...ว่างั้นเถอะ
ที่เล่าให้ฟังอย่างนี้เป็นการพิจารณาเฉพาะในแง่ยุทธการเท่านั้นนะครับ ไม่ได้พูดถึงการละเมิดสิทธิมนุษยชน ฉะนั้นองค์กรด้านสิทธิทั้งหลายอย่าเพิ่งโกรธ...
พล.ท.นันทเดช ยังฟันธงว่าหลังจากนี้สถิติระเบิดจะพุ่งสูงขึ้น ซึ่งท่านเชื่อว่าสาเหตุส่วนหนึ่งมาจากผลทดสอบเครื่อง "จีที 200" ว่าใช้การไม่ได้ อันจะเป็นแรงกดดันให้เจ้าหน้าที่ต้องยุติการใช้ไปในที่สุด
แง่คิดของ พล.ท.นันทเดช สอดคล้องกับ ท่านชาญเชาวน์ ไชยานุกิจ อธิบดีกรมคุมประพฤติ อดีตรองปลัดกระทรวงยุติธรรม ที่รับผิดชอบงานภาคใต้ ซึ่งผมเพิ่งพบกับท่านในงานสัมมนาเกี่ยวกับกฎหมายความมั่นคงที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ท่านชาญเชาวน์เปรยให้ฟังว่า การตรวจสอบเรื่อง "จีที 200" ด้านหนึ่งก็เป็นเรื่องดี แต่อีกด้านหนึ่งก็ทำให้เจ้าหน้าที่ทำงานยากขึ้นจริงๆ โดยเฉพาะการปลุกกระแสเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชน
ขอย้ำอีกครั้งหนึ่งว่า ทั้งสองท่านก็มีความเป็นห่วงเรื่องสิทธิมนุษยชน แต่ที่พูดนี้คือพูดในแง่ยุทธการเท่านั้น และนั่นก็เป็นเครื่องยืนยันว่า ปัญหาภาคใต้ไม่ใช่แก้ได้ง่ายๆ เพราะมีความซับซ้อนสูง เมื่อขยับปรับแก้ในเรื่องหนึ่ง ก็จะกระทบกระเทือนถึงอีกเรื่องหนึ่งอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ในมุมของผมคิดว่า ความอ่อนไหวทั้งประเด็นแรกและประเด็นที่สองจะไม่เกิดขึ้นเลยหากการกำหนดมาตรการด้านความมั่นคงซึ่งจะต้องกระทบกับสิทธิและเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชนอยู่แล้ว ได้รับการตรวจสอบ รับรู้ และมีส่วนร่วมตั้งแต่ต้นจากประชาชนเอง
ที่พูดอย่างนี้คงไม่ต้องถึงขั้นจะทำอะไรกันทีก็ต้องประชาพิจารณ์กันทุกครั้ง แต่กระบวนการสร้างการมีส่วนร่วมอย่างจริงจังในบ้านเราน่าจะเริ่มขึ้นเสียที โดยใช้จังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นพื้นที่นำร่อง จะได้ไม่ต้องมา "หยิกเล็บเจ็บเนื้อ" กันเหมือนทุกวันนี้
ระวังให้ดี "เรือเหาะ" หรือ "บอลลูนตรวจการณ์" จะเป็นคิวต่อไปที่กองทัพจะถูกตั้งคำถามและตรวจสอบ!
-------------------------------------------------------
ขอบคุณ : ภาพประกอบจาก จรูญ ทองนวล ช่างภาพมือรางวัล เครือเนชั่น