แฟรงค์อบาเนล ปะทะ อาจารย์นิติฯ ม.บูรพา “เหมือน-แตกต่าง”กันตรงไหน?
เปิดตำนาน สุดยอดนักตุ๋น ระดับโลก “แฟรงค์ อบาเนล” เทียบชั้น "อาจารย์นิติฯ ม.บูรพา" ปลอมลายมือลูกศิษย์ ทำเอกสารเท็จจริงเบิกเงินดูงาน ทั้งคู่ เหมือน-แตกต่างกันตรงไหน ?
หากใครที่มีโอกาสได้ชมภาพยนตร์เรื่อง "Catch me if you can" ที่เข้าฉายเมื่อปี 2002 คงจะรู้สึกทึ่งกับวีรกรรม ของ แฟรงค์ อบาเนล จูเนียร์ สุดยอดนักตุ๋น อันดับต้นๆของโลก ที่สวมบทบาทโดย ลีโอนาโด ดิคาปริโอ้ พระเอกชื่อดังแห่งวงการภาพยนต์ “ฮอลลีวูด”
โดยเฉพาะกลเม็ดวิธีการปลอมแปลงเช็ค ของสายการบินชื่อดังแห่งหนึ่ง เพื่อนำไปเบิกเงินเข้ากระเป๋าตัวเอง จำนวนเงินหลายล้านดอลล่าร์ ส่งผลให้เจ้าหน้าที่เอฟบีไอ ต้องระดมกำลังไล่ล่าตัวกันยกใหญ่ ทั่วสหรัฐอเมริกา
ทั้งนี้ หนึ่งในวิธีการปลอมแปลงเช็ค ที่ แฟรงค์ อบาเนล นิยมชมชอบ คือ การนำตราสัญญาลักษณ์สายการบิน ที่ติดไว้ที่หางโมเดลเครื่องบิน มาแช่น้ำ เพื่อลอกเอาตราสัญญาลักษณ์ดังกล่าว มาติดไว้กับเช็คสั่งจ่ายเงินที่พิมพ์ขึ้นมาใหม่ จนแยกไม่ออกว่าเช็คจริงหรือปลอม
มีข้อเท็จจริงประการหนึ่ง ที่ปรากฏชัดเจน ในภาพยนตร์เรื่อง Catch me if you can คือ สาเหตุที่ทำให้ แฟรงค์ อบาเนล จูเนียร์ สามารถปลอมแปลงเช็คจำนวนมาก ได้อย่างแนบเนียน
เป็นเพราะได้ทำการศึกษา รูปแบบและกระบวนการทำงานเรื่องการเบิกจ่ายเช็ค ของสายการบินแห่งนี้ ทะลุปรุโปร่ง จนกระทั่งพบช่องโหว่ที่สำคัญหลายประการ ก่อนจะนำมาประยุกต์ใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
สำหรับเมืองไทย หากใครที่มีโอกาสติดตามข่าวเรื่องการปลอมแปลงลายมือชื่อนิสิตปริญญาโท คณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ หลักสูตรนิติศาสตร์มหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยบูรพา รวมถึงเอกสารหลักฐานจำนวนมาก เพื่อนำไปตั้งเรื่องเบิกเงินงบประมาณโครงการศึกษาดูงานด้านกฎหมายนอกสถานที่ ของ อาจารย์กลุ่มหนึ่ง ตามที่สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org นำเสนอไปก่อนหน้านี้
จะพบว่า มีการกระทำหลายอย่างของ อาจารย์ ม.บูรพา ที่มีกลิ่นอายเดียวกันกับ สิ่งที่ แฟรงค์ อบาเนล เคยฝากผลงานไว้
อาทิ การปลอมแปลงลายมือ นิสิต ในเอกสารแสดงรายชื่อผู้เข้าร่วมงาน , การปลอมแปลงเอกสารร่วมถึงลายมือชื่อ ผู้บริหารระดับสูงในหน่วยงานที่ถูกระบุว่า มีการทำเรื่องขอเข้าไปดูงาน เ่ช่น สำนักงานอัยการจังหวัดเชียงใหม่ , วิทยาลัยการยุติธรรมทางปกครอง ซึ่งเป็นหน่วยงานในสังกัดสำนักงานศาลปกครอง
นอกจากนี้ ยังมีการปลอมแปลง ใบเสร็จรับเงินค่าจ้างรถรับส่ง รวมถึงใบเสร็จ เงินค่าอาหารว่าง จากร้านเบเกอรี่ ที่ไม่มีตัวตนด้วย
ล่าสุดการปลอมใบเสร็จเบิกค่าอาหาร “บุฟเฟ่ต์” จัดงานปฐมนิเทศนิสิต ป.โท ม.บูรพา ถูกตรวจสอบพบหลักฐานชัดๆ จากแจ้งที่อยู่บริษัทส่งอาหาร ที่ระบุไว้ในใบเสร็จ เป็นคนละแห่งกับสถานที่ตั้งจริงของบริษัท
(อ่านประกอบ : พบอีก ปลอมใบเสร็จเบิกค่าอาหาร “บุฟเฟ่ต์” จัดงานปฐมนิเทศนิสิต ป.โท ม.บูรพา)
พนักงานบริษัท ดี เคเทอริ่ง จำกัด ที่ถูกระบุว่า เป็นบริษัท ที่นำส่งอาหาร (BUFFET) สำหรับผู้เข้าร่วมงาน จำนวน 250 คน จำนวนเงิน 37,500 บาท ในโครงการปฐมนิเทศนิสิตใหม่และเตรียมความพร้อมหลักสูตรนิติศาสตรมหาบัณฑิต ของนิสิตปริญญาโท คณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ หลักสูตรนิติศาสตร์มหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยบูรพา เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2555 ที่ผ่านมา
กล่าวยืนยันกับสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ว่า ใบเสร็จรับเงินของ บริษัท ดี เคเทอริ่ง จำกัด ที่ถูกนำไปใช้ประกอบการตั้งงบประมาณเบิกจ่ายเงินค่าอาหาร “บุฟเฟ่ต์” ดังกล่าว ไม่ใช่ใบเสร็จรับเงินของบริษัทแต่อย่างใด
“ใบเสร็จรับเงินของบริษัท โดยปกติ จะเป็นขนาดสี่เหลี่ยม เท่ากับกระดาษ A4 พับครึ่งเท่านั้น ”
พนักงานบริษัทรายนี้ ยังระบุด้วยว่า ใบเสร็จบริษัทที่ถูกแอบอ้างไปใช้ มีการนำโลโก้ของบริษัทไปติดไว้ด้านบน พร้อมระบุที่อยู่ของบริษัท ซึ่งเป็นที่อยู่ผิด เป็นไปได้ว่า เขาน่าจะก็อปปี้โลโก้ของบริษัท จากเว็บไซต์ แล้วนำไปใส่ไว้บนหัวใบเสร็จอื่นอีกครั้ง
ส่วนสาเหตุที่ต้องระบุที่อยู่อื่นเอาไว้ ก็เพื่อให้ดูสมจริง และเป็นการหลีกเลี่ยงการตรวจสอบจากบุคคลอื่น?
นี่ยังไม่นับรวมกับใบเสร็จรับเงินค่าจ้างงานอย่างอื่น อาทิ ค่าป้าย ค่าจ้างตกแต่งสถานที่ ค่าหมึกพิมพ์ รวมถึงค่าอาหารระหว่างการเดินทาง ในโครงการอื่น ที่มีลักษณะเป็นบิลเงินสด ปรากฏ ชื่อร้าน ที่อยู่ แต่ไม่สามารถหาตัวตนได้อีกจำนวนมากด้วย?
มีการยืนยันข้อมูลที่น่าสนใจประการหนึ่งว่า ภายหลังจากที่ปัญหา เรื่องการปลอมแปลงเอกสารและลายมือชื่อนิสิต ถูกเปิดเผยออกมา หลังจากที่สินิตกลุ่มหนึ่งไปยื่นเรื่องขอเบิกเงินสนับสนุนจากหลักสูตรไปเดินทางไปดูงานเมืองนอก และถูกปฏิเสธจากคณะฯ โดยให้เหตุผลว่า นิสิตเบิกจ่ายเงินสนับสนุนส่วนนี้ไปหมดแล้ว
มีนิสิตกลุ่มหนึ่ง ได้พยายามขุดคุ้นข้อมูลส่วนตัวเกี่ยวกับอาจารย์ท่านหนึ่ง ที่ถูกระบุว่า เป็นผู้อยู่เบื้องหลังของเรื่องนี้ จนพบข้อมูลที่น่าตกใจว่า อาจารย์ท่านนี้ เคยถูกมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งในจ.ชลบุรี ไล่ออก มาจากปัญหาการทุจริต?
ขณะที่สถานะการเงินของทางบ้านก็ไม่ค่อยจะสู้ดีนัก ถูกฟ้องล้มละลาย จนอาจารย์คนนี้ ตัดสินใจเปลี่ยนนามสกุลของตนเองใหม่??
ใกล้เคียงกับกรณีของ แฟรงค์ อบาเนล” ที่มีการตรวจพบข้อมูลว่า มีการเปลี่ยนแปลงชื่อของตนเองหลายครั้ง พร้อมย้ายเมือง เปลี่ยนอาชีพทำมาหากินไปเรื่อยๆ
ก่อนที่ในปี1969 แฟรงค์ถูกจับ และในปี 1974 รัฐบาลปล่อยตัวเขาออกมาโดยมีเงื่อนไขว่าเขาต้องให้คำปรึกษาช่วยเหลือแก่องค์กรต่างๆเรื่องเช็คปลอมและอื่นๆโดยไม่มีค่าจ้าง
ส่วนเรื่องราวใน มหาวิทยาลัยบูรพา ภายหลังจากที่ ข้อมูลเรื่องความไม่ชอบมาพากล ในการปลอมแปลงเอกสารสำคัญ เพื่อเบิกเงินงบประมาณโครงการดูงานนอกสถานที่ ถูกเปิดเผยออกมาให้สาธารณะชนได้รับทราบ
อาจารย์ ที่ถูกระบุว่า เป็นผู้อยู่เบื้องหลังเรื่องราวทั้งหมด ยังคงเข้ามาทำงานได้ตามปกติ สอนหนังสือปกติ ทำตัวเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น ไม่มีใครกล้ายุ่งเกี่ยวหรือทำอะไร
ส่วนเหตุที่ทำให้อาจารย์ท่านนี้ ยังทำงานอยู่ต่อไป ใน ม.บูรพา ได้นั้น
มีการยืนยันข้อมูลทางลับว่า ภายหลังจากเรื่องนี้ ถูกสื่อมวลชนนำมาตีเผย ผู้บริหารระดับสูงรายหนึ่งของมหาวิทยาลัย ได้เชิญผู้บริหารระดับสูงกลุ่มหนึ่ง ของ คณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ ไปรับประทานอาหารร่วมกัน
โดยข้อหัวสำคัญ ในการสนทนาบนโต๊ะอาหารครั้งนั้น คือ การออกคำสั่งให้ล้มคดีการสอบสวนเรื่องนี้ ทิ้งไป?
พร้อมทั้งระบุว่า จะไปทำพิธีสาปแช่ง คนที่เอาข้อมูลไปเผยแพร่ เพราะทำให้มหาวิทยาลัยเสียชื่อเสียง
นั้นจึงเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้ผลการสอบสวนคดีนี้ ที่ผ่านขั้นตอน ของคณะฯ ไปแล้ว ไปหยุดอยู่ที่ผู้บริหารของมหาวิทยาลัยบางคน ก่อนเรื่องถูกดองเงียบหายไป
ส่วนสาเหตุที่ทำให้ผู้บริหารระดับสูงรายนั้น ให้ความช่วยเหลืออาจารย์ต้นเหตุของเรื่อง อย่างเต็มที่ เป็นเพราะได้รับสิ่งตอบแทนอะไรบ้างอย่าง จนเกินคุ้มแล้ว?
นี่จึงเป็นความเหมือนที่แตกต่างกัน ระหว่าง "แฟรงค์ อบาเนล" และ "อาจารย์ ม.บูรพา" รายนี้