6 ปีปล้นปืน 6 ปีไฟใต้...เหตุการณ์ไม่เปลี่ยนแปลง
โต๊ะข่าวภาคใต้ สถาบันอิศรา
ปี 2553 เริ่มต้นมาได้ 4 วันแล้ว ผมเลือกเขียนบทบรรณาธิการในวันนี้ วันที่ 4 ม.ค.เพราะเป็นวันแห่งสัญลักษณ์วันหนึ่งของสถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ กล่าวคือเป็นวันครบรอบเหตุการณ์ปล้นปืน 413 กระบอกจากกองพันพัฒนาที่ 4 ค่ายกรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ หรือค่ายปิเหล็ง ต.มะรือโบออก อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส
เหตุการณ์ดังกล่าวซึ่งเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 4 ม.ค.2547 ถือเป็นปฐมบทความรุนแรงรอบใหม่ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ รวมทั้ง 4 อำเภอของ จ.สงขลา ด้วย เพราะนับจากวันนั้นก็เกิดปรากฏการณ์ที่เรียกว่า “ความรุนแรงรายวัน” ขึ้นในพื้นที่ และต่อเนื่องยาวนานมาจนถึงวันนี้ซึ่งนับได้ 6 ปีเต็มแล้ว
ระยะเวลา 6 ปีถือว่าไม่ใช่น้อยๆ แต่สำหรับปัญหาภาคใต้แล้ว ดูเหมือนจะยังวนเวียนอยู่กับการค้นหารูปแบบและทิศทางการแก้ไขที่ถูกต้องอยู่เลย แม้ว่าปีที่ 6 ของสถานการณ์ ซึ่งก็คือปี 2552 ที่เพิ่งจะผ่านพ้นไปนั้น พรรคประชาธิปัตย์ได้รับโอกาสเข้ามาเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล ซึ่งเชื่อกันว่าพรรคการเมืองนี้มีความเข้าใจและมีนโยบายดับไฟใต้ที่ชัดเจนที่สุดพรรคหนึ่ง
แต่แล้วสถานการณ์ในภาพรวมก็ยังไม่เปลี่ยนแปลง แม้แต่หัวหน้ารัฐบาลอย่าง นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เอง ก็ยังยอมรับว่าไม่พอใจกับผลงานการแก้ไขปัญหา
ตลอดปี 2552 รัฐบาลประชาธิปัตย์ทำอะไรไปบ้างในแง่นโยบายกับสิ่งที่เคยพูดและหาเสียงเอาไว้ น่าลองย้อนกลับไปดูเหมือนกัน...
- ตั้งรัฐมนตรีดับไฟใต้...ได้ นายถาวร เสนเนียม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย มารับหน้าเสื่อแก้ปัญหาภาคใต้ ท่ามกลางเสียงวิจารณ์ว่า “ผิดฝาผิดตัว” และด้วยสถานะแค่รัฐมนตรีช่วย ทำให้ผลักดันนโยบายอะไรไม่ได้มากนัก หนำซ้ำรัฐมนตรีว่าการยังมาจากคนละพรรคกันอีก
- ตั้งองค์กรใหม่ดับไฟใต้...ผ่านมา 1 ปี รัฐบาลประชาธิปัตย์ทำได้เพียงส่งร่างกฎหมายเข้าสภา 1 ฉบับ คือร่างพระราชบัญญัติการบริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพิ่งจะผ่านวาระรับหลักการไป (วาระแรก) ยังไม่แน่ว่าอายุของรัฐบาลจะยืนนานพอที่จะผลักดันร่างกฎหมายฉบับนี้ให้ผ่านสภาอย่างตลอดรอดฝั่งหรือไม่
- โมเดลใหม่ดับไฟใต้...ทำไปทำมา สิ่งที่รัฐบาลประชาธิปัตย์ผลักดันตลอด 1 ปีที่เข้ามาเป็นรัฐบาล คือตั้งองค์กรใหม่ดับไฟใต้ จนมีข่าวขัดแย้งกับฝ่ายทหารอยู่เนืองๆ ก็ถูกพรรคฝ่ายค้านอย่าง “เพื่อไทย” หยิบชิ้นปลามันไปง่ายๆ ด้วยข้อเสนอโดนใจชาวบ้านของ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ประธานพรรคเพื่อไทย ว่าด้วยการตั้ง “นครปัตตานี” หรือการจัดรูปแบบการปกครองท้องถิ่นแบบพิเศษในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เรื่องนี้ทำให้พรรคประชาธิปัตย์เจอแรงกดดันไม่น้อยว่า มีโมเดลอะไรไปสู้ หรือว่าจะยังยึดแนวทางอนุรักษ์นิยมของตนเองต่อไป
ผลงานที่แสดงความกล้าหาญที่สุดของรัฐบาลในรอบ 1 ปีก็คือ การตัดสินใจยกเลิกการประกาศกฎอัยการศึกในพื้นที่ 4 อำเภอของ จ.สงขลา แต่ก็ยังมีคำถามตามมาว่า เป็นการยกเลิกเพื่อเปิดพื้นที่ให้ทดลองใช้พระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2551 หรือกฎหมายความมั่นคงแทน ซึ่งกฎหมายฉบับนี้มี กอ.รมน.เป็นหน่วยนำ และยังไม่มีความชัดเจนเรื่องกระบวนการตามมาตรา 21 ของกฎหมายที่เปิดให้เบี่ยงเบนคดีของผู้ต้องหาและผู้ต้องสงสัยบางกลุ่ม บางคน ออกจากกระบวนการยุติธรรมทางอาญาปกติได้
ส่วนการใช้อำนาจตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 หรือ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ที่เสียงในพื้นที่อยากให้ยกเลิก และนายกฯอภิสิทธิ์ ก็พูดมาตั้งแต่ตั้งรัฐบาลใหม่ๆ ว่าอยากให้ยกเลิกนั้น ถึงวันนี้ก็ยังยกเลิกไม่ได้ เพราะฝ่ายทหารคัดค้านอย่างแข็งขัน ซ้ำยังต่ออายุมาแล้วถึง 17 ครั้ง และจะมีครั้งที่ 18 ในอีกไม่กี่วันข้างหน้านี้!
ขณะที่งบประมาณตามแผนการพัฒนาพื้นที่พิเศษ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ปีงบประมาณ 2552-2555 รวม 63,319 ล้านบาท แม้ในสายตาคนนอกจะเข้าใจว่ารัฐบาลดึงอำนาจการจัดสรรงบและจัดทำโครงการคืนจากทหาร แต่ถ้าเจาะเข้าไปถึงไส้ในจะพบว่า ทุกโครงการต้องผ่านการพิจารณาของศูนย์บูรณาการพัฒนาพื้นที่พิเศษ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศพชต.) ซึ่งเป็นหน่วยงานของ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า
ทั้งหมดนี้อาจจะเรียกได้ว่าเป็นผลงานของฝ่ายการเมืองตลอด 1 ปีที่ผ่านมา ซึ่งจะว่าไปก็ยังไม่น่าประทับใจสักเท่าไหร่
ส่วนด้านการทหาร แม้สถิติเหตุรุนแรงซึ่งเก็บรวบรวมโดยฝ่ายทหารเอง คือ ศูนย์รับแจ้งเหตุฉุกเฉิน กองบัญชาการผสมพลเรือน ตำรวจ ทหาร (พตท.) จะพบว่าเหตุร้ายลดลงจริง กล่าวคือ ปีงบประมาณ 2551 ระหว่างวันที่ 1 ต.ค 2550 ถึง 30 ก.ย 2551 มีเหตุยิง 742 ครั้ง ระเบิด 221 ครั้ง วางเพลิง 36 ครั้ง ก่อกวน 26 ครั้ง รวม 1,025 เหตุการณ์ ขณะที่ปีงบประมาณ 2552 ระหว่างวันที่ 1 ต.ค 2551 ถึงวันที่ 30 ก.ย.2552 มีเหตุยิง 544 ครั้ง ระเบิด 184 ครั้ง วางเพลิง 18 ครั้ง ก่อกวน 15 ครั้ง รวม 761 เหตุการณ์
ยอดผู้สูญเสียทุกศาสนาทั้งบาดเจ็บและเสียชีวิต ปีงบประมาณ 2551 อยู่ที่ 1,738 ราย ส่วนปีงบประมาณ 2552 อยู่ที่ 1,331 ราย
แต่คำถามก็คือการลดลงในสัดส่วนเท่านี้เรียกว่าความสำเร็จหรือไม่ โดยเฉพาะหากเทียบกับกำลังพลและงบประมาณที่ทุ่มลงไป ที่สำคัญตัวเลขนี้ยังไม่รวมเหตุรุนแรงหนักๆ ที่เกิดขึ้นถี่ยิบในช่วง 2 เดือนส่งท้ายปี 2552
ยิ่งไปกว่านั้น แม้เหตุรุนแรงจะลดลงในแง่จำนวน แต่ความรุนแรงและความเสียหายกลับเพิ่มมากขึ้น ยกตัวอย่างง่ายๆ คือในรอบปี 2552 เป็นปีที่มีการลอบวางระเบิดประเภท “คาร์บอมบ์” มากที่สุดถึง 6 ครั้ง
วันที่ 9 ธ.ค. ซึ่งเป็นวันที่นายกรัฐมนตรีมาเลเซียลงพื้นที่ครั้งประวัติศาสตร์กับนายกรัฐมนตรีของไทย ท่ามกลางการตรึงพื้นที่อย่างหนาแน่น แต่ฝ่ายผู้ก่อการก็ยังก่อเหตุรุนแรงได้อย่างน้อย 9 จุด มีเจ้าหน้าที่เสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บจำนวนหนึ่ง แสดงให้เห็นว่าฝ่ายขบวนการยังสามารถเลือกเป้า กำหนดเวลา และสถานที่ก่อเหตุได้เหมือนเดิม
ที่สำคัญต้องไม่ลืมว่าปี 2552 ยังมีคดีสะเทือนขวัญที่ส่งผลสะเทือนไปทั่วโลกไม่ต่างจากเหตุการณ์ "กรือเซะ-ตากใบ" นั่นก็คือคดีกราดยิงในมัสยิดอัลฟุรกอน บ้านไอร์ปาแย ต.จวบ อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส เป็นการยิงขณะละหมาดเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตถึง 10 ราย บาดเจ็บอีก 12 คน
ถึงวันนี้ฝ่ายความมั่นคงยังจับใครไม่ได้ และ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) เพิ่งพูดบนเวที 6 ปีไฟใต้ที่จัดโดยโต๊ะข่าวภาคใต้ สถาบันอิศรา เมื่อ 28 ธ.ค.ที่ผ่านมาว่า ผู้ที่ถูกออกหมายจับ (2 คน) น่าจะหนีออกจากพื้นที่ไปแล้ว
นอกจากยิงในมัสยิด ก็ยังมีเหตุการณ์ยิงครูท้อง ฆ่าพระ และจงใจสังหารชาวไทยพุทธอีกหลายเหตุการณ์ เพื่อปั่นกระแสให้เกิดความขัดแย้งระหว่างศาสนา ซึ่งเป็นสภาพการณ์ที่เหมือนย้อนกลับไปช่วงปี 2548-2549 เสียด้วยซ้ำ
ขณะที่ตัวเลขล่าสุดของกำลังพลที่ประจำการอยู่ในพื้นที่คือ 66,607 นาย แบ่งเป็นทหารจากกองทัพภาคต่างๆ 30,000 นาย ตำรวจ 18,000 นาย และอีกราว 18,000 นายคือฝ่ายปกครอง และอาสารักษาดินแดน (อส.)
เฉพาะ อส.มีอยู่ 5,434 นาย และกำลังฝึกเพิ่มอีกจำนวนมาก
ส่วนกองกำลังติดอาวุธที่จัดตั้งโดยรัฐ ได้แก่ ชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน (ชรบ.) ปัจจุบันมีอยู่ 48,790 คน อาสาสมัครรักษาหมู่บ้าน (อรบ.) 15,543 คน และลูกจ้างของรัฐตามโครงการจ้างงานเร่งด่วนเดือนละ 4,500 บาท (เฉพาะโควต้าของทหาร) อีก 8,285 คน
จากตัวเลขจะพบว่ากองกำลังของรัฐมีอยู่ในพื้นที่มากกว่า 100,000 คน แต่สถิติเหตุรุนแรงตามที่นายกฯบอกระหว่างการแถลงผลงานของรัฐบาลก็คือ “ลดลงเพียงนิดเดียว” ก็น่าจะเป็นคำตอบที่ชัดเจนแล้วว่าประสบความสำเร็จหรือไม่
ทิศทางของสถานการณ์ในวาระ 6 ปีปล้นปืน และผ่าน 6 ปีไฟใต้ขึ้นสู่ปีที่ 7 จึงยังไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง...
---------------------------------------------------
ขอบคุณ : ภาพประกอบจาก www.thaigoodview.com
ติดตามอ่าน : สกู๊ปพิเศษชุด 6 ปีไฟใต้ กับความท้าทายด้านต่างๆ ของรัฐบาลและฝ่ายความมั่นคง ในเว็บไซต์อิศรา ตั้งแต่ 5 ม.ค.2553 เป็นต้นไป