"นครปัตตานี"ในวาระร้อน...นายกเทศบาลนครยะลาย้ำ "เนื้อหา" สำคัญกว่า "รูปแบบ"
ข้อเสนอว่าด้วยการจัดรูปการปกครองท้องถิ่นแบบพิเศษในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งมีโมเดล "นครปัตตานี" เป็นกระแสนำนั้น จริงๆ แล้วมีการพูดถึงกันอย่างกว้างขวางในดินแดนปลายสุดด้ามขวานมาร่วม 2 ปีแล้ว และล่าสุดยิ่งใกล้เลือกตั้ง กระแสเรื่องนี้ยิ่งแรง โดยเฉพาะเมื่อพรรคเพื่อไทยได้ยกร่างกฎหมาย "นครปัตตานี" ขึ้นมาเสร็จสรรพ พร้อมเดินหน้าทันทีหากได้เป็นรัฐบาล
แต่ปัญหาก็คือ "แนวคิด" หรือ "แนวทาง" ที่ว่านี้ดูจะยังไม่ตกผลึก และมีเสียงคัดค้านไม่น้อยเหมือนกัน
ปฏิเสธไม่ได้ว่าหากสามจังหวัดชายแดนภาคใต้เคลื่อนไปสู่การปกครองท้องถิ่นรูปแบบใหม่ กลุ่มคนที่ได้รับผลกระทบอย่างจังที่สุดกลุ่มแรกคือบรรดาผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบต่างๆ ในปัจจุบัน แม้ในร่างกฎหมายการบริหารราชการนครปัตตานีที่เสนอโดยพรรคเพื่อไทยจะมีบทบัญญัติรับรองเอาไว้ให้คงสถานะองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบเดิมเอาไว้ทั้งหมดก็ตาม
ทว่าในทางปฏิบัติ จะกลายเป็นอำนาจซ้อนอำนาจที่สร้างความสับสนมากขึ้นไปอีกหรือไม่...
ในกลุ่มของผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ชายแดนใต้ปัจจุบัน คงไม่มีใครไม่รู้จัก "นายกฯอ๋า" พงษ์ศักดิ์ ยิ่งชนม์เจริญ นายกเทศมนตรีเทศบาลนครยะลา ด้วยประสบการณ์และฝีไม้ลายมือในการบริหารที่ได้รับรางวัลทั้งระดับชาติและระดับท้องถิ่นมานับไม่ถ้วน มุมมองของเขาจึงน่าสนใจไม่น้อย
โดยเฉพาะการกระตุกกระแส "นครปัตตานี" ท่ามกลางวาระร้อน ให้ทุกฝ่ายหันมองในแง่ "เนื้อหา" มากกว่า "รูปแบบ" มิฉะนั้นจะเป็นแค่การ "เปลี่ยนเสื้อใหม่" แต่ปัญหา "ข้างใน" ยังคงเดิม
O ถามแบบตรงไปตรงมา เห็นด้วยกับข้อเสนอ "นครปัตตานี" หรือไม่?
ผมคิดว่าในความหมายที่ได้มีการนำเสนอเรื่องนครปัตตานี เท่าที่ได้ดูและรับทราบนั้นมีหลายรูปแบบมาก แต่ที่ชัดที่สุดคือให้ทั้งสามจังหวัด (ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส) ยุบรวมเป็นหนึ่ง คือเป็น "นครปัตตานี" และก็มีการยกฐานะขึ้นเป็น "นคร"
ผมเองไม่แน่ใจว่าแต่ละโมเดลที่นำเสนอกันนั้นมีความเข้าใจลึกซึ้งถึงเรื่องการปกครองส่วนท้องถิ่นแล้วหรือยัง เพราะฉะนั้นจึงยากที่จะตอบในวันนี้ได้ว่าสิ่งที่ปรากฏเป็นโมเดลขึ้นมาแต่ละโมเดลดีหรือไม่ดีอย่างไร เพราะความชัดเจนยังมีไม่มาก แม้ผมจะเคยมีโอกาสเข้าไปร่วมในคณะกรรมการที่มีการนำเสนอโมเดลเกือบทุกกลุ่ม แต่ผมก็คิดว่ายังมีบางประเด็นที่ยังไม่มีความชัดเจนอยู่
O นครปัตตานีในความหมายที่รับรู้กันในพื้นที่คืออะไร?
ถ้าฟังที่ชาวบ้านพูดก็คงเป็นการรวมกันของสามจังหวัดเป็นนครปัตตานี โดยอาจมีการเลือกตั้งผู้ว่าราชการหรือผู้ว่าการนครขึ้นมา แล้วกำกับดูแลทั้งสามจังหวัดโดยผ่านกระบวนการของนครปัตตานี อันนี้คือสิ่งที่ผมคิดว่าเป็นที่รับรู้ของประชาชนโดยทั่วไป
O ส่วนตัวเห็นด้วยหรือไม่กับข้อเสนอให้จัดรูปแบบการปกครองท้องถิ่นแบบพิเศษ ซึ่งแนวทางหนึ่งก็คือนครปัตตานีตามที่ทราบๆ กัน?
ถ้าถามผมในเรื่องของการปกครองส่วนท้องถิ่น สิ่งที่มีอยู่แล้วคือองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) เทศบาล และองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) วันนี้ผมคิดว่าน่าจะนำสิ่งที่มีอยู่มาปรับกระบวนการ ปรับภารกิจให้มีความสอดคล้องกับบริบทในท้องถิ่น ปรับในเรื่องของกฎระเบียบต่างๆ ให้สอดคล้องกับสภาพสังคมในพื้นที่มากกว่า ถ้าทำลักษณะนี้ผมคิดว่าน่าจะเป็นสิ่งที่ดำเนินการได้
ผมมีความเชื่อมั่นมาโดยตลอดว่า สิ่งสำคัญที่สุดของการปกครองนั้น คือจะต้องขึ้นมาจากประชาชนที่เป็นฐานราก แต่สภาพที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ผมคิดว่ามันกลับไปคล้ายในอดีต คือกลุ่มนักวิชาการและกลุ่มชนชั้นนำเป็นผู้เสนอโมเดลต่างๆ แต่วันนี้ผมเชื่อเหลือเกินว่าสิ่งที่คนฐานรากต้องการมากที่สุดคือความสงบเรียบร้อย ความมีคุณภาพชีวิตที่ดี การที่ลูกหลานมีการศึกษาที่ดี มีการงานที่ดี ผมคิดว่าอันนี้คือความต้องการของประชาชนฐานราก
แต่โครงสร้างที่กำลังคิดกัน กระบวนการเปลี่ยนผ่านหรือกระบวนที่จะนำไปสร้างการมีส่วนร่วมให้ประชาชนมีความตระหนักนั้น คำว่า "ตระหนัก" คงไม่ได้หมายถึงความเป็นนครปัตตานี แต่ผมคิดว่าเป็นความตระหนักในแง่ของความเป็นเจ้าของ ความตระหนักในเรื่องของสิทธิและหน้าที่ ตระหนักเรื่องการมีส่วนร่วมที่จะเข้าไปตรวจสอบและกำกับดูแลการปกครองในท้องถิ่นของตนเอง ผมคิดว่าสิ่งนี้เป็นความจำเป็นที่น่าจะต้องสร้างให้เกิดขึ้นก่อน เพราะไม่ว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการปกครองไปอย่างไร ตราบใดที่ประชาชนยังไม่มีความตระหนักหรือไม่มีการรับรู้ ก็จะกลายเป็นโอกาสให้ผู้ปกครองคนใหม่เข้ามาแสวงหาประโยชน์ได้ในบางแง่มุม
O คิดว่านครปัตตานีหรือข้อเสนอว่าด้วยการปกครองท้องถิ่นรูปแบบพิเศษจะสร้างความขัดแย้งให้เพิ่มขึ้นในพื้นที่หรือไม่?
ต้องถามว่าความขัดแย้งในวันนี้เกิดขึ้นมาจากไหน สำหรับผมคิดว่าความขัดแย้งเกิดมาจากความอยุติธรรม จริงๆ แล้วรูปแบบของการปกครองไม่ว่าจะเป็นแบบใดก็ตาม ถ้าเราสามารถสร้างความยุติธรรมให้เกิดขึ้นได้ ก็จะได้รับความร่วมแรงร่วมใจจากพี่น้องประชาชน ซึ่งความยุติธรรมนั้นเป็นทั้งในเรื่องของกระบวนการ และเป็นทั้งเรื่องของความรู้สึก ถ้าเราสามารถสร้างสองสิ่งนี้ให้ควบคู่กันไป คือทั้งในแง่ของความยุติธรรมในเชิงประจักษ์ที่ได้แสดงออก และความยุติธรรมในเชิงความรู้สึก คิดว่าความขัดแย้งก็จะไม่เกิดขึ้น
วันนี้เราจะได้ยินตลอดว่ารูปแบบการปกครองพิเศษได้ถูกนำเสนอขึ้นมา เพราะเขามีความรู้สึกว่าประชาชนไม่ได้รับความยุติธรรม โดยเฉพาะเรื่องของความเสมอภาค เรื่องของโอกาส เพราะฉะนั้นก็เลยคิดว่าการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างจะสามารถแก้ไขปัญหาเหล่านั้นได้ เช่น ถ้ามีการเลือกตั้งผู้ว่าการนครหรือผู้ว่าราชการจังหวัดขึ้นมา ก็จะสามารถสร้างโอกาสในการเข้าถึงของประชาชนได้มากขึ้น เพราะคนที่มาจากการเลือกตั้ง พื้นฐานที่สุดคือต้องมีความรับผิดชอบโดยตรงต่อประชาชน
แต่เมื่อพิจารณาดูสภาพโดยทั่วไป ถึงวันนี้คิดว่ายังหาข้อสรุปไม่ได้ เพราะเราก็เห็นว่าองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั้ง 76 จังหวัดก็มีหลายแห่งที่ได้รับการเลือกตั้งแต่อาจจะไม่ได้รับการยอมรับจากประชาชน และก็มีประชาชนที่บอกว่าไม่ได้รับความยุติธรรมเหมือนกัน
เพราะฉะนั้นผมจึงคิดว่ารูปแบบก็เป็นเพียงรูปแบบ สิ่งสำคัญที่สุดคือกระบวนการกับเนื้อหาภายในมากกว่าที่เราต้องสร้างขึ้นมา โดยเฉพาะเรื่องความยุติธรรม ทั้งความเสมอภาคด้านโอกาสและการแสดงความคิดเห็น รวมทั้งการเข้าถึง เมื่อประชาชนรู้สึกได้ถึงความยุติธรรมที่เป็นสิทธิของเขา ได้รับความเสมอภาคตามสิทธิของเขา และยิ่งเราแก้ปัญหาให้ประชาชนได้ด้วย ประชาชนก็จะรู้สึกว่าเรามีความจริงใจในการแก้ปัญหา
ขณะเดียวกัน ประชาชนที่เป็นฐานรากเองก็ต้องกล้าลุกขึ้นมาเรียกร้อง กล้าลุกขึ้นมาแสดงออก เราต้องเปิดพื้นที่ตรงนี้ เพราะเมื่อไหร่ก็ตามที่ประชาชนมีความรับรู้และกล้าแสดงออกเหมือนกับประเทศที่มีความก้าวหน้าในระบอบประชาธิปไตย โครงสร้างจะเปลี่ยนไปก็ไม่มีปัญหา แต่วันนี้ถ้าสภาพในพื้นที่ยังคงอยู่แบบนี้ ผมคิดว่าคงเป็นเพียงการเปลี่ยนเสื้อใหม่ แต่คนก็ยังเหมือนเดิม โครงสร้างก็ยังเหมือนเดิม ถ้าเป็นแบบนั้นคงไม่สามารถช่วยอะไรได้
O ท่ามกลางกระแสในพื้นที่ที่ค่อนข้างแรง คิดว่าทางออกแบบกลางๆ ควรเป็นอย่างไร?
ผมคิดว่าสิ่งที่คนในพื้นที่ต้องการคือเวลา แล้วระหว่างนี้ควรนำการปกครองท้องถิ่นที่มีอยู่แล้วในปัจจุบันมาปรับ และในช่วงของการเปลี่ยนผ่านจะต้องสร้างกระบวนการรับรู้ของประชาชนให้มากที่สุด พอถึงจุดหนึ่งที่มีการประเมินว่าประชาชนน่าจะมีความเข้าใจมากพอแล้ว ก็ค่อยพูดกันถึงรูปแบบที่ประชาชนต้องการจริงๆ
ในความหมายที่ผมพูดนี้ไม่ได้หมายความว่าประชาชนไม่เข้าใจ แต่ผมคิดว่าประชาชนในพื้นที่ตอนนี้คงมีทั้งที่เข้าใจและไม่เข้าใจ โจทย์ก็คือจะทำอย่างไรที่จะสร้างความเข้าใจในวิถีประชาธิปไตยให้เกิดขึ้นกับประชาชนให้มากที่สุด และพอถึงจุดหนึ่งจะเปลี่ยนอีกกี่รูปแบบก็ไม่เป็นไร เพราะประชาชนจะเข้าไปตรวจสอบตลอดเวลา
O ย้อนกลับมามองการบริหารงานของเทศบาลนครยะลาบ้าง เพราะถือว่าเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ได้รับการกล่าวขวัญถึงในแง่บวกมากที่สุดแห่งหนึ่งในพื้นที่ เคล็ดลับของความสำเร็จอยู่ตรงไหน?
ผมคิดว่าสิ่งหนึ่งที่เทศบาลนครยะลาพยายามใช้ คือเราเปิดให้มีกระบวนการของการมีส่วนร่วมมากที่สุดในทุกขั้นตอน โดยเฉพาะในสังคมที่เป็นพหุวัฒนธรรมเช่นนี้ ผมคิดว่ารูปแบบพื้นฐานที่สุดในการบริหารให้เกิดผลดีคือการสร้างกระบวนการการมีส่วนร่วมในทุกเรื่องและทุกระดับของการทำงาน
ที่สำคัญผมไม่ได้ต้องการสร้างเพียงแค่กระบวนการ แต่เราเน้นไปที่การสร้างจิตสำนึกและค่านิยมด้วย ขณะที่การบริหารจัดการภายในเทศบาลเอง เรื่องวัฒนธรรมองค์กรเป็นเรื่องสำคัญ ตรงนี้ตั้งแต่ผู้บริหารในอดีตที่ได้สร้างมา กระทั่งผมเองที่ได้เข้ามาบริหาร เราพยายามบอกพนักงานของเทศบาลว่า บ้านเมืองของเรามีปัญหา เพราะฉะนั้นทุกคนจะต้องช่วยกันทำงานมากกว่าเดิมเป็นสองเท่าหรือสามเท่า และต้องพยายามลดเงื่อนไขที่จะก่อให้เกิดความไม่สบายใจของประชาชนให้มากที่สุด
สิ่งหนึ่งที่ผมพยายามย้ำกับพนักงานของเทศบาลตลอดเวลาก็คือ เราไม่ใช่เจ้าของอำนาจ เนื่องจากเจ้าของอำนาจที่แท้จริงคือประชาชน เพราะฉะนั้นเราจะทำอย่างไรที่จะคืนอำนาจกลับไปยังประชาชนอย่างเป็นขั้นเป็นตอนผ่านการบริหารจัดการที่ดี และโครงการที่เป็นประโยชน์สูงสุดต่อพี่น้องประชาชน
นอกเหนือจากเรื่องการคืนอำนาจแล้ว เรายังฝึกให้ประชาชนเป็นเจ้าของอำนาจในสิ่งที่เป็นอำนาจของเขาเองด้วย ผมคิดว่าคุณสมบัติสำคัญที่สุดของผู้นำท้องถิ่นคือจะต้องรักในแผ่นดินเกิด รักในท้องถิ่นของตัวเอง ยกตัวอย่างตัวผมเกิดที่ยะลา ผมก็มีความรักในแผ่นดินของผม และต้องคิดกับแผ่นดินยะลาของผมว่าผมจะต้องสร้างแผ่นดินของผมให้ดีขึ้นมาอย่างไร นั่นคือประการที่หนึ่ง
ประการที่สองคือเราจะต้องมีความรักในประชาชนของเรา เมื่อเราเป็นผู้ปกครองท้องถิ่น เรามีความใกล้ชิดกับประชาชน เราต้องรักในประชาชนของเรา และนี่คือสิ่งที่ผมยึดมั่นมาตลอดระยะเวลาที่ได้ทำงาน
---------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : นายพงษ์ศักดิ์ ยิ่งชนม์เจริญ นายกเทศมนตรีเทศบาลนครยะลา (ภาพโดย สมศักดิ์ หุ่นงาม)