แม่ทัพภาค4 : ไฟใต้ถูกสร้างให้ดูรุนแรง ซัดเสนอข่าวร้ายไม่อยากให้สงบ ชวนบีอาร์เอ็นสู้แนวสันติ-ปัดเจรจา
เหตุรุนแรงถี่ยิบรวมทั้งระเบิดตั้งแต่เปิดศักราช 2554 เป็นต้นมา โดยเฉพาะคาร์บอมบ์และมอเตอร์ไซค์บอมบ์กลางเมืองยะลาซึ่งเป็นศูนย์กลางธุรกิจและการบริหารราชการในจังหวัดชายแดนภาคใต้ แน่นอนว่าไม่ใช่แค่ในพื้นที่เท่านั้นที่สั่นสะเทือน ทว่ายังเลื่อนลั่นไปถึงกรุงเทพมหานครด้วย
ช่วงหลายสัปดาห์ที่ผ่านมาจึงมีข่าวว่า พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ เสนาธิการทหารบก (เสธ.ทบ.) ถึงกับนั่งไม่ติด ต้องเรียกระดมนายทหารฝ่ายเสนาธิการ ผู้รู้ทั้งในและนอกราชการ ตลอดจนนักวิชาการ เข้าประชุมเพื่อรับฟังความคิดเห็นในท่วงทำนองที่ว่าอาจต้อง "ปรับยุทธวิธี" กันบ้าง เพราะปล่อยไปอย่างนี้ไม่ได้อีกแล้ว
แน่นอนว่าหนึ่งในผู้ที่ต้องเข้าร่วมประชุม เนื่องจากมีหน้าที่รับผิดชอบโดยตรงคือ พล.ท.อุดมชัย ธรรมสาโรรัชต์ แม่ทัพภาคที่ 4 ซึ่งถึงสิ้นเดือนนี้เขาจะนั่งเก้าอี้แม่ทัพภาคใต้ครบ 6 เดือนพอดี
แนวโน้มไฟใต้จะเป็นอย่างไร กองทัพจะปรับยุทธวิธีหรือไม่ และกระแสข่าวตั้งโต๊ะเจรจากันในต่างประเทศเป็นจริงมากน้อยเพียงใด...พล.ท.อุดมชัย มีคำตอบ!!!
O สถานการณ์ในพื้นที่กลับมารุนแรงอีกครั้ง จะมีการปรับทิศทางการแก้ไขปัญหาภาคใต้หรือไม่ อย่างไร?
ผมว่ามันไม่ได้กลับมารุนแรงอะไรมากมาย เพียงแต่สถานการณ์บางสถานการณ์มันถูกสร้างให้ดูเหมือนรุนแรง อย่างเช่นเหตุระเบิดในตัวเมืองยะลา ถามว่าก่อนหน้านี้มีระเบิดหรือไม่ ก็มีกันเยอะ ผมมาเป็นแม่ทัพเพิ่งมีระเบิด 2 ลูก ไม่แปลกที่จะอยู่ในความสนใจ เพราะมันหายไปนาน กลับมาอีกทีดูเหมือนรุนแรงไปเลย
ทั้งหมดมันถูกสร้างให้เหมือนกับว่าเจ้าหน้าที่รัฐอ่อนแอไม่สามารถดูแลความสงบได้ สร้างเพื่อที่จะเป็นตัวป้องปรามคนที่จะกลับมาให้ความร่วมมือกับรัฐด้วย จะเห็นว่าพอมีสถานการณ์เกิดขึ้น ดูเหมือนว่าปักษ์ใต้เราแย่ คนที่เสนอข่าวอย่างนี้ผมว่าไม่อยากให้ปักษ์ใต้สงบสุขมากกว่า
O แสดงว่าการปรับทิศทางการทำงานยังจะไม่มีอะไรมาก?
ผมปรับบางส่วน จัดความรับผิดชอบบางส่วนให้มันเข้าที่เข้าทาง ใครที่เหมาะสมกับหน้าที่อะไรก็ไปทำหน้าที่ตรงนั้น แต่ก่อนนี้อาจจะทำหน้าที่หลักอย่างเดียว ปัจจุบันอาจต้องทำ 2-3 อย่างเพื่อให้ใช้คนน้อย แล้วเอาคนอีกส่วนหนึ่งไปใช้กับส่วนอื่นๆ
O ทราบมาว่าสถานการณ์ที่ร้อนระอุขึ้นมาอีกครั้ง ทำให้เสนาธิการทหารบกเชิญนายทหารระดับสูงและนักวิชาการไปประชุมเพื่อรับฟังแนวทางการแก้ไขปัญหาภาคใต้ ได้ข้อสรุปกันอย่างไร?
ผมเองก็มีโอกาสเข้าไปร่วมในการระดมความคิดเห็นเพื่อแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วย ปัญหาหลักใหญ่เราคิดว่าเป็นปัญหาของขบวนการแบ่งแยกดินแดน แล้วก็มีภัยแทรกซ้อนจากเรื่องปัญหายาเสพติด น้ำมันเถื่อน อิทธิพลอำนาจมืดพวกนี้ เราคิดว่ามีความจำเป็นที่เราจะต้องทำความเข้าใจกับพี่น้องประชาชนให้ได้ว่ามันมีภัยจากปัญหาหลัก ปัญหารองเกิดขึ้นอยู่ในปัจจุบัน เมื่อประชาชนเข้าใจแล้วเราถึงสามารถดำเนินการตามกฎหมายอย่างจริงจังได้
แนวทางที่เราต้องดำเนินการคืองานการเมืองนำการทหาร ผมหมายถึงการปฏิบัติการใดๆ ก็แล้วแต่จะต้องเอาชนะจิตใจและได้จิตใจประชาชน ไม่ใช่ปฏิบัติการใดๆ ให้ประชาชนเกลียดชัง มันก็ไม่ใช่งานการเมืองนำการทหาร หลักใหญ่ที่ผมได้ทำก็คือทุกคนเห็นด้วยที่จะต้องทำงานเพื่อประชาชน
O ท่านบอกว่าในพื้นที่มีปัญหายาเสพติด กลุ่มอิทธิพล ค้าของเถื่อน เมื่อทราบอย่างนี้แล้วจะมีรูปธรรมของการแก้ไขปัญหาอย่างไรบ้าง?
ผมตั้งคณะทำงานขึ้นมาแล้วดำเนินการอย่างจริงจังในการปราบปรามเรื่องน้ำมันเถื่อน มีคณะทำงานป้องกันและปราบปรามเรื่องยาเสพติด เป็นอะไรที่ชัดเจนขึ้นมา ขณะนี้น้ำมันเถื่อนโดนสกัดไป ยาเสพติดก็โดนสกัดไป จะเห็นว่ากลุ่มผู้ก่อเหตุน้อยลง แต่จ้องทำให้ใหญ่และเป็นข่าว
O ฝ่ายความมั่นคงจะรับมืออย่างไรกับผู้สูญเสียประโยชน์เหล่านี้?
ผมปฏิบัติตามกฎหมายและดำเนินการอย่างจริงจัง ปรับแผนและวิธีการให้มันเหมาะสมกับกลุ่มพวกนี้ กลุ่มค้ายาเสพติดและค้าน้ำมันเถื่อนผมคิดว่าน่าจะหยุด น่าจะพอได้แล้ว ถ้าไม่หยุดไม่พอผมก็ต้องดำเนินการตามกฎหมายต่อไป ต้องยืนหยัด จากผมไปแล้วคนอื่นมาก็ต้องสานต่อเช่นเดียวกัน
O ปัญหาภาคใต้จนถึงขณะนี้หลายฝ่ายยังมองว่ารัฐแก้ไขปัญหาไม่ได้ ยังหาทางออกไม่เจอ ท่านคิดว่าอะไรคือรากเหง้าของปัญหาที่แท้จริง?
ก็อย่างที่ผมบอกคือมีปัญหาหลักกับปัญหารอง ปัญหาหลักคือปัญหาของคนกลุ่มหนึ่งเท่านั้นเองที่ยังคิดว่าต้องการแยกตัวเป็นอิสระ แล้วก็ใช้วิธีการต่างๆ ก่อกวน ส่วนปัญหารองก็คือปัญหาของอิทธิพลเถื่อนกับอำนาจมืด ยาเสพติด เป็นปัญหาทั่วๆ ไปที่มีอยู่ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ไม่ต่างจากพื้นที่อื่นๆ แต่ปัญหาขบวนการแบ่งแยกดินแดนนั้นไม่มี ผมไม่ได้พูดถึงกับว่าปักษ์ใต้นี้มีเป็นขบวนการ เพราะมีคนกลุ่มหนึ่งเท่านั้นที่ต้องการแยกตัวเป็นอิสระ คือไม่ถึงหมื่นคน ซึ่งน้อยมากเมื่อเทียบกับประชากรในพื้นที่เกือบ 2 ล้านคน
เรื่องการแบ่งแยก ผมคิดว่ามีอยู่ในกลุ่มคนกลุ่มหนึ่ง ซึ่งเรากำลังดำเนินการทำความเข้าใจกับเขา เราต้องการให้เขากลับมาต่อสู้ในแนวทางสันติ เช่น มาต่อสู้ในทางการเมืองก็ดี ต่อสู้ในทางเศรษฐกิจและสังคมก็ดี เหมือนที่พรรคคอมมิวนิสต์เคยสู้ ปัจจุบันก็มีหลายคนมาเป็นรัฐบาล จะเห็นว่าเขาแบ่งประโยชน์สร้างความเป็นธรรมให้กับกลุ่มของเขาได้ ประเทศไทยไม่ใช่มีแต่มลายูอย่างเดียว ยังมีคนจีน คนเขมร แต่ละกลุ่มเขาก็สู้เพื่อกลุ่มของตน แต่เขาสู้ในแนวทางสันติ อันนี้ผมเห็นด้วยกับการต่อสู้
เพราะฉะนั้นกลุ่มบีอาร์เอ็น (ขบวนการแนวร่วมปฏิวัติแห่งชาติมลายูปัตตานี หรือ Barisan Revolusi Nasional Melayu Patani : BRN ซึ่งฝ่ายความมั่นคงไทยเชื่อว่าเป็นแกนหลักในการก่อความไม่สงบอยู่ในขณะนี้) ก็ควรหันกลับมาต่อสู้ในแนวทางสันติ ในทางอาวุธก็จะมีมาตรา 21 (พระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2551) มารองรับ ให้อภัยซึ่งกันและกัน
O เมื่อเร็วๆ นี้มีข่าวองค์กรพัฒนาเอกชน หรือเอ็นจีโอ บางกลุ่มไปเจรจากับแกนนำขบวนการพูโล (ขบวนการที่มีอุดมการณ์แบ่งแยกดินแดน) แล้วเสนอแนะให้รัฐจริงจังกับการเปิดเจรจากับกลุ่มต่างๆ ท่านมีความเห็นอย่างไร?
ผมพูดใน 2 ส่วน ในส่วนของความเป็นรัฐ และส่วนของผมเองที่รักษาความมั่นคงอยู่ ผมจะไปตั้งโต๊ะเจรจาไม่ได้หรอก เพราะว่ากลุ่มเหล่านั้นทำผิดกฎหมาย ก็ต้องปฏิบัติตามกฎหมาย ไม่อย่างนั้นคนก็ลุกขึ้นต่อสู้แล้วเข้าสู่กระบวนการเจรจากันหมด แต่ถ้าเป็นบทบาทของเอ็นจีโอ ไปพบไปเจรจา ผมคงไปห้ามเขาไม่ได้นะครับ แต่ถ้าคนๆ หนึ่งที่ผมรู้ว่าทำผิดแล้วเจรจาอยู่ในประเทศไทย ผมก็ต้องตามไปจับเขา
อย่างไรก็ตาม ถ้าคิดโดยสามัญทั่วไป ผมถามว่าสุดท้ายแล้วถ้าไม่เจรจา คนก็จะพูดถึงกฎสงคราม ซึ่งสุดท้ายแล้วต้องอยู่ด้วยการเจรจา แต่ทั้งหมดผมว่ามันขึ้นอยู่กับการทำนโยบายที่ดีของรัฐบาล การปฏิบัติที่อยู่ภายใต้กฎหมายของทุกฝ่าย การพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดี เพราะเมื่อพี่น้องประชาชนส่วนหนึ่งเข้าใจมันก็ไม่จำเป็นต้องตั้งโต๊ะเจรจา การเปิดทางถอยให้เขาตามมาตรา21 (พระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2551) คนกลุ่มนี้ไม่จำเป็นต้องเจรจา เราให้พี่น้องประชาชนที่เขาก่อเหตุหรือเคยก่อเหตุเห็นแนวทางที่รัฐจะพัฒนา แล้วก็จะจัดการให้เขามีทางถอย ผมว่าทุกอย่างก็จะค่อยๆ หมดลงไป ค่อยๆ สงบลงไปเองได้ ไม่จำเป็นต้องนั่งโต๊ะเจรจา
O ที่ผ่านมายังมีข่าวความไม่มั่นใจของคนที่จะเข้าสู่กระบวนการตามมาตรา 21 (เข้ามอบตัวหรือกระทำเพราะหลงผิด จะได้เข้ารับการฝึกอบรม 6 เดือนแทนถูกดำเนินคดี) ว่าจะไม่ได้รับความเป็นธรรม ตรงนี้จะให้ความมั่นใจอย่างไร?
ผมมั่นใจครับว่ารัฐบาลดำเนินการนโยบายด้านนี้อย่างจริงจัง ใน 4 อำเภอของ จ.สงขลา ขณะนี้ได้ประกาศใช้กระบวนการตามมาตรา 21 แล้ว มีคนเข้าข่ายอยู่ 27 คน ส่วนในสามจังหวัดนี้พื้นที่ไหนที่สงบก็จะยกเลิก พ.ร.ก. (การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินโดยอาศัยอำนาจตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548) แล้วก็จะทำไปเรื่อยๆ ถ้าไม่มีเหตุรุนแรง ซึ่งเราประมาณการณ์ได้ ก็จะทะยอยประกาศ ทุกอย่างมันก็จะเข้าไปสู่สถานการณ์ปกติ คนที่ติดคดีก็เข้ามาทำความเข้าใจ เข้ามาดำเนินการตามมาตรา 21 มาฝึกอบรมไม่เกิน 6 เดือน ทุกคนก็กลับไปใช้ชีวิตอย่างปกติสุข
แล้วก็ที่ผมให้ความมั่นใจอีกอย่างหนึ่งก็คือพ่อแม่พี่น้องในส่วนที่ถูกผู้ก่อเหตุกระทำ (ผู้สูญเสียจากเหตุการณ์ความรุนแรง) เขาจะได้รับการเยียวยา อาจจะดูแลฝึกอาชีพให้ มีโครงการรองรับ ไม่ใช่ถูกกระทำแล้วเขาไม่ได้รับอะไรเลย คือเขาจะได้รับการดูแล ฉะนั้นจะได้รับความเป็นธรรมทุกฝ่าย คนที่ไปก่อเหตุโดยถูกชักจูง โดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ก็จะได้รับโอกาสการเข้ากระบวนการตามมาตรา 21
O นั่งเก้าอื้แม่ทัพมา 6 เดือนแล้ว คิดว่ามีอะไรที่ปรากฏผลเป็นรูปธรรมบ้าง?
สิ่งที่เห็นได้ชัดเจน 3 ประการ คือ ประการแรก เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานภายใต้กฎหมาย เคารพในหลักสิทธิมนุษยชน และเคารพในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์เพิ่มขึ้น จะเห็นว่าแทบจะไม่มีข่าวคราวเรื่องร้องเรียนเจ้าหน้าที่ไปทำร้าย ไปทุบตีเลย อาจจะมีบ้างก็แค่ข่าวที่ถูกปล่อยมากกว่า ซึ่งผมคิดว่ามันเกิดผลดีต่อพี่น้องประชาชนที่เจ้าหน้าที่ไม่ได้อยู่เหนือกฎหมาย
ประการที่สอง คือพากลุ่มที่ต้องคดีและหลบหนีจากการก่อเหตุโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์กลับมาเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม แม้จะไม่มาก แต่ก็ได้นำกลับมาพอสมควร ผมได้ดำเนินการเรื่องนี้อย่างจริงจัง อำนวยความสะดวกในเรื่องของการเข้ามามอบตัวและการให้ประกันตัว ส่วนในพื้นที่ 4 อำเภอของ จ.สงขลา ก็จะเป็นเรื่องของมาตรา 21 ที่ประกาศใช้แล้ว ต่อไปก็จะเป็นพื้นที่ อ.แม่ลาน จ.ปัตตานี (เลิก พ.ร.ก.ไปก่อนหน้านี้) ซึ่งผมหวังอยากเห็นพี่น้องประชาชนได้มาใช้ชีวิตปกติสุข เพื่อที่จะนำไปสู่สันติสุขได้ อันนี้เป็นเรื่องสำคัญที่ผมเห็นว่ามันปฏิบัติได้
ประการที่สาม เรื่องยาเสพติด เราได้เข้าไปรณรงค์เกือบทุกพื้นที่ หาทางป้องกันและปราบปรามอย่างจริงจัง ซึ่งได้รับความร่วมมือจากทุกฝ่าย โดยเฉพาะผู้นำศาสนา โต๊ะอิหม่าม และเยาวชน พร้อมใจสมัครเข้าร่วมโครงการมัสยิดสานใจป้องกันภัยยาเสพติดและโครงการญาลานันบารู
O กระแสตอบรับของคนในพื้นที่เป็นอย่างไรบ้าง?
ผมคงต้องให้ส่วนอื่นประเมิน ในส่วนของผมเองจากประสบการณ์ของผม จากที่ผมทำโครงการมาตั้งแต่ 7-8 ปีที่แล้ว ตอนเริ่มทำโครงการ พี่น้องประชาชนที่เข้าร่วมโครงการกับผม ทั้งบรรดาอิหม่าม โต๊ะครู และอุสตาซจะไม่ยิ้มแย้มแจ่มใสกับผมเลยนะ จะหน้าบึ้ง หวาดระแวง แสดงความรังเกียจ แต่ปัจจุบันสีหน้าอย่างนี้ไม่มีแล้ว
ที่ผ่านมาผมค่อนข้างจะเปิดโอกาสให้คนที่มีความเห็นต่างได้แสดงความคิดเห็นและมีโอกาสได้มาแก้ไขปัญหาร่วมกัน เพราะผมเชื่อว่าทุกคนย่อมมีความเห็นต่างในการแก้ปัญหา ผมคิดว่าการเปิดโอกาสนี้จะทำให้เหตุการณ์รุนแรงค่อยๆ ลดระดับลง เพราะว่าคนที่มีความเห็นต่างอาจจะไปเกี่ยวพันกับคนที่ก่อเหตุ ฉะนั้นอย่างน้อยก็ได้รับรู้ความคิดและส่งต่อไปยังคนที่ก่อเหตุว่าฝ่ายรัฐบาล ฝ่ายกองทัพ และตำรวจทำอย่างนั้นอย่างนี้ จะได้นำไปสู่การแก้ไขปัญหาที่เรื้อรังได้ อาทิ ความไม่เป็นธรรม
O อีกไม่กี่วันเหตุการณ์กรือเซะ (เหตุการณ์รุนแรงเมื่อวันที่ 28 เม.ย.2547 มีผู้เสียชีวิตถึง 108 ราย กว่า 30 รายจบชีวิตในมัสยิดกรือเซะ) จะเวียนบรรจบมาอีกครั้ง และทุกคนก็จะพูดถึงแทบทุกครั้งเรื่องการเยี่ยวยาความรู้สึกชาวบ้านในพื้นที่ ท่านมีแนวทางอย่างไรบ้าง?
เหตุการณ์กรือเซะนั้น อย่างแรกเราต้องทำความเข้าใจก่อนว่าจริงๆ แล้วมันไม่ใช่ปัญหาที่รัฐสร้างขึ้น แต่รัฐเข้ามาแก้ปัญหาของคนกลุ่มหนึ่งที่สร้างขึ้นด้วยการเข้ามาโจมตีตำรวจ เผา และยิง แล้วก็หนีเข้าไปในมัสยิดกรือเซะ เกิดการต่อสู้กัน ในช่วงที่ให้มอบตัว รัฐใช้ความรุนแรงกับกลุ่มคนที่อยู่ในบ้านซึ่งเปรียบเสมือนเป็นบ้านของพระเจ้า เลยกลายเป็นการแก้ปัญหาที่ไม่ถูกวิธี แย่ในทัศนะของคนหลายๆ คน ก็ต้องทำความเข้าใจ ต้องอาศัยสื่อมวลชนอธิบายด้วย เพราะไม่มีใครพูดถึงเรื่องของการโจมตี สาเหตุของการเข้ามาของคนกลุ่มนี้ไม่มีใครพูดถึง ทำไมมูลเหตุจูงใจของการเข้ามาของคนกลุ่มหนึ่งใช้มีด ใช้ปืน ยิง ฟันเจ้าหน้าที่ตำรวจ ลองไล่เรียงดู จะทำให้เกิดความเข้าใจทั้งระบบ ไม่ใช่เข้าใจเฉพาะรัฐโหดร้ายทารุณยิงคนในบ้านพระเจ้าได้ลงคอ