ปืนพญาตานีจำลอง...ประวัติศาสตร์ ความภูมิใจ เงื่อนไข และเสียงวิจารณ์
การรอคอยกว่าสิบปีของชาวปัตตานีสิ้นสุดลง เมื่อสำนักช่างสิบหมู่ กรมศิลปากร ส่งมอบ "ปืนใหญ่พญาตานีจำลอง" ให้กับจังหวัดปัตตานี และนำไปติดตั้งที่ "แท่นรองรับปืน" เมื่อวันที่ 2 มิ.ย.2556 ณ ลานเอนกประสงค์หน้ามัสยิดกรือเซะและศูนย์เรียนรู้การท่องเที่ยวอารยธรรมปัตตานี ต.ตันหยงลุโละ อ.เมือง จ.ปัตตานี
บรรยากาศการต้อนรับปืนใหญ่เป็นไปอย่างคึกคักชื่นมื่น มี นายประมุข ลมุล ผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี นางศิรวี วาเล๊าะ ผู้อำนวยการสำนักงานท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดปัตตานี ผู้นำศาสนา และประชาชนในพื้นที่ไปร่วมกันเป็นสักขีพยาน
ขบวนขนย้ายปืนใหญ่พญาตานีจำลองน้ำหนัก 2 ตัน ออกเดินทางจากสำนักช่างสิบหมู่ กรมศิลปากร จ.นครปฐม ตั้งแต่วันที่ 31 พ.ค.2556 และเดินทางถึงปัตตานีเมื่อวันอาทิตย์ที่ 2 มิ.ย.โดยมีเจ้าหน้าที่ช่างสิบหมู่ สถาปนิกชำนาญการณ์จากสำนักสถาปัตยกรรม กรมศิลปากร ร่วมขบวนมาด้วยเพื่อติดตั้งปืนใหญ่ ณ ดินแดนแห่งอารยธรรมและต้นกำเนิดของปืนพญาตานีกระบอกจริง
ประวัติศาสตร์มีชีวิต
ข้อมูลจากเว็บไซต์ศูนย์ข้อมูลกลางทางวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม ระบุว่า ปืนพญาตานีเป็นปืนใหญ่โบราณ หล่อด้วยสัมฤทธิ์ ลำกล้องเรียบ บรรจุกระสุนทางปากกระบอก ใช้ดินดำเป็นดินระเบิดและจุดชนวนโดยการจุดดินระเบิด ขนาดของปืนยาว 32 วา 1 ศอก 2.5 นิ้ว ใช้กระสุน ขนาด 11 นิ้ว การยิงแต่ละครั้งจะต้องบรรจุดินปืนหนัก 15 ชั่ง สามารถยิงไกลประมาณ 1,460-1,800 เมตร
ตามประวัติการสร้างระบุว่า ปืนพญาตานีสร้างในสมัย รายาบีรู (พ.ศ.2159-2167) โดยการหล่อปืนใหญ่ครั้งนั้น ชาวจีนชื่อ ลิ้มโต๊ะเคี่ยม (เชื่อกันว่าเป็นพี่ชายของเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว) เป็นช่างหล่อปืนให้ตามความประสงค์ของรายา ได้ปืนใหญ่ 3 กระบอก คือ ปืนศรีปัตตานี หรือ พญาตานี ปืนศรีนครา และปืนมหาเลลา ทั้ง 3 กระบอกติดตั้งไว้บนรถลาก ใช้เป็นอาวุธป้องกันเมืองปัตตานีหลายครั้งในเวลาต่อมา
กระทั่งปี พ.ศ.2329 พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงโปรดฯให้กรมพระราชวังบวรสถานมงคล นำปืนพญาตานีไปไว้ที่กรุงเทพฯ และตั้งอยู่บริเวณหน้ากระทรวงกลาโหมจนทุกปัจจุบัน
"ปืนพญาตานี" เป็นประติมากรรมหล่อด้วยโลหะที่มีชื่อเสียง เป็นที่เลื่องลือมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา เป็นผลงานชิ้นสำคัญที่แสดงถึงความเจริญทางเทคโนโลยีและความมั่นคงทางเศรษฐกิจและการเมืองของปัตตานีในยุคนั้น ภายหลังกระทรวงมหาดไทยได้ใช้รูปปืนใหญ่พญาตานีกระบอกนี้เป็นตราสัญลักษณ์ประจำจังหวัดปัตตานี และในผืนธงประจำจังหวัดก็ใช้รูปปืนใหญ่วางอยู่กลางผืนธงด้วย
ศ.ดร.ครองชัย หัตถา นักประวัติศาสตร์ชื่อดังจากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี (ม.อ.ปัตตานี) เล่าขยายความถึงความเป็นมาของปืนพญาตานีว่า ในอดีตเมื่อปัตตานีได้ติดต่อค้าขายกับยุโรปที่มีความเชี่ยวชาญด้านการหล่อปืนใหญ่ ครั้นได้เปิดสัมพันธ์ทางการค้ามากขึ้นและมีชาวจีนเข้ามา จักรพรรดิจีนได้มอบกระสุนปืนเป็นของกำนัลแด่เจ้าเมืองปัตตานี บรรดารายาจึงตีความว่าการที่จีนให้กระสุนมาคงคิดว่าปัตตานีมีปืนใหญ่แล้ว จึงรีบหาแหล่งหล่อปืน ตอนนั้นมีชาวอาหรับชื่อ "อับดุลซอบัค" มีประสบการณ์เรื่องการหล่อปืน ซึ่งตรงกับสมัย รายาอินทิรา ได้หล่อปืนขึ้น 3 กระบอก ต่อมาปัตตานียังได้หล่อปืนใหญ่อีกหลายครั้ง
จนถึงสมัย รายาบีรู ทรงเห็นว่าสงครามเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา จึงทรงมีบัญชาให้หล่อปืนเพิ่มเติมไว้ป้องกันเมือง ตอนนั้น ลิ้มโต๊ะเคี่ยม รับอาสาเป็นช่างหล่อ ได้ปืนใหญ่ 3 กระบอก คือ พญาตานี ศรีนครา และ มหาเลลา ตรงกับปี พ.ศ.2159 หรือราว 400 กว่าปีมาแล้ว หลังจากนั้นปัตตานีได้ใช้ปืนพญาตานีในการศึกหลายครั้ง จนถึงคราวที่กรุงศรีอยุธยาแตกครั้งที่ 2 หัวเมืองต่างๆ ก็หนีห่างและแยกตัวเป็นอิสระ รวมทั้งปัตตานีด้วย
กระทั่งสมัยรัชกาลที่ 1 (กรุงรัตนโกสินทร์) เกิดสงครามเก้าทัพ ไทยได้ขอกำลังจากเมืองต่างๆ ไปช่วย แต่ปัตตานีไม่ส่งกำลังไป ภายหลังไทยจึงรบกับปัตตานี โดยในปี พ.ศ.2329 ปัตตานีพ่ายแพ้ มีการขนคนและนำปืนใหญ่พญาตานีไปกรุงเทพฯเพื่อลดทอนกำลัง ช่วงนั้นมีการกวาดต้อนผู้คนทุกชาติพันธุ์ไปเป็นกำลังพล และนำปืนใหญ่ของแต่ละที่ที่ชนะศึกกลับไปยังกรุงเทพฯ พร้อมตั้งชื่อ เช่น ชนะหงสา ปราบอังวะ เป็นต้น
ตอนแรกปืนพญาตานีตั้งอยู่ในพระคลังแสง แต่เนื่องจากเป็นวัตถุวัฒนธรรม จึงนำไปจัดวางหน้ากระทรวงกลาโหม และมีการหล่อปืนใหญ่อีกหลายกระบอกตั้งไว้เป็นหมู่ ได้แก่ ปืนนารายณ์สังหาร ปืนมารประไลย ปืนไหวอรนพ ปืนพระพิรุณแสนห่า ปืนพลิกพสุธาหงาย ปืนพระอิศวรปราบจักรวาล และปืนพระกาฬผลาญโลกย์
จากกระบอกจริงสู่ "ปืนจำลอง"
การจัดสร้างปืนพญาตานีจำลองและเคลื่อนย้ายไปติดตั้งที่ปัตตานี ไม่ใช่เรื่องบังเอิญที่เกิดขึ้นเพียงชั่วข้ามคืน แต่เป็นเรื่องที่มีประวัติความเป็นมา...
ย้อนกลับไปเมื่อกว่าสิบปีก่อน ประชาชนชาวปัตตานีได้เรียกร้องให้นำปืนพญาตานีที่ตั้งอยู่หน้ากระทรวงกลาโหมกลับไปตั้งที่ จ.ปัตตานี โดยมีการเคลื่อนไหวหลายช่องทาง หลายระดับ ในปี พ.ศ.2546 พ.ต.ท.เจ๊ะอิสมาแอล เจ๊ะโมง ส.ส.ปัตตานี ในฐานะรองประธานคณะกรรมาธิการการศิลปะ ศาสนา และวัฒนธรรม สภาผู้แทนราษฎร (ในสมัยนั้น) ได้เสนอวาระให้นำปืนพญาตานีกลับไปที่ จ.ปัตตานี โดยมีการทำหนังสือส่งไปยังกรมศิลปากรและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อสอบถามความเป็นไปได้ แต่สุดท้ายก็ติดขัดที่การเป็นสาธารณสมบัติของชาติ จึงหาทางออกด้วยการให้หล่อปืนจำลองขนาดเท่ากระบอกจริง
แต่ปัญหายังไม่จบแค่นั้น เพราะยังมีความเห็นที่แตกต่างกันเกี่ยวกับสถานที่หล่อปืนและติดตั้งปืนอีก เช่น บางช่วงก็มีการเสนอให้หล่อปืนบริเวณหน้ามัสยิดกรือเซะ เพื่อหลอมรวมจิตใจคนสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ให้เป็นหนึ่งเดียว แต่ก็ไม่ได้ข้อยุติ
เรื่องราวผ่านการเดินทางมาหลายยุค เปลี่ยนผู้ว่าราชการจังหวัดไปอีกหลายคน กระทั่งถึงยุค นายนิพนธ์ นราพิทักษ์กุล เป็นผู้ว่าฯ นายทรงพล สวาสดิ์ธรรม เป็นรองผู้ว่าฯ ได้ร่วมกันผลักดันอีกครั้งภายใต้โครงการสร้างศูนย์เรียนรู้การท่องเที่ยวอารยธรรมปัตตานี เพื่อปลุกการท่องเที่ยวในพื้นที่ให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง หลังได้รับผลกระทบแบบเต็มๆ จากสถานการณ์ความไม่สงบที่ยืดเยื้อ โดยครั้งนี้โครงการเป็นรูปเป็นร่าง ได้รับงบประมาณสนับสนุนจากกระทรวงการคลังผ่านไปยังสำนักงานท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดปัตตานี มีการปรับปรุงอาคารศูนย์การเรียนรู้ สร้างอาคารจำหน่ายของที่ระลึกและผลิตภัณฑ์โอทอป รวมทั้งปรับปรุงภูมิทัศน์รอบๆ มัสยิดกรือเซะ พร้อมๆ กับมอบหมายให้กรมศิลปากรหล่อปืนใหญ่พญาตานีจำลอง
และแล้ววันที่ปืนพญาตานีเดินทางถึงปัตตานีก็มาถึง นางศิรวี วาเล๊าะ ผู้อำนวยการสำนักงานท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดปัตตานี บอกว่า เป็นวันแห่งความสุขของพี่น้องชาวปัตตานี
"หลังจากปืนใหญ่พญาตานีต้องจากปัตตานีไปเมื่อ 400 กว่าปีก่อน วันนี้ได้กลับบ้านอีกครั้งกับปืนหล่อจำลองที่เหมือนจริงทุกประการ พี่น้องสามจังหวัดหอบลูกจูงหลานมารอรับปืนกัน เชื่อว่าที่นี่จะกลายเป็นแลนด์มาร์ค เป็นสัญลักษณ์ใหม่ของเมืองปัตตานี สร้างรายได้จากการท่องเที่ยวให้กระเตื้องขึ้น"
ขณะที่ "บาบอแม" นายแวดือราแม มะมิงจิ ประธานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดปัตตานี บอกว่า รู้สึกภูมิใจที่ได้ปืนกลับมา แม้จะเป็นกระบอกจำลอง แต่ทุกคนก็รู้ดีว่าปืนกระบอกประวัติศาสตร์ของชาวปัตตานีตั้งอยู่ที่หน้ากระทรวงกลาโหม กว่าจะถึงวันนี้เป็นสิ่งสำคัญมาก เชื่อว่าการได้ปืนพญาตานีกลับมาจะเปิดโอกาสให้ประชาชนและนักท่องเที่ยวได้เรียนรู้ประวัติศาสตร์ปัตตานีมากขึ้นกว่าอดีต
นายแวหะมะนาวี มะรอแม นายกองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ตันหยงลุโละ ตัวแทนชุมชนกรือเซะ เจ้าของพื้นที่ บอกว่า เรื่องนี้มีวาระมานาน กระทั่งสำนักงานท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดปัตตานีต้องการสร้างศูนย์เรียนรู้การท่องเที่ยวอารยธรรม ซึ่งต้องใช้อาคารสำนักงานของ อบต.ตันหยงลุโละด้วย เราก็พร้อมย้ายออกไปตั้ง ณ สถานที่แห่งใหม่ เพื่อให้ศูนย์เรียนรู้ฯได้เกิดขึ้นอย่างครบวงจร
"ผมเชื่อว่าเมื่อมีปืนใหญ่พญาตานีจำลองมาตั้งด้วย จะยิ่งทำให้สถานที่ตรงนี้ (รอบมัสยิดกรือเซะ) สมบูรณ์ยิ่งขึ้น ดีใจมากที่พื้นที่ประวัติศาสตร์ตรงนี้จะกลับมามีชีวิตอีกครั้ง ก่อนหน้านี้อาจมีชาวบ้านบางส่วนที่ไม่เห็นด้วยเพราะยังไม่เห็นภาพ กลัวไปหลายเรื่อง เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีก็ถือเป็นเรื่องดี และเป็นแนวทางการแก้ปัญหาเพื่อเดินหน้าไปสู่สันติได้อีกทาง" นายก อบต.ตันหยงลูโละ กล่าว
ชาวบ้านผิดหวัง-อัดรัฐไม่จริงใจ
อย่างไรก็ดี โลกนี้มีสองด้านเสมอ กรณีของปืนพญาตานีจำลองก็เช่นกัน แม้ข้าราชการ ผู้นำท้องถิ่น และประชาชนจำนวนหนึ่งจะเห็นด้วยและชื่นชมกับปืนจำลองที่หล่อขึ้นเหมือนจริง แต่คนที่ไม่เห็นด้วยก็มีไม่น้อยเหมือนกัน และเสียงวิจารณ์ก็ขยายวงกว้างจนเป็นหัวข้อพูดคุยประจำวันในทุกร้านน้ำชา
เป็นเสียงของความผิดหวังที่ได้เพียง "ปืนจำลอง" กลับมาประดับเมือง แทนที่จะได้ "ปืนกระบอกจริง" ที่เป็นดั่งศักดิ์ศรีของปัตตานีกลับคืน
ไม่เฉพาะการพูดคุยกันแบบปากต่อปาก แต่สถานีวิทยุบางสถานีถึงขั้นตั้งเป็นหัวข้อสนทนา เปิดสายให้ประชาชนโทรศัพท์เข้ามาแสดงความคิดเห็นกันเลย ซึ่งปรากฏว่าได้รับความสนใจโทรเข้าไปคอมเมนต์ไม่ขาดสาย บางรายโทรจากประเทศมาเลเซียก็มี บางรายก็งัดเอาประวัติของปืนพญาตานีมาเล่าออกอากาศ
เนื้อหาหลักๆ ที่วิจารณ์กันมี 3-4 ประเด็น คือ 1.รัฐไทยไม่ยอมรับความจริง แทนที่จะนำปืนจริงมาคืน กลับนำปืนจำลองส่งมาให้แทน 2.ปืนพญาตานีจำลอง บางคนเรียก "ปืนพญาตานีปลอม" แสดงถึงความไม่จริงใจของรัฐไทยที่มีให้ 3.รัฐไทยสร้างเงื่อนไขทางความรู้สึกขึ้นในพื้นที่อีกครั้ง และสุดท้ายหลายเสียงวิเคราะห์ล่วงเลยไปถึงขั้นว่า การที่รัฐไทยยึดปืนพญาตานีกระบอกจริงเอาไว้ เท่ากับเป็นการยอมรับว่าไทยคือ "นักล่าอาณานิคม"
เข้ากระแสข้อเรียกร้องของขบวนการบีอาร์เอ็นกันเลยทีเดียว!
มีรายงานว่าประชาชนจากนอกพื้นที่สามจังหวัด เช่น สงขลา นครศรีธรรมราช ที่ได้ยินข่าวเกี่ยวกับปืนพญาตานี ได้พากันเดินทางไปชมปืนกันอย่างตื่นเต้น แต่เมื่อพบว่าเป็นปืนจำลอง ก็รู้สึกผิดหวัง
นายมะนัง อาแว ชาว อ.เทพา จ.สงขลา ซึ่งพลาดหวังจากการเดินทางไปชมปืนพญาตานีของจริง บอกว่า ตั้งใจเดินทางมาจากเทพาเพราะดีใจที่รัฐส่งปืนคืนให้แล้ว แต่พอไปถึงกลับพบว่าเป็นปืนพญาตานีปลอม ทำให้รู้สึกผิดหวัง เป็นความไม่จริงใจของรัฐไทยที่มีต่อคนที่นี่
"ผมผิดหวังกับการทำงานของรัฐ ตอนนี้ปัญหาในพื้นที่ก็ไม่ได้เลวร้ายลง แต่การแก้ปัญหาของรัฐดูเหมือนจะยิ่งเพิ่มปัญหา เรื่องนี้ถ้ารัฐอยู่เฉยๆ ไม่ทำอะไร ชาวบ้านก็ไม่ได้ว่า แต่พอทำแบบนี้ทำให้ชาวบ้านเห็นถึงความไม่เอาใจใส่กับความต้องการของคนพื้นที่" นายมะนัง กล่าว
"จำลอง" เพื่อรักษา "ของจริง"
ด้าน ศ.ดร.ครองชัย กล่าวว่า ทางจังหวัดและสำนักงานท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัด ต้องเร่งสื่อสารเพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องแก่ประชาชน ถือเป็นวาระเร่งด่วน เช่น ติดป้ายชื่อปืนใหญ่พญาตานีจำลองให้เห็นชัดเจน อธิบายถึงที่มาและประวัติของปืนอย่างละเอียด บอกว่าของจริงไปอยู่ที่ไหนด้วยเหตุผลอย่างไร
ส่วนคำว่าพญาตานี มีบางครั้งใช้ "น" บางครั้งใช้ "ณ" แต่สุดท้ายทางกรมศิลปากรก็ใช้ "น" ก็ต้องอธิบายให้ชัด เพราะคำว่าปัตตานี ก็ใช้ "น" ทีมฟุตบอลก็ใช้ "น" เหมือนกัน เรื่องนี้อาจไม่ใช่ปัญหาใหญ่ แต่ถ้าไม่อธิบายให้เข้าใจก็ต้องตอบคำถามไม่สิ้นสุด
"หลายคนในพื้นที่และนักศึกษาถามว่าทำไมไม่เอาปืนใหญ่ของจริงกลับมา ผมได้อธิบายกลับไปว่าเนื่องจากของเดิมเป็นทรัพย์สินที่ประเมินค่ามิได้ และต้องได้รับการคุ้มครองระดับชาติ การเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินเหมือนการเล่นกีฬาแล้วติดทีมชาติ จะได้รับการดูแลอย่างดี และปืนพญาตานีก็ยังเป็นของชาวปัตตานีเช่นเดิม ที่ผ่านมาก็มีการจำลองโบราณวัตถุเพื่อรักษาของเดิมไว้ เช่น พระแก้วมรกต พระพุทธสิหิงค์ เป็นต้น" ศ.ดร.ครองชัย กล่าว
เรื่องราวของ "ปืนพญาตานี" ทั้งปืนจริงและปืนจำลอง คือประวัติศาสตร์อีกหน้าหนึ่งของเมืองไทยในบริบทที่เกี่ยวกับสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งก็แล้วแต่จะเลือกมองว่าเป็นความภาคภูมิใจ เป็นการสร้างเงื่อนไข หรือจะกลายเป็นปมคาใจที่ยังไม่มีตอนจบ...
-------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรรยายภาพ :
1 ปืนใหญ่พญาตานีจำลองที่ติดตั้งบนฐานรองรับปืนเรียบร้อยบริเวณหน้ามัสยิดกรือเซะ
2 ปืนกระบอกจริงที่หน้ากระทรวงกลาโหม (ภาพจากเว็บไซต์ศูนย์ข้อมูลกลางทางวัฒนธรรม http://bit.ly/16K7HRc
3-5 บรรยากาศช่วงลำเลียงและติดตั้ง
6-8 ประชาชน ข้าราชการ แห่ชมเนืองแน่น