เศรษฐกิจก็ทรุด-คนก็แห่ย้ายออก...ความจริงที่ยังไร้ทางออกของชายแดนใต้
เหตุรุนแรงถี่ยิบที่เกิดขึ้นทั่วทั้งสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ตั้งแต่ปลายปีที่แล้วข้ามมาถึงเดือนที่ 3 ของปีนี้ (2554) โดยเฉพาะเหตุรุนแรงขนาดใหญ่อย่าง "คาร์บอมบ์กลางเมือง" ทำให้หลายฝ่ายหันมาสนใจผลกระทบทางเศรษฐกิจทั้งในระดับมหภาคและเศรษฐกิจระดับชุมชนในพื้นที่กันอีกครั้ง
ดร.นิรันดิ์เกียรติ ลิ่วคุณูปการ คณบดีคณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา มองว่า เหตุรุนแรงที่เกิดขึ้นมาตลอดกว่า 7 ปี ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจทุกระดับในพื้นที่ชายแดนใต้อย่างชัดเจน และกระทบกันมาตลอดจนชาวบ้านเองก็ปรับตัวได้บ้างแล้ว ส่วนที่ปรับตัวไม่ได้ก็อพยพย้ายถิ่นออกกันไปเกือบ ถือเป็นการเอาตัวรอดด้วยตัวของตัวเอง เพราะรัฐบาลก็ทำได้แต่เยียวยา
"เท่าที่ผมเห็นก็มีแต่การตั้งโต๊ะเยียวยาอย่างเดียว ซึ่งการเยียวยาถือเป็นปลายเหตุ จะหวังพึ่งผู้ว่าราชการจังหวัดก็คงทำได้เพียงเท่านี้" ดร.นิรันดิ์เกียรติ ระบุ
อย่างไรก็ตาม เป็นที่ทราบกันดีว่าระบบเศรษฐกิจในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้นั้นหล่อเลี้ยงด้วยผลผลิตและราคายางพารา ฉะนั้นช่วงก่อนหน้านี้ที่ราคายางพุ่งสูงถึงกว่า 100 บาทต่อกิโลกรัม แม้แต่ขี้ยางยังมีราคาถึงกิโลกรัมละ 60-70 บาท จึงไม่ค่อยมีใครพูดถึงผลกระทบทางเศรษฐกิจมากนัก แต่เมื่อล่าสุดราคายางเริ่มวูบจากสถานการณ์แผ่นดินไหวที่ญี่ปุ่นและความตื่นกลัวสึนามิ ผนวกกับสถานการณ์ความรุนแรงในพื้นที่ที่ทวีความรุนแรงขึ้น จึงน่าเชื่อว่าคนในสามจังหวัดต้องเผชิญผลกระทบบ้างแล้ว และ ดร.นิรันดิ์เกียรติ ก็คิดเช่นนั้น
"ปัญหาใหญ่ที่สุดคือขวัญและกำลังใจของคนที่อยู่ในเมืองซึ่งโดนความรุนแรงซ้ำซาก ตรงนี้จะทำอย่างไร จะแก้อย่างไร คนที่มีบ้านในเขตเมืองผมเชื่อว่าคงขวัญหนีดีฝ่อกันหมดแล้ว แต่หลายคนจะย้ายไปไหนก็ไม่ได้ เพราะบ้านอยู่ที่นี่ เกิดที่นี่ ก็คงต้องปักหลักอยู่ที่นี่ต่อไปด้วยความเครียดและหวาดกลัว"
คณบดีคณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา ซึ่งเฝ้าติดตามผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมในพื้นที่จากปัญหาความรุนแรงมาตลอด ยังเห็นว่า แนวทางที่ควรดำเนินการนับจากนี้คือการเปิดให้คนในพื้นที่เข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาอย่างแท้จริง ขณะที่ฝ่ายรัฐเองซึ่งมีหลายหน่วยงาน ทั้งทหาร ตำรวจ และฝ่ายปกครอง ก็ต้องบูรณาการกันอย่างจริงจังด้วย
"ผมมองว่าคนในพื้นที่ต้องเข้ามามีส่วนร่วม โดยเฉพาะ ส.ส. (สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร) ส.ว. (สมาชิกวุฒิสภา) และนายก อบจ. (นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด) ทั้ง 3 จังหวัด ผมไม่ทราบว่าทำไมถึงไม่ได้เข้ามาช่วยฝ่ายทหาร หรือช่วยฝ่ายราชการ หรือเป็นเพราะราชการไม่ได้ออกไปบูรณาการกับพวกเขา แล้วพยายามแก้ปัญหาด้วยตัวเอง ทหารก็ทำทางหนึ่ง ราชการอื่นๆ ก็ทำทางหนึ่ง ทำไมคนเหล่านี้ถึงไม่รวมกันเสียที ทำไมไม่บูรณาการกันบ้าง อยากบอกว่าความรู้สึกของยะลาในตอนนี้คือตอนหาเสียงก็สนุกกัน แต่พอชาวบ้านเดือดร้อนทำไมถึงให้ทหารและให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นคนดูแลอยู่ตลอด ขณะที่ ส.ส. กับ ส.ว.มีบทบาทน้อยมากเลย"
ส่วนข้อสังเกตจากหลายฝ่ายกระทั่งฝ่ายความมั่นคงเองที่เริ่มเห็นตรงกันว่าปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้มีต้นเหตุบางส่วนมาจากเรื่องอื่นๆ ที่นอกเหนือจากขบวนการที่มีอุดมการณ์แบ่งแยกดินแดนนั้น ประเด็นนี้ ดร.นิรันดิ์เกียรติ สนับสนุนอย่างเต็มที่
"สิ่งที่ฝ่ายก่อการกำลังทำ ถ้าจะบอกว่าเป็นการแยกดินแดนก็คงไม่ใช่แล้ว ส่วนตัวก็ไม่ทราบว่าทำไมถึงมีการฆ่าผู้บริสุทธิ์มากมายขนาดนี้ ผมคิดว่าไม่มีศาสนาไหนที่สอนให้ฆ่าผู้บริสุทธิ์ หรือตอนนี้เขาออกนอกกติกาไปหมดแล้วหรืออย่างไร ผมคิดว่าสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นเหมือนสงคราม ต่างฝ่ายต่างต้องปรับกลยุทธ์ รัฐก็ปรับกลยุทธ์ ขบวนการเองก็ปรับกลยุทธ์ ซึ่งที่ผ่านมาเห็นได้ว่าขบวนการปรับกลยุทธ์เก่งกว่า เขาสามารถเดินต่อได้ ขณะที่ฝ่ายรัฐนั้นเคลื่อนไหวช้า จึงทำให้ฝ่ายก่อการได้เปรียบ"
"ผมคิดว่าปัญหาใหญ่อยู่ที่การบูรณาการ ถ้ารัฐยังบอกว่าทหารอยู่แต่ทหาร ตำรวจอยู่แต่ตำรวจ แล้วไม่เปิดให้คนในพื้นที่ร่วมคิดร่วมทำอย่างจริงจัง ก็คงอีกนานกว่าจะแก้ไขปัญหาได้ จริงๆ คนที่รู้ปัญหาก็มีมาก คนไม่รู้ก็มาก แต่คนที่รู้ไม่ได้มาช่วย คนที่ควรมาช่วยกลับไม่ได้ช่วย เพียงแต่ยืนมองเห็นความล้มเหลวแล้วก็มองปัญหาซ้ำซากที่เกิดขึ้น ไม่ได้คิดว่าที่นี่คือบ้านของเรา พอคิดกันอย่างนี้ก็เลยไม่ให้ความสนใจ"
"ผมอยากเปรียบเทียบอย่างนี้ว่า ประเทศไทยก็เหมือนต้นไม้ ถ้าทุกคนมัวแต่กินผลกินใบกันหมด ต่อให้นายกรัฐมนตรีหรือตำรวจทหารเก่งแค่ไหนก็ไม่มีทางยุติปัญหาได้ คนหนึ่งรดน้ำพรวนดิน แต่อีกคนหนึ่งพยายามทำลายต้นไม้อย่างนี้ ต่อให้แข็งแกร่งขนาดไหนก็ไม่มีทางโต ดังนั้นเราต้องมาช่วยกัน ชาวบ้านก็ต้องมาช่วยตำรวจ ทหาร ขณะที่ฝ่ายรัฐก็ต้องให้ความสำคัญกับผู้นำท้องถิ่น ผู้นำในพื้นที่ ผู้นำศาสนา ถามว่าที่ผ่านมาเราเคยได้ไปคุยกับเขามากน้อยแค่ไหน ขณะเดียวกันบทบาทของผู้นำศาสนาเอง ถามว่าเคยออกมาประณามคนที่ก่อเหตุบ้างหรือเปล่าว่าสิ่งที่ทำอยู่นั้นมันผิด ถ้าช่วยกันออกมาปราม ช่วยกันออกมาดู มันน่าจะดีกว่านี้"
กับปัญหายาเสพติดที่กลายเป็นปัญหาเรื้อรังในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ และฝ่ายรัฐกำลัง "โยน" ว่าเป็นต้นเหตุหนึ่ง (หรืออาจจะเป็นต้นเหตุหลัก) ของสถานการณ์ความไม่สงบนั้น ดร.นิรันดิ์เกียรติ มีคำถามอันแหลมคมส่งถึงฝ่ายความมั่นคง
"กี่ปีแล้วที่รัฐบาลทุ่มเงินลงมา แต่ปัญหายาเสพติดกลับไม่ลดลงเลย ปัญหาที่เด็กผู้ชายหายไปตั้งแต่ห้องเรียนชั้นประถม มัธยม เด็กผู้ชายหายไปกี่คน ไม่เข้าสู่ระบบโรงเรียนกี่คน และจากมัธยมที่ไม่ได้เข้าสู่ระบบอาชีวะหรือมหาวิทยาลัยมีกี่คน รัฐต้องหาคำตอบเหล่านี้ให้ได้ จะได้แก้ปัญหาให้ตรงจุด เด็กที่หายไปนั้นไปอยู่ที่ไหนบ้าง เคยได้รับศึกษาบ้างหรือเปล่า ยาเสพติดที่เข้ามานั้นมีใครช่วยตรวจดูบ้าง"
แต่ถึงที่สุดแล้ว คณบดีคณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา ก็ย้ำว่า วิธีการแก้ปัญหาต้องอาศัยพลังจากทุกภาคส่วน โดยเฉพาะชุมชนและผู้นำในท้องถิ่น
"จะให้แค่ตำรวจช่วยจับฝ่ายเดียวหรือก็คงไม่ไหว กำนัน ผู้ใหญ่บ้านร่วมด้วยได้ไหม ผู้นำศาสนาที่เข้ามามีส่วนร่วมในการดูแลบทบาทของชาวบ้านเข้ามาช่วยอีกแรงได้ไหม ดูกันเองในระดับชุมชนเลยว่าเด็กติดยาเสพติดมากขึ้นหรือเปล่า แล้วประสานให้รัฐเข้ามาแก้ไขปัญหานี้อย่างจริงจัง"
ดร.นิรันดิ์เกียรติ กล่าวทิ้งท้ายว่า หากรัฐไม่ระดมสรรพกำลังจากทุกภาคส่วน โดยเฉพาะชุมชน ก็จะไม่มีทางแก้ไขปัญหาได้ และปัญหาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ก็จะกินลึกลงไปถึงเศรษฐกิจระดับชุมชน สังคม และการอพยพย้ายถิ่นของผู้คน...
ซึ่งทั้งหมดล้วนเข้าทางทั้งกลุ่มก่อความไม่สงบและขบวนการสูบผลประโยชน์ในพื้นที่ที่!
-----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ :
1 ดร.นิรันดิ์เกียรติ ลิ่วคุณูปการ (ภาพโดย สมศักดิ์ หุ่นงาม)
2 ทหารตรึงกำลังรักษาความปลอดภัยบริเวณหน้าธนาคารและย่านธุรกิจในเขตเมืองยะลาเพื่อป้องกันเหตุรุนแรงที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบอย่างร้ายแรงต่อภาวะเศรษฐกิจในพื้นที่ (ภาพโดย อะหมัด รามันห์สิริวงศ์)