นิมุ : 7 ปีไฟใต้ต้องล้างเงื่อนไข "จนท.รัฐ" เป็นผู้มีอิทธิพล (เสียเอง)
สถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ผ่าน "หลักไมล์ 7 ปี" ด้วยความหวัง ทั้งการที่รัฐบาลตัดสินใจยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินนำร่องในบางอำเภอของสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ตามด้วยการเร่งใช้มาตรา 21 แห่งพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2551 เพื่อเปิดยุทธการแย่งชิงมวลชนจากฝ่ายขบวนการก่อความไม่สงบอีกระลอก
แต่แล้วความหวังของทุกฝ่ายที่ต้องการเห็นสันติสุขเกิดขึ้นในพื้นที่กลับต้องพังทลาย เพราะเปิดศักราชมาแค่เพียง 2 เดือนก็มีเหตุรุนแรงขนาดใหญ่เกิดขึ้นนับครั้งไม่ถ้วน เหมือนย้อนเวลากลับไปห้วงที่สถานการณ์ยังร้อนแรงถึงขีดสุดช่วงปี 2548 ถึง 2550 เลยทีเดียว
ทำให้มีเสียงถามกันเซ็งแซ่ว่าเกิดอะไรขึ้นที่ชายแดนใต้ ไหนรัฐบาลว่าเดินถูกทางแล้วไง?
นายนิมุ มะกาเจ ผู้ทรงคุณวุฒิจังหวัดยะลา และประธานสภาที่ปรึกษาเสริมสร้างสันติสุขจังหวัดยะลา ในฐานะผู้นำศาสนาที่เฝ้ามองปัญหามาเนิ่นนาน มีคำตอบของคำถามดังว่านั้น พร้อมทั้งบทฟันธงว่า "ใคร" คือผู้สร้างเงื่อนไขตัวจริงที่สามจังหวัดชายแดน
O คิดอย่างไรกับการที่รัฐบาลนำร่องยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินบางอำเภอในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้?
เราต้องมองที่มาที่ไปของการใช้กฎหมายพิเศษฉบับนี้ ต้องยอมรับว่า พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ (พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548) ให้อำนาจเจ้าหน้าที่รัฐอย่างกว้างขวาง ทำให้มีผู้คนได้รับผลกระทบและเดือดร้อนเสียหายจำนวนมาก การริเริ่มยกเลิกผมคิดว่าเป็นสิ่งที่ดี เพราะมันจะปลดความรู้สึกที่ไม่ดีทิ้งไป
ที่ผ่านมากฎหมายพิเศษทำให้ชาวบ้านได้รับผลกระทบ ไม่สามารถใช้ชีวิตอย่างปกติได้เหมือนกับประชาชนคนไทยในจังหวัดอื่นๆ ผมคิดว่าการนำร่องยกเลิกจะทำให้สถานการณ์ในพื้นที่เปลี่ยนไป บทบาทของกำลังประจำถิ่นจะมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น ชรบ. (ชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน) หรือ อส. (อาสารักษาดินแดน) น่าจะมากขึ้น ส่วนกำลังทหารคงเข้ามาช่วยเหลือเมื่อมีความจำเป็น ซึ่งจะทำให้พี่น้องประชาชนในพื้นที่เกิดความสบายใจมากขึ้นกว่าเดิม
อย่างไรก็ตาม เมื่อริเริ่มยกเลิกการใช้กฎหมายพิเศษแล้ว รัฐก็ควรหันมาใช้มาตรการทางสังคมร่วมในการแก้ไขปัญหา ด้วยการส่งเสริมการประกอบอาชีพ การศึกษา และพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับประชาชน
ที่สำคัญการยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินจะส่งผลทางจิตวิทยา คือประชาชนทั่วไปจะมองว่าสถานการณ์กำลังคลี่คลายไปในทิศทางที่ดีขึ้นแล้ว แสดงว่าคนในพื้นที่ได้รับผลกระทบน้อยลง แต่อยากย้ำว่าการรักษาความปลอดภัยโดยรัฐยังต้องคงเดิม เช่น ชุดรักษาความปลอดภัยครู ต้องทำต่อไปเพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่
O นายกรัฐมนตรีบอกว่าการยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินเป็นการใช้การเมืองนำการทหาร เห็นด้วยหรือไม่?
ผมเห็นด้วย และมีข้อสังเกตเพิ่มเติมคือ 1.กฎหมายฉบับนี้ใช้มานาน มีการกักตัวผิดคนด้วย การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในท้องที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ตั้งแต่วันที่ 19 ก.ค.2548 และต่ออายุทุกๆ 3 เดือนมาแล้ว 20 กว่าครั้ง รวมระยะเวลามากกว่า 5 ปี สิ่งที่กระทบกับประชาชนอย่างชัดเจนที่สุดคือการเอาตัวผู้ต้องสงสัยมากักไว้ได้ 30 วันเพื่อซักถาม ในกรณีที่กักถูกตัวก็ไม่มีปัญหา แต่มีการกักผิดตัวหลายครั้ง ทำให้เกิดผลกระทบ และมีกระแสเรียกร้องมาตลอดให้ยกเลิก
2.รัฐน่าจะมีข้อมูลสะสมที่น่าเชื่อถือพอสำหรับโครงสร้างของกลุ่มก่อความไม่สงบแล้ว ผมเชื่อว่าผ่านมา 7 ปี กอ.รมน.ภาค 4 (กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4) น่าจะเก็บรวบรวมข้อมูลและสถิติการก่อเหตุของทุกอำเภอใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้เรียบร้อยแล้ว หลังจากนี้จึงอยากให้พิจารณายกเลิกการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินเพิ่มเติม แล้วใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคงแทน ก่อนนำไปสู่การใช้กฎหมายปกติในพื้นที่ตามเสียงเรียกร้องของประชาชน
3.เมื่อยกเลิกกฎหมายพิเศษต้องไม่ลืมเรื่องชุมชนเข้มแข็ง จุดนี้เป็นเรื่องสำคัญมาก การเลือกยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินใน อ.แม่ลาน จ.ปัตตานี เพราะมีข้อมูลประจักษ์ว่าในชุมชนมีความเข้มแข็ง ให้ความร่วมมือด้วยดีทั้งกับรัฐและระหว่างประชาชนด้วยกันเอง ถือเป็นกรณีตัวอย่างให้กับพื้นที่อื่นๆ แม้กระทั่งผู้ว่าราชการจังหวัดยะลายังเห็นความสำคัญของการมีชุมชนเข้มแข็ง จึงมอบหมายให้ผู้นำสี่เสาหลักในพื้นที่ ได้แก่ ผู้นำท้องที่ ผู้นำท้องถิ่น ผู้นำศาสนา และผู้นำทางธรรมชาติ ให้มาร่วมไม้ร่วมมือกันดูแลประชาชน
4.ต้องบูรณาการพลังของสังคมในทุกภาคส่วน แล้วสนับสนุนให้มีงบประมาณเพื่อสร้างชุมชนเข้มแข้ง สามารถบริหารงานได้เอง ตั้งกฎเกณฑ์กติกาและป้องกันตัวเองได้
O มีเสียงวิจารณ์ว่าการที่รัฐบาลตัดสินใจยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินช่วงปลายปีที่แล้ว และเดินหน้าใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคง พร้อมๆ กับทุ่มงบพัฒนาลงพื้นที่จำนวนมาก มีเป้าหมายทางการเมืองเพื่อหวังผลเลือกตั้งซึ่งจะมีขึ้นในปีนี้...
ก็อาจจะมีส่วน แต่เราน่าจะมองที่ผลของมันมากกว่า เพราะตลอดระยะเวลากว่า 5 ปี ประชาชนในพื้นที่ได้รับผลกระทบจาก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ อย่างมาก ทำให้ชาวบ้านเบื่อหน่ายและไม่ร่วมมือกับรัฐ ขณะที่เจ้าหน้าที่รัฐที่มาปฏิบัติงานในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้เองก็มีปัญหา บางส่วนนอกจากไม่ได้มาช่วยแล้วยังมาสร้างเงื่อนไขเพิ่มขึ้นอีก ที่สำคัญเกือบทั้งหมดขาดความเข้าใจเรื่องวัฒนธรรมท้องถิ่น
ผมเชื่อว่าท่านนายกฯเองคงจะมีข้อมูลในส่วนนี้ จึงน่าจะเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ท่านตัดสินใจยกเลิกการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน และเท่าที่ดูรัฐบาลก็ยกเลิกเฉพาะพื้นที่ที่มีความพร้อมและต้องการจริงๆ อย่าลืมว่ามีบางพื้นที่เหมือนกันที่เขาไม่ต้องการให้เลิก แสดงว่ารัฐบาลก็มีแผนและข้อมูลพอสมควร จุดนี้ถ้าเรียกว่าเป็นการเอาใจก็อาจจะส่วนหนึ่ง แต่เป็นการเอาใจที่ได้ใจ ไม่ใช่เอาใจแล้วเสียหาย
O รัฐบาลยังมีนโยบายเตรียมลดกำลังพลในพื้นที่ และเร่งใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคงแทน คิดว่าเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหน?
เรื่องนี้เราก็รับทราบโดยภาพรวมๆ แต่รูปธรรมยังเห็นไม่ชัด เพราะฉะนั้นหากจะนำ พ.ร.บ.ความมั่นคง โดยเฉพาะมาตรา 21 มาใช้ ก็ควรประชาสัมพันธ์ให้คนในพื้นที่ได้รับทราบและมีส่วนร่วมคิดร่วมทำ เพื่อป้องกันปัญหาที่จะเกิดซ้ำซ้อนอีกในอนาคต
อีกเรื่องหนึ่งที่อยากจะเน้นย้ำก็คือ การทุ่มงบพัฒนาลงมาในพื้นที่ ไม่ว่าจะใช้ชื่อว่าปฏิบัติการไทยเข้มแข็งหรือจะเปลี่ยนชื่อเป็นอะไรก็ตาม การทุ่มงบเพื่อแก้ปัญหาประชาชนถือเป็นเรื่องดี แต่ประเด็นที่ต้องติดตามตรวจสอบคือผลสัมฤทธิ์
สมมติว่าเขียนโครงการแล้วประชาชนทำได้เอง ทำเพื่อประชาชนด้วยกันเองหรือเพื่อชุมชน โดยมีหน่วยงานรัฐเป็นผู้ติดตามผลว่าชาวบ้านได้อะไร ถ้าได้ผลดีก็ทำโครงการต่อเนื่องปีที่ 2 ปีที่ 3 จนเกิดความสัมพันธ์เป็นระบบเครือข่าย ถ้าทำได้แบบนี้ก็น่าสนับสนุน คือทำจากข้างล่างขึ้นไปข้างบน
แต่ปัญหาทุกวันนี้ก็คือเรายังไม่มีหน่วยงานใดประเมินว่าโครงการที่ลงมานั้น กี่เปอร์เซ็นต์ที่เป็นโครงการจากข้างล่างขึ้นข้างบนแบบที่ผมพูด และกี่โครงการที่มีลักษณะสั่งจากข้างบนลงมาข้างล่าง ผมคิดว่าภาครัฐน่าจะทำการประเมินผลสัมฤทธิ์ แล้วนำมาเปรียบเทียบกัน เพื่อให้ประชาชนได้รับผลประโยชน์มากที่สุดและงบประมาณไม่สูญเปล่า ไม่ถูกมองว่าผลาญงบ
O มองแนวโน้มสถานการณ์หลังผ่าน 7 ปีไฟใต้อย่างไร?
ช่วงแรกมุมมองของเจ้าหน้าที่มองว่าปัญหาภาคใต้มาจากกลุ่มแบ่งแยกดินแดนเพียงอย่างเดียว แต่ต่อมาก็รู้ว่ามันไม่ใช่ มันมีขบวนการอื่นๆ ร่วมผสมโรงด้วย เช่น กลุ่มผู้ค้ายาเสพติด ลับลอบขนสินค้าหนีภาษี หรืออบายมุข แม้แต่เรื่องการเมืองท้องถิ่น ทั้งหมดนี้เป็นการสร้างเงื่อนไขในพื้นที่ทั้งสิ้น และยังมีมือที่สามที่ไม่ต้องการให้สถานการณ์สงบด้วย
ประเด็นเหล่านี้ทำให้เจ้าหน้าที่มองปัญหาระยะแรกกับระยะปัจจุบันต่างกัน ฉะนั้นประเด็นการเกิดปัญหาและการแก้ไขจึงต้องแตกต่างกันด้วย หากรัฐเดินหน้าลดเงื่อนไขในแนวทางที่ถูกต้อง ผมก็เชื่อว่าปัญหาภาคใต้ยังมีทางออก
O อยากให้ช่วยขยายความเรื่องการลดเงื่อนไขในแนวทางที่ถูกต้อง...
ผมคิดว่าต้องมองที่ตัวเจ้าหน้าที่รัฐก่อน เพราะเท่าที่ผมทราบข้อมูลมา เรื่องร้องเรียนผ่าน ศอ.บต. (ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้) จำนวน 612 เรื่องนั้น เป็นพฤติกรรมของเจ้าหน้าที่รัฐมากถึง 95 เรื่อง แสดงว่าไม่ใช่น้อย
ประเด็นนี้จะต้องมีการอบรมเจ้าหน้าที่รัฐที่ลงพื้นที่มาใหม่ๆ หรือคนเก่าที่ไม่รู้ตัวว่าสร้างเงื่อนไขอยู่ตลอด อีกส่วนหนึ่งคือกลุ่มประชาชนที่แตกออกเป็นหลายกลุ่ม ไม่รู้ขึ้นอยู่กับใคร หรือมีใครคอยชักใยอยู่เบื้องหลัง การแตกเป็นกลุ่มลักษณะนี้เป็นสิ่งไม่ค่อยดี เราจะทำอย่างไรให้พื้นที่นี้ผนวกกันเป็นหนึ่ง
O รัฐบาลทุกชุดชอบพูดว่าแก้ปัญหาภาคใต้มาถูกทางแล้ว ในมุมมองของท่านคิดว่าถูกทางหรือยัง?
เราก็ถือว่าบางส่วนเดินทางมาถูกทาง ตรงกับเป้าหมาย คือตรงกับผู้ที่สร้างเงื่อนไข แต่สิ่งที่เราเสียดายมากคือการที่เจ้าหน้าที่รัฐกลับเป็นฝ่ายไปมีส่วนร่วมในการสร้างเงื่อนไขเสียเอง และไม่มีความจริงจังในการปราบปรามหรือลดเงื่อนไขอย่างเพียงพอ มีหลายหน่วยงานที่เจ้าหน้าที่รัฐบางคนในหน่วยงานนั้นๆ เป็นผู้ค้ายาเสพติด เจ้าหน้าที่คนอื่นๆ ก็รู้ แต่ก็ไม่จัดการอะไร เพราะมีอำนาจจากข้างบนคอยคุ้มครอง ทำให้ปัญหาแก้ไม่ตก
อย่างไรก็ตาม หากให้ประเมินในภาพรวม ผมคิดว่าสถานการณ์ในพื้นที่ดีขึ้นเป็นลำดับ ถึงวันนี้อยู่ในระดับที่ดีราว 60–65 เปอร์เซ็นต์ ถือว่าเกินครึ่ง แต่โจทย์ข้อใหญ่คือทำอย่างไรถึงจะให้ได้ 80 เปอร์เซ็นต์ในอนาคต จุดสำคัญที่ผมอยากเสนอคือต้องลดเงื่อนไข โดยเฉพาะจากตัวเจ้าหน้าที่เองจนทำให้กลายเป็นผู้มีอิทธิพลมากในสามจังหวัดปัจจุบันนี้ เราจะทำอย่างไรให้ผู้ว่าราชการจังหวัด ศอ.บต.หรือแม่ทัพมีพลังมากขึ้น เพื่อล้างอิทธิพลและคนที่สร้างเงื่อนไขเหล่านี้ให้หมดไปโดยปราศจากการแทรกแซงจากอำนาจภายนอก