ดร.ตายูดิน: ใต้มาถูกทาง...ถูกทางใคร?
เหตุระเบิดอย่างรุนแรง 3 ครั้งใน 8 วัน แถม 2 ใน 3 ยังเกิดในย่านเศรษฐกิจกลางเมืองยะลา ทำให้รัฐบาลและฝ่ายความมั่นคงถูกตั้งคำถามเซ็งแซ่ว่า ที่เคยบอกสถานการณ์กำลังดีขึ้นนั้น...ดีอย่างไร? และที่บอกว่าแก้ปัญหามาถูกทางนั้น...ถูกตรงไหน?
ดร.ตายูดิน อุสมาน อาจารย์ประจำภาควิชาพัฒนาชุมชน มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา ในฐานะที่ทำงานใกล้ชิดกับชุมชนมานาน ให้ทัศนะเชิงวิเคราะห์ถึงมูลเหตุของสถานการณ์ที่เกิดขึ้น พร้อมประเมินภาพแห่งอนาคตเอาไว้อย่างน่าสนใจ...และนั่นน่าจะตอบคำถามที่หลายคนยังคงค้างคาใจได้ว่า การแก้ปัญหาภาคใต้เดินมาถูกทางแล้วจริงหรือ!?!
O อาจารย์คิดว่าสถานการณ์ร้ายที่เกิดติดๆ กันในช่วงนี้มีสาเหตุมาจากอะไร?
เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเหมือนเป็นการแย่งชิงพื้นที่ข่าว เพราะสถานการณ์ภาคใต้ในตอนนี้และช่วงที่ผ่านมาถือว่าไม่มีกระแส เนื่องจากโดนกลบจากข่าวร้อนแรงอื่นๆ เช่น เหตุการณ์ทหารไทยปะทะกับทหารกัมพูชา หรือข่าวการเมืองเรื่องคนเสื้อแดง (แกนนำเพิ่งได้รับการปล่อยตัว) เรื่องการแย่งชิงพื้นที่ข่าวจึงเป็นประเด็นหนึ่ง
ส่วนประเด็นที่สองก็คือว่า ฝ่ายรัฐไม่ว่าจะเป็น กอ.รมน. (กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร) และหน่วยอื่นๆ พยายามดึงพี่น้องที่หลงผิดทั้งหลายให้เข้ามามอบตัว (มาตรการตามมาตรา 21 พระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2551) ซึ่งบางคนก็อยากมามอบตัวจริงๆ ทำให้ฝ่ายขบวนการ (ก่อความไม่สงบ) ไม่สบายใจ เพราะนโยบายนี้ส่งผลกระทบกับขบวนการแน่นอน ทำให้เขาต้องแสดงศักยภาพออกมา ซึ่งวิธีการทำก็ง่ายๆ คือคาร์บอมบ์หรือมอเตอร์ไซค์บอมบ์ ต้องยอมรับว่าการทำระเบิดในพื้นที่ไม่ใช่เรื่องยาก แต่พอเกิดเหตุแล้ว ข่าวที่ออกไปทำให้เกิดความน่ากลัวสำหรับพื้นที่ตรงนี้
ประเด็นที่สาม คือการที่รัฐบาลยกเลิกการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในบางอำเภอ นั่นหมายถึงว่าพื้นที่เหล่านั้นกำลังจะสงบ ทำให้กลุ่มขบวนการไม่ยอม จึงต้องต่อสู้และสร้างสถานการณ์ขึ้นในพื้นที่
และประเด็นสุดท้ายคงอยากให้เกิดความสมจริงสมจัง หลังจากที่มีการปล้นปืนที่มะรือโบตก (เหตุการณ์โจมตีฐานทหารและปล้นปืนที่ฐานปฏิบัติการกองร้อยทหารราบที่ 15121 หรือฐานพระองค์ดำ ต.มะรือโบตก อ.ระแงะ จ.นราธิวาส เมื่อวันที่ 19 ม.ค.2554) ) ก็เลยแสดงศักยภาพให้เห็นถึงสิ่งที่ได้ลงมือไป
ฉะนั้นในความเห็นของผม รัฐบาลต้องปรับกลยุทธ์ใหม่ เพราะว่าคนร้ายที่จะมาลอบวางระเบิดนั้น เจ้าหน้าที่ไม่มีทางรู้หรอก เนื่องจากการแต่งกายก็ดี พฤติกรรมก็ดีจะกลมกลืนกับคนทั่วไป ทางเดียวคือรัฐต้องวางมาตรการให้เข้มข้นขึ้น และตรวจให้ละเอียดกว่านี้ ที่สำคัญเรื่องกล้องโทรทัศน์วงจรปิดนั้น ต้องแก้ปัญหาให้ได้ เนื่องจากบางพื้นที่มีกล้องแต่กลับเสีย
ที่ผ่านมาในตัวเมืองยะลามีตำรวจและเจ้าหน้าที่ อส. (อาสารักษาดินแดน) เป็นจำนวนมาก ผมก็ไม่เข้าใจเหมือนกันว่าทำไมถึงมีการก่อเหตุรุนแรงได้บ่อยครั้ง ถือเป็นเรื่องน่าสนใจ และรัฐน่าจะเร่งค้นหาว่าฝ่ายผู้ก่อเหตุทำได้อย่างไร เพราะการวางระเบิดในเขตเมืองนั้นมีผลต่อเนื่องค่อนข้างมาก โดยเฉพาะความเสียหายในชีวิตและทรัพย์สินก็มากตามด้วย
O คิดว่าผู้ก่อเหตุเป็นฝ่ายขบวนการหรือไม่ เพราะมีเสียงวิจารณ์ว่าน่าจะมีเรื่องอื่นผสมปนเปอยู่ด้วย?
พื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้จะบอกว่ามีขบวนการอย่างเดียวที่ปฎิบัติการคงไม่ได้แล้ว เพราะว่าในพื้นที่มีปัญหาอื่นๆ ทับซ้อนอยู่ จึงมีทั้งกลุ่มก่อความไม่สงบ กลุ่มผู้เสียผลประโยชน์ กลุ่มค้ายาเสพติด กลุ่มเหล่านี้จะใช้วิธีการแบบเดียวกันนี้ในการตอบโต้รัฐ ขณะที่กลุ่มนักการเมืองท้องถิ่น กลุ่มนักเลงก็จะใช้วิธีการแบบนี้เหมือนกันเวลาจะตอบโต้กันเอง ฉะนั้นเวลาเกิดเหตุขึ้นเราก็ไม่รู้ว่าใครกันแน่ที่เป็นคนก่อเหตุในพื้นที่
แต่ที่แน่ๆ คือเราจะมาสรุปว่าสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นเพราะกลุ่มแบ่งแยกดินแดนอย่างเดียวคงไม่ได้แล้ว เราต้องยอมรับว่ากลุ่มขบวนการที่ก่อเหตุในวันนี้วางแผนได้อย่างเฉียบคม กลยุทธ์ในการปฏิบัติการจะมีความแตกแต่งกันเพียงเล็กๆ น้อยๆ แล้วแต่พื้นที่ที่ก่อเหตุ
O สิ่งที่รัฐควรทำมากที่สุดเพื่อแก้ไขปัญหาคืออะไร?
ก็ต้องพยายามคิดว่าทำอย่างไรให้ประชาชนมีส่วนร่วมกับหน่วยงานของรัฐมากที่สุด สิ่งสำคัญก็คือความจริงใจ เพราะการจะทำให้ประชาชนกล้ามีส่วนร่วมได้นั้น เราต้องมีความจริงใจให้กับเขาก่อน จะทำอย่างไรให้ประชาชนยอมรับเจ้าหน้าที่ เพราะว่าเราเห็นในหลายพื้นที่มีการตั้งด่านมากมาย แต่หลายๆ ครั้งการตั้งด่านกลับจับใครไม่ได้เลย เกิดเหตุรุนแรงขึ้นก็จับใครไม่ได้ ในทางกลับกันกลายเป็นการสร้างปัญหาให้ชาวบ้านด้วยซ้ำไป เพราะชาวบ้านไม่ได้รับความสะดวก ถูกค้นถูกอะไรต่างๆ สิ่งเหล่านี้สร้างความเจ็บปวดให้ประชาชนด้วยอีกทางหนึ่ง เป็นเรื่องที่ต้องพิจารณา
O ฝ่ายรัฐชอบพูดว่า "เดินมาถูกทางแล้ว" อาจารย์คิดอย่างไร?
รัฐก็มีหน้าที่สร้างเครดิตให้กับตัวเอง คำพูดเด็ดที่ว่าเรามาถูกทางแล้วนั้น เราก็ยังไม่เคยเห็นความสำเร็จเสียที ทั้งๆ ที่ผ่านมาหลายรุ่นหลายยุคแล้วก็ชอบพูดอยู่เสมอว่าถูกทางๆ สุดท้ายก็มีเหตุการณ์ขึ้นทุกครั้ง เลยไม่รู้ว่าถูกทางตรงไหน ถูกทางใครก็ไม่รู้
ตรงนี้เป็นส่วนหนึ่งที่สะท้อนให้เห็นถึงความจริงใจในการแก้ปัญหา พูดแล้วสถานการณ์ไม่ตรงกับที่พูด ชาวบ้านจะคิดอย่างไร และที่สำคัญผู้บริหารหลายๆ ท่านก็ไม่ใช่คนในพื้นที่ ก็เลยไม่ค่อยสนใจปัญหามากเท่าที่ควร ทางที่ดีที่สุดเราต้องให้คนในพื้นที่มีอำนาจในการตัดสินใจแก้ไขปัญหา เพราะคนพื้นที่จะต้องมีความรู้สึกรักและหวงแหนบ้านของตัวเอง
O ประเมินสถานการณ์นับจากวันนี้ไปว่าจะเป็นอย่างไร?
ผมยังมีความหวังว่าสถานการณ์บ้านเราอาจจะมีวันสงบในอนาคตไม่วันใดก็วันหนึ่ง แต่ต้องใช้เวลา ต้องแก้ปัญหาไปที่ละเล็กทีละน้อย และประชาชนที่เป็นรุ่นใหม่ๆ อาจจะมีชีวิตที่ดีขึ้น ถ้ามองในแง่ทฤษฎีแล้ว สถานการณ์จะเป็นแบบขึ้นๆ ลงๆ เมื่อถึงจุดต่ำสุดก็อาจมีการถีบตัวขึ้นไปสูงอีก ฉะนั้นทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องจะต้องเตรียมการรับมือ และแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบ แต่ผมเชื่อว่าเราคงไม่อยู่อย่างนี้ตลอดไปอย่างแน่นอน
หากเทียบกับในต่างประเทศที่มีปัญหาแบบนี้เกิดขึ้น ก็ต้องใช้เวลา 20-30 ปีกว่าที่เหตุการณ์จะสงบลงได้ ก็เป็นอย่างที่ผมบอก คือมันต้องใช้เวลา แก้ไปทีละเล็กทีละน้อย เพราะปัญหาในพื้นที่สะสมมานานจนระเบิดกลายเป็นความรุนแรงในปัจจุบัน
-----------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ :
1 ดร.ตายูดิน อุสมาน (ภาพโดย สมศักดิ์ หุ่นงาม)
2 ภาพการตั้งด่านในพื้นที่ (ภาพโดย อะหมัด รามันห์สิริวงศ์)